อะไรคือความหวาดกลัววิชาคณิตศาสตร์และคุณสามารถช่วยเด็กที่มีอาการนี้ได้อย่างไร ?

พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกที่รู้สึกเครียดจากการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้อย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 21 ก.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อะไรคือความหวาดกลัววิชาคณิตศาสตร์และคุณสามารถช่วยเด็กที่มีอาการนี้ได้อย่างไร ?

เด็กเริ่มเรียนคณิตศาสตร์ตั้งแต่ชั้นอนุบาล และเมื่อโตขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาก็จะต้องเรียนทักษะทางคณิตศาสตร์เพิ่มเติมทั้งการบวก การลบ การคูณ การหาร และอื่น ๆ 

แม้ว่าวิชานี้อาจเป็นเรื่องสนุกและท้าทายสำหรับเด็กบางคน แต่มันก็อาจจะเป็นประสบการณ์ที่ให้ความรู้สึกตรงกันข้ามในเด็กคนอื่น ๆ สำหรับเด็กหลายคนแล้ว การพยายามทำความเข้าใจกับตัวเลขและแนวคิดทางคณิตศาสตร์นั้นอาจทำให้พวกเขาเกิดความหวาดกลัวและความเครียดต่อวิชาคณิตศาสตร์ 

พวกเขาอาจรู้สึกกระวนกระวายกับการไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้และไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูกำลังสอน พวกเขาอาจรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่สามารถทำวิชานี้ได้ดี และอาจกลายเป็นเกลียดวิชานี้ไปเลย ซึ่งจะยิ่งทำให้การพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์นั้นเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก 

สาเหตุที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดอาการหวาดกลัวคณิตศาสตร์ 

โดยส่วนมากแล้วเด็กจะเกิดภาวะนี้เมื่อพวกเขาไม่สามารถทำทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐานได้ดี และยังถูกคาดหวังให้เรียนรู้คณิตศาสตร์เพิ่มเติม หากพวกเขายังไม่มีความรู้ที่จำเป็นมากเพียงพอ 

มันก็เหมือนกับการสร้างตึกที่ไม่สามารถสร้างบนฐานที่ไม่มั่นคงได้นั่นแหละ การคาดหวังให้เด็กเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ทางคณิตศาสตร์ในขณะที่พวกเขายังไม่สามารถทำทักษะพื้นฐานได้นั้น อาจนำไปสู่การขาดความมั่นใจและความกลัวต่อวิชานี้ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กพยายามหาคำตอบที่ถูกต้องของโจทย์โดยไม่ได้เข้าใจแนวคิดนั้นตั้งแต่แรกเช่นกัน 

เด็กวัยเรียนยังอาจเห็นเพื่อนที่ทำคณิตศาสตร์ได้ดีและเริ่มมีความเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อคณิตศาสตร์เหมือนกับเด็กคนอื่น ๆ 

นี่อาจนำไปสู่การตั้งคำถามกับตัวเองและความลังเลที่จะพยายามให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ของตัวเอง 

จะจัดการกับความหวาดกลัวนี้ได้อย่างไร 

พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกก้าวข้ามภาวะนี้ได้โดยการให้การสนับสนุน ความช่วยเหลือในการฝึกฝนและการพยายามทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสนุก ส่วนมากแล้วพ่อแม่อาจเริ่มจากการพัฒนามุมมองต่อคณิตศาสตร์ให้เป็นไปในทางที่ดีสำหรับตัวเองก่อน ก่อนที่จะหาวิธีการนำตัวเลขเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กให้ได้มากที่สุด 

นี่เป็นบางตัวอย่างวิธีที่พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กลดความเครียดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ 

  1. เล่นเกมคณิตศาสตร์ ไม่ว่าคุณจะเล่นเกมออนไลน์หรือเกมบนกระดาน เช่น เกมเศรษฐี หรือ Double Shutter หรือใช้อุปกรณ์ในห้องครัวมาเล่นเกี่ยวกับตัวเลขก็ตาม การเล่นเกมที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์และตัวเลขนั้นเป็นวิธีที่ดีมากในการทำให้วิชานี้กลายเป็นเรื่องสนุกและทำให้เด็กสนใจวิชานี้

  2. สังเกตทัศนคติของคุณที่มีต่อวิชานี้ คุณเคยพูดว่า “ฉันทำคณิตศาสตร์ได้ไม่ดีหรือฉันก็แค่ไม่ชอบคณิตศาสตร์” หรือไม่ ? หากใช่ ควรพิจารณาเปลี่ยนความคิดของคุณ  อย่างน้อยคุณไม่ควรแสดงความคิดในด้านลบเกี่ยวกับวิชานี้ออกมา ลูกของคุณสังเกตและเรียนรู้จากตัวคุณ ดังนั้นหากคุณแสดงความรู้สึกด้านลบแทนการพูดคุยเกี่ยวกับความสนุกและความสำคัญของวิชานี้ คุณก็กำลังทำให้ลูกของคุณแย่ลง

  3. ฝึกฝนกับลูก เมื่อพูดถึงทักษะทางคณิตศาสตร์ เช่น บวก ลบ คูณ หาร แล้วนั้น ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการฝึกฝน และการเรียนรู้เกี่ยวกับการคูณนั้นก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน ลองฝึกท่องสูตรคูณระหว่างทางไปโรงเรียน ขณะอาบน้ำ ก่อนที่จะเล่านิทานก่อนนอน หรือเวลาใดก็ตามที่คุณสามารถแทรกมันเข้าไปได้ คุณอาจจะพิมพ์โจทย์เลขและทำให้สนุกและท้าทายมากขึ้นด้วยการจับเวลา หรือให้รางวัลเมื่อพวกเขาทำเสร็จและทำได้เร็วขึ้น

  4. กำจัดความคิดที่ว่าบางคนอาจจะไม่เก่งคณิตศาสตร์ออกไป นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะในผู้หญิง ซึ่งอาจนำความเชื่อผิด ๆ นี้มาจากการที่ปัจจุบันผู้ชายนั้นเก่งเลขกว่าผู้หญิง มีผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเชื่อว่าความแตกต่างทางทักษะคณิตศาสตร์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ก็มีนักวิจัยอีกกลุ่มที่แย้งว่ามันยังคงมีอยู่ ซึ่งความแตกต่างนี้เกิดจากเหตุผลที่ค่อนข้างซับซ้อนและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของพ่อแม่และครูในการพัฒนาความมั่นใจของเด็กผู้หญิงในวิชานี้ แรงกดดันของสังคมต่อผู้หญิงที่ไม่ควรประสบความสำเร็จในวิชานี้ และความล้มเหลวของพ่อแม่และครูในการสังเกตปัญหาของเด็กผู้หญิงเมื่อเริ่มเรียนคณิตศาสตร์ซึ่งอาจยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

  5. ให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว การศึกษาจาก University ofIllinois in Urbana-Champaign นั้นพบว่าความแตกต่างระหว่างเด็กหญิงและเด็กชายในการเรียนคณิตศาสตร์นั้นจะกว้างขึ้นเมื่อเทียบระหว่างชั้นอนุบาลกับประถมศึกษาปีที่ 5 นอกจากนี้การศึกษายังระบุว่าครูหลายคนเข้าใจผิดว่าการที่เด็กหญิงมีความสนใจในชั้นเรียนและทำการบ้านเสร็จตามกำหนดนั้นเป็นสิ่งที่แสดงว่าพวกเขาเข้าใจบทเรียน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ ครูและพ่อแม่ควรพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาเหล่านั้นกับเด็กเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจเนื้อหาเรื่องนั้นแล้วจริง ๆ และหากจำเป็นก็สามารถให้ความช่วยเหลือพิเศษได้ทันที

ช่วยพวกเขาแก้ไขข้อผิดพลาด สิ่งที่ดีที่สุดสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อช่วยให้ลูกของคุณสามารถพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์และเรียนรู้วิชาการอื่น รวมทั้งบทเรียนของชีวิตก็คือการทำให้พวกเขามั่นใจว่าความผิดพลาดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และพวกเขาจะได้โอกาสในการเรียนรู้ หากคุณสามารถช่วยให้ลูกของคุณนำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในวิชานี้มาทำให้พวกเขาเห็นว่านี่จะเป็นสิ่งที่ช่วยในการเรียนรู้ พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะลดความหวาดกลัวต่อวิชานี้ลง


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
stanfordchildrens.org, Tutoring relieves math anxiety, changes fear circuits in children (https://www.stanfordchildrens.org/en/about/news/releases/2015/tutoring-relieves-math-anxiety-changes-fear-circuits-in-children)
drugs.com, Math Anxiety in Children (https://www.drugs.com/cg/math-anxiety-in-children.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การช่วยเหลือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จที่โรงเรียน
การช่วยเหลือนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จที่โรงเรียน

8 ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นกุญแจที่จะช่วยให้ผู้สอนสามารถช่วยเหลือนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ

อ่านเพิ่ม