ทีมเภสัชกร HD
เขียนโดย
ทีมเภสัชกร HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ยาแก้ไอ...แบบไหนดี ยาเม็ดหรือยาน้ำ แบบไหนได้ประสิทธิภาพกว่ากัน?

ยาแก้ไอ ควรใช้แบบไหน? ยาเม็ด หรือยาน้ำ มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร?
เผยแพร่ครั้งแรก 10 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 14 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยาแก้ไอ...แบบไหนดี ยาเม็ดหรือยาน้ำ แบบไหนได้ประสิทธิภาพกว่ากัน?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการไอเป็นกลไกของร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ เสมหะ นอกจากการรักษาที่ต้นเหตุแล้ว อีกตัวช่วยที่บรรเทาอาการไอ คือ ยาแก้ไอแบบเม็ดกับแบบน้ำ
  • ยาแก้ไอแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) กลุ่มระงับอาการไอ ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสมองส่วนกลางที่ทำให้เกิดการไอ 2) กลุ่มช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น จะออกฤทธิ์เคลือบลำคอช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น ลดอาการระคายเคือง
  • ยากลุ่มระงับอาการไอ ตัวอย่างเช่น เด็กซ์โทรเมทอร์แฟน, ลีโวโดรโพรพิซีน, บูทามิเรต, ยากลุ่มต้านฮิสตามีน กลุ่มนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลของเภสัชกรหรือแพทย์ เพราะอาจทำให้เสพติด
  • กลุ่มช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น มีจำหน่ายทั่วไปในไทย เช่น มะขามป้อม มะแว้ง ชะเอมเทศ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำตาล มีผลกระตุ้นน้ำลาย ร่างกายจะตอบสนองน้ำลายโดยการกลืน ทำให้ไอลดลง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

อาการไอเป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองภายในระบบทางเดินหายใจ ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ มีหลายปัจจัยที่ทำให้ร่างกายตอบสนองโดยการไอ เช่น ได้รับฝุ่นละอองหรือสารก่อภูมิแพ้ มีเสมหะในทางเดินอาหาร การสูบบุหรี่ มีประวัติเป็นโรคหอบหืด รวมถึงการใช้ยารักษาโรคบางกลุ่ม เช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) เป็นต้น หากไอไม่รุนแรง อาการไออาจทำให้เกิดความรำคาญและสามารถหายได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไออย่างรุนแรงต่อเนื่อง อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบ และอาจส่งผลถึงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไออีกด้วย วิธีการรักษาอาการไอที่ดีที่สุดคือ การกำจัดที่ต้นเหตุของอาการไอ เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือรักษาโรคหอบหืดที่เป็นอยู่ นอกจากนั้นคือใช้ยาแก้ไอช่วยบรรเทาอาการได้ โดยที่มักพบกันโดยทั่วๆ ไปจะเป็นยาแก้ไอรูปแบบยาเม็ด กับยาแก้ไอรูปแบบน้ำ

ชนิดของยาแก้ไอ

ยาแก้ไอเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาและบรรเทาอาการไอ สามารถแบ่งตามการรักษาได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มยาระงับอาการไอหรือยากดอาการไอ และกลุ่มยาน้ำแก้ไอช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1. กลุ่มยาระงับอาการไอ หรือยากดอาการไอ (Cough Suppressants)

ยากดอาการไอออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของสมองส่วนกลางที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจนทำให้เกิดการไอ โดยยากลุ่มนี้มีผลรักษาอาการไอแห้ง และเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไอเนื่องจากการอักเสบของหลอดลมชนิดเรื้อรังที่เกิดจากการแพ้หรืออาการไออื่นๆ ที่ไม่มีเสมหะ หากใช้ยานี้เดี่ยวๆ รักษาอาการไอแบบมีเสมหะ อาจทำให้เสมหะที่เหนียวข้นอยู่แล้วถูกขับออกมาจากทางเดินหายใจได้ยากขึ้น จนเกิดอาการระคายเคืองและทำให้อาการไอรุนแรงกว่าเดิมได้

แม้ว่าจะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาดี แต่ยาในกลุ่มนี้บางตัวอาจทำให้เกิดการเสพติด หรืออาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ดังนั้น การใช้และสั่งจ่ายยาแก้ไอจึงควรอยู่ในการดูแลและควบคุมโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

ยาแก้ไอกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบยาเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ และรูปแบบยาน้ำสำหรับเด็ก ตัวอย่างได้แก่

  1. โคเดอีน (Codeine) และโอพิเอตหรืออนุพันธ์ของฝิ่น (Opiate Derivertives) โคดีอีนเป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์ ใช้ระงับอาการไอและบรรเทาอาการปวดเรื้อรังระดับปานกลางขึ้นไป ยาแก้ไอผสมโคเดอีนจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 3 สามารถจำหน่ายได้ในสถานพยาบาลที่มีเตียงไว้พักค้างคืนเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายในคลินิกหรือร้านขายยาได้ การใช้ยาโคเดอีนเกินขนาด หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อาจทำให้เกิดการติดยาหรือเสียชีวิต เนื่องจากยาโคเดอีนมีผลชะลออัตราการหายใจ หรือส่งผลให้ผู้ป่วยหยุดหายใจ นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กรับประทานยาที่มีส่วนผสมของโคเดอีน

