ทน. ปภัสรา กัลปพฤกษ์ นักเทคนิคการแพทย์
เขียนโดย
ทน. ปภัสรา กัลปพฤกษ์ นักเทคนิคการแพทย์
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

รู้ทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการเจาะเลือด

รู้จุดประสงค์และขึ้นตอนการเจาะเลือด ณ ตำแหน่งต่างๆ วิธีสำคัญในการตรวจวิเคราะห์สารเคมีภายในร่างกาย
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รู้ทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการเจาะเลือด

การเจาะเลือด มักเป็นการเก็บส่วนประกอบของเลือดเพื่อนำไปวิเคราะห์สารเคมีภายในร่างกาย หรือตรวจหาสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ เลือดสามารถบ่งบอกสภาวะความเจ็บไข้ได้ป่วยหลายอย่าง เพราะเป็นตัวกลางที่หมุนเวียนทั่วร่างกาย การเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคและอาการต่างๆ จะมีขั้นตอนและวิธีแตกต่างกันออกไป

จุดประสงค์ในการเจาะเลือด

การเจาะเลือดมีจุดประสงค์สำคัญดังต่อไปนี้

  1. เพื่อนำเลือดมาตรวจวิเคราะห์สารเคมีภายในร่างกาย เช่น ปริมาณน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ตรวจฮอร์โมน ตรวจปริมาณโปรตีนในร่างกาย
  2. วัดปริมาณและคุณภาพของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว รวมถึงเกล็ดเลือด
  3. ตรวจหาเชื้อโรคหรือส่วนประกอบของเชื้อโรคเพื่อทำการรักษา และติดตามผลการรักษา
  4. เพาะเลี้ยงและทดสอบความไวต่อยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโรค
  5. เพื่อบริจาคเลือดให้แก่ผู้อื่น

บริเวณที่เจาะเลือดมีที่ใดบ้าง?

บุคคลากรทางการแพทย์จะเจาะเก็บเลือด 3 ตำแหน่ง การเจาะเลือดแต่ละตำแหน่งมีวิธีการเจาะและการนำเลือดไปใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. การเจาะเลือดทางหลอดเลือดฝอย (Capillary blood collection)  

การเจาะเลือดทางหลอดเลือดฝอยเป็นการเจาะเลือดเก็บเลือดที่ง่ายและเจ็บตัวน้อยที่สุด การเจาะเลือดตำแหน่งนี้เหมาะสำหรับการทดสอบที่ใช้ปริมาณเลือดเพียงเล็กน้อย เช่น การตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลชนิดพกพา (Blood glucose meter) หรือเจาะเลือดในทารกแรกเกิด  

ขั้นตอนการเจาะเลือดทางหลอดเลือดฝอย 

1. เลือกบริเวณที่เจาะ ได้แก่ ปลายนิ้วมือหรือบริเวณสันเท้าทารกแรกเกิด ทว่าการเจาะเลือดในทารกแรกเกิดต้องให้พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เป็นคนเจาะเท่านั้น จากนั้นนวดบริเวณดังกล่าวเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดี 

2. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 % เช็ดทำความสะอาดบริเวณที่จะเจาะแล้วรอให้แห้ง 

3. ใช้อุปกรณ์สำหรับการเจาะเลือด (เช่น เข็มหรือใบมีด) เจาะเข้าที่ผิวหนังแล้วปล่อยให้เลือดไหลอย่างอิสระ ห้ามบีบเค้นผิวหนังเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำจากเนื้อเยื่อไหลมารวมกับเลือด ทำให้เลือดที่เจาะได้มีความเจือจาง ส่งผลต่อการตรวจวิเคราะห์ได้ 

4. ใช้สำลีแห้งเช็ดเลือดหยดแรกทิ้ง จากนั้นเก็บเลือดใส่หลอดเลือดหรืออุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบ 

5.เมื่อได้เลือดตามปริมาณที่ต้องการแล้ว ปิดปากแผลด้วยผ้าก๊อซจนกว่าเลือดจะหยุดไหล

2. การเจาะเลือดทางหลอดเลือดดำ (Venous blood collection) 

การเจาะเลือกทางหลอดเลือดดำเป็นที่นิยมสำหรับนำเลือดไปตรวจวิเคราะห์มากที่สุด เพราะจะได้ปริมาณเลือดมากเพียงพอสำหรับการตรวจ ตำแหน่งที่เจาะคือบริเวณข้อพับแขนที่เห็นหลอดเลือดชัดเจน ได้แก่ หลอดเลือดดำมีเดียน คิวบิตัล (Median cubital vein) หลอดเลือดดำเบซิลิค (Basilic vein) หรือหลอดเลือดดำเซฟาลิค (Cephalic vein) 

ขั้นตอนการเจาะเลือดทางหลอดเลือดดำ 

1. เลือกบริเวณที่เจาะ โดยวางแขนบนหมอนให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด จากนั้นใช้สายรัดที่กึ่งกลางแขนด้านบน 

2. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70 % เช็ดทำความสะอาดบริเวณที่จะเจาะแล้วรอให้แห้ง โดยเช็ดเป็นวงกลม วนจากด้านในสู่ด้านนอก 

3. จับแขนผู้ป่วยให้มั่นคง แล้วใช้เข็มฉีดยาเจาะเข้าที่เส้นเลือด จากนั้นดึงกระบอกฉีดยาเพื่อเก็บเลือดตามปริมาณที่ต้องการ 

4. ปลดสายรัดที่แขนออก ใช้สำลีกดที่แผลแล้วถอนเข็มฉีดยาออก กดสำลีจนกว่าเลือดจะหยุดไหล 

ลำดับการเจาะเลือดใส่ในหลอดเลือดมีอะไรบ้าง? 

หลังจากเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำในลำดับต่อไปคือ การนำเลือดที่เจาะมาได้ใส่ลงในหลอดเลือดแต่ละชนิด ภายในหลอดเลือดมีสารกันเลือดแข็งที่แตกต่างกันไป เพื่อที่จะรักษาคุณภาพของเลือดให้เหมาะสมก่อนจะนำไปตรวจวิเคราะห์ โดยลำดับการใส่เลือดในหลอดเลือดมีดังนี้ 

1. ขวดเพาะเชื้อจากเลือด ต้องใส่เป็นลำดับแรก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคภายนอก 

2. จุกหลอดเลือดสีฟ้า ภายในบรรจุสารกันเลือดแข็งโซเดียมซิเตรต (Sodium citrate) จะใช้หลอดเลือดชนิดนี้สำหรับการตรวจวิเคราะห์ระบบการแข็งตัวของเลือด เช่น Prothrombin Time (PT), Activated partial thromboplastin time (APPT), Fibrinogen และ D-Dimer 

3. จุกหลอดเลือดสีแดง ภายในบรรจุสารซิลิคอนไดออกไซด์ (Silica dioxide) เป็นสารที่กระตุ้นให้เลือดแข็งตัว ทำให้เลือดมีการใช้โปรตีนและปัจจัยการแข็งตัวของเลือด จึงเรียกน้ำเหลืองนี้ว่า “ซีรัม (Serum)” หลอดเลือดชนิดนี้ส่วนใหญ่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางภูมิคุ้มกัน เช่น การตรวจหาปริมาณแอนติบอดีในร่างกาย การตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโรค หรือใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีคลินิกบางอย่าง เช่น ตรวจวัดปริมาณฟอลลิเคิลสติมิวเลติงฮอร์โมน (Follicle Stimulating Hormone (FSH)) ลูทิไนซิงฮอร์โมน (Luteinizing hormone (LH)) โปรแลกติน (Prolactin) เทสโทสเทอโรน (Testosterone) โปรเจสเตอโรน (Progesterone) และโฟเลต (Folate) 

4. จุกหลอดเลือดสีเขียว ภายในบรรจุสารลิเทียมเฮพาริน (Lithium heparin) หลอดเลือดชนิดนี้ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีคลินิก ได้แก่

  • ตรวจการทำงานของไต เช่น BUN (Blood Urea Nitrogen) ครีอะตินีน (Creatinine) ครีอะตินีนเคลียรานซ์ (Creatinine clearance)
  • ตรวจระดับไขมันในเลือด เช่น คอเลสเตอรอล(Cholesterol), ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides), HDL, LDL 
  • ตรวจการทำงานของตับ เช่น ปริมาณโปรตีนรวมในเลือด (Total protein), AST (Aspartate transaminase), ALT (Alanine transaminase), ALP (Alkaline phosphatase), ค่าบิลิรูบินทั้งหมด(Total bilirubin), บิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ (Direct bilirubin), อัลบูมิน (Albumin), โกลบูลิน (Globulin), Gamma GT (Gamma-glutamyl transferase)
  • ตรวจสารเคมีต่างๆ ในเลือด เช่นโซเดียม(Na), โพแทสเซียม(K), คลอไรด์(Cl)

5. จุกหลอดเลือดสีม่วง ภายในบรรจุสารชนิด K2EDTA หรือ K3EDTA เพื่อรักษาลักษณะของเม็ดเลือด นิยมใช้ตรวจวิเคราะห์โลหิตวิทยา เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count (CBC)), ตรวจมาลาเรีย รวมถึงการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสะสม (HbA1c

6. จุกหลอดเลือดสีเทา ภายในบรรจุสารโซเดียมฟลูออไรด์ (Sodium fluoride) ใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด

3. การเจาะเลือดทางหลอดเลือดแดง (Arterial blood collection) 

การเจาะเลือดทางหลอดเลือดแดง เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูความเป็นกรด-เบส และระดับออกซิเจนในเลือด ตำแหน่งที่เจาะเป็นบริเวณข้อมือที่หลอดเลือดแดงเรเดียล (Radial artery) ข้อพับที่หลอดเลือดแดงแขน (Brachial artery) หรือขานีบที่หลอดเลือดแดงฟีมอรัล (Femoral artery) ขั้นตอนในการเจาะเลือดเหมือนกับการเก็บเลือดจากหลอดเลือดดำ แต่ต้องให้แพทย์เป็นผู้เจาะเก็บเลือดเท่านั้น และแช่น้ำแข็งส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการทันที

วิธีเตรียมตัวก่อนการเจาะเลือดและข้อควรปฏิบัติหลังเจาะเลือด

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ กรณีที่อยู่ในระหว่างการใช้ยาควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพราะยาบางชนิดอาจรบกวนการตรวจวิเคราะห์ได้
  2. งดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงสำหรับการตรวจวิเคราะห์ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และงดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมงสำหรับการตรวจวิเคราะห์ระดับไขมันในเลือด แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้
  3. หลังการเจาะเลือดควรกดบริเวณแผลจนกว่าจะหยุดไหล นั่งพักผ่อน 5-10 นาที สังเกตอาการ หากมีอาการหน้ามืด วิงเวียน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่และนั่งพักสักครู่
  4. หากเกิดรอยช้ำจากการเจาะเลือด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณแผลที่ช้ำ

6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Zhang DJ, Elswick RK, Miller WG, Baily JL. Effect of serum-clot contact time on clinical chemistry laboratory results. Clin Chem 1998; 44: 1325-33.
Leppänen E, Gräsbeck R. The effect of the order of filling tubes after venipuncture on serum potassium, total protein, and aspartate and alanine aminotransferase. Scand J Clin Lab Invest 1986;46: 189-91.
Blank DW, Kroll MH, Ruddel ME, Elin RJ. Hemoglobin interference from in vivo hemolysis. Clin Chem 1985; 31: 1566-9.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป