ปลิงทางการแพทย์: น้ำลายแลกเลือด

น้ำลายของปลิงที่ใช้ในทางการแพทย์ซ่อนความลับอันล้ำค่าเอาไว้
เผยแพร่ครั้งแรก 31 ส.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ปลิงทางการแพทย์: น้ำลายแลกเลือด

ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยา(FDA) “ไม่เคยรับรอง” ให้ใช้ปลิงในการรักษาทางการแพทย์ ทั้ง ๆ ที่ในปี 2004 เจ้าหน้าที่ได้บอกกับบริษัทจากฝรั่งเศสว่าสามารถขายปลิงเพื่อเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาได้โดยไม่ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา โดยองค์การอาหารและยาระบุว่าแต่ก่อนปลิงจัดเป็นเครื่องมือทางการแพทย์จนกระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายเครื่องมือแพทย์ในวันที่ 28 พฤษภาคม 1976 ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรับรองการใช้ปลิงอีกต่อไป คุณอาจโต้แย้งในการใช้คำว่า “รับรอง” หรือ “ไม่รับรอง” การขายหรือใช้ปลิงทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่าองค์การอาหารและยาจะไม่ทำอะไรเพื่อหยุดการขายปลิงของบริษัทต่าง ๆ และจะไม่ตัดสินเรื่องความปลอดภัยหรือประสิทธิผลของการใช้ปลิงในทางการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานรัฐไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบหรือทำการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการใช้ปลิงในการรักษาทางการแพทย์ แม้ว่าปลิงจะใช้ในการรักษาด้วยการถ่ายเลือดมาแต่โบราณกาล แต่เรามีความรู้เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับสัตว์ตัวลื่น ๆ ยาว ๆ ชนิดนี้ งานวิจัยส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในการศึกษาแบบกรณีตัวอย่าง (case study) หรือการติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นราย ๆ ไป(case series) โดยมีการศึกษาทดลองแบบสุ่ม (randomized-control trials) น้อยมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่เรารู้เรื่องปลิงกับผลการรักษาอันยิ่งใหญ่ของปลิงอยู่บ้างคือ น้ำลายของปลิงเป็นขุมทรัพย์ของโมเลกุลสารขยายหลอดเลือดและสารต้านการแข็งตัวของเลือด

ปลิงในทางการแพทย์กับน้ำลายอันแสนวิเศษ

ปลิงเป็นหนอนดูดเลือดในกลุ่มแซงกวิโวรัส (sanguivorous) เช่นเดียวกับไส้เดือนที่ลำตัวเป็นข้อปล้อง สัตว์กลุ่มนี้จะยืดหดตัวและบิดตัวได้หลายทิศทาง ปลิงที่ใช้ในทางการแพทย์มากที่สุดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ฮิรูดา เมดดิซินนาลิส (Hiruda medicinalis) อย่างไรก็ตามยังมีปลิงสายพันธุ์อื่นด้วย เช่น ฮิรูดินาเรีย แกรนูโลซา (Hirudinaria granulosa) ใช้เป็นปลิงทางการแพทย์ในอินเดีย และสายพันธุ์แมคครอบเดลลา ดีโครา(Macrobdella decora) ในอเมริกา ปลิงเป็นปรสิตภายนอกที่สามารถดูดเลือดได้หลายเท่าของน้ำหนักตัว หลังจากดูดเลือดแล้วเลือดจะถูกผสมกับสารคัดหลั่งซึ่งทำให้เลือดไม่แข็งตัว ปลิงจะเก็บเลือดนี้ไว้ในอวัยวะที่ชื่อว่าแลทเทอรอล ไดเวอร์ติคูลา (lateral diverticula) ดังนั้นการดูดเลือดครั้งหนึ่งสามารถสำรองไว้เป็นสารอาหารได้หลายเดือน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การบำบัดด้วยการถ่ายเลือดหรือฮิรูโดเทอราปี (Hirudo therapy) มีบันทึกครั้งแรกในสมัยอียิปต์โบราณและแพร่มายังตะวันตกจนกระทั่งปลายคริสตศตวรรษ 1800 การรักษานี้ก็ยังไม่เป็นที่นิยม น่าแปลกใจที่การใช้ปลิงรักษาไม่เป็นที่นิยมในตะวันตกแล้ว แต่การรักษาโดยให้ปลิงดูดเลือดนี้ยังใช้กันอย่างต่อเนื่องในการรักษาแบบอิสลามหรือที่เรียกว่า อินานิ (Inani) หลายทศวรรษมาแล้วที่ปลิงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยในการผ่าตัดทางจุลศัลยกรรม (microsurgery) และการผ่าตัดทางศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง (plastic and reconstructive surgery) ยิ่งไปกว่านั้นนักวิทยาศาสตร์เริ่มเห็นคุณค่าของโมเลกุลที่อยู่ในน้ำลายของปลิงและคุณสมบัติของมัน และนี่เป็นตัวอย่างบางส่วนของโมเลกุลอันยอดเยี่ยมที่พบในน้ำลายของปลิง

