ใบหม่อน (Mulberry Leaves)

ประโยชน์ของใบหม่อน แนวทางการใช้ใบหม่อนเพื่อสุขภาพ ตัวอย่างเมนูอาหาร และข้อควรระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก 6 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 26 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ใบหม่อน (Mulberry Leaves)

ประโยชน์ของใบหม่อน แนวทางการใช้ใบหม่อนเพื่อสุขภาพ ตัวอย่างเมนูอาหาร และข้อควรระวัง

ถ้าพูดถึงใบหม่อน คนทั่วไปมักจะนึกถึงพืชชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาเป็นอาหารให้กับหนอนไหม แต่จริงๆ แล้วพืชชนิดนี้เป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นยาได้ตามตำรับยาโบราณของชาวจีน นอกจากนี้ยังมีการนำมาตากแห้งเพื่อทำเป็นชา และใช้ประกอบอาหารอื่นๆ อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ทำความรู้จักใบหม่อน

ใบหม่อน (Mulberry Leaves) เป็นพืชที่มาจากประเทศจีน ในประเทศไทยนิยมปลูกกันมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีลักษณะเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 2-7 เมตร ที่นิยมปลูกมี 2 ชนิดคือ หม่อนที่ใช้รับประทานผล ผลสุกจะเป็นสีดำ รสเปรี้ยวอมหวาน และหม่อนที่ใช้เลี้ยงตัวไหม จะมีใบใหญ่ ส่วนผลมีรสเปรี้ยวจัด

สรรพคุณของใบหม่อน

ประโยชน์ของใบหม่อนหรือใบมัลเบอร์รี มีดังนี้

  1. ช่วยควบคุมน้ำตาลในหลอดเลือด ในใบหม่อนแห้งมีสาร Deoxynojirimycin (DNJ) เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ย่อยสลายน้ำตาลในลำไส้ ชะลอการดูดซึมคาร์โบไฮเดรต ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างมาก
  2. ลดคอเลสเตอรอล พืชชนิดนี้มีสาร Phytosterol, Astragalin และ Isoquercitrin ที่ช่วยควบคุมคอเลสเตอรอล โดยทำให้ไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ลดลงและช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างไขมันดีเข้ามาแทนที่ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  3. ลดการติดเชื้อในร่างกาย เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะอ้วน หรือมีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์อ้วนเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายและภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่างๆ และเกิดการอักเสบในร่างกายได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากรับประทานใบหม่อนเป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น
  4. ยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ สารเบต้าแคโรทีนในใบหม่อน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งต่อมไทรอยด์
  5. บำรุงสายตา ยอดอ่อนของใบ มีวิตามินเอสูง จึงช่วยในการบำรุงสายตา และช่วยคลายกล้ามเนื้อตาจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานได้ดี
  6. ต้านอนุมูลอิสระ สารเคมเฟอรอล (Kaemferol) และโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่พบในใบหม่อนจะช่วยทำให้ผิวพรรณดูอ่อนกว่าวัย

แนวทางการใช้ใบหม่อนเพื่อสุขภาพ

ใบหม่อน สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพได้ดังต่อไปนี้

  1. รักษาอาการริดสีดวงจมูก นำใบหม่อนแก่ไปตากให้แห้ง แล้วนำมามวนเหมือนมวนบุหรี่สูบ ช่วยลดอาการที่เกิดจากโรคริดสีดวงจมูกได้
  2. บรรเทาอาการไข้หวัด นำใบหม่อนอ่อนไปต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลเล็กน้อย ใช้บรรเทาอาการเป็นไข้ ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ และยังสามารถนำมาอมกลั้วคอ เพื่อบรรเทาอาการไอและแก้เจ็บคอได้อีกด้วย
  3. ใช้บำรุงผมให้แข็งแรง นำใบหม่อนมาต้มกับน้ำสุกจนเดือด จากนั้นนำน้ำที่ได้มาผสมกับยาสระผมเพื่อบำรุงให้เส้นผมแข็งแรง กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมให้กลับมายาวสลวยอีกครั้ง

เมนูสุขภาพจากใบหม่อน

ใบหม่อน สามารถนำมาประกอบอาหารได้ดังนี้

ใบหม่อนชุบแป้งทอด นำแป้งทอดกรอบ เกลือ น้ำเย็น พริกไทย มาผสมรวมกันไม่ต้องข้นมาก แล้วนำใบหม่อนไปชุบแป้งก่อนนำมาทอดให้เหลืองกรอบ สำหรับน้ำจิ้ม ให้นำน้ำมะนาว พริก น้ำตาล มาผสมแล้วปรุงรสให้หวานอมเปรี้ยวเจือเผ็ดเล็กน้อย

ไข่เจียวใบหม่อน ตีไข่ตามปกติ แล้วใส่ใบหม่อนลงไปตามใจชอบ เจียวไข่ลงในน้ำมันให้หนานุ่ม หรือกรอบตามต้องการ ตักใส่จาน

แกงไก่ใส่ใบหม่อน ทำเครื่องแกง โดยใช้พริกแห้งกับตะไคร้โขลกให้แหลก ใส่พริกให้เผ็ดตามต้องการ จากนั้นนำนำไก่ไปรวนกับพริกแกงให้พอสุกแล้วนำมาใส่หม้อ เติมน้ำพอท่วมไก่ ปรุงรสให้พอดีด้วยการใส่เกลือ เมื่อเดือดให้ใส่เห็ดและผักที่เตรียมไว้รวมทั้งใบหม่อนตามลงไปแล้วรีบปิดไฟ ปิดท้ายด้วยใบแมงลัก

ชาใบหม่อน เลือกเก็บยอดใบหม่อนนำมาล้างน้ำให้สะอาด ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท หรือจะเลือกการใช้วิธีอบให้แห้งก็ได้ หลังจากนั้นให้เก็บเข้าใส่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เวลาชงดื่ม ใช้ชาใบหม่อนประมาณ 1 หยิบมือชงด้วยน้ำร้อน 80-90 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สามารถรักษาปริมาณสารออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดโดยในครั้งแรกเทน้ำให้ท่วมใบชาแล้วรินน้ำออกทันทีเพื่อทำความสะอาดใบชา จากนั้นเติมน้ำร้อนอีกครั้งให้พอเหมาะในการดื่มและควรชงชาใบหม่อนทิ้งไว้นาน 6 นาทีก่อนดื่มถึงจะได้คุณค่าทางโภชนาการและทางเภสัชวิทยา

ข้อควรระวัง

ไม่ควรรับประทานใบหม่อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากมีสารแทนนินที่อาจทำให้ท้องอืด ในกรณีที่รับประทานยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก ก็ไม่ควรรับประทานคู่กับชาใบหม่อน เพราะสารแทนนินจะไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์อัลฟากลูโคซิเดสเป็นประจำอยู่แล้วควรบริโภคชาใบหม่อนด้วยความระมัดระวังเนื่องจากชาใบหม่อนจะช่วยเสริมฤทธิ์ของยาซึ่งอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไปได้


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, ใบหม่อนช่วยลดไขมันในเลือด (http://www.medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=713), 2011
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, ใบหม่อนกับโรคเบาหวาน (http://medplant.mahidol.ac.th/publish/newsletter/arc/321-03.pdf)
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, พืชผักผลไม้ไทยมีคุณค่าเป็นทั้งอาหารและยา ตอน “หม่อน” (http://natres.psu.ac.th/radio/radio_article/radio46-47/46-470047.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)