ทีมเภสัชกร HD
เขียนโดย
ทีมเภสัชกร HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ยาคุมลดสิว ลดหน้ามัน ได้จริงไหม? กินตอนไหนถึงเห็นผลที่สุด?

เผยแพร่ครั้งแรก 10 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยาคุมลดสิว ลดหน้ามัน ได้จริงไหม? กินตอนไหนถึงเห็นผลที่สุด?

สิวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ใครหลายๆ คนเกิดความกังวลใจหรือไม่มั่นใจ แถมบางครั้งยังทำให้เกิดแผลเป็นบนใบหน้า รักษาไม่หาย มีบางคนบอกว่า "ยาคุมลดสิวได้" “การใช้ยาคุมกำเนิดสามารถช่วยลดสิวได้” หรือ “ใช้ยาคุมแล้วหน้าใส สิวหายไป” HonestDocs ขอไขข้อสงสัยนี้ว่าจริงหรือไม่ อย่างไร

ยาคุมลดสิว ลดหน้ามันได้จริงหรือ?

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ทั้งแบบ 21 และ 28 เม็ด ซึ่งประกอบด้วยส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีผลช่วยรักษาสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้จริง ในกรณีที่เป็นเริ่มเป็นน้อยๆ จนถึงขั้นรุนแรง เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงในตัวยาจะไปลดระดับฮอร์โมนกลุ่มแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายในร่างกายให้ลดลง ทำให้การผลิตไขมันจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังลดลง จึงช่วยลดการเกิดสิวที่เกิดจากการผลิตไขมันบนใบหน้ามากเกินไปเนื่องจากฮอร์โมนได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยาคุมลดสิว ลดหน้ามันได้อย่างไร?

การเปลี่ยนแปลงของระดับของฮอร์โมนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว จะสังเกตได้ง่ายๆ ว่า วัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีการสร้างฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มขึ้นมักเป็นสิวได้ง่ายกว่าวัยอื่นๆ

ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนในกลุ่มแอนโดรเจน ซึ่งสามารถพบได้ในเพศหญิงเช่นกัน แต่ปริมาณจะน้อยกว่าในเพศชาย ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีผลกระตุ้นให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากขึ้น เพื่อเคลือบและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว โดยปกติแล้วรังไข่ของผู้หญิงและต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนในระดับต่ำๆ แต่หากระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนเพิ่มสูงมากเกินไป ก็อาจทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันเพิ่มมากขึ้น ไขมันที่ทำหน้าที่คล้ายกาวก็จะยึดติดเซลล์ผิวด้านบนไว้ ทำให้ไม่มีการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นทุกๆ 28 วัน ทำให้เกิดปัญหารูขุมขนอุดตันและเกิดเป็นสิวตามมา การรับประทานยาคุมกำเนิดที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งทำหน้าที่ไปควบคุมและลดระดับฮอร์โมนเพศชายจึงช่วยลดปัญหาสิวอุดตันได้

ทุกคนสามารถใช้ยาคุมลดสิวได้หรือไม่?

บุคคลที่อาจใช้ยาคุมลดสิวได้ ควรอยู่ในเงื่อนไขดังนี้

  • ผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และเริ่มมีประจำเดือนแล้ว
  • ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ร่วมด้วยอยู่แล้ว

แพทย์หรือเภสัชกรมักพิจารณาให้ผู้รับคำปรึกษาใช้ยาคุมลดสิว หลังจากรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผล เช่น ทาครีมแต้มสิว ทาหรือรับประทานยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

ส่วนบุคคลที่ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิว ได้แก่

  • ผู้หญิงที่ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์หรือยังไม่มีประจำเดือน เนื่องจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับรองว่ายาคุมลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้ในคนกลุ่มนี้ นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงที่เด็กกำลังเจริญเติบโตอาจมีผลต่อพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็กได้
  • ผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เนื่องจากยานอนหลับอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ และยาอาจถูกขับออกมาทางน้ำนมทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน และผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากภาวะเหล่านี้มีผลลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด
  • ผู้ที่มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่สมอง ขา หรือปอด ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หรือความดันโลหิตสูง การรับประทานยาคุมกำเนิดอาจมีผลทำให้ลิ่มเลือดอุดตันมากขึ้นและอาการที่เป็นอยู่อาจแย่ลงได้
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งที่มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิง
  • ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคไมเกรน และโรคเบาหวาน เนื่องจากยาคุมกำเนิดอาจทำให้อาการกำเริบและรุนแรงขึ้นได้
  • ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคตับ เนื่องจากยาจะถูกขับออกทางตับเป็นหลัก อาจทำให้โรคตับรุนแรงขึ้น

ยาคุมกำเนิดชนิดใดบ้างที่เหมาะกับการรักษาสิว?

การรับประทานยาคุมลดสิวที่เกิดจากฮอร์โมนให้ได้ผล ต้องเลือกยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมีส่วนผสมของทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเท่านั้น ถ้าใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ที่มีแค่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน นอกจากจะไม่สามารถช่วยรักษาสิวได้แล้ว ยังจะทำให้สิวเห่อมากขึ้นได้อีกด้วย องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ได้รับรองยาคุมกำเนิด 3 ชนิดว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสิวที่เกิดจากฮอร์โมนได้ โดยพบว่ายาคุมกำเนิดที่ใช้เพื่อรักษาสิวจะประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่มีโครงสร้างทางเคมีแบบหนึ่ง เรียกว่า “เอทินิลเอสตราไดออล” ขนาดต่ำๆ ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอาจอยู่ในรูปฟอร์มหรือโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. ยาคุมชนิดนอร์เจสทิเมทและเอทินิลเอสตราไดออล ยาคุุมชนิดนี้มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนตัวที่มีชื่อว่า “นอร์เจสทิเมท (Norgestimate)” จากหลายงานวิจัยพบว่ายาคุมกำเนิดชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาสิวที่เกิดจากฮอร์โมน โดยตัวยาจะมีปริมาณโปรเจสเตอโรนแตกต่างกันไป
  2. ยาคุมชนิดนอร์อิทินโดรนและเอทินิลเอสตราไดออล ยาคุุมชนิดนี้มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนตัวที่มีชื่อว่า “นอร์อิทินโดรน (Norethindrone)” โดยตัวยาจะมีปริมาณเอสโตรเจนแตกต่างกันไป
  3. ยาคุมชนิดดรอสไพริโนนและเอทินิลเอสตราไดออล ยาคุุมชนิดนี้มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนตัวที่มีชื่อว่า “ดรอสไพริโนน (Drospirenone)” อย่างไรก็ตาม พบว่ายาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของดรอสไพริโนนอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ เมื่อเทียบกับยาคุุมกำเนิดที่มีโปรเจสเตอโรนในฟอร์มอื่น ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาคุมชนิดนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้ชายสามารถใช้ยาคุมลดสิวได้หรือไม่?

การรับประทานยาคุมลดสิวในผู้ชายนั้น แพทย์จะพิจารณาใช้ก็ต่อเมื่อตรวจแล้วพบว่าสาเหตุของสิวเกิดจากฮอร์โมน ทั้งนี้ การรับประทานยาคุมกำเนิดซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาได้ เช่น มีอารมณ์ทางเพศลดลง ขนและหนวดบางลง มีหน้าอกโตขึ้นแบบผู้หญิง ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อยาคุมกำเนิดมารับประทานเอง ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและพิจารณาจ่ายยาตามความเหมาะสมจะดีกว่า

ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมลดสิวอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

  • ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้ยาเสมอ เพื่อให้ประเมินความปลอดภัยและความเหมาะสมในการใช้
  • ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงประวัติโรคที่เป็นอยู่หรือเคยเป็นมา เพราะผู้ที่มีประวัติการป่วยบางโรคก็ไม่ควรใช้ยาคุมลดสิว แพทย์จะได้แนะนำให้รักษาสิวด้วยวิธีอื่นแทน
  • ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงยาอื่นๆ ที่กำลังใช้อยู่ เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล หรือตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ
  • การรับประทานยาคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกเจ็บคัดเต้านม มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • ควรรับประทานยาคุมอย่างถูกวิธีและต่อเนื่อง เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
  • ยาคุมลดสิวช่วยลดการเกิดสิวเท่านั้น แต่ไม่มีผลช่วยรักษารอยแดงหรือรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
International Journal of Women's Dermatology, https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5419026/pdf/main.pdf, 6 February 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
สิวที่หลัง วิธีรักษาให้เรียบเนียนพร้อมอวดผิวสวย
สิวที่หลัง วิธีรักษาให้เรียบเนียนพร้อมอวดผิวสวย

รวมปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวที่หลัง รวมถึงวิธีรักษาและยาที่สามารถหาซื้อได้เอง อ่านเลย

อ่านเพิ่ม