หนอนบำบัด (Maggot therapy) ศาตร์แห่งการรักษาแผลด้วยวิถีธรรมชาติ

“หนอนบำบัด” เป็นวิธีรักษาแผลที่มีเนื้อตายที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และหนอนที่นำมาใช้ก็ต้องเพาะเลี้ยงในสถานที่เฉพาะ รับรองความสะอาด
เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

บทความนี้เขียนโดย ทีมแพทย์ HonestDocs

“หนอนบำบัด” เป็นการรักษาตามวิถีธรรมชาติที่มีมานานถึง 1,000 ปี โดยชาวอินเดียนแดงเผ่ามายาและชาวเจมบา ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย พวกเขาได้นำหนอนแมลงวัน (Maggot) มาใช้ในการทำความสะอาดแผลหนองหรือแผลติดเชื้อ และต่อมาในภายหลังได้มีการพัฒนาเทคนิคการรักษาด้วยหนอนบำบัดอย่างจริงจังและเผยแพร่สู่สาธารณชน จนกระทั่งในยุคที่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะ การทำแผลโดยใช้หนอนบำบัดก็เงียบหายไปจากวงการแพทย์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

“หนอนบำบัด” หรือ Maggot therapy เป็นศาสตร์ทางเลือกสำหรับรักษาแผลเรื้อรังที่รักษาด้วยการทำแผลธรรมดาหรือรักษาด้วยการทำแผลทั้งเช้าและเย็นอาการก็ยังไม่ดีขึ้น หนอนแมลงวันสายพันธุ์ Lucilia sericata ถูกเลือกมาใช้ในการทำแผล เนื่องจากเป็นหนอนแมลงวันสายพันธุ์ที่มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายเนื้อตาย รวมถึงสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นการสร้างเนื้อดีขึ้นมาแทน และหนอนสายพันธุ์นี้จะไม่สามารถเจริญหรือพัฒนาไปเป็นแมลงวันได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ในแผลผู้ป่วย

การเตรียมหนอนแมลงวันเพื่อใช้ทำหนอนบำบัด

การใช้หนอนบำบัดไม่ใช่จะใช้หนอนอะไรก็ได้ แต่ต้องมีการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันสายพันธุ์พิเศษที่กล่าวไปแล้วข้างต้นในห้องปฏิบัติการที่ปราศจากเชื้อ เพื่อให้ได้หนอนที่สะอาด ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรค บริษัทผู้ผลิตได้ออกแบบอุปกรณ์ให้ง่ายต่อการใช้ โดยนำหนอนใส่ลงไปในถุงผ้าที่มีคุณสมบัติเฉพาะและปิดสนิททุกด้าน มีรูพรุนให้น้ำย่อยและสารคัดหลั่งของหนอนแมลงวันเล็ดลอดออกมาที่แผล และในขณะเดียวกันถุงผ้าที่ปิดสนิททุกด้านก็เพื่อป้องกันการหลุดลอดออกมาของตัวหนอน โดยถุงผ้ามี 4 ขนาด คือ ขนาดเล็กพิเศษ บรรจุหนอน 50 ตัวในถุงขนาด 3x4 เซนติเมตร ขนาดเล็ก บรรจุหนอน 100 ตัวในถุงขนาด 4x5 เซนติเมตร ขนาดกลาง บรรจุหนอน 200 ตัวในถุงขนาด 5x6 เซนติเมตร และขนาดใหญ่ บรรจุหนอน 300 ตัวในถุงขนาด 6x12 เซนติเมตร ทั้งนี้การเลือกใช้ขนาดของถุงขึ้นอยู่กับขนาดของแผล

ปัจจุบันในประเทศไทย หากโรงพยาบาลใดต้องการใช้หนอนบำบัด จะต้องสั่งผลิตจากห้องทดลองก่อน

หลักการทำงานของหนอนบำบัด

หลักการทำงานของหนอนบำบัด คือ หนอนจะผลิตเอนไซม์ออกมาช่วยย่อยเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว จากนั้นหนอนจะดูดน้ำและเนื้อเยื่อที่ย่อยแล้วเข้าไป เมื่อหนอนออกจากไข่จะมีชีวิตอยู่ประมาณ 3-4 วันก่อนจะกลายเป็นดักแด้ ดังนั้นการบำบัดแต่ละครั้งจึงต้องเปลี่ยนถุงผ้าทุก 3 วัน ในระหว่างนี้หากแผลมีสารคัดหลั่งซึมมาก สามารถทำแผลได้ตามปกติ เมื่อทำแผลแล้วก็วางถุงผ้าไว้ดังเดิม และพันทับด้วยผ้าพันแผลอย่างหลวมๆ จนครบ 3 วันจึงจะเปลี่ยนถุง หากแผลไม่ใหญ่นักอาจใช้การเปลี่ยนถุงผ้า 2-3 ครั้ง (ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6-9 วัน) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะความรุนแรงของแผลด้วย

อย่างไรก็ตาม หนอนจะอยู่ในซองผ้าซึ่งเป็นซองชนิดพิเศษ ไม่สามารถหลุดออกมาได้ จึงไม่ต้องกังวลว่าหนอนพวกนี้จะออกมาอยู่ในแผล ทำให้แผลมีหนอนเต็มไปหมด

หนอนบำบัดเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาแผลเรื้อรัง เนื่องจากแผลเรื้อรังมีเนื้อตายค่อนข้างมากและมักมีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ การใช้หนอนบำบัดจะให้หนอนกำจัดเนื้อตายแทนการขูดเนื้อตายในแผลออก ซึ่งมีสร้างความเจ็บปวดมาก เมื่อกำจัดเนื้อตายออกจากแผลได้แล้ว เนื้อดีหรือเนื้อใหม่ จึงจะเกิดขึ้นมาแทน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับประเทศไทย มีข้อมูลว่ามีการใช้หนอนบำบัดในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ใช้หนอนบำบัดกับผู้ป่วยประมาณ 5 ราย โดยผู้ป่วย 3 ใน 5 รายเป็นผู้ป่วยแผลเบาหวานที่มีเนื้อตายจำนวนมาก พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยหนอนบำบัดจะแผลหายเร็ว ไม่ต้องต่อหลอดเลือด อีก 2 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อถึงชั้นพังผืด ก็ได้ผลดีมากเช่นกัน

การเตรียมผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาด้วยหนอนบำบัด

ในทางคลินิก ผู้ป่วยไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่ที่สำคัญคือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการและระยะเวลารักษา เพื่อให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกว่าจะรับการรักษาด้วยหนอนบำบัดหรือไม่

การใช้หนอนบำบัดในการรักษาแผลเรื้อรังจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำแผลทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าค่าใช้จ่ายยังน้อยกว่าการขูดเนื้อตายจากแผลที่ทำในโรงพยาบาลเอกชน

การรักษาด้วยหนอนบำบัดมีผลข้างเคียงหรือไม่?

การรักษาด้วยหนอนบำบัดไม่พบว่าเกิดผลข้างเคียง มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า 90% ของผู้ที่เคยใช้หนอนบำบัดจะรู้สึกจั๊กจี้เท่านั้น

ปัญหาและอุปสรรคที่พบจากการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ทัศนคติของญาติที่มีความกลัว หรือรู้สึกขยะแขยงต่อวิธีการรักษาแบบนี้ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนแก่ผู้ป่วยและญาติเพื่อลดความกังวลของผู้ป่วย และสร้างความร่วมมือในการรักษา

การใช้หนอนบำบัด ไม่มีข้อห้ามใช้เป็นพิเศษ ยกเว้นผู้ที่มีประวัติแพ้หนอนบุ้งหรือแมลง เอนไซม์จากหนอนก็ไม่ถูกดูดซึมผ่านทางแผลแต่อย่างใด สำหรับผู้ป่วยแผลกดทับอาจต้องจัดท่าที่ไม่นอนทับหนอน เพื่อป้องกันไม่ให้แรงกดจากการนอนกดทับบนหนอนจนทำให้หนอนตาย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Ronald, A. S. (2014). Mechanisms of Maggot –Induced Wound Healing: What Do We Know, and Where Do We Go from Here? Evidence-based Complementary and Alternative Medicine, http://ds.doi.org/10.1155/2014/592419. สืบค้น 11 กรกฎาคม 2562.
สุวรรณี เอี่ยมคง. หนอนบำบัด (Maggot therapy). 11 กรกฎาคม 2562.
มูลนิธิหมอชาวบ้าน. หนอนบำบัด รักษาเนื้อตาย ขยายเนื้อดี. ticle/detail/5775" http://www.doctor.or.th/article/detail/5775, สืบค้น 11 กรกฎาคม 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)