รางจืด สุดยอดสมุนไพร ช่วยล้างพิษในร่างกาย

รางจืด สมุนไพรมากด้วยประโยชน์ ช่วยขับพิษออกจากร่างกาย แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้เช่นกัน ซึ่งจะมีอะไรอะไรบ้างนั้น บทความนี้มีคำตอบ
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
รางจืด สุดยอดสมุนไพร ช่วยล้างพิษในร่างกาย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • รางจืดเป็นพืชสมุนไพรที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่คุณประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการล้างพิษต่างๆ เช่น พิษยาเบื่อ ยาฆ่าแมลง เห็ดพิษ พิษสุรา
  • นอกจากการล้างพิษ รางจืดยังมีคุณสมบัติรักษาโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น โรคข้ออักเสบ อาการปวดบวม โรคหอบหืดเรื้อรัง โรคร้อนใน โรคเริม โรคงูสวัด
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต และหญิงตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังในการใช้รางจืดล้างพิษเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้สมุนไพรชนิดนี้
  • รางจืดแบบสมุนไพรแคปซูล อาจทำให้ระบบการทำงานของเลือดผิดปกติได้ และทำให้ตับกับไตทำงานหนักมากขึ้นจนเสื่อมสภาพ จึงไม่ควรรับประทานเป็นเวลานาน
  • รางจืดอาจช่วยถอนพิษอันตรายได้หลายชนิด แต่ทางที่ดี เมื่อคุณได้รับสารพิษใดๆ เข้าร่างกาย ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายให้มั่นใจ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

รางจืด เป็นสมุนไพรที่ได้ชื่อว่า ราชาแห่งการล้างพิษ ตลอดจนช่วยถอนพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายออกไป เชื่อว่าหลายๆ คนอาจยังไม่รู้จักกันมากนัก 

รู้จักรางจืด

รางจืด เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Thunbergia laurifolia  Lindl." และยังมีอีกหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นต่างๆ ที่คนไทยในแต่ละพื้นที่จะเรียกขานกัน เช่น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • กำลังช้างเผือก 
  • ขอบชะนาง 
  • เครือเขาเขียว 
  • ยาเขียว (ภาคกลาง) 
  • น้ำแน่ (ภาคอีสาน)
  • รางเย็น (ยะลา) 
  • ดุเหว่า (ปัตตานี) 
  • ทิดพุด (นครศรีธรรมราช) 
  • น้ำนอง (สระบุรี) 
  • ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์) 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

รางจืดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 8 - 14 เซนติเมตร ขอบใบเว้าเล็กน้อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน ใบประดับสีเขียวประสีน้ำตาลแดง ผลเป็นผลแห้ง แตกได้

สารสำคัญในรางจืด

สารสำคัญที่พบในรางจืดประกอบด้วย

  • กลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenol) ได้แก่ กรดฟีนอลิค (Phenolic acid) เช่น Gallic acid และ Caffeic acid ซึ่งมีฤทธิ์อนุมูลอิสระ protocatechuic acid
  • กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ได้แก่ apigenin และ apigenin glucoside โดยเฉพาะ apigenin ซึ่งเป็นสารสำคัญในรางจืดที่สามารถยับยั้งพิษของสารหนู

พืชสมุนไพรประเภทนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมายตั้งแต่ใบจรดราก โดยสามารถแก้อาการที่เกิดจากพิษต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่

  • พิษยาเบื่อ
  • ยาสั่ง
  • ยาฆ่าแมลง
  • พืชพิษ
  • เห็ดพิษ
  • พิษสุรา และยาเสพติด
  • พิษงู แมลงป่อง หรือตะขาบ

คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของรางจืด

  • มีฤทธิ์ต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืช (ยาฆ่าหญ้า)
  • มีฤทธิ์ต้านพิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ
  • มีฤทธิ์ต้านพิษของตะกั่วต่อสมอง
  • มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ (มะเร็ง)
  • มีฤทธิ์ลดความดัน
  • มีฤทธิ์ต้านพิษเหล้า
  • มีฤทธิ์ต้านสารเสพติด
  • มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
  • มีฤทธิ์แก้อักเสบ

สรรพคุณตามตำรายาไทยของรางจืด

  1. แก้ท้องร่วง
  2. แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
  3. ใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้
  4. รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง
  5. แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ
  6. แก้พิษเบื่อเมา เนื่องจากเห็ดพิษ
  7. ถอนพิษผิดสำแดง และพิษอื่นๆ
  8. ช่วยถอนพิษสุราหรืออาการเมาค้าง
  9. รักษาโรคข้ออักเสบ และปวดบวม
  10. ใช้รักษาผู้ที่ได้รับสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง เช่น สารหนู หรือยาฆ่าแมลง

นอกจากนี้ รางจืด ยังสามารถนำไปแก้พิษที่เกิดขึ้นในสัตว์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น สุนัข หรือแมว อีกทั้งในตำรายาไทย และตำรายาพื้นบ้านยังได้อธิบายเอาไว้ว่าส่วนต่างๆ ของพืชชนิดนี้ สามารถนำไปบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ใบ ใช้ต้มดื่มขณะอุ่นๆ หรือคั้นดื่ม หรือแปรรูปเป็นชาชงรางจืด ดื่มเพื่อเป็นการล้างพิษในร่างกาย
  • ราก ให้ใช้รากที่มีอายุเกิน 1 ปี มีขนาดเท่ากับนิ้วชี้นำมาฝนกับน้ำดื่ม เพื่อเป็นการล้างพิษในร่างกาย
  • ยอดอ่อน และดอก เป็นยาอายุวัฒนะ สามารถรับประทานเป็นผักเหมือนกับผักพื้นบ้านทั่วๆ ไปได้ โดยใช้วิธีการปรุงอาหาร คือ การลวก หรือการนำไปปรุงเป็นแกง เช่น ผัดยอดรางจืด ไข่เจียวดอกรางจืด แกงส้มยอดรางจืด สลัดสมุนไพรรางจืด

ในภูมิปัญญาอีสานมีเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาว่า ก่อนที่จะมีการปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้ง ให้ใส่ใบ และดอกของเถารางจืดเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดขึ้นจากพืช หรือสัตว์ป่าที่อาจทำให้เกิดอันตรายหลังจากที่เรารับประทานเข้าไป 

โดยเคล็ดลับเหล่านี้ก็ตรงกันกับข้อมูลของหมอยาชาวไทยใหญ่ที่ได้แนะนำ ให้เอายอด และดอกของเถารางจืดมาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อีกทั้งหมอยาพื้นบ้านยังนิยมใช้รางจืดเพื่อช่วยลดความดันโลหิต รักษาอาการแพ้ และผดผื่นคันบนผิวหนังได้เป็นอย่างดี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สรรพคุณการดูดซับพิษของรางจืด

1. ต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืช (ยาฆ่าหญ้า)

กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษเหล่านี้มากที่สุด คือ เกษตรกรที่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชเป็นประจำ หากได้รับพิษกลุ่มนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

เพราะรางจืด มีฤทธิ์ต้านพิษยากำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตได้ เนื่องมาจากสารสกัดของสมุนไพรชนิดนี้มีผลลดการยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส  (Cholinesterase) หรือทำให้ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ รางจืดยังมีฤทธิ์ยับยั้งลิพิดเปอร์ออกซิเดซัน (Lipid peroxidation) ซึ่งเป็นกลไกการออกฤทธิ์ต้านพิษพาราควอตอีกกลไกหนึ่งด้วย

2. ช่วยลดพิษของตะกั่ว

รางจืด นับได้ว่าเป็นสมุนไพรที่เข้ากับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเราเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นสภาพแวดล้อมในเมืองหลวงแล้ว โอกาสที่จะเกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษก็ยิ่งเป็นไปได้สูง 

โดยหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษ ก็คือ สารตะกั่วจากไอเสียน้ำมันเบนซิน ซึ่งเมื่อคุณสูดเอาไอเสียเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย และสะสมเอาไว้มากๆ ก็มีความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคพิษสารตะกั่วเรื้อรังในระยะยาวได้ 

นอกจากนี้ สารตะกั่วเหล่านี้ยังจะเข้าไปสะสมในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ และการเรียนรู้ (Hippocampus) ด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

จากการศึกษาพบว่า สมุนไพรรางจืดสามารถช่วยลดอัตราการตายของเซลล์สมองอันเนื่องมาจากพิษของตะกั่วได้ ทั้งยังสามารถยับยั้งการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่เกิดจากพิษของตะกั่วได้

3. ช่วยรักษาผู้ป่วยผู้ติดยาบ้า

ในปัจจุบัน หมอชาวบ้านได้มีการนำสมุนไพรพื้นบ้าน อย่าง รางจืด เข้ามาช่วยแก้พิษที่เกิดจากยาเสพติด ซึ่งในปัจจุบันมีรายงานทางการศึกษาว่า รางจืด มีฤทธิ์ที่ช่วยกระตุ้นประสาทเช่นเดียวกับ โคเคน (Cocaine) และ ยาบ้า แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า 

ดังนั้นรางจืดจึงมีแนวโน้มที่นำมาใช้ เพื่อให้ผู้ที่ติดยาเสพติดสามารถเลิกเสพยาเสพติดได้ 

นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากการดื่มเหล้าได้อีกด้วย โดยจากการศึกษาพบเพิ่มเติมอีกว่า รางจืด มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับที่สูงมาก

4. ช่วยรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง 

เพราะรางจืดมีฤทธิ์ในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับได้ อีกทั้งสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ได้ 

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการเกิด hepatic lipid peroxidation ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด และเพิ่มระดับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase และ aldehyde dehydrogenase ด้วย

ปัจจุบันคลินิก โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งในประเทศไทยที่มีแพทย์แผนไทยประจำอยู่ ได้เริ่มใช้รางจืดเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์แผนตะวันตก 

โดยรางจืดจะมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะและมีฤทธิ์ลดความเป็นพิษของแอลกอฮอล์ต่อตับ ทำให้ผู้ป่วยสามารถค่อยๆ ถอนพิษสุราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการหักดิบ งดสุราเลยทันทีซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อผู้ป่วยโดยตรง

5. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง

ในปัจจุบัน ได้มีการยืนยันจากรายงานการศึกษาที่ระบุว่า รางจืด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและสามารถต้านไวรัสโรคเริมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้มีการออกมาสนับสนุนให้มีการใช้รางจืดในการรักษาผดผื่นคัน เริม งูสวัด หรืออาการผิวหนังอักเสบอื่นๆ

6. มีฤทธิ์ต้านพิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ

รางจืดช่วยแก้พิษแมงดาทะเลได้ ซึ่งสารพิษที่อยู่ในแมงดาทะเล คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) สารนี้จะพบในแมงดาทะเลและปลาปักเป้า มีพิษทำให้ผู้ป่วยอาจถึงตายได้ ซึ่งวความรุนแรงของอาการพิษขึ้นอยู่กับปริมาณไข่แมงดาทะเลที่ได้รับ 

มีรายงานการใช้รางจืดแก้พิษกับผู้ป่วยที่กินไข่แมงดาทะเลที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นหมดสติว่า มีการใช้น้ำสมุนไพรรางจืดทาง NG tube 40 นาที ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวและอาการดีขึ้นตามลำดับ

7. มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อมะเร็ง

รางจืดมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ซึ่งทั้งรางจืดแบบสดและแบบแห้งสามารถใช้ได้ผลเช่นกัน

อีกทั้งรางจืดยังมีสารออกฤทธิ์อาจเป็นกรดฟีนอลิก ได้แก่ caffeic acid และ apigenin และสารกลุ่มคลอโรฟิลล์ ได้แก่ chlorophyll a, chlorophyll b,pheophorbide a และ pheophytin a ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้

8. มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต

การสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดแห้งมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูแรตลดลง โดยกลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งอาจผ่าน Cholinergic receptor และทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว และช่วยขับปัสสาวะ

9. มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

 สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และทำให้เบต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์

10.มีฤทธิ์แก้อักเสบ

รางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบสูงกว่ามังคุดประมาณ 2 เท่า และสารสกัดรางจืดในรูปแบบของครีมสามารถลดการอักเสบได้ดีเท่ากับสเตียรอยด์ครีม

ข้อแนะนำในการใช้ รางจืด สำหรับล้างพิษ

  • เพื่อการล้างพิษควรรับประทานติดต่อกัน 7 - 10 วัน
  • การใช้รางจืดสำหรับถอนพิษยาฆ่าแมลง หรือสารพิษ ต้องใช้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เกิดผลดี หากพิษซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมารมาก หรือปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนการถอนพิษด้วยรางจืดจะได้ผลน้อยลง

ข้อควรระวังในการใช้ รางจืด สำหรับล้างพิษ

  • ไม่ควรดื่มน้ำที่คั้นจากรางจืดนานติดต่อกันเกิน 30 วัน
  • อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาอื่น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพราะรางจืดอาจเร่งขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ควรเว้นระยะเวลารับประทานรางจืดจากยาตัวอื่นๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง
  • ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำและหญิงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์แผนไทยก่อนใช้

หลักการรับประทานรางจืดอย่างถูกต้องและปลอดภัย

เมื่อสรรพคุณของรางจืด คือ ยาถอนพิษ ตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทยควรดื่มในความเข้มข้นน้อย และหลีกเลี่ยงการดื่มติดต่อกันทุกวัน ส่วนในกลุ่มที่รับประทานรางจืดแบบสกัดออกมาเป็นผงแคปซูล ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน 1 เดือน 

หากคุณเป็นผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ก็ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไท หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ยารางจืด เข้าไปลดฤทธิ์ยาที่จำเป็นต้องรับประทานอยู่ตลอดลง

วิธีการรับประทานยารางจืด

  1. กรณียาชง รับประทานครั้งละ 2 - 3 กรัม โดยชงกับน้ำร้อน 100-200 ซีซี วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ    
  2. นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจำนวน 5-7 ใบ โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำดื่ม หรือน้ำซาวข้าว จำนวน 250 ซีซี หรือคั้นน้ำรางจืด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ    
  3. นำรากที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดรากเท่านิ้วก้อย ตัดความยาวเท่าที่มือจับ โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาด หรือน้ำซาวข้าว รับประทานครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ

ผลจากการรับประทานรางจืดติดต่อกันนานเกินไป

เนื่องจากรางจืดเป็นหนึ่งในพืชที่ถูกยกย่องให้เป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ และมีสรรพคุณในการดูแลรักษาร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม จึงมีการนำเอารางจืดไปสกัด ทำเป็นแคปซูลและเป็นผงชงดื่ม 

การรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ ควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเชื่อคำอวดอ้างชวนเชื่อมากเกินไป เพราะการรับประทานผิดวิธี และติดต่อกันนานเกินไป จะทำให้ตับ และไตต้องทำงานหนักมากขึ้น

อันตรายที่พบจากรางจืด

การรับประทานรางจืดติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะประเภทแคปซูล สามารถทำให้การทำงานของระบบเลือดผิดปกติได้ อีกทั้งตับ และไตจะต้องทำงานหนักมากขึ้น จนกระทั่งส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพตามมา

ผู้ป่วยที่มีการใช้ยารักษาโรคที่ต้องรับประทานเป็นประจำ หากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ หรือแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อน ว่ารางจืดมีผลต่อยาที่รับประทานประจำหรือไม่ รางจืดก็อาจเข้าไปลดฤทธิ์ยาที่รับประทานเป็นประจำ จนทำให้กระบวนการรักษาโรคด้อยประสิทธิภาพลง

การรับประทานรางจืดในระยะยาว แม้จะไม่ได้มีผลวิจัยออกมาแน่ชัด แต่แพทย์ให้ระวังอาการที่จะไปทำให้ตับ และไตทำงานหนักได้

ดังนั้นสมุนไพรพื้นบ้านในบ้านเรานอกจากจะนำมาปรุงอาหารได้แล้ว ก็ยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ให้หายขาดได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีความปลอดภัยขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งจากการใช้ยาปฏิชีวนะในปัจจุบัน 

คุณควรบริโภคสมุนไพรพื้นบ้านทุกชนิด แต่พอดี เมื่ออาการเจ็บป้วยเริ่มบรรเทาลงแล้ว ก็ควรลดปริมาณลงตามลำดับ 

เพราะในข้อดีของสมุนไพรทุกชนิด ยังอาจมีข้อเสียที่คุณยังไม่รู้  และคุณควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สุขภาพของคุณแข็งแรงเต็มขั้น ไม่มีโรคใดๆ มาทำให้เจ็บป่วยได้อีก

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
บุศบรรณ ณ.สงขลา. สมุนไพรไทย ตอนที่ 1. กรุงเทพฯ: หจก. ฟันนี่พับลิชชิ่ง, 2525: 91 หน้า.
พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล และคณะ. สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด, 2535:257 หน้า
พร้อมจิต ศรลัมพ์, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (http://medplant.mahidol.ac.th/document/Thunbergia.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป