กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน

เผยแพร่ครั้งแรก 25 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 12 นาที
กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน

กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome - IBS) เป็นภาวะระยะยาวของระบบย่อยอาหารที่พบได้บ่อย ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดท้องบิด ท้องอืด ท้องร่วงหรือ/และท้องผูก

IBS คาดว่าเกิดกับผู้คนทั่วโลกประมาณ 1 ใน 5 ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต มักจะเกิดกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี และพบว่าเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสองเท่า

ภาวะนี้มักส่งผลนานตลอดชีวิต กระนั้นโรคนี้ก็อาจมีอาการดีขึ้นได้เป็นช่วงเวลาหลายปี

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน

อาการจาก IBS จะแตกต่างกันออกไปตามกรณีบุคคล โดยอาจส่งผลกับผู้ป่วยบางรายรุนแรงมากก็ได้ โรคนี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ ในช่วงเวลาไม่กี่วันถึงไม่กี่เดือน และมักเกิดขึ้นระหว่างช่วงเครียดหรือหลังการรับประทานอาหารบางประเภท

คุณอาจพบว่าอาการของ IBS จะลดลงหลังการทำธุระหรือถ่ายหนักบางครั้ง

อะไรเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน?

สาเหตุการเกิด IBS ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหวที่เพิ่มขึ้นของลำไส้และปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร

ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้คุณอ่อนไหวต่อความเจ็บปวดที่มาจากลำไส้มากขึ้นจนทำให้คุณท้องผูกหรือท้องร่วงจากการที่อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ช้าหรือเร็วเกินไป

เชื่อกันว่าปัจจัยทางจิตวิทยาเองก็มีส่วนทำให้เกิด IBS ขึ้นเช่นกัน

สามารถทำการรักษา IBS ได้อย่างไร?

ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษา IBS แต่คุณสามารถควบคุมอาการต่าง ๆ ได้จากการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและอาหารการกินของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น: การระบุและเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้เกิดอาการ การปรับปริมาณกากใยอาหาร (fibre) ที่รับประทานขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดระดับความเครียด

การใช้ยารักษาผู้ป่วย IBS จะขึ้นอยู่กับอาการที่แต่ละคนประสบ

การใช้ชีวิตร่วมกับ IBS

IBS เป็นโรคที่คาดเดาไม่ได้ คุณอาจจะไม่ประสบกับอาการใด ๆ ทั้งเดือนและประสบกับการกำเริบของโรคกะทันหันก็ได้ ภาวะนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดและบั่นทอนการใช้ชีวิตและสุขภาพจิตอย่างมาก โดยผู้ป่วย IBS หลายรายประสบกับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลตามมา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหลังจากเป็นโรคนี้

คุณควรปรึกษาแพทย์หากว่าคุณรู้สึกซึมเศร้าหรือกังวลมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ปัญหาเหล่านี้มักจะไม่ดีขึ้นเองหากไม่ได้รับการรักษา โดยแพทย์อาจทำการบรรเทาได้ด้วยการจัดจ่ายยากันซึมเศร้า (antidepressants) หรือส่งคุณไปรับการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy - CBT) เพื่อช่วยให้คุณรับมือกับ IBS ได้ดีขึ้น

ด้วยการใช้ยาและการรักษาทางจิตเวชที่เหมาะสม คุณจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปรกติและเต็มที่แม้จะเป็น IBS อยู่ก็ตาม

IBS ไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพร่างกาย และไม่เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งหรือภาวะลำไส้ต่าง ๆ แต่อย่างใด

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน

อาการของ IBS มักจะทรุดลงหลังการรับประทานอาหาร และมักจะเป็นแบบเป็น ๆ หาย ๆ

ผู้ป่วยส่วนมากจะมีช่วงกำเริบของอาการยาวนานไม่กี่วัน หลังจากช่วงเวลาดังกล่าวอาการมักจะดีขึ้น แต่อาจจะไม่หายไปอย่างสมบูรณ์

บางรายอาจมีอาการที่กระตุ้นจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภท

อาการหลักของโรคลำไส้แปรปรวน

อาการทั่วไปของ IBS มีดังนี้: ปวดท้องและปวดบิด ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยการถ่ายหนัก รูปแบบการเคลื่อนตัวของลำไส้เปลี่ยนไป เช่นท้องร่วง ท้องผูก หรือทั้งสองอย่างสลับกัน ท้องอืดและท้องบวม ผายลมมาก ประสบกับอาการอยากเข้าห้องน้ำกะทันหัน มีความรู้สึกว่าถ่ายได้ไม่หมด ถ่ายเมือกออกจากทวาร

อาการเพิ่มเติมจากโรคลำไส้แปรปรวน

นอกจากอาการหลักแล้ว ผู้ป่วย IBS บางรายอาจประสบกับปัญหาอื่น ๆ ดังนี้: หมดเรี่ยวแรง คลื่นไส้ ปวดหลัง ปัญหาด้านการขับถ่าย เช่นต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึก ประสบกับอาการอยากขับถ่ายกะทันหัน และไม่สามารถถ่ายให้หมดได้ ความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia) ภาวะกลั้นการขับถ่ายไม่ได้

อาการของ IBS อาจส่งผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันจนกลายเป็นปัญหาด้านจิตเวชด้วย อย่างเช่นภาวะซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวล

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ควรไปพบแพทย์หากว่า:

คุณคาดว่าตนเองประสบกับอาการของ IBS เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง คุณอาจสามารถระบุ IBS ได้จากอาการของตนเอง แต่ส่วนมากแพทย์จะดำเนินการตรวจเลือดเพื่อกำจัดความเป็นไปได้ที่จะเป็นภาวะสุขภาพอื่น ๆ ด้วย

คุณรู้สึกถึงภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล โดยปัญหาเหล่านี้มักจะไม่ดีขึ้นเองหากไม่ได้รับการรักษา

คุณควรไปพบแพทย์อย่างฉุกเฉินหากว่าคุณมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น: มีน้ำหนักลดอย่างหาสาเหตุไม่ได้ มีการบวมหรือก้อนบนท้องหรือทวารหนัก มีเลือดออกจากทวาร มีสัญญาณของภาวะโลหิตจาง (anaemia)

เนื่องจากปัญหาข้างต้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะที่ร้ายแรงมากกว่าได้

สาเหตุของกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน

สาเหตุการเกิด IBS ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับความอ่อนไหวที่เพิ่มขึ้นของลำไส้และปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร

มีรายงานถึงหลาย ๆ สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ เช่นภาวะอักเสบ การติดเชื้อ และการทานอาหารบางประเภท กระนั้นก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปัจจัยเหล่านั้นส่งผลทำให้เกิด IBS โดยตรงได้อย่างไร

ปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร

ร่างกายของคุณมักจะลำเลียงอาหารผ่านระบบย่อยด้วยการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อที่ลำไส้เป็นจังหวะ อย่างไรก็ตามในกรณีผู้ป่วย IBS คาดกันว่ากระบวนการดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านระบบย่อยอาหารได้เร็วหรือช้าเกิน

หากอาหารเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหารเร็วเกินจะทำให้คุณมีอาการท้องร่วง เพราะว่าระบบย่อยมีเวลาดูดซับน้ำออกจากอาหารไม่พอ และหากอาหารเคลื่อนผ่านระบบย่อยอาหารช้าเกินไป จะทำให้เกิดอาการท้องผูกเพราะน้ำถูกดูดซับออกจากอาหารมากจนทำให้อุจจาระแข็งเกินไปนั่นเอง

ภาวะผิดปรกติของระบบย่อยอาหารเช่นนี้ของผู้ป่วย IBS คาดกันว่าเป็นผลมาจากสัญญาณที่แล่นไปมาจากสมองและลำไส้ถูกขัดขวางด้วยอะไรสักอย่าง

ยังมีข้อมูลกล่าวด้วยว่าปัญหาที่กระบวนการดูดซับของกรดน้ำดี (ที่ซึ่งน้ำดีที่ตับผลิตออกมาได้เข้าไปสะสมในระบบย่อยอาหาร) อาจเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรค IBS ขึ้นในบางกรณี

ความอ่อนไหวที่เพิ่มขึ้น

ความอ่อนไหวหลายอย่างจากร่างกายมาจากระบบย่อยอาหาร ยกตัวอย่างเช่น เส้นประสาทภายในระบบย่อยได้ส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อสื่อว่าคุณอิ่มหรือหิวอยู่ หรือส่งสัญญาณไปว่าคุณต้องการใช้ห้องน้ำ เป็นต้น

นักวิจัยบางท่านเชื่อว่าผู้ป่วย IBS บางรายอาจมีสัญญาณทางประสาทของระบบย่อยที่อ่อนไหวมากเกินไปจนทำให้อาการอาหารไม่ย่อยชนิดเบาบางจนแทบสังเกตไม่ได้ที่ผู้คนส่วนมากประสบนั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงกับผู้ป่วย IBS

ปัจจัยทางจิตวิทยา

มีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่าปัจจัยทางจิตวิทยาเป็นตัวการณ์สำคัญที่ทำให้เกิด IBS ขึ้น อย่างไรก็ตามนี่ก็ไม่ได้หมายความว่า IBS เป็น “ภาวะที่คิดไปเอง” แต่อย่างใด เพราะอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของจริง ส่วนภาวะทางอารมณ์รุนแรงอย่างความเครียดกับความกังวลนั้นก็อาจเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เข้าไปรบกวนการทำงานตามปรกติของระบบย่อยอาหาร

ภาวะอารมณ์เหล่านั้นไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ป่วย IBS เท่านั้น หลาย ๆ คนที่ยังไม่เคยมีอาการของ IBS ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เครียดมากเช่นระหว่างการสอบหรือระหว่างการสัมภาษณ์งาน เป็นต้น

ผู้ป่วย IBS อาจเคยประสบกับกับเหตุการณ์ฝังใจในวัยเด็กอย่างถูกทำร้าย ถูกเพิกเฉย หรือจากการเจ็บป่วยรุนแรงในวัยเด็ก จึงเป็นหลักฐานที่กล่าวว่าความยากลำบากในอดีตอาจทำให้คุณมีความอ่อนไหวต่อความเครียดและทำให้อาการเจ็บปวดและไม่สบายเนื้อสบายตัวมีมากขึ้น

สิ่งกระตุ้น IBS

อาหารและเครื่องดื่มบางประเภทสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการของ IBS ได้ โดยตัวกระตุ้นจะแตกต่างกันไปตามกรณีบุคคล แต่ที่พบได้มากที่สุดมีดังนี้: แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ช็อคโกแลต เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชา หรือกาแฟ ขนมขบเคี้ยว อาหารแห้งหรืออาหารไขมันสูง

ดังนั้นผู้ป่วยควรทำการจดบันทึกอาหารการกินในแต่ละวันเพื่อมองหาตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการในกรณีของคุณ

ความเครียดก็เป็นตัวกระตุ้นหนึ่งที่พบได้มากที่สุด ดังนั้นจึงควรมีวิธีรับมือกับสถานการณ์เครียดต่าง ๆ ในแบบของคุณไว้

การวินิจฉัยกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน

ยังไม่มีวิธีการวินิจฉัย IBS ที่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากมักจะไม่พบความผิดปรกติภายในระบบย่อยอาหารของคุณ

กรณีส่วนมากจะทำการวินิจฉัยได้จากอาการทั่วไปของ IBS โดยแพทย์จะประเมินว่าคุณเป็น IBS หรือไม่จากการที่คุณประสบกับอาการต่าง ๆ ภายในระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนที่ผ่านมา: ปวดท้อง ท้องอืด การขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป เช่นถ่ายหนักบ่อยขึ้น ท้องร่วง หรือ/และท้องผูก

การวินิจฉัย IBS จะถูกพิจารณาหากคุณมีอาการปวดท้องที่สามารถบรรเทาได้ด้วยการถ่ายหนัก หรือที่เกี่ยวข้องกับความอยากไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงกับอุจจาระของคุณ

อาการข้างต้นควรจะมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วยอีกอย่างน้อย 2 อย่างจาก 4 อาการต่อไปนี้: รูปแบบการถ่ายหนักเปลี่ยนแปลงไป: เช่นต้องเบ่งอุจจาระออก รู้สึกปวดอุจจาระกะทันหัน หรือรู้สึกว่าไม่สามารถถ่ายออกให้หมดได้ เป็นต้น ท้องอืด หรือกดเจ็บบริเวณท้อง อาการแย่ลงหลังการรับประทานอาหาร ถ่ายมูกออกจากทวารหนัก

การหาภาวะสุขภาพอื่น ๆ

IBS หลายกรณีสามารถวินิจฉัยได้จากการสอบถามอาการที่ประสบเท่านั้น กระนั้นก็อาจมีการทดสอบเพิ่มเติมต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเช่นนี้ขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น แพทย์อาจจัดการตรวจเลือดเพื่อกำจัดความเป็นไปได้ที่คุณจะเป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่นการติดเชื้อ หรือโรคแพ้กลูเตน (coeliac disease)

อาจมีการเก็บตัวอย่างอุจจาระของคุณไปทดสอบหาร่องรอยของสารที่เรียกว่า calprotectin ซึ่งผลิตออกจากลำไส้ที่มีการอักเสบ และหากพบในอุจจาระอาจหมายความว่าอาการของคุณเกิดมาจากโรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease - IBD) เป็นต้น

การมองหาอาการที่ต้องเฝ้าติดตามระวัง

อาจต้องมีการทดสอบเมื่อคุณมีอาการที่ต้องเฝ้าติดตามบางอย่าง ("red flag" symptoms) ที่อาจบ่งชี้ถึงภาวะสุขภาพร้ายแรงมากกว่า อย่างเช่นมะเร็ง โดยอาการที่ต้องระวังมีดังนี้: น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้ การบวมหรือเกิดก้อนบนท้องหรือทวารหนัก มีเลือดออกจากทวารหนัก ภาวะโลหิตจาง

การทดสอบเพิ่มเติมอาจนำมาแนะนำหากว่าประวัติครอบครัวของคุณมีรายงานถึงโรคมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งรังไข่ หรือคุณมีอายุเกิน 60 ปี และเคยประสบกับการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายที่ยาวนานมากกว่าหกสัปดาห์

ในกรณีเหล่านี้แพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อตรวจหาความผิดปรกติในลำไส้ ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ด้วย endoscope สอดเข้าลำไส้ตรง

การรักษากลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน

อาการของกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome - IBS) มักถูกควบคุมได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารการกินและวิถีชีวิตของตนเอง พร้อมกับทำความเข้าใจในธรรมชาติของภาวะนี้

ในบางกรณีอาจมีการใช้ยาและการรักษาทางจิตเวชเข้ามาช่วยด้วย

อาหารที่ดีต่อ IBS

การเปลี่ยนแปลงอาหารการกินเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมอาการของ IBS อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีอาหารใดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคนี้ทุก ๆ คน โดยอาหารที่ดีที่สุดจะขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองต่ออาหารแต่ละประเภทที่แต่ละคนมีต่างกัน

ผู้ป่วย IBS ควรจดบันทึกการรับประทานอาหารว่าอาหารใดที่ทำให้อาการแย่หรือดีขึ้นบ้าง เพื่อให้คุณเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการในอนาคต อย่างไรก็ควรต้องพึงจำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการตลอดชีวิต

กากใยอาหาร

ผู้ป่วย IBS มักถูกแนะนำให้ปรับเปลี่ยนปริมาณกากใยอาหารที่ทานเข้าไปได้ กากใยอาหารมีอยู่ 2 ประเภทหลัก: กากใยที่ละลายได้ (ละลายในน้ำ) และกากใยที่ละลายไม่ได้ (ละลายในน้ำไม่ได้)

อาหารที่มีกากใยอาหารละลายได้มีดังนี้: ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลห์ ข้าวไรน์ ผลไม้ เช่นกล้วยและแอปเปิ้ล ผักจำพวกราก เช่นแครอท และมันฝรั่ง

อาหารที่มีกากใยอาหารที่ละลายไม่ได้มีดังนี้: ขนมปังธัญพืชรวม รำข้าว ธัญญาหาร ถั่วและเมล็ดพันธ์บางประเภท

หากคุณประสบกับอาการท้องร่วง คุณอาจต้องทำการลดปริมาณกากใยอาหารชนิดละลายไม่ได้ลง หรือจะใช้วิธีบริโภคผลไม้หรือผักที่ปอกเปลือกแล้วก็ได้

หากคุณมีอาการท้องผูก การเพิ่มกากใยอาหารชนิดละลายน้ำได้และเพิ่มปริมาณน้ำที่ดื่มให้มากขึ้น

โดยปริมาณกากใยอาหารที่ควรได้รับนั้นทางแพทย์สามารถแนะนำให้แก่คุณได้

อาหาร FODMAP ต่ำ

หากคุณประสบกับอาการท้องอืดเรื้อรังและบ่อยครั้ง การรับประทานอาหารที่เรียกว่าอาหาร FODMAP ต่ำ (Low FODMAP diet) จะสามารถช่วยได้

โดย FODMAP มาจากคำว่า fermentable oligosaccharides, disaccharides, monosaccharides and polyols ซึ่งต่างก็เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ถูกย่อยสลายยากและดูดซับได้โดยลำไส้ หมายความว่าอาหารนี้จะถูกหมักหมมในลำไส้ได้ค่อนข้างเร็ว และแก๊สที่ออกจากกระบวนการย่อยจะทำให้เกิดอาการท้องอืดขึ้น

การทานอาหาร FODMAP ต่ำจำเป็นต้องทำการลดปริมาณอาหารหลายอย่างที่มี FODMAP สูง อย่างเช่นผลไม้และผักบางประเภท นมจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี และถั่วต่าง ๆ

หากคุณต้องการจะลองอาหาร FODMAP ต่ำ วิธีที่ดีที่สุดคือการทานตามคำแนะนำของนักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้คุณทานแต่อาหารที่ดีต่อสุขภาพและสมดุล

คำแนะนำทั่วไปสำหรับการรับประทานอาหาร

อาการ IBS ของคุณอาจจะดีขึ้นได้ด้วย: การทานอาหารตามปรกติและใช้เวลาในการรับประทาน ไม่เว้นการรับประทานอาหารหรือปล่อยทิ้งช่วงระหว่างมื้อมากเกินไป การดื่มน้ำอย่างน้อยแปดแก้วต่อวัน และควรเป็นน้ำเปล่าหรือน้ำปราศจากคาเฟอีนอื่น ๆ เช่นชาสมุนไพร จำกัดการบริโภคชาและกาแฟไม่เกินสามแก้วต่อวัน ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม การลดปริมาณการบริโภคแป้งที่ทนการย่อย (resistant starch) (แป้งที่ทนต่อการย่อยที่ลำไส้เล็กจนสามารถไปถึงลำไส้ใหญ่ได้) ซึ่งมักอยู่ในอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ การจำกัดการทานผลไม้สดเป็นสามส่วนต่อวัน หากคุณมีอาการท้องร่วง ให้เลี่ยง sorbitol ที่เป็นสารให้ความหวานเทียมในของหวานปราศจากน้ำตาลต่าง ๆ หากคุณมีอาการท้องอืดและผายลม ควรทานข้าวโอ๊ตและ linseeds เพื่อช่วยลดอาการ

การออกกำลังกาย

ผู้ป่วย IBS พบว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยบรรเทาอาการจาก IBS ได้ โดยแพทย์สามารถแนะนำว่าการออกกำลังกายใดที่เหมาะสมกับคุณบ้าง

ควรตั้งเป้าการออกกำลังอย่างต่ำ 150 นาทีด้วยกิจกรรมแอโรบิคความเข้มข้นปานกลาง เช่นการปั่นจักรยาน หรือเดินเร็ว ๆ ทุกสัปดาห์

การออกกำลังกายที่ดีควรทำให้คุณออกแรงเพียงพอจะทำให้หัวใจและการหายใจเร็วขึ้น

การลดความเครียด

การลดระดับความเครียดจะช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการ IBS ได้ โดยมีตัวอย่างวิธีลดความเครียดดังนี้: เทคนิคผ่อนคลาย: เช่นการทำสมาธิและการบริหารการหายใจ กิจกรรมทางร่างกาย: เช่นโยคะ หรือไท่เก๊ก การออกกำลังกายเป็นประจำ: เช่นการเดิน วิ่ง หรือการว่ายน้ำ

หากคุณมีความเครียดมากเป็นพิเศษ คุณอาจสามารถเข้าบำบัดพูดคุยเช่นการปรึกษาเรื่องความเครียด หรือการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy - CBT)

Probiotics

Probiotics คืออาหารเสริมโภชนาการที่ผลิตมาเพื่อช่วยเพิ่มสุขภาพของระบบย่อยอาหาร อาหารประเภทนี้มี “แบคทีเรียที่ดี” ที่ช่วยฟื้นฟูสมดุลทางธรรมชาติของลำไส้คุณ

ผู้ที่ใช้ Probiotics เป็นประจำจะสามารถบรรเทาอาการจาก IBS ได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับการทานอาหารประเภทนี้น้อยมาก ทำให้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า Probiotics ส่งผลดีอย่างไร หรือแม้แต่ประเภทใดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

หากคุณต้องการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ Probiotics คุณควรลองใช้เป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์เพื่อดูว่าอาการของคุณดีขึ้นหรือไม่ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตก่อน

การใช้ยา

มีการใช้ยามากมายที่สามารถรักษา IBS ได้ ดังนี้: ยาบรรเทาอาการปวดท้อง (antispasmodics) ยาระบาย (laxatives) ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ (antimotility): เพื่อลดอาการท้องร่วง ยาต้านซึมเศร้าโดสต่ำ (low-dose antidepressants): ยาที่ออกแบบมารักษาภาวะซึมเศร้า แต่ก็สามารถลดอากรปวดท้องและปวดบิดได้เช่นกัน

ยาบรรเทาอาการปวดท้อง

ยาบรรเทาอาการปวดท้อง (antispasmodics) ออกฤทธิ์ด้วยการคลายกล้ามเนื้อของระบบย่อยอาหาร ยกตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่น mebeverine และน้ำมันเปปเปอร์มิ้นต์

ผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาบรรเทาอาการปวดท้องนั้นเกิดขึ้นยาก อย่างไรก็ตามผู้ที่ใช้น้ำมันเปปเปอร์มิ้นต์อาจมีอาการแสบร้อนกลางอกและระคายเคืองผิวหนังรอบทวารหนักบ้าง

ยาระบาย

ยาระบายชนิดเพิ่มมวล (Bulk-forming laxatives) มักจะแนะนำให้กับผู้ป่วย IBS ที่เกิดจากอาการท้องผูก เพื่อช่วยให้อุจจาระของคุณอ่อนตัวลงจนทำให้อุจจาระถ่ายได้ง่ายขึ้น

สิ่งสำคัญคือการดื่มน้ำให้มากระหว่างที่ใช้ ยาระบายชนิดเพิ่มมวล เพื่อป้องกันไม่ให้ยาระบายเข้ารบกวนระบบย่อยอาหาร

ควรเริ่มจากการใช้ยาในปริมาณเล็กน้อยก่อน และหากจำเป็นก็ค่อย ๆ ปรับปริมาณเพิ่มทีละน้อยภายในระยะเวลาไม่กี่วันจนกว่าร่างกายของคุณจะถ่ายอุจจาระอ่อนลงหนึ่งหรือสองวัน และไม่ควรใช้ยาระบายชนิดเพิ่มมวลก่อนเข้านอน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาระบายคืออาการท้องอืดและผายลมมาก แต่หากคุณใช้วิธีเพิ่มขนาดยาทีละน้อย คุณควรจะประสบกับผลข้างเคียงน้อยมาก ๆ

ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้

ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ (antimotility) สำหรับอาการท้องร่วงจาก IBS มักจะเป็น loperamide ซึ่งออกฤทธิ์ด้วยการชะลอการบีบรัดกล้ามเนื้อลำไส้ ซึ่งจะทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านระบบย่อยช้าลงจนทำให้อุจจาระมีเวลามากพอจะแข็งและจับตัวกันเป็นก้อน

ผลข้างเคียงจาก loperamide อาจมีทั้งอาการปวดท้องและท้องอืด วิงเวียน ง่วงนอน และผื่นขึ้น

ยาต้านซึมเศร้า

ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) ที่ใช้ในการรักษา IBS มีอยู่ 2 ประเภท คือ tricyclic antidepressants (TCA) และ selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI)

TCA เช่นยา amitriptyline มักจะแนะนำเมื่อการใช้ยาลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ไม่สามารถควบคุมอาการปวดบิดได้ ด้วยการเข้ายับยั้งสัญญาณที่ส่งจากเส้นประสาทของระบบย่อยอาหารลง

อย่างไรก็ตามการใช้ TCA มักจะช่วยบรรเทาอาการได้เพียงสามถึงสี่สัปดาห์ ซึ่งผลของยาจะลดลงเนื่องจากร่างกายเริ่มปรับตัวจนคุ้นชินกับยาแล้วนั่นเอง

ผลข้างเคียงจาก TCA คือปากแห้ง ท้องผูก การมองเห็นไม่ชัดเจน และง่วงนอน ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ควรจะดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วันหลังเริ่มใช้ยา หากคุณประสบปัญหาจากผลข้างเคียงเหล่านี้ แพทย์อาจทำการจัดจ่ายยาประเภทอื่นแทน

SSRI เป็นยารักษาทางเลือกแทนการใช้ยาต้านซึมเศร้า ตัวอย่างยา SSRI ที่ใช้ในการรักษา IBS คือ citalopram, fluoxetine และ paroxetine

ผลข้างเคียงทั่วไปจากการใช้ SSRI คือการมองเห็นไม่ชัดเจน วิงเวียน และท้องร่วงหรือท้องผูก

การรักษาทางจิตวิทยา

หากอาการของ IBS ยังคงรบกวนคุณหลังเริ่มการรักษาไปแล้ว 12 เดือน แพทย์อาจส่งคุณไปรับการบำบัดที่เรียกว่า psychological intervention

มีประเภทการบำบัดทางจิตวิทยาอยู่หลากหลาย โดยทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการสอนเทคนิคที่ช่วยให้คุณควบคุมอาการป่วยได้ดีขึ้น และยังมีหลักฐานที่กล่าวว่าการบำบัดทั้งหมดสามารถช่วยผู้ป่วย IBS ได้จริง

การรักษาทางจิตวิทยาอาจถูกแนะนำให้กับผู้ป่วย IBS มีดังนี้:

การบำบัดทางจิต (psychotherapy): เป็นประเภทการบำบัดที่เกี่ยวข้องกับการเข้าพูดคุยกับนักบำบัดเพื่อช่วยมองลึกไปยังปัญหาและความกังวลใจของตนเอง

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy - CBT): ประเภทการบำบัดทางจิตที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความเชื่อและความคิดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและความรู้สึก และสอนวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ

การสะกดจิต (hypnotherapy): เป็นการสะกดให้คุณปรับเปลี่ยนแนวความคิดที่มีต่ออาการ

โดยการรักษาแบบ psychological intervention อาจมีความแตกต่างกันไปตามพื้นที่

การบำบัดทางเลือก

ผู้ป่วย IBS บางรายกล่าวว่าการบำบัดทางเลือกอื่นอย่างการกดจุดและการกดจุดสะท้อน (reflexology) สามารถช่วยให้พวกเขารับมือกับอาการได้ดีขึ้น กระนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่บ่งชี้ถึงประสิทธิภาพของกระบวนการบำบัดเหล่านั้นจึงทำให้ไม่เป็นที่แนะนำอย่างเป็นทางการ


24 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Irritable bowel syndrome (IBS): Symptoms, treatment, and more. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/37063)
Irritable bowel syndrome (IBS) - NHS (https://www.nhs.uk/conditions/irritable-bowel-syndrome-ibs/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาการท้องอืดท้องเฟ้ออาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
อาการท้องอืดท้องเฟ้ออาจเป็นอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

อาการท้องอืดท้องเฟ้อเป็นเรื่องปกติ แต่ในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของบางสิ่งที่ร้ายแรง

อ่านเพิ่ม