  • ฮิรูดิน (Hirudin)  ในปี 1950 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ฟริทซ์ มาร์ควอด (Fritz Marquardt) แยกโมเลกุลของสารที่เขาตั้งชื่อว่า ฮิรูดิน (hirudin) ออกมาจากต่อมสร้างสารคัดหลั่งของปลิงสายพันธุ์ฮิรูดา เมดดิซินนาลิส (Hiruda medicinalis) และค้นพบว่าฮิรูดินมีสารต้านการแข็งตัวของเลือดหลายชนิด เช่นเดียวกับยาเฮปปาริน (heparin) โดยไม่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้ฮิรูดินจะจับกับทรอมบิน (thrombin) อย่างเหนียวแน่นโดยไม่เกิดปฏิกิริยากับแอนติบอดี (antibody) ในร่างกายของผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากยาเฮปปาริน (heparin-induced thrombocytopenia) ยิ่งไปกว่านั้นฮิรูดินสามารถใช้ในผู้ที่แพ้ยาเฮปปาริน (heparin) หรือผู้ที่มีระดับแอนติทรอมบินทรีในร่างกายต่ำ (antithrombin III deficiency) ปัจจุบันนักวิจัยกำลังพัฒนาการตัดแต่งพันธุกรรมโดยใช้แบคทีเรีย ยีสต์ และยูคาริโอต (eukaryote) ด้วยหวังว่าจะสามารถสร้างฮิรูดินได้มากพอเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ความสำคัญของการใช้ฮิรูดินนั้นมีหลายประการ รวมถึงการรักษาโรคที่เกิดจากลิ่มเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจวายฉับพลัน และโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำขา
  • ไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase) เอนไซม์ไฮยารูโลนิเดสเป็นสารที่ทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันของคนอ่อนตัวมากขึ้นช่วยให้ปลิงสามารถดูดเลือดได้และยังช่วยให้ชาและลดอาการปวดด้วย มีการศึกษาเอนไซม์ตัวนี้เพื่อใช้เป็นยาเคมีบำบัดและพัฒนาให้ใช้กับยาที่ดูดซึมผ่านทางผิวหนัง
  • เคลิน (Calin) เป็นโมเลกุลที่ทำให้เกล็ดเลือดและวอนวิลลิแบรนด์แฟคเตอร์ (von Willebrand factor) ซึ่งเป็นสาสำคัญที่ทำให้เลือดแข็งตัวจับกับคอลลาเจน คอลลาเจนมีหน้าที่ทำให้ผิวหนังแข็งแรงและยืดหยุ่น ดังนั้นเคลินจึงช่วยให้เลือดไหลได้โดยการยับยั้งเลือดไม่ให้แข็งตัว
  • เดสทาบิเลส (Destabilase) เอนไซม์เดสทาบิเลส มีคุณสมบัติทั้งละลายลิ่มเลือดและต้านเชื้อแบคทีเรีย งานวิจัยระบุว่าเดสทาบิเลสมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับสเตรปโตไคเนส (streptokinase) หรือทิชชูพลาสมิโนเจนแอคทิเวเตอร์ (tissue plasminogen activator) ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยหัวใจวายฉับพลันหรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
  • อีกลิน (Eglin) โปรตีนขนาดเล็กนี้จัดเป็นตัวยับยั้งทรอมบิน (thrombin inhibitor) ในอนาคตอาจใช้รักษาการอักเสบในภาวะช็อกและโรคถุงลมโป่งพอง

การใช้ปลิงทางการแพทย์สมัยใหม่

การใช้ปลิงในการรักษาทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ในปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์จากปลิงและคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือดของปลิง 3 ประการคือ

  • ปลิงใช้เพื่อฟื้นฟูสภาพของเนื้อเยื่อผิวหนังแบบมีตอเส้นเลือด (pedicled skin flap) ที่นำมาปลูกถ่ายและใช้ในการศัลยกรรมใบหน้าและขากรรไกร (maxillofacial surgery) ศัลยกรรมพลาสติก (plastic surgery) และศัลยกรรมเสริมสร้าง (reconstructive surgery) อื่น ๆ ปลิงแต่ละตัวจะระบายเลือดและดึงเลือดมาเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ 5-10 มิลลิลิตร การรักษาจะดำเนินไปจนกว่าก้นแผลที่ปลูกถ่ายจะระบายเลือดดำได้เพียงพอ
  • ปลิงช่วยในการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อที่มีเส้นเลือดขนาดเล็กโดยใช้เนื้อเยื่อจากส่วนหนึ่งของร่างกายไปปลูกถ่ายในอีกตำแหน่งหนึ่ง
  • ปลิงช่วยไม่ให้เลือดดำคั่งบริเวณอวัยวะที่ปลูกถ่าย ทำให้ไม่ต้องตัดออก เช่น นิ้ว ปลายจมูก หัวนม หู ริมฝีปาก หรือแม้กระทั่งองคชาติ (ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเป็นภาพที่น่าตกใจ)

ปลิงและคุณสมบัติในการต้านอักเสบของมันกำลังทดสอบรักษาภาวะที่มีอาการปวดมาก เช่น โรคข้อเข่าเสื่อม

ตามรายงานการวิจัยในปี 2012 ที่ตีพิมพ์ใน ไวลีย์ พีริโอดิคอล (Wiley Periodicals) นักวิจัยรวบรวมข้อมูลจากกรณีศึกษาและการติดตามผู้ป่วยต่อเนื่อง 277 รายตั้งแต่ 1966 ถึง 2009 โดยหาจากพับเมด (PubMed) และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ โดยใน 229 รายมี 50 รายหรือคิดเป็น 21.8% มีภาวะแทรกซ้อน โดยเกือบสองในสามของภาวะแทรกซ้อนนั้นคือการติดเชื้อ และผู้ที่ใช้ปลิงในการรักษาบางรายต้องได้รับการให้เลือด จากผลการวิจัยนี้ ผู้เขียนของการศึกษาของไวลีย์แนะนำว่าผู้ป่วยทุกคนที่จะใช้ปลิงในการรักษาต้องตรวจและสำรองเลือดไว้เผื่ออาจต้องได้รับเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ควิโนโลน (quinolone) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แหล่งข้อมูลอื่นยังระบุว่ายาปฏิชีวนะกลุ่มเซฟฟาโลสปอริน รุ่นที่ 3 (third-generation cephalosporin) เช่น ซิโปรฟล็อกซาซิน (ciprofloxacin)อาจมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต้านเชื้อแบคทีเรียจากปลิง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าการนำปลิงไปวางบนตัวจะสร้างความเหนอะหนะขนาดไหน โปรดจำไว้ว่าคุณเลือกที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพใช้ปลิงในการรักษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีทางเลือกอื่นในการรักษาอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะต้องมีการวิจัยอย่างจริงจังเพียงใด ทั้งการติดตามผลอย่างต่อเนื่องหรือการทดลองแบบสุ่ม สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับปลิงก็เป็นกำลังใจอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น สารเคมีที่แยกออกมาจากน้ำลายของปลิงอาจเป็นกุญแจของยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการอักเสบ และยาระงับปวดที่ดีกว่าเก่า

ขอขอบคุณอย่างสูงสำหรับนางสาวจินา วาดาส (Ms. Gina Wadas) ผู้สื่อข่าววิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ในสาขาวิชาวารสารศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม(Texas A & M) ในการเสนอหัวข้อนี้ ขอบคุณจินา


16 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Learn About Medicinal Leeches. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/medicinal-leeches-saliva-in-blood-out-1123824)
Leech Therapeutic Applications. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3757849/)
Leech therapy: What does it feel like and does it work?. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/321336)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดหัวใจ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดหัวใจ

รู้จักความเสี่ยงในการผ่าตัดหัวใจ การผ่าตัดใหญ่ที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน

อ่านเพิ่ม