ทพญ. สิริพัชร  ชำนาญเวช ท้นตแพทย์
เขียนโดย
ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช ท้นตแพทย์

ปวดกราม เป็นเพราะอะไร มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง?

ปวดกราม อ้าปากแล้วขากรรไกรค้าง หุบปากไม่ได้ เป็นปัญหาที่หลายคนเคยพบเจอ ปวดกรามอาจเกิดได้จากการสบฟันผิดปกติ เครียด หรือฟันปลอมไม่พอดี ฯลฯ
เผยแพร่ครั้งแรก 3 เม.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ปวดกราม เป็นเพราะอะไร มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการปวดกรามคือ อาการปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกร อาจปวดจนอ้าปากไม่ได้ หูอื้อ กรามค้าง ฉะนั้นจะต้องระบุตำแหน่งให้ได้ก่อนว่าปวดบริเวณไหน เพราะอาจมีผลต่อคำวินิจฉัย
  • สาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน ได้แก่ เคี้ยวอาหารที่แข็งเกินไป เหนียวเกินไป หรือเคี้ยวข้างเดียวมานานเกินไป
  • สาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมอื่นๆ เช่น นอนกัดฟัน เผลอกัดฟันเวลาเครียด เสียฟันไปก่อนเวลาอันควร อ้าปากกว้างเกินไป เท้าคางมากเกินไป หรือมีโรคอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • การรักษาอาการปวดกราม ทำได้โดยเคี้ยวอาหารทั้ง 2 ข้าง พยายามลดนิสัยกัดฟัน นั่งทำงานให้หลังตรง หากปวดกรามเพราะอ้าปากกว้าง ให้ใช้กำปั้นรองคางขณะหาว เพื่อไม่ให้ปากกว้างเกินไป
  • หากมีอาการรุนแรง เช่น นอนกัดฟันมาก กรามค้าง ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี (ดูแพ็กเกจทันตกรรมได้ที่นี่)

หลายคนเมื่อมีอาการปวดกราม ปวดมาก อ้าปากไม่ได้ กรามค้าง ปวดจนหูอื้อ ปวดฟัน ปวดหัว เครียด อาจสงสัยว่าอาการเหล่านี้บ่งบอกอะไร อันตรายหรือไม่?

แต่ก่อนอื่นคำว่า ปวดกราม นั้น จะต้องสอบถามคนไข้ให้ชัดเจนก่อนว่า อาการปวดกรามที่คนไข้พูดถึงนั้น คือ ปวดฟันกราม หรือ ปวดบริเวณกราม กระดูกขากรรไกร ข้างแก้ม หน้าหู ฯลฯ ปวดขณะที่กำลังทำอะไร เช่น ปวดตลอดเวลา ปวดเวลาเคี้ยว ปวดเวลาตื่นนอน เป็นต้น

หากเป็นการปวดฟันกราม สาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น

  • ฟันผุทะลุโพรงประสาท
  • ฟันแตก ฟันร้าว
  • ฟันคุด
  • โรคเหงือก
  • อื่นๆ

ทั้งนี้ ทันตแพทย์จะตรวจทั้งในช่องปากและนอกช่องปาก เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสม ในบทความนี้จะขอพูดถึงอาการปวดกรามที่ไม่ใช่จากฟัน

อาการปวดกรามนี้คือ อาการปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกร มักมีสาเหตุเกิดจากการเคี้ยวอาหารหรือพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรที่ไม่เหมาะสม

บางครั้งอาการปวดสามารถรู้สึกปวดลามไปถึงฟัน ขมับ หู หรือศีรษะได้ มักพบในผู้ป่วยอายุประมาณ 20-40 ปี พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น อ้าปากไม่ได้ เจ็บเวลาอ้าปาก หรือ กรามค้าง หุบปากไม่ได้ กล้ามเนื้อหรือข้อต่อขากรรไกรบวม มีเสียงคลิก หรือเสียงกึกกัก เวลาอ้าปาก หุบปาก หรือเคี้ยวอาหาร

ตำแหน่งของกล้ามและข้อต่อบริเวณกราม

อธิบายตำแหน่งของกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกร

  • กล้ามเนื้อบดเคี้ยวที่สำคัญ คือ บริเวณข้างแก้มทั้งสองข้าง และบริเวณขมับทั้งสองข้าง
  • ข้อต่อขากรรไกร อยู่บริเวณหน้าหูทั้งสองข้าง เป็นข้อต่อ 2 ข้อ ที่เชื่อมกันด้วยกระดูกขากรรไกรล่าง การเคลื่อนไหวจะต้องเคลื่อน อ้า หุบ หรือเยื้องไปพร้อมๆ กัน

สาเหตุของการปวดกราม

การ ปวดกราม เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • เคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวเกินไป เกิดการใช้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรอย่างหนัก ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง เช่น หมูกรอบ แคบหมู สเต๊ก หมากฝรั่ง เป็นต้น
  • เคี้ยวอาหารเพียงข้างเดียวเป็นเวลานาน จนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อบดเคี้ยวในด้านที่เคี้ยว และเจ็บข้อต่อขากรรไกรในด้านตรงข้าม เช่น ถ้าเคี้ยวอาหารข้างขวาเพียงข้างเดียว จะเจ็บกล้ามเนื้อบดเคี้ยวข้างขวา และเจ็บข้อต่อขากรรไกรด้านซ้าย
  • การสูญเสียฟันบางซี่ไปก่อนเวลาอันควร (ถอนฟัน) อาจเป็นผลให้คนไข้ใช้ฟันเคี้ยวอาหารได้เพียงข้างเดียว
  • การมีลักษณะของการสบฟันที่ผิดปกติ
  • การมีฟันเทียม (ฟันปลอม) ที่ไม่เหมาะสม เช่น ฟันปลอมหลวม คนไข้กลัวหลุดจึงพยายามกัดฟันเทียมนั้นไว้ตลอดเวลา
  • อ้าปากกว้างเกินไป คนไข้บางรายให้ประวัติอ้าปากหาวนอนกว้างแล้วเจ็บข้อต่อขากรรไกร คนไข้บางรายให้ประวัติไปร้องคาราโอเกะมาต่อเนื่องหลายชั่วโมงทำให้อ้าปากมากเกินไป การอ้าปากกว้างเกินไปอาจทำให้เจ็บข้อต่อขากรรไกร รวมทั้งบางครั้งข้อต่อขากรรไกรหลุด อ้าปากค้าง หุบปากไม่ได้
  • นอนกัดฟัน มักจะมีอาการปวดเมื่อยขณะตื่นนอน บริเวณกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ข้อต่อขากรรไกร รวมถึงฟัน คนใกล้ตัวจะช่วยให้ประวัติได้ว่ามีการนอนกัดฟันหรือไม่ ถ้านอนคนเดียวอาจต้องใช้เครื่องอัดเสียงช่วยบันทึก
  • กัดเค้นฟันแน่นเวลาทำงาน เครียด หรือตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เกิดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อขากรรไกรได้ ซึ่งในความจริงแล้ว ในระยะพัก ริมฝีปากปิด ฟันบนและฟันล่างควรห่างกันประมาณ 2 มิลลิเมตรโดยประมาณ หากคนไข้สังเกตตนเองแล้วพบว่าชอบกัดฟันแน่นเป็นประจำ ควรเลิกพฤติกรรมนี้
  • การนั่งเท้าคางมากเกินไป
  • นั่งก้มหลัง ก้มคอ เอียงคอ ยื่นคอไปข้างหน้า ขณะทำงาน ขับรถ กดมือถือ ใช้คอหนีบมือถือ หรือเล่นเกมส์ ซึ่งกล้ามเนื้อที่บริเวณบ่าและไหล่มักจะปวดเมื่อยด้วย ท่าทางดังกล่าวนี้จะส่งผลให้ขากรรไกรล่างห้อยลงกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวต้องพยายามรับน้ำหนักของขากรรไกรมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกรได้ในที่สุด
  • กรณีที่คนไข้มีประวัติการบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุ อาจเป็นไปได้ว่ากระดูกขากรรไกรหรือกระดูกบริเวณใกล้เคียงมีการร้าวหรือแตกหัก
  • ยังมีโรคอื่นๆ เช่น ข้อต่อขากรรไกรเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ การอักเสบติดเชื้อ เนื้องอก มะเร็ง ฯลฯ ดังนั้นจึงควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา บางอย่างต้องใช้การถ่ายภาพรังสีเพื่อช่วยในการวินิจฉัย ไม่ควรปล่อยโรคทิ้งไว้นาน การรักษาอาจมีทั้งการใช้ยาและการผ่าตัด
  • นอกจากนี้ อาการปวดกราม อาจไม่ใช่อาการที่มีสาเหตุจากฟัน เหงือก กล้ามเนื้อบดเคี้ยว ข้อต่อขากรรไกร หรืออวัยวะอื่นๆ ในช่องปากเลยก็ได้ แต่อาจเป็นความรู้สึกที่ส่งต่อมาจากอวัยวะอื่น เช่น กล้ามเนื้อ บ่า ไหล่ หรือแม้แต่เป็นจากกล้ามเนื้อหัวใจก็เป็นไปได้อีกด้วย ถือเป็นกรณีที่พบได้น้อย แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรตรวจสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ

ปวดกราม ต้องทำอย่างไร?

เมื่อปวดกราม ควรสังเกตอาการ บริเวณที่ปวด ลักษณะการปวด แล้วไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ทันตแพทย์จะตรวจทั้งในและนอกช่องปาก รวมทั้งอาจใช้ภาพถ่ายรังสีช่วยในการวินิจฉัยด้วย

หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ปวด สังเกตพฤติกรรมของตนเอง

วิธีบรรเทาอาการปวดกรามที่ได้ผล มีอะไรบ้าง?

การบรรเทาอาการปวดกราม ที่สำคัญคือต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง

คำแนะนำอื่นๆ ได้แก่

  • เคี้ยวอาหารอ่อนนุ่ม หลีกเลี่ยงอาหารแข็งเหนียว
  • เคี้ยวอาหาร 2 ข้าง ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง
  • หลีกเลี่ยงอุปนิสัยการกัดเค้นฟันแน่น
  • ลดความเครียด พยายามผ่อนคลายอารมณ์
  • หากนอนกัดฟัน ทันตแพทย์จะพิจารณาทำเฝือกแข็งให้ใส่นอน เพื่อลดแรงกระทำต่อกล้ามเนื้อบดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร อีกทั้งป้องกันฟันสึกฟันร้าวจากการนอนกัดฟัน
  • หากไม่มีฟันที่สามารถใช้เคี้ยว 2 ข้างได้ ควรทำฟันเทียมใส่เพื่อให้ใช้เคี้ยว 2 ข้างได้
  • หากฟันปลอมที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม ทันตแพทย์จะแนะนำให้แก้ไขหรือทำใหม่
  • ระวังการอ้าปากกว้างเกินไป ในคนไข้ที่หาวนอนปากกว้างแล้วขากรรไกรหลุดเป็นประจำ ควรใช้กำปั้นรองคางไว้ขณะหาวนอน
  • กำหนดท่าทางให้คอตรง หลังตรง อยู่เสมอ ไม่ก้มคอ ไม่ยื่นคอ
  • หากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ ช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ (ด้านนอกช่องปาก)
  • หากอ้าปากไม่ได้ มักเกิดจากกล้ามเนื้อปวดเกร็ง ซึ่งการอ้าปากจะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากหายปวด
  • หากขากรรไกรค้าง หุบปากไม่ได้ ทันตแพทย์สามารถช่วยขยับเอาเข้าที่ได้ จึงควรพบทันตแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
  • อาจใช้ยาทา (ด้านนอกช่องปาก) หรือยากิน ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ควรปรึกษาทันตแพทย์และเภสัชกร แจ้งโรคประจำตัวและการแพ้ยาทุกครั้ง

ดูแพ็กเกจทันตกรรม เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Michael Friedman, DDS, Temporomandibular Joint Disorders (TMD, TMJ) (https://www.webmd.com/oral-health/guide/temporomandibular-disorders-tmd), 10 October 2019.
John P. Cunha, DO, FACOEP, Temporomandibular Joint Syndrome (TMJ) (https://www.medicinenet.com/temporomandibular_joint_syndrome_tmj/article.htm#), 7 August 2019.
Donna S. Bautista, DDS, Temporomandibular Joint (TMJ) Syndrome (Temporomandibular Joint Disorder) (https://www.emedicinehealth.com/temporomandibular_joint_tmj_syndrome/article_em.htm#), 30 August 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)