    ยาโคเดอีนที่มีจำหน่ายสำหรับระงับอาการไอในประเทศไทยอาจมีตัวยาช่วยขับเสมหะ เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) รวมอยู่ด้วยในตำรับ เพื่อให้ไอและขับเสมหะออกมาด้วยในคราวเดียวกัน
  2. เด็กซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) แม้ว่าเด็กซ์โทรเมทอร์แฟนจะมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับโคเดอีนและมอร์ฟีน แต่ยานี้ไม่มีฤทธิ์แก้ปวด และทำให้ง่วงนอนเพียงเล็กน้อย เด็กซ์โทรเมทอร์แฟนเป็นตัวยาแก้ไอที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับรักษาอาการไอ จึงเป็นยาที่แพทย์และเภสัชกรนิยมจ่ายเพื่อรักษาอาการไอแห้งๆ
  3. ลีโวโดรโพรพิซีน (Levodropropizine) เป็นยาแก้ไอที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนปลาย นิยมใช้บรรเทาอาการไอแห้งที่เกิดจากการแพ้ หรืออาการไออื่นๆ ที่ไม่มีเสมหะ เภสัชกรแนะนำให้ใช้ยาแก้ไอลีโวโดรโพรพิซีนในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน
  4. บูทามิเรต (Butamirate) เป็นยาระงับอาการไอที่เกิดจากการระคายเคืองทางเดินหายใจชนิดไอแห้ง ไม่มีเสมหะ มีทั้งรูปแบบยาเม็ดและยาน้ำเชื่อม ซึ่งในบ้านเราที่พบเป็นชนิดยาน้ำเชื่อม ใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ยาบูทามิเรตออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง และลดการหดตัวของหลอดลม
  5. ยากลุ่มต้านฮิสตามีน (Antihistamines) เมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ร่างกายจะหลั่งสารฮิสตามีนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่างๆ ยากลุ่มนี้จะยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน จึงช่วยบรรเทาการเกิดอาการแพ้ รวมถึงอาการไอเนื่องจากการระคายเคืองในลำคอ ตัวอย่างยากลุ่มต้านฮิสตามีน ได้แก่ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) โปรเมทาซีน (Promethazine) และคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เป็นต้น

2. กลุ่มยาแก้ไอช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น

กลุ่มยาแก้ไอในรูปแบบน้ำจะออกฤทธิ์โดยเคลือบลำคอช่วยให้ลำคอชุ่มชื้น ลดอาการระคายเคืองจากการไอในลำคอ ยาน้ำแก้ไอมีผลช่วยลดอาการไอในผู้ป่วยที่มีอาการคอแห้ง ยาน้ำแก้ไอที่มีจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมใส่สมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยลดอาการไอร่วมด้วย เช่น มะขามป้อม มะแว้ง ชะเอมเทศ ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำตาล เมื่อรับประทานลงไปจะทำให้ร่างกายตอบสนองโดยการหลั่งน้ำลายมากขึ้น และระบบร่างกายจะตอบสนองน้ำลายที่มากเกินไปโดยการกลืน ซึ่งจะมีผลออกฤทธิ์รบกวนกลไกการไอ จึงทำให้ไอลดลง

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานยืนยันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกลุ่มยาแก้ไอแบบน้ำในการรักษาอาการไอที่แน่ชัด ดังนั้น ในทางปฏิบัติ แพทย์ส่วนใหญ่จึงมักพิจารณาใช้กลุ่มยาแก้ไอเป็นยาร่วมในการรักษาอาการไอ ควบคู่ไปกับกลุ่มยากดอาการไอ (Cough Suppressants) ซึ่งใช้เป็นยาหลัก

คำเตือน และข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอแต่ละชนิดในกลุ่มยาแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งใช้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบของยาที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วย ประวัติการใช้ยา ประวัติแพ้ยา และประวัติทางการแพทย์อื่นๆ ด้วยทุกครั้งก่อนใช้ยา คำแนะนำหลักๆ ที่สำคัญมีดังนี้

  • ยาแก้ไอโคเดอีนมีฤทธิ์เสพติด จึงควรใช้เมื่อยาตัวอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น และควรใช้ในระยะสั้นๆ ห้ามใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากมีฤทธิ์กดการหายใจด้วย อาจทำให้เสียชีวิตได้ และห้ามใช้ยานี้ในคนท้อง
  • ยาแก้ไอเด็กซ์โทรเมทอร์แฟนมีข้อห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ยาแก้ไอบูทามิเรต ลีโวโดรโพรพิซีน และยากลุ่มต้านฮิสตามีน เวลาใช้ควรระวังในการขับรถและการควบคุมเครื่องจักรเนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะและง่วงซึม
  • ยาลีโวโดรโพรพิซีน หากใช้ในผู้ป่วยโรคไต ควรมีการติดตามการใช้ยาโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กรมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย, https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27333, 13 December 2017

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป