โรคมะเร็งไต (Kidney cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 8 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 22 นาที
โรคมะเร็งไต (Kidney cancer)

โรคมะเร็งไตเป็นชนิดของโรคมะเร็งที่มักพบในวัยผู้ใหญ่ และมีลักษณะเฉพาะหลายประการคือทั้งไม่ตอบสนองต่อเคมีบำบัด และมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การมีน้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่และปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่สืบทอดกันมา

บทนำ

มะเร็งไตจัดเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ ในประเทศอังกฤษซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 10,100 คนที่ได้รับการวินิจฉัยในแต่ละปี สำหรับประเทศไทยนั้นอุบัติการณ์ผู้ป่วยรายใหม่มีประมาณ 10 รายต่อประชากร 100,000 คน  และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกปี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการและอาการแสดงของโรคมะเร็งไตนั้น ได้แก่:

  • พบเลือดปนในปัสสาวะของคุณ
  • ความเจ็บปวดที่ไม่ทุเลาในลำตัวด้านข้างของคุณระดับประมาณต่ำกว่าซี่โครงเล็กน้อย
  • พบก้อนหรือเกิดการบวมในบริเวณที่ไตอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย

ให้เข้าพบแพทย์ของคุณโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากคุณมีอาการเหล่านี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายคุณและอาจส่งต่อคุณไปยังคลินิกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตเพื่อทำการตรวจทดสอบอย่างละเอียดต่อไป

อย่างไรก็ตาม พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็งไตจะไม่มีอาการใด ๆ และพบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งหรือเนื้องอกไตระหว่างการตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจร่างกายเพื่อภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง

ไตและการเกิดโรคมะเร็ง

ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่วซึ่งวางตัวอยู่ทั้งสองข้างของร่างกายที่ระดับพอดีขอบซี่โครงด้านล่าง

บทบาทหน้าที่หลักของไต คือ การกรองสิ่งปฏิกูลของเสียออกจากเลือด และทำการผลิตปัสสาวะ โดยทั่วไป โรคมะเร็งมักเกิดเพียงข้างใดข้างหนึ่งของไตเท่านั้น

ร่างกายมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์หลายพันล้านเซลล์ ซึ่งปกติจะเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างเป็นระเบียบว่าเซลล์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นจะสร้างขึ้นเมื่อใด และที่ไหนในกรณีมีความจำเป็นต้องแบ่งตัวเท่านั้น แต่ในโรคมะเร็งกระบวนการที่เป็นระเบียบเหล่านี้เกิดความผิดพลาดขึ้นและเซลล์เริ่มเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่สามารถควบคุมได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

กระบวนการหรือสิ่งใดที่กระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตผิดปกติดังกล่าวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่สามารถเพิ่มโอกาสในการพัฒนาโรคมะเร็งดังกล่าวขึ้น เช่น การสูบบุหรี่และโรคอ้วน

มะเร็งไตมักมีผลต่อคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ชนิดของโรคมะเร็งไต

มีโรคมะเร็งหลายชนิดซึ่งสามารถส่งผลต่อไต ชนิดที่พบมากที่สุด คือ มะเร็งคาร์ซิโนมาของเนื้อเยื่อไต (Renal cell carcinoma: RCC) ซึ่งเป็นชนิดของโรคมะเร็งไตกว่า 80% ของโรคมะเร็งไตทั้งหมด

ชนิดของโรคมะเร็งไตอื่น ๆ ที่พบได้ยากกว่า ได้แก่:

  • มะเร็งกรวยไต (Transitional cell carcinoma) - เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อบุผิวบริเวณท่อทางเดินปัสสาวะ และมักจะมีผลต่อชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งไตในเด็ก หรือวิมส์ทูเมอร์ (Wlims’ tumor) - มะเร็งไตชนิดที่พบได้ยากซึ่งมีผลต่อวัยเด็ก

โดยบทความนี้จะเน้นการอธิบายโรคมะเร็งไตชนิดมะเร็งคาร์ซิโนมาของเนื้อเยื่อไตเป็นหลัก ซึ่งอีกสองชนิดนั้นจะมีการอธิบายในบทความถัด ๆ ไป

การรักษาโรคมะเร็งไต

มะเร็งไตที่ได้รับการวินิจฉัยเร็วและยังไม่ลุกลามจะง่ายต่อการรักษามากกว่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรคและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดเพื่อขจัดเซลล์มะเร็งเป็นทางเลือกการรักษาแรกที่มักนำมาใช้ในเกือบทุกกรณี

โรคมะเร็งไตมีความแตกต่างกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรในการรักษาโรคมะเร็งไต อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัดอื่น ๆ สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การรักษาด้วยรังสีรักษาหรือการรักษาด้วยยาเพื่อเจาะจงฆ่าเซลล์มะเร็งมักถูกนำมาใช้ในโรคระยะลุกลามมากขึ้นโดยเซลล์มะเร็งนั้นได้ลุกลามเกินขอบเขตของไตออกไปแล้ว

การป้องกันโรคมะเร็งไต

เนื่องจากสาเหตุของโรคมะเร็งไตยังไม่ถูกทราบอย่างแน่ชัดจึงยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้อย่างหายขาด

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งได้ การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยหลีกเลี่ยงการมีน้ำหนักเกิน หรือการเป็นโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากของโรคมะเร็งไต

หากคุณมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน คุณสามารถลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักที่เหมาะสมได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำควบคู่กับการรับประทานอาหารที่ควบคุมแคลอรี่

การพยากรณ์โรคมะเร็งไต

การพยากรณ์โรคมะเร็งไตมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกเมื่อเซลล์มะเร็งยังคงจำกัดอยู่ภายในไตเท่านั้น

มะเร็งไตมักจะรักษาให้หายขาดได้โดยการตัดไตออกบางส่วน หรือตัดไตข้างนั้นออกทั้งหมด เนื่องจากคนเราทั่วไปสามารถมีชีวิตสุขภาพดีและแข็งแรงได้โดยแม้มีไตเพียงข้างเดียว ประมาณหนึ่งในสามของมะเร็งไตที่ตรวจพบจะได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่ในระยะเริ่มแรก

ขึ้นอยู่กับการลุกลามและความก้าวร้าวของโรคมะเร็ง ประมาณ 65-90% ของผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่อย่างน้อยห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งไตในระยะเริ่มแรก และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สามารถมีชีวิตอยู่อาศัยได้นานกว่านั้น

แนวโน้มของโรคมะเร็งไตที่เริ่มแพร่กระจายลุกลามออกไปนอกไตเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก โดยมีเพียงประมาณ 40-70% ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งไตระยะลุกลามสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างน้อยห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัย

ในกรณีที่มะเร็งไตลุกลามมากขึ้นและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจะทำให้เหลือเพียงประมาณ 10% ของผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่อย่างน้อยห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัย

อาการของโรคมะเร็งไต

ส่วนใหญ่ของโรคมะเร็งไตมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ในระยะเริ่มแรก

อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งไตระยะกลางถึงระยะหลัง ได้แก่

  • พบเลือดปนในปัสสาวะ (Haematuria) - ปริมาณเลือดมักจะสูงพอที่จะเปลี่ยนสีของปัสสาวะเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีน้ำตาลเข้มซึ่งเห็นได้ชัด
  • ความเจ็บปวดที่ไม่ทุเลาในบริเวณด้านข้างของลำตัวคุณระดับขอบล่างของซี่โครง
  • พบก้อนหรืออาการบวมบริเวณไตของคุณด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ราวครึ่งหนึ่งของโรคมะเร็งไตจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ และตรวจพบโดยบังเอิญระหว่างการตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจอัลตราซาวนด์ตามปกติ

อาการที่พบได้น้อยกว่าของมะเร็งไต ได้แก่ :

  • ความเหนื่อยล้าอย่างหนัก
  • ภาวะโลหิตจาง
  • การสูญเสียน้ำหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • ความรู้สึกไม่สบายตลอดเวลา
  • อาการบวมของหลอดเลือดดำในลูกอัณฑะของเพศชาย
  • สูญเสียความอยากอาหาร
  • ความดันโลหิตสูง

ควรเข้าพบแพทย์เมื่อใด

คุณควรเข้าพบแพทย์ประจำตัวของคุณทันที หากคุณมีอาการปวดหรือบวมหรือพบว่ามีก้อนเนื้อที่บริเวณไต โดยทั่วไปจะพบเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายที่ระดับขอบล่างของซี่โครง

ยิ่งไปกว่านั้น คุณควรไปพบแพทย์ประจำตัวเช่นกัน หากคุณพบเลือดปนในปัสสาวะ แม้ว่าอาการดังกล่าวอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งไต แต่อาจเกิดจากโรคอื่นที่รุนแรงน้อยกว่า แต่ต้องได้รับการรักษาเช่นกัน เช่น นิ่วในไตหรือก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งไต

สาเหตุที่แท้จริงของโรคมะเร็งไตยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่สามารถเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคดังกล่าวขึ้นได้

ปัจจัยเสี่ยงหลักสามประการของโรคมะเร็งไต ได้แก่:

  • โรคอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน
  • การสูบบุหรี่
  • ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม

โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน

โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคมะเร็งไต

การวิจัยที่ดำเนินการในปี 2011 พบว่าประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งไตนั้นสัมพันธ์กับการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน โดยคิดเป็น 25% ของผู้ป่วยเพศชายและ 22% ของผู้ป่วยเพศหญิง

มีความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีมวลกายของคน (BMI) ที่สูงขึ้นกับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไต คุณสามารถหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตในการคำนวณดัชนีดังกล่าวได้ และเทียบกับความสูงและเชื้อชาติของคุณว่าเหมาะสมหรือไม่

คะแนนดัชนี BMI ตั้งแต่ 25 หรือสูงกว่านั้นพบว่ามีหลักฐานในการเพิ่มโอกาสของบุคคลในการเกิดโรคมะเร็งไต และผู้ที่มีคะแนนดัชนี BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปมีความเสี่ยงสูงอย่างมากในการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าว

เหตุผลที่เกิดภาวะดังกล่าวขึ้นอาจเป็นเพราะคนที่น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนโดยเฉพาะเพศหญิง จะมีการผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นในร่างกายสูงกว่าคนปกติ และระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนเกินนั้นคาดว่าสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

โดยการที่โรคมะเร็งไตมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาอาจสัมพันธ์กับแนวโน้มที่คนเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น

การสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการพัฒนาโรคมะเร็งไตและยิ่งสูงหนักมากเท่าใดก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น การวิจัยที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า หากคุณสูบบุหรี่เป็นประจำ 10 มวนต่อวันคุณมีโอกาสที่จะพัฒนามะเร็งไตได้มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่เลย 1.5 เท่า และความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าหากคุณสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวันหรือมากกว่า

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำไมการสูบบุหรี่เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งไต

ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม

หากคุณมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ พี่หรือน้องที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งไต คุณอาจมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งไตได้ถึงสองเท่า

ตัวอย่างของภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สืบทอดต่อกันและโรคที่สามรถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไต ได้แก่

  • โรคทูเบอรัส สเคลอโรซิส (Tuberous sclerosis) - ภาวะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้ยากซึ่งเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกชนิดไม่ร้ายหลายชนิดให้เติบโตขึ้นในร่างกาย ภาวะนี้สืบทอดต่อกันทางยีนเด่นของโครโมโซมร่างกาย (Autosomal dominant) ซึ่งหมายความว่า คุณจะได้รับยีนที่ผิดปกติจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคดังกล่าวด้วยเท่านั้น ประมาณหนึ่งในทุก ๆ 100 คนที่เป็นโรคทูเบอรัส สเคลอโรซิสจะเป็นโรคมะเร็งไตตามมาในภายหลัง
  • Hereditary papillary kidney cancer - โรคมะเร็งที่พบได้ยากรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดจากยีนที่ผิดปกติที่สืบทอดมาจากพ่อหรือแม่ของคุณ โรคนี้สืบทอดต่อกันทางยีนเด่นของโครโมโซมร่างกาย (Autosomal dominant) และทำให้เกิดก้อนเนื้องอกมะเร็งขนาดเล็กซึ่งเติบโตช้าในเนื้อเยื่อไตซึ่งบางครั้งสามารถแพร่กระจายลุกลามออกนอกไตได้
  • Hereditary leiomyomatosis and renal cell carcinoma (HLRCC) - เป็นความผิดปกติสืบทอดต่อกันทางยีนเด่นของโครโมโซมร่างกาย (Autosomal dominant) ที่พบได้ยากมากชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดก้อนเนื้อมะเร็งบริเวณเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อเรียบ (leiomyomatas) ผู้ที่เป็น HLRCC มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไตเพิ่มขึ้นประมาณ 10-16% เมื่อเทียบกับประชากรปกติ
  • Von Hippel-Lindau syndrome - ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้ยากชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดก้อนเนื้องอกชนิดไม่เป็นมะเร็งขนาดเล็กขึ้นภายในระบบประสาท ถือเป็นความผิดปกติสืบทอดต่อกันทางยีนเด่นของโครโมโซมร่างกาย (Autosomal dominant) เช่นกันและประมาณ 4 ใน 10 รายของผู้ป่วยโรคดังกล่าวจะเกิดโรคมะเร็งไตขึ้น
  • Birt-Hogg-Dubé syndrome - โรคที่สืบทอดทางพันธุกรรมซึ่งทำให้เกิดเนื้องอกชนิดไม่เป็นมะเร็งบริเวณต่อมขนบนผิวหนัง โดยมักเกิดขึ้นบริเวณใบหน้า คอ และลำตัว

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้ร่วมในการเกิดโรคมะเร็งไต ได้แก่:

  • การใช้ยาแก้ปวด - ยาแก้ปวดบางชนิดมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งไต ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งไตได้เล็กน้อย แม้ว่าการใช้เป็นครั้งคราวหรือในปริมาณน้อย ๆ อาจดูเหมือนไม่อันตรายแต่อย่างใด
  • โรคไต - ถ้าคุณมีภาวะไตวายและจำเป็นต้องได้รับการฟอกไตอยู่เสมอเพื่อทำหน้าที่ของไต ความเสี่ยงของการเกิดโรคถุงน้ำในไตและมะเร็งไตจะเพิ่มสูงขึ้น
  • ความดันโลหิต - ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไตและคุณมีโอกาสเป็นมะเร็งไตได้ถึงสองเท่าหากคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งไต

ในหลาย ๆ กรณี มะเร็งไตจะได้รับการวินิจฉัยหลังจากการตรวจสุขภาพประจำปีเนื่องจากโรคดังกล่าวไม่ได้แสดงอาการที่ชัดเจนเสมอไป

การเข้าพบแพทย์

คุณควรจะไปพบแพทย์ หากคุณมีอาการใด ๆที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งไต เช่น พบเลือดปนในปัสสาวะหรือมีอาการปวดอย่างต่อเนื่องบริเวณระดับขอบล่างซี่โครงของคุณ

แพทย์ประจำตัวของคุณจะตรวจร่างกายคุณและหากพวกเขาคิดว่าอาการของคุณจำเป็นต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติม ก็จะส่งต่อคุณไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะ หรือที่เรียกว่า ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ

ถ้าคุณสังเกตเห็นเลือดปนในปัสสาวะของคุณ แพทย์ประตัวของคุณมักจะส่งทำการตรวจเลือดและให้เก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจร่วม ผลลัพธ์จะช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุที่เป็นไปได้อื่น ๆ เช่น จากการติดเชื้อหรือการเกิดนิ่วในไต

หากคุณจำเป็นต้องได้รับการส่งต่อแพทย์เฉพาะทางโดยเร่งด่วน คุณมักจะได้รับผลตรวจดังกล่าวภายในสองสัปดาห์

การตรวจเพิ่มเติมสำหรับโรคมะเร็งไต

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจะทำการตรวจทดสอบเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการพิจารณาว่าคุณเป็นโรคมะเร็งไตหรือไม่

การสแกนด้วยอัลตราซาวด์ (Ultrasound scan)

การตรวจอัลตราซาวนด์จะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกาย โดยสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของไตที่อาจเกิดจากเนื้องอกชนิดเป็นมะเร็ง

อาจจำเป็นต้องทำการสแกนอัลตราซาวนด์ หากไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของเลือดปนในปัสสาวะได้

การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)

คุณอาจได้รับการส่งต่อเพื่อทำการสแกนด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีที (CT) ในระหว่างการสแกน เครื่องจะสร้างภาพอย่างละเอียดของภายใจร่างกายออกมากหลายชุด และประกอบภาพแต่ละชุดออกมาให้เห็นชัดได้โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์

หากคุณมีได้รับการทำการสแกนดังกล่าว อาจจำเป็นต้องดื่มหรือฉีดสีย้อมเข้าไปในร่างกาย ซึ่งสีย้อมทำให้ผลการสแกนดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การตัดตรวจชิ้นเนื้อนำทางด้วยภาพ (Image-guided biopsy)

ในบางกรณีของผู้ป่วยโรคมะเร็งไตจะทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยนำทางด้วยภาพ กระบวนการดังกล่าวเป็นขั้นตอนการผ่าตัดเล็กภายใต้ยาชาเฉพาะที่ ซึ่งหมายความว่าคุณจะมีสติอยู่ครบถ้วนระหว่างการผ่าตัด แต่บริเวณรอบ ๆ ไตที่มีความผิดปกติจะชา และไม่ได้รับความรู้สึกใด ๆ

ในระหว่างการตรวจชิ้นเนื้อนำทางโดยภาพ แพทย์รังสีวิทยาหรือศัลยแพทย์จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สร้างภาพต่อเนื่องเพื่อนำเข็มผ่านจากผิวหนังเข้าสู่เนื้อเยื่อไต ตัวอย่างเนื้อเยื่อไตชิ้นเล็ก ๆ จะถูกตัดออกจากไตของคุณและนำไปตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง

การสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI)

นอกจากนี้ คุณอาจจำเป็นต้องทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งสามารถสร้างภาพรายละเอียดไตของคุณในอีกรูปแบบหนึ่ง ภาพที่สร้างขึ้นดังกล่าวสามารถช่วยในการระบุตำแหน่งของเนื้องอกและประมาณขนาดของก้อนเนื้องอกได้

การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy)

การส่องกล้องตรวจดังกล่าวเป็นวิธีการทางการแพทย์ที่ใช้เครื่องมือเรียกว่า cystoscope เพื่อตรวจสอบลักษณะภายในของกระเพาะปัสสาวะและทางเดินปัสสาวะ

กระบวนการนี้ไม่ได้ตรวจที่ไตโดยตรง แต่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธว่ามีเลือดออกมาจากปัญหาในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่

การตรวจไตโดยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous pyelogram)

การฉีดสีเข้าทางหลอดเลือดดำจะมีการฉีดสารย้อมซึ่งทึบรังสีเข้าไปในกระแสเลือดของคุณ จากนั้นทำการฉายรังสีเอกซ์หลังจากนั้นเป็นเวลาไม่นาน สีย้อมจะทำการเน้นส่วนที่มีการเจริญเติบโตอย่างชัดเจนภายในไต

ระดับและระยะของโรคมะเร็งในไต

ถ้ามะเร็งไตได้รับการยืนยันวินิจฉัยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดระดับและระยะของโรค

การบอกระยะโรคดังกล่าวจะสามารถอธิบายว่ามะเร็งดังกล่าวแพร่กระจายไปเท่าใด และระดับหรือเกรดของโรคจะอธิบายถึงความก้าวร้าวของโรคมะเร็งว่ามากน้อยแค่ไหน และมีแนวโน้มว่าจะแพร่กระจายอย่างไร

ทั้งระยะและระดับของโรคมะเร็งไตจะช่วยในการพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม และความเป็นไปได้ที่จะสามารถรักษาให้หายขาด

แพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามักใช้ระบบ TNM ในการจัดระยะของโรคมะเร็งไต:

  • T - บ่งบอกว่าเนื้องอกมีขนาดใหญ่เท่าใด
  • N - บ่งบอกว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งต่อมน้ำเหลืองเป็นอวัยวะขนาดเล็กรูปไข่ที่พบทั่วร่างกายทำหน้าที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
  • M - บ่งบอกว่ามะเร็งแพร่กระจายไปยังอีกส่วนหนึ่งของร่างกายแล้วหรือไม่ โดย M ย่อมาจาก Metastasis หมายถึงการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ระยะของขนาดก้อนเนื้องอก ได้แก่:

  • T1a – เมื่อเนื้องอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 4 ซม. (ประมาณ 1.6 นิ้ว)
  • T1b - เมื่อเนื้องอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-7 ซม. (ประมาณ 1.6-2.8 นิ้ว)
  • T2 - เมื่อเนื้องอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 7 เซนติเมตร (2.8 นิ้ว) แต่ยังไม่กระจายลุกลามออกจากขอบเขตเนื้อเยื่อไต
  • T3a - หมายถึงเนื้องอกได้แพร่กระจายไปสู่ต่อมหมวกไตหรือชั้นไขมันรอบไตแล้ว
  • T3b - หมายถึง เซลล์เนื้องอกได้แพร่กระจายไปยังเส้นเลือดดำของไตซึ่งเป็นเส้นเลือดที่นำเลือดกลับจากไตเข้าสู่หัวใจ หรือเซลล์เนื้องอกเข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ (Vena cava) ซึ่งเป็นเส้นเลือดดำขนาดใหญ่สุดของร่างกายที่นำเลือดกลับมาจากครึ่งบนของร่างกายแล้ว
  • T3c - หมายถึง เซลล์เนื้องอกมีการแพร่กระจายผ่านกระบังลม ซึ่งเป็นแผ่นของกล้ามเนื้อที่แยกช่องท้องส่วนบนออกจากช่องท้องส่วนล่างเรียบร้อยแล้ว
  • T4 - หมายถึง เนื้องอกได้แพร่กระจายเกินชั้นเนื้อเยื่อหนาแข็งที่ล้อมรอบและห่อหุ้มไตอยู่เรียบร้อยแล้ว

ระยะของต่อมน้ำเหลืองมีสามระยะ ได้แก่:

  • N0 - เมื่อไม่มีต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับผลกระทบ
  • N1 - เมื่อพบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองหนึ่งต่อม
  • N2 - เมื่อพบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่สองต่อมขึ้นไป

M0 หมายความว่ามะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และ M1 หมายความว่ามะเร็งได้แพร่กระจายลุกลามไปแล้ว

มะเร็งไตถูกจัดระดับโดยใช้เกรดตั้งแต่ 1 ถึง 4 ยิ่งเลขมากขึ้นก็หมายถึงลักษณะของโรคมะเร็งที่ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น

การรับมือกับโรคมะเร็ง

การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งอาจเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมะเร็งอยู่ในระยะท้ายและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ข่าวร้ายมักจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและทำใจอยู่เสมอ

หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง คุณอาจพบว่าการพูดคุยกับที่ปรึกษาหรือจิตแพทย์ช่วยให้คุณสามารถจัดการกับความรู้สึกเศร้า หดหู่และความวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ ยังอาจยังได้รับยาซึมเศร้าเพื่อช่วยให้คุณผ่านกระบวนการนี้ไปได้

การรักษาโรคมะเร็งไต

ทางเลือกการรักษามะเร็งไตขึ้นอยู่กับขนาดก้อนเนื้องอกและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดเป็นทางเลือกการรักษาแรกที่มักนำมาใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออก

ข้อแตกต่างที่สำคัญกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ คือโรคมะเร็งไตนั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด อย่างไรก็ตาม การรักษาอื่นที่ไม่ใช่การผ่าตัด เช่น รังสีรักษาหรือการบำบัดด้วยยาฆ่าเซลล์มะเร็งสามารถนำมาใช้ได้ในกรณีที่โรคลุกลามมากขึ้น

การรักษาหลักสำหรับโรคมะเร็งไต ได้แก่:

  • การผ่าตัดไตออก (Nephrectomy)
  • การรักษาด้วยวิธีอุดหลอดเลือด (Embolisation)
  • รังสีรักษา (Radiotherapy)
  • การรักษาด้วยยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

แผนการรักษาที่เป็นไปได้ของคุณ

คุณจะได้รับการดูแลจากทีมสหสาขาวิชาชีพซึ่งมักประกอบด้วย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  แพทย์มะเร็งวิทยาซึ่งเชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาและเคมีบำบัด นักรังสีวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านไต อายุรแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ

โดยปกติจะเป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะรับผิดชอบในการประสานงานการดูแลของคุณ

ทีมผู้ดูแลของคุณมักจะแนะนำสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นตัวเลือกการรักษาที่ดีที่สุด พร้อมทั้งข้อดีข้อเสียและความเสี่ยง แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะเป็นของคุณ

เมื่อต้องทำการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ แพทย์ของคุณจะพิจารณาถึง:

  • ระยะและระดับของโรคมะเร็งของคุณ โดยทั่วไปหมายถึงขนาดและการลุกลาม
  • อายุและสุขภาพโดยทั่วไปของคุณ

หากมะเร็งไม่ได้แพร่กระจายออกไปจากไต (มะเร็งไตในระยะ T1 หรือ T2) ก็สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดตัดไตบางส่วนออกหรือตัดไตทั้งหมดออกหนึ่งข้าง

แต่หากมะเร็งแพร่กระจายออกมาจากไต (มะเร็งไตในระยะ T3 หรือ T4) การรักษาให้หายขาดนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามมีการรักษาหลายวิธีที่จะชะลอการลุกลามของมะเร็งและช่วยประคับประคองอาการ

การรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดไต (nephrectomy)

การผ่าตัดไต คือ การผ่าตัดเพื่อกำจัดไตข้างใดข้างหนึ่งที่มีปัญหา

ถ้าเนื้องอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 4 ซม. หรือ 1.5 นิ้ว อาจทำเพียงการผ่าตัดเพื่อกำจัดไตบางส่วนเท่านั้น กระบวนผ่าตัดนี้เรียกว่า การผ่าตัดไตบางส่วน (Partial nephrectomy) การผ่าตัดไตออกบางส่วนอาจจำเป็นต้องทำหากไตอีกข้างที่เหลืออยู่สภาพไม่แข็งแรงเพียงพอจะรับหน้าที่

แต่ถ้าเนื้องอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 4 ซม. ไตทั้งหมดทั้งก้อนจะต้องถูกกำจัดออก และถึงแม้ว่าเซลล์มะเร็งอาจจะแพร่กระจายไปไกลกว่าไตของคุณแล้ว แต่คุณก็ยังได้รับประโยชน์จากการตัดไตที่เป็นสาเหตุออกอยู่ดี

การผ่าตัดไตสามารถช่วยทุเลาอาการปวดและทำให้การรักษาเสริมที่ไม่ใช่การผ่าตัดอื่น ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป็นไปได้ที่คนเราจะมีชีวิตได้อย่างปกติแม้มีไตเพียงข้างเดียวเนื่องจากไตอีกข้างจะสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวชดเชยกันได้

ในระหว่างการผ่าตัดไต ศัลยแพทย์อาจทำการกำจัดต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่ามะเร็งไม่ได้แพร่กระจายไปไกลกว่าขอบเขตดังกล่าวไต

การผ่าตัดไตสามารถทำได้สองวิธี

  • การผ่าตัดแบบเปิดแผลหน้าท้อง (Open nephrectomy) - ไตจำถูกกรีดกำจัดออกผ่านทางรอยกรีดที่หน้าท้องของคุณ
  • การผ่าตัดแบบใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้อง (Laparoscopic / Keyhole nephrectomy) - แพทย์จะทำการกรีดรอยเล็ก ๆ บนหน้าท้องของคุณและไตจะถูกกำจัดออกโดยใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็ก

ทั้งสองเทคนิคของการผ่าตัดนี้มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน

ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดแบบใช้กล้องส่องผ่านหน้าท้องสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดแบบเปิดแผลหน้าท้อง

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวต้องทำโดยศัลยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างละเอียดโดยเฉพาะ ดังนั้นคุณอาจต้องยืดระยะเวลารอคอยอีกต่อไปซักพักใหญ่ ๆ เพื่อรอรับการรักษาแบบดังกล่าว

โรคมะเร็งไตบางชนิดที่ก้อนเนื้องอกอยู่ตรงใจกลางของไตอาจไม่เหมาะสมกับการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านหน้าท้อง

หนึ่งในข้อเสียหลักของการผ่าตัดไตแบบผ่าเปิดหน้าท้องคือเป็นการผ่าตัดใหญ่และสามารถทำให้เกิดความเครียดในหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งหมายความว่าอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัวมากอยู่เดิมแล้ว

ทีมผ่าตัดจะพูดคุยเรื่องข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับการผ่าตัดดังกล่าวกับคุณอีกครั้งก่อนทำหัตถการ

การรักษาด้วยวิธีอุดหลอดเลือด (Embolisation)

หากคุณไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดไตได้ คุณอาจได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดชนิดอื่นที่เรียกว่า การผ่าตัดอุดหลอดเลือด (Embolisation)

ในระหว่างการผ่าตัดเพื่ออุดหลอดเลือด ศัลยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กที่เรียกว่าสายสวนปัสสาวะเข้าไปบริเวณอุ้งเชิงกรานของคุณ จากนั้นใช้ภาพที่สร้างจากรังสีเอกซ์เพื่อนำทางสายสวนดังกล่าวเข้าสู่ระบบเลือดของไต สารเคมีทางการแพทย์จะถูกฉีดผ่านทางสายสวนเพื่ออุดกั้นการไหลเวียนโลหิตของร่างกายไม่ให้สามารถเข้าไปยังไตที่ผิดปกติข้างนั้นของคุณ

การอุดกั้นหลอดเลือดดังกล่าวจะทำให้ก้อนเนื้องอกที่มีอยู่ขาดอาหารและออกซิเจนที่จำเป็นต้องใช้ในการเจริญเติบโต ทำให้ก้อนเนื้อดังกล่าวค่อย ๆ หดตัวลง

การรักษาชนิดไม่ผ่าตัดสำหรับการรักษาโรคมะเร็งไตระยะลุกลาม

โรคมะเร็งไตเป็นหนึ่งในไม่กี่ชนิดของโรคมะเร็งที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งเฉกเช่นมะเร็งอื่นทั่วไป

อย่างไรก็ตาม การทดลองทางคลินิกจำนวนหนึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการค้นหาสูตรและส่วนผสมยาเคมีบำบัดแบบใหม่ที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งไตบางคน

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาชนิดไม่ผ่าตัดมากมายหลายรูปแบบที่สามารถชะลอการแพร่กระจายของโรคมะเร็งและช่วยควบคุมอาการของโรคมะเร็งไตให้อยู่ในการควบคุมได้

รังสีรักษา

การรักษาด้วยรังสีรักษามักไม่สามารถรักษามะเร็งไตให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการลุกลามของโรคและช่วยลดอาการปวดได้ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการรักษาด้วยรังสีต่อวันเป็นเวลาหลายวัน

เมื่อการรักษาด้วยรังสีรักษานั้นมุ่งเป้าการรักษาเพื่อควบคุมอาการของโรคมะเร็งมากกว่าการรักษาให้หายขาด ผลข้างเคียงจึงมักจะไม่รุนแรง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ ความเมื่อยล้า หมดแรง อาการคลื่นไส้และอาเจียน

การบำบัดด้วยความเย็นจัด (Cryotherapy)

การบำบัดด้วยความเย็นจัด คือ การฆ่าเซลล์มะเร็งโดยการแช่แข็งเซลล์ อาจใช้ในผู้ป่วยที่ไม่เหมาะหรือไม่แข็งแรงพอสำหรับเข้ารับการผ่าตัดหรือหากเนื้องอกของผู้ป่วยดังกล่าวมีขนาดเล็ก

การบำบัดด้วยความเย็นถูกแบ่งออกเป็นแบบเจาะผ่านผิว (Percutaneous) หรือเข็มเจาะเข้าไตโดยตรงผ่านรอยกรีดเล็ก ๆ บนผิวหนัง (Laparoscopic)

ผลข้างเคียงของการรักษาดังกล่าว ได้แก่ เลือดออกรอบไต และการบาดเจ็บที่ท่อปัสสาวะซึ่งนำปัสสาวะจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation)

การรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง (RFA) คือ การใช้ความร้อนที่เกิดจากคลื่นวิทยุเพื่อจี้ฆ่าเซลล์มะเร็ง การรักษานี้จะเจาะผ่านผิวเข้าไปจี้ก้อนมะเร็งโดยตรงจึงไม่ทิ้งรอยกรีดไว้บนผิวหนัง

การรักษานี้มักมีอยู่ที่เฉพาะโรงพยาบาลชั้นนำหรือศูนย์การแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้หากคุณไม่แข็งแรงพอที่จะเข้ารับผ่าตัดหรือมะเร็งไตของคุณยังอยู่ในระยะเริ่มแรก

ไม่สามารถใช้วิธีการรักษาดังกล่าวได้หากก้อนมะเร็งอยู่ใกล้กับอวัยวะอื่น เช่น ลำไส้

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยคลื่นความถี่สูง ได้แก่ เลือดไหลในบริเวณที่ทำการรักษา การเกิดก้อนเลือดคั่งค้างใกล้ไต และปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะเนื่องจากการรักษานี้สามารถลดขนาดของท่อไตที่เชื่อมต่อไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาด้วยยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)

มีการพัฒนายาใหม่จำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งไต ยาเหล่านี้ ได้แก่:

ยาเหล่านี้บางครั้งเรียกว่า "ยาชีวบำบัด" เนื่องจากถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งเป้าหมายและขัดขวางกระบวนการทางชีวภาพของเซลล์มะเร็งในการเจริญเติบโต และการลุกลามแพร่กระจาย

Sunitinib

Sunitinib เป็นยารักษามะเร็งไตที่นิยมใช้กันมากที่สุด ยานี้อยู่ในกลุ่มยาที่ทำหน้าที่ยับยั้งไคเนสไทโรซีน (Tyrosine kinase inhibitor) ไทโรซินไคเนสเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตได้ Sunitinib ทำงานโดยการขัดขวางโปรตีนดังกล่าวและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

Sunitinib อยู่ในรูปแบบแคปซูลซึ่งอาจต้องทานพร้อมมื้ออาหาร หรือไม่ก็ได้ คุณมักจะได้รับยาดังกล่าวทุกวันเป็นเวลาสี่สัปดาห์ก่อนที่จะมีการหยุดพักสองสัปดาห์สลับกันไปเรื่อย ๆ วัฏจักรหกสัปดาห์นี้จะทำซ้ำได้ตราบใดที่การรักษามีประสิทธิภาพในการควบคุมรักษาโรคมะเร็งไตของคุณ

เป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณต้องทานยาที่แพทย์สั่งในปริมาณที่ถูกต้องที่กำหนดไว้สำหรับคุณ ห้ามหยุดรับประทานยาโรคมะเร็งใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยา Sunitinib ได้แก่ :

  • คลื่นไส้
  • ท้องร่วง
  • ความดันโลหิตสูง
  • ผมเปลี่ยนสี
  • เจ็บในช่องปาก
  • ผิวเปลี่ยนสี
  • เกิดผื่นผิวหนังหรือแผลพุพอง
  • คลื่นไส้
  • ท้องร่วง
  • ความดันโลหิตสูง
  • ผมเปลี่ยนสี
  • มีผลกระทบต่อการทำงานของตับ

Pazopanib

เช่นเดียวกับยา Sunitinib ยา pazopanib  อยู่ในกลุ่มยายับยั้งไคเนสไทโรซีนเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในไตได้ นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังช่วยป้องกันเซลล์มะเร็งในการสร้างเส้นเลือดซึ่งจำเป็นในการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็ง

ยา Pazopanib เป็นยาเม็ดสำหรับทานวันละครั้งพร้อมกับน้ำหนึ่งแก้ว คุณควรทานยาดังกล่าวในเวลาเดิมทุกวัน และทานยาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนรับประทานอาหารหรือสองชั่วโมงหลังจากนั้น สิ่งสำคัญคือคุณต้องทานยาสม่ำเสมอในปริมาณที่ถูกต้องทุกวัน

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยา pazopanib ได้แก่ :

Axitinib

อาจแนะนำให้ใช้ยา Axitinib ในการรักษามะเร็งไตขั้นลุกลามหากยา sunitinib และ / หรือ pazopanib ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาอีกต่อไปหรือไม่ได้ผล

เช่นเดียวกับยา sunitinib และ pazopanib ยา Axitinib เองนั้นก็อยู่ในกลุ่มยายับยั้งไทโรซินไคเนส และหยุดการเจริญเติบโตของมะเร็ง

Axitinib เป็นยาสำหรับทานพร้อมน้ำหนึ่งแก้วเป็นเวลาสองครั้งต่อวัน ห่างกันประมาณ 12 ชั่วโมง แพทย์ประจำตัวของคุณอาจเริ่มจ่ายให้คุณทานในปริมาณน้อยก่อนแล้วค่อยปรับยาตามการตอบสนองของคุณโดยอาจค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากผ่านไปสองสัปดาห์ เป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณจะต้องทานยาทุกวันในปริมาณที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของ axitinib ได้แก่ :

  • ท้องร่วง
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ความเมื่อยล้า
  • ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำลง (hypothyroidism)
  • ปวดหัว
  • น้ำหนักลด
  • เป็นหมัน

Sorafenib

Sorafenib เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่ยับยั้งไทโรซินไคเนสซึ่งช่วยกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโตเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งสามารถสร้างหลอดเลือดได้หากต้องการเจริญเติบโตต่อ

Sorafenib เป็นยาเม็ดสำหรับทานวันละสองครั้งในเวลาเดียวกันในแต่ละวันพร้อมกับน้ำหนึ่งแก้ว นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาทานพร้อมมื้ออาหารได้ด้วย แต่ให้แน่ใจว่าอาหารที่คุณทานมีไขมันต่ำเพราะอาหารที่มีไขมันสูงทำให้มีประสิทธิภาพของยาดังกล่าวน้อยลง

เป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณจะต้องทานยาทุกวันในปริมาณที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ

ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปของ sorafenib ได้แก่ :

  • ท้องร่วง
  • ความเมื่อยล้า
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผมบาง
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อเลือดออก เช่น เลือดกำเดา หรือเลือดไหลตามไรฟัน
  • เป็นหมัน
  • ผิวหนังแดง

Temsirolimus

ยา Temsirolimus บางครั้งใช้เพื่อรักษามะเร็งระยะท้าย เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยายับยั้ง mTOR ยากลุ่มนี้ทำหน้าที่ยับยั้งโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า mTOR ซึ่งมักทำงานอยู่ในเซลล์มะเร็งซึ่งเกี่ยวข้องกับการขยายจำนวนและการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็ง ยา Temsirolimus ยังป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งสร้างสร้างหลอดเลือดเพื่อการเจริญเติบโตได้อีกด้วย

Temsirolimus เป็นยาเหลวที่ถูกส่งเข้าสู่กระแสเลือดโดยอาจได้รับโดยตรงผ่านท่อสวนในหลอดเลือดดำที่แขนของคุณ หรือผ่านท่อในหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ที่หน้าอกของคุณ โดยการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีต่อครั้ง ความถี่สัปดาห์ละครั้งในโรงพยาบาล ก่อนที่จะได้รับยาแต่ละครั้ง คุณจะได้รับยาแก้แพ้ (Antihistamine) ก่อนเสมอเพื่อป้องกันอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้น

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของ Temsirolimus ได้แก่ :

  • ผิวหนังแดง แห้ง และคัน
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องร่วง
  • เจ็บปากหรือเกิดแผลในปาก
  • นอนไม่หลับ
  • เป็นหมัน

Everolimus

Everolimus เป็นยาสำหรับโรคมะเร็งไตระยะท้ายที่กลับมาเป็นมะเร็งซ้ำระหว่างการรักษาหรือภายหลังการรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ยาดังกล่าวจะทำหน้าที่หยุดสัญญาณบางส่วนที่สร้างขึ้นภายในเซลล์ซึ่งกระตุ้นในเกิดการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ ยา Everolimus ออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้โปรตีน mTOR ทำงานได้อย่างถูกต้องเช่นเดิมซึ่งกระทบต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

Everolimus เป็นยาเม็ดสำหรับทานในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน ยาดังกล่าวควรกลืนทั้งเม็ดตามด้วยน้ำหนึ่งแก้วแทนที่จะทำการเคี้ยวหรือบดก่อนทาน ยาสามารถรับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือไม่ก็ได้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทานยาในปริมาณและวิธีทานที่ถูกต้องตามแพทย์สั่งเท่านั้น

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ Everolimus ได้แก่ :

  • เจ็บปาก
  • ความเมื่อยล้า
  • ผิวหนังเกิดผื่น แห้ง และคัน
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • เป็นหมัน

ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

มียาหลายตัวที่ป้องกัน ยับยั้งและชะลอการเจริญเติบโตและการลุกลามของโรคมะเร็งผ่านการยับยั้งไทโรซินไคเนสและโปรตีน mTOR นอกจากนี้ ก็ยังมีการรักษาหนึ่งที่ทำงานโดยการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้โจมตีเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น การรักษาแบบนี้เรียกว่า immunotherapy หรือภูมิคุ้มกันบำบัด

ยา Bevacizumab เป็นยาชนิดหนึ่งที่ได้รับทางหลอดเลือดดำโดยการหยดลงท่อน้ำเกลือ ยาดังกล่าวกีดขวางโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Endothelial growth factor (VEGF) ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ยา Bevacizumab มักใช้ร่วมกับยาภูมิคุ้มกันบำบัดชื่อว่า ยา Interferon ยานี้ได้รับผ่านการฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละ 3 ครั้ง สูตรยานี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคุณให้สามารถโจมตีและทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

ยาทางเลือกอื่นมีชื่อว่า Aldesleukin อาจนำมาใช้ในบางกรณีเพื่อรักษาโรคมะเร็งขั้นลุกลามอย่างประคับประคองอาการ ยาดังกล่าวมีลักษณะโครงคล้ายกับโปรตีนจากธรรมชาติที่ร่างกายผลิตขึ้นชื่อว่า interleukin-2 (IL-2) ซึ่งเป็นสารที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน สารดังกล่าวกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งชื่อว่า ลิมโฟไซต์ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับโรคต่าง ๆ และการติดเชื้อ

Aldesleukin ออกฤทธิ์ได้หลายทาง ทั้งรบกวนการเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทั้งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถโจมตีเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น และยังทำให้เซลล์มะเร็งปล่อยสารเคมีที่ดึงดูดเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน ยา Aldesleukin มักได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนังเช่นเดียวกันกับ Interferon ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น

ในปัจจุบัน การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดยังไม่ค่อยใช้เพื่อรักษามะเร็งไตขั้นลุกลามเท่าใดนัก เนื่องจาก การรักษาด้วยยาเจาะจงเซลล์มะเร็งนั้นมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมสภาวะโรคได้ดีกว่า และการทำภูมิคุ้มกันบำบัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงตามมาได้

การป้องกันโรคมะเร็งไต

เนื่องจากสาเหตุของโรคมะเร็งไตยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ จึงยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคได้

ทั้งการทานอาหารที่ดีสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นประจำนั้นจะช่วยให้คุณห่างไกลจากการมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคมะเร็งไต

หากคุณมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน คุณสามารถลดน้ำหนักและรักษาระดับน้ำหนักที่เหมาะสมโดยการทั้งออกกำลังกายเป็นประจำ และทานอาหารที่จำกัดปริมาณแคลอรีในแต่ละวัน

การทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

แนะนำให้ทานอาหารที่มีไขมันต่ำและทานอาหารที่เส้นใยสูง เช่น ผลไม้สดและผักสดอย่างน้อย 5 ส่วนต่อวัน

นอกจากนี้คุณควรจำกัดปริมาณเกลือในอาหารไม่ให้เกิน 6g หรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อวัน การทานเค็มที่มากเกินไปสามารถเพิ่มความดันโลหิตของคุณ

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงเพราะจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลของคุณเพิ่มขึ้น อาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่

  • พายเนื้อสัตว์
  • ไส้กรอกและแฮม
  • เนย
  • เนยใส
  • น้ำมันหมู
  • ครีม
  • ชีสแข็ง
  • เค้กและขนมบิสกิต
  • อาหารที่มีน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม

มีหลักฐานว่าการรับประทานอาหารที่ปลาที่มีไขมันสูงในปริมาณมากอย่างน้อยหนึ่งส่วนต่อสัปดาห์ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งไต ตัวอย่างของปลาที่มีไขมันสูง ได้แก่:

  • แซลมอน
  • ปลาทู
  • ปลาซาร์ดีน
  • ปลาเทราท์
  • ปลาเฮร์ริง

ปลาผิวมันดังกล่าวยังมีวิตามินดีปริมาณซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถได้รับวิตามินดีจากแสงแดดหรือโดยการทานอาหารเสริม

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แนะนำให้ผู้ใหญ่ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที (2 ชั่วโมง 30 นาที) ต่อสัปดาห์ ด้วยกิจกรรมแอโรบิคที่มีความหนักปานกลาง เช่น การขี่จักรยานหรือการเดินเร็ว

การออกกำลังกายควรมีความหนักเพียงพอที่จะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจของคุณ และคุณควรรู้สึกต้องหายใจถี่ขึ้นหลังจากการออกกำลัง

ตัวอย่างของกิจกรรมที่คุณสามารถรวมไว้ในแผนการออกกำลังกายของคุณ ได้แก่ :

  • การเดินเร็ว
  • การปีนเขา
  • การวิ่ง
  • การขี่จักรยาน
  • การว่ายน้ำ

หากคุณพบว่าการออกกำลังกายเป็นเวลา 150 นาทีต่อสัปดาห์เป็นเรื่องยาก ให้ค่อย ๆ เริ่มในเวลาระดับที่คุณรู้สึกสบายใจและทำไหวก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามคุณควรเข้าพบแพทย์ประจำตัวเสียก่อนเพื่อตรวจสุขภาพ หากคุณไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลยหรือเพิ่งกลับมาออกกำลังกายหลังจากไม่ได้ออกกำลังเป็นระยะเวลานาน

เลิกสูบบุหรี่

หากคุณสูบบุหรี่ การหยุดสูบถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันโรคมะเร็งไตรวมทั้งภาวะทางสุขภาพที่รุนแรงอื่น ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งปอด

แพทย์ประจำตัวของคุณสามารถช่วยคุณได้หากคุณต้องการเลิกสูบบุหรี่โดยการให้ข้อมูลและคำแนะนำและการกําหนดยา หรือส่งต่อคุณไปยังคลินิกเลิกบุหรี่

หรือคุณอาจโทรหาสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร 1558 ได้ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมแนะนำคุณ

ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเหมาะสม

มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณปานกลางเช่นไวน์ 4-5 แก้วต่อเดือนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไต ส่วนเหตุผลของเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

อย่างไรก็ตามคุณไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขีดจำกัดที่แนะนำ เนื่องจากการดื่มมากเกินไปจะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับมะเร็งตับและความดันโลหิตสูงแทน

  • ผู้ชายและผู้หญิงไม่แนะนำให้ดื่มมากกว่า 14 หน่วยต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกันเป็นประจำ
  • กระจายการดื่มของคุณให้เกินสามวันหรือมากกว่านั้น หากคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 14 หน่วยต่อสัปดาห์

https://www.nhsinform.scot/ill...

 


18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Kidney cancer. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/kidney-cancer/)
Kidney Cancer Symptoms, Diagnosis, and Treatment. WebMD. (https://www.webmd.com/cancer/understanding-kidney-cancer#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)