กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Imodium (ตัวยา Loperamide)

เผยแพร่ครั้งแรก 22 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

Imodium (อิโมเดียม) เป็นชื่อการค้าของยาที่มีตัวยาสำคัญคือ โลเพอราไมด์ (Loperamide) เป็นยากลุ่มต้านอาการท้องเสีย มีข้อบ่งใช้ในการควบคุมอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ช่วยลดความถี่และปริมาณอุจจาระในผู้ป่วยท้องเสีย

กลไกการออกฤทธิ์คือ โลเพอราไมด์จะเข้าจับกับตัวรับโอพิออยด์บริเวณผนังระบบทางเดินอาหาร เป็นผลให้ลดการเกิดเพอริสทัลซิส (เป็นการหดตัวของกล้ามเนื้อลำไส้เป็นจังหวะ ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้) ทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้นานขึ้น ลำไส้จึงมีเวลาดูดของเหลวกลับจากอุจจาระนานขึ้น ซึ่งสามารถลดปริมาณอุจจาระและทำให้อุจจาระแข็งขึ้นได้ ทั้งยังมีฤทธิ์เพิ่มแรงตึงของหูรูดที่ทวารหนัก จึงช่วยลดอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

Imodium (อิโมเดียม) จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย มีวางจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น

Imodium (อิโมเดียม) ใช้แก้ท้องเสียได้หรือไม่?

Imodium (อิโมเดียม) มีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการท้องเสียทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยสามารถช่วยลดได้ทั้งความถี่และปริมาณของอุจจาระ แต่ไม่ควรใช้เป็นยานี้เป็นทางเลือกแรกในการรักษาเสมอ ต้องพิจารณาก่อนว่าสาเหตุของอาการท้องเสียเกิดจากอะไร เช่น ไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต

สาเหตุที่ไม่นิยมใช้ Imodium (อิโมเดียม) ซึ่งมีตัวยาสำคัญคือโลเพอราไมด์เป็นยาทางเลือกแรกในการรักษานั้น เนื่องจากยาไม่ได้รักษาอาการท้องเสียที่ต้นเหตุ เป็นเพียงยาช่วยหยุดอาการท้องเสียเท่านั้น และจากกลไกของยาที่ทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้นานขึ้น จึงเชื่อว่าจะทำให้เชื้อหรือพิษที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียอยู่ในร่างกายนานขึ้นด้วย แทนที่จะถูกนำออกจากร่างกายผ่านการขับถ่ายเมื่อเกิดอาการอยากอุจจาระ

เพราะเหตุนี้ Imodium จึงนิยมใช้ในกรณีที่มีอาการถ่ายบ่อยครั้ง เพื่อป้องการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากเกินไป หรือในผู้ป่วยท้องร่วงจากการท่องเที่ยว (Traveler’s diarrhea) เนื่องจากการหาห้องสุขาอาจเป็นเรื่องไม่สะดวก

ตัวยาโลเพอราไมด์ยังใช้รักษาอาการท้องเสียเรื้อรังในผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารอักเสบ ไม่แนะนำให้ใช้โลเพอราไมด์เป็นยาทางเลือกแรกในการรักษาโรคบิด หรือรักษาภาวะท้องเสียที่อุจจาระมีมูกเลือดปน เนื่องจากอาการท้องเสียเหล่านี้เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย การใช้โลเพอราไมด์ยับยั้งไม่ให้ร่างกายเกิดการขับถ่ายมีความเสี่ยงเมื่อเชื้ออยู่ในลำไส้นานขึ้นโดยไม่ถูกขับถ่ายออก อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด

Imodium (อิโมเดียม) มีวิธีการใช้อย่างไร

Imodium (อิโมเดียม) มีวางจำหน่ายในรูปแบบแคปซูลขนาด 2 มิลลิกรัม วิธีการรับประทานยาตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการท้องเสียเฉียบพลัน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ให้เริ่มต้นรับประทาน 2 แคปซูล หลังจากนั้นให้รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล หลังจากที่ยังมีอาการถ่ายเหลวอยู่ ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 8 แคปซูลต่อวัน และให้หยุดใช้ยาหากอาการท้องเสียยังไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง
  • ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการท้องเสียเรื้อรัง ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ให้เริ่มต้นรับประทาน 2 แคปซูล หลังจากนั้นให้รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล หลังจากที่ยังมีอาการถ่ายเหลวอยู่จนสามารถควบคุมอาการท้องเสียได้ หลังจากนั้นให้แบ่งรับประทาน 2-4 แคปซูลต่อวัน โดยจากการศึกษาถ้าอาการท้องเสียเรื้อรังยังไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วย Imodium ขนาดรวม 16 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 10 วัน การใช้ยาในขนาดสูงกว่านี้อาจไม่ให้ผลในการรักษา ควรได้รับการแนะนำให้รักษาอาการด้วยการรักษาอื่น
  • ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการท้องเสียในผู้ป่วยท้องร่วงจากการท่องเที่ยว ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดเริ่มต้นรับประทาน 2 แคปซูล หลังจากนั้นให้รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล หลังจากที่ยังมีอาการถ่ายเหลวอยู่ ห้ามใช้ยาเกิน 4 แคปซูลต่อวัน

Imodium (อิโมเดียม) มีผลข้างเคียงหรือไม่

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ของยา Imodium (อิโมเดียม) มีดังนี้

  • ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้งกว่าปกติ ท้องผูก อาการเหล่านี้สามารถพบได้บ่อยหลังจากใช้ยา Imodium
  • เกิดภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing Enterocolitis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวอ่อนหรือในทารกแรกเกิด เป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่หากเกิดแล้วจะเป็นอันตรายมาก
  • ส่งผลให้เกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจยาวนานผิดปกติ (QT Prolongation) ซึ่งมีอันตราย ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรหากผู้ป่วยมีการใช้ยารักษาโรคหัวใจร่วมอยู่ด้วย
  • ทำให้เกิดอาการมึนศีรษะ ง่วงซึม จึงควรหลักเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะและการใช้เครื่องจักรในระหว่างการใช้ยานี้

นอกจากนี้ยังควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับบกพร่อง เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) ในผู้ป่วยโรคตับบกพร่อง และการใช้ยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวอาจทำให้ระดับยาในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นเนื่องจากกระบวนการเมตาบอลึซึมของยาลดลง ผู้ป่วยเด็ก (ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี) สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรด้วยตนเอง เนื่องจากตัวยาอาจถูกขับออกทางน้ำนมได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
MedlinePlus, Loperamide in https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682280.html, 15 April 2018.
McNeil Products Ltd, Imodium Original 2mg Capsules in emc+, https://www.medicines.org.uk/emc/product/558/smpc, 9 April 2018.
MIMS Thailand, Imodium in https://www.mims.com/thailand/drug/info/imodium, 1 March 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)