วารีบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับทุกวัย

ประโยชน์ของวารีบำบัดหