รู้จักฮอร์โมนกลูคากอน บทบาทหน้าที่ และหากผิดปกติจะเกิดอะไรต่อสุขภาพบ้าง?

เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
รู้จักฮอร์โมนกลูคากอน บทบาทหน้าที่ และหากผิดปกติจะเกิดอะไรต่อสุขภาพบ้าง?

หากพูดถึงฮอร์โมนกลูคากอน ย่อมไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก ยกเว้นแต่ผู้ที่มีอาการของภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว กลูคากอนมีความสำคัญต่อร่างกายมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหลั่งอินซูลิน รวมถึงเรื่องของการเปลี่ยนไกลโคเจนให้กลายเป็นกลูโคสเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น เรื่องของไกลโคเจนมักจะเป็นที่รู้จักกันดีในผู้ที่นิยมชมชอบการออกกำลังกายในรูปแบบของการเล่นเวทเทรนนิ่ง (Weightraining) เนื่องจากมีทฤษฎีเกี่ยวกับไกลโคเจนเพื่อที่จะคำนวณน้ำหนักที่จะยก พร้อมกับจำนวนครั้งที่จะยก แต่ก็ไม่ได้มีใครพูดถึงกลูคากอนอีกเช่นกัน เราจึงได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับกลูคากอนเพื่อให้ทำความเข้าใจกันมากขึ้น เพราะถ้าวันหนึ่งเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นในร่างกาย จะได้รู้วิธีการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ฮอร์โมนกลูคากอน คืออะไร?

ฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเองได้ โดยผลิตขึ้นมาจากเซล์ชนิดหนึ่งในตับอ่อนที่ชื่อว่า Alpha cells การทำงานของฮอร์โมนกลูคากอน คือการเพิ่มระดับน้ำตาล (กลูโคส) เข้าไปในกระแสเลือด หรืออธิบายง่าย ๆ ว่าตรงข้ามกับการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินที่จะทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ก็จะมีการหลั่งกลูคากอนออกมา เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของตับให้มีการเปลี่ยนแปลงคาร์โบไฮเดรตที่มีการเก็บสะสมอยู่ภายในชื่อของ "ไกลโคเจน" แล้วเปลี่ยนมาเป็นกลูโคสแทน นอกจากนี้ กลูคากอนยังทำหน้าที่ในการสังเคราะห์กรดอะมิโนและกรดไขมันเพื่อให้เปลี่ยนเป็นกลูโคสที่มากขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าการทำงานของกลูคากอนและอินซูลินจะทำงานตรงข้ามกัน แต่ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ก็จะทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงความสมดุลอยู่เสมอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หากฮอร์โมนกลูคากอนมีการหลั่งผิดปกติ จะก่อให้เกิดโรคใดได้บ้าง?

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การทำงานของกลูคากอนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเข้าสู่ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ กลูคากอนก็จะถูกหลั่งออกมาให้ทำหน้าที่ของมัน แต่ก็อาจจะมีบางคนที่พบปัญหาการหลั่งกลูคากอนที่ผิดปกติ ในกรณีที่กลูคากอนหลั่งมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดกระบวนการเร่งการสลายไกลโคเจนให้เป็นกลูโคสในตับมากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น แต่ก็ไม่พบอันตรายใด ๆ เพราะยังไม่สูงพอที่จะทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 100 mg/dL ได้ (เนื่องจากอินซูลินจะมีการหลั่งออกมายับยั้งได้) ที่น่ากังวลก็คงจะเป็นในเรื่องของการหลั่งกลูคากอนที่น้อยจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำนั่นเอง

อาการของผู้ที่เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

โดยทั่วไปแล้ว ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญน้ำตาที่ตกค้างอยู่ไปจนหมด แต่เมื่อรับประทานอาหารมื้อแรกไปแล้วก็จะรู้สึกดีขึ้นเอง โดยอาการที่สามารถพบได้จากผู้ที่มีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ มีดังต่อไปนี้

  • เหงื่อออกง่าย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน (จึงมีสำนวนว่าดุเหมือนขาดน้ำตาล)
  • มีความกระวนกระวาย มือสั่น อยู่ไม่นิ่งตลอดเวลา
  • คิดอะไรไม่ออก เกิดการสับสน มึนงง วิตกกังวล หัวสมองตีบตัน
  • หัวใจเต้นแรง ใจสั่น รู้สึกหวิว ๆ เหมือนจะเป็นลม
  • รู้สึกชาที่ปากและใบหน้า ตัวเย็น
  • ไม่ค่อยตอบสนองต่อปฏิกิริยาต่าง ๆ มีอาการง่วงซึมอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจพบการพูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิเท่าที่ควร
  • ชัก และหมดสติ ถ้านำตัวส่งโรงพยาบาลช้าจนทำให้สมองขาดออกซิเจน อาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตครึ่งตัว

การรับฮอร์โมนกลูคากอนจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย

สำหรับผู้ที่ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง หรือผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งของฮอร์โมนกลูคากอนผิดปกติ ก็จะต้องรับการฉีดฮอร์โมนกลูคากอนเข้าไปทดแทน โดยฮอร์โมนกลูคากอนที่เอามาฉีด คือฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อใช้บำบัดรักษาโรคโดยตรง ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรายการเวชภัณฑ์พื้นฐานที่สถานพยาบาลต้องมีให้กับผู้ป่วยอยู่เสมอ ในรายที่มีปัญหาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่ตลอดเวลา (อาจจะเกิดจากการได้รับอินซูลินมากจนเกินไปเนื่องจากเป็นโรคเบาหวาน) สามารถขอชุดฮอร์โมนไกลโคเจนติดบ้านไว้เพื่อฉีดด้วยตัวเองในกรณีที่มีเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้

เรื่องของระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำ ก็ย่อมไม่ดีต่อร่างกายทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลตัวเอง เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ พร้อมกับออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ ได้แล้ว


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Glucagon Physiology. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279127/)
Glucagon: Hormones, Hypoglycemia, and Diabetes. WebMD. (https://www.webmd.com/diabetes/glucagon-blood-sugar)
Insulin and Glucagon: How Do They Work?. Healthline. (https://www.healthline.com/health/diabetes/insulin-and-glucagon)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)