กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Microcephaly (ศีรษะเล็ก)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ภาวะศีรษะเล็ก คือภาวะที่ศีรษะของทารกมีขนาดเล็กกว่าศีรษะของทารกที่มีอายุและเพศเดียวกัน ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กคลอดออกมา หรือเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีแรกของชีวิตก็ได้ ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะศีรษะเล็ก แต่หากมีการวินิจฉัยและรักษาแต่ระยะแรกๆ ก็อาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้บ้าง

สาเหตุการเกิดภาวะศีรษะเล็ก

ภาวะศีรษะเล็กมักเกิดจากความผิดปกติในช่วงพัฒนาสมองขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ หรือในช่วงวัยทารก แต่ก็มีภาวะทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะศีรษะเล็กได้ เช่น

  • Cornelia de Lange Syndrome ภาวะผิดปกตินี้จะชะลอการเจริญเติบโตของเด็กทั้งภายในและภายนอกครรภ์ ทำให้เกิดปัญหาด้านสติปัญญารุนแรง และอาจพบความผิดปกติที่แขนขาและใบหน้า เด็กที่มีภาวะนี้มักจะมีคิ้วงอกติดกันตรงกลางใบหน้า มีใบหูต่ำ และมีจมูกกับฟันเล็ก
  • Down Syndrome ภาวะนี้มีอีกชื่อคือ Trisomy 21 ผู้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม มักจะมีความคิดล่าช้า พิการทางสติปัญญาชนิดอ่อนถึงปานกลาง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และใบหน้าผิดเพี้ยน เช่น มีดวงตาทรงเม็ดอัลมอนด์ หน้ากลม และมีอวัยวะต่างๆ บนใบหน้าเล็ก
  • Cri du Chat Syndrome ทารกที่มีภาวะนี้ จะมีเสียงร้องไห้คล้ายกับเสียงแมวร้อง และมีลักษณะที่สังเกตเห็นได้คือ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ พิการทางสติปัญญา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอวัยวะบนใบหน้าบางอย่างผิดปกติ เช่น ดวงตากว้าง กรามเล็ก และมีหูต่ำ
  • Rubinstein-Taybi Syndrome เป็นภาวะทางพันธุกรรมชนิดหายาก ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีร่างกายเตี้ยกว่าปกติ มีนิ้วหัวแม่โป้งมือและเท้าใหญ่ มีใบหน้าผิดปกติ และพิการทางสติปัญญา ผู้ป่วยภาวะนี้มักจะเสียชีวิตก่อนพ้นช่วงวัยเด็ก
  • Seckel Syndrome เป็นภาวะทางพันธุกรรมชนิดหายากที่ทำให้ทารกเติบโตในทั้งภายในและนอกครรภ์ช้า ลักษณะทั่วไปของภาวะนี้ ได้แก่ ความพิการทางสติปัญญา มีความผิดปกติที่ใบหน้า เช่น ใบหน้าแคบ จมูกแหลม และกรามชัน
  • Smith-Lemli-Opitz Syndrome ทารกที่มีภาวะนี้จะพิการทางสติปัญญาและมีพฤติกรรมที่สะท้อนถึงภาวะออทิสซึม (Autism) สัญญาณแรกของภาวะนี้ ได้แก่ ป้อนอาหารยาก เติบโตช้า, และมีนิ้วชี้กับนิ้วกลางเชื่อมติดกัน
  • Edward’s Syndrome ภาวะนี้มีอีกชื่อว่า Trisomy 18 ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีการเติบโตในครรภ์ช้า น้ำหนักแรกเกิดต่ำ ศีรษะมีรูปทรงไม่สม่ำเสมอ และอวัยวะใช้การไม่ได้ ทารกที่มีภาวะนี้มักจะเสียชีวิตภายใน 5 เดือนแรก

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็ก มีดังนี้

  • ไวรัส Zika ที่แพร่กระจายผ่านยุงเป็นการติดเชื้อที่ไม่ร้ายแรง แต่หากได้รับไวรัสนี้ขณะตั้งครรภ์จะทำให้เชื้อแพร่ไปยังทารกในครรภ์ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคผิดปกติแต่กำเนิดชนิดร้ายแรงหลายประเภทตั้งแต่ ปัญหาสายตา ปัญหาการได้ยิน ไปจนถึงการเจริญเติบโตบกพร่อง
  • ได้รับพิษ Methylmercury บางประเทศมีการใช้ Methylmercury ถนอมเมล็ดข้าวที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ แต่สารตัวนี้สามารถปนเปื้อนในน้ำ และทำให้ปลาในแหล่งน้ำนั้นๆ ปนเปื้อนสารได้ เมื่อรับประทานปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ดื่มน้ำจากแหล่งที่ปนเปื้อนสารดังกล่าวขณะตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกได้รับสารพิษนี้ไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายที่สมองและไขสันหลัง
  • โรคหัดเยอรมันตั้งแต่กำเนิด หากมารดาสัมผัสกับเชื้อหัดเยอรมัน (Rubella) ขณะที่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกอาจส่งผลให้ทารกหูหนวก พิการทางสติปัญญา และชัก
  • Toxoplasma gondii หากมารดาติดเชื้อปรสิต Toxoplasma gondii ขณะที่ตั้งครรภ์ เชื้อจะส่งผลต่อพัฒนาการของทารก ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดพร้อมมีปัญหาทางกายภาพมากมายที่รวมไปถึงอาการชัก สูญเสียประสาทการได้ยินและการมองเห็น ปรสิตนี้สามารถพบได้ในอุจจาระของแมวและเนื้อที่ปรุงไม่สุก
  • Cytomegalovirus หากมารดาสัมผัสกับไวรัสชนิดนี้ขณะตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับเชื้อด้วยผ่านทางรก ไวรัสชนิดนี้อาจทำให้เกิดอาการดีซ่าน ผื่น และชัก
  • โรค Phenylketonuria (PKU) หากผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มียีนที่ทำให้เกิดโรค Phenylketonuria (PKU) ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและรับประทานอาหารที่มี Phenylalanine ต่ำ เพราะหากบริโภคสารนี้มากเกินไป จะทำให้เกิดผลเสียกับทารกในครรภ์ได้
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด ภาวะศีรษะเล็กอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนบางอย่างระหว่างการคลอดบุตร เช่น การลดลงของออกซิเจนที่สมองของทารก เป็นต้น
  • การสัมผัสกับยา หรือสารพิษ ภาวะศีรษะเล็กสามารถเกิดขึ้นจากการที่ทารกได้รับยา หรือสารพิษบางประเภทตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น มารดาดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

ทารกที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็กมักจะมีภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนถึงรุนแรง เช่นพิการด้านสติปัญญา เคลื่อนไหวร่างกายช้า พูดช้า ใบหน้าบิดเบี้ยว ตัวเตี้ย มีปัญหาการประสานงานและการทรงตัว อยู่ไม่สุข และชักบ่อย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การวินิจฉัยภาวะศีรษะเล็ก

แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ ด้วยการติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก เมื่อคลอดทารกออกมา แพทย์จะวัดเส้นรอบวงของศีรษะทารกด้วยการใช้เทปวัดขนาดและบันทึกค่าที่ได้ไว้ หากมีขนาดเล็กกว่าเด็กทั่วไปในวัยและเพศเดียวกัน แพทย์อาจวินิจฉัยว่าทารกมีภาวะศีรษะเล็ก

ระหว่างนี้แพทย์จะคอยวัดขนาดศีรษะของเด็กเป็นประจำในช่วง 2 ปีแรกพร้อมกับบันทึกการเติบโตและพัฒนาการของเด็กไว้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ติดตามและตรวจพบความผิดปกติต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

การรักษาภาวะศีรษะเล็ก

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาภาวะศีรษะเล็ก แต่การรักษาต่างๆ จะเน้นไปที่การจัดการกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น หากเด็กมีปัญหาการเคลื่อนไหวช้า ก็อาจต้องรักษาด้วยการทำกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) หากเด็กมีปัญหาด้านการใช้ภาษา ก็อาจเข้ารับการบำบัดการพูดจา (Speech Therapy) และหากเด็กเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ชัก หรือมีภาวะไฮเปอร์ (Hyperactivity) แพทย์ก็อาจใช้ยาควบคุมอาการต่างๆ ร่วมด้วย


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Karen Gill, M.D. , What to know about microcephaly (https://www.medicalnewstoday.com/articles/305880.php), February 13, 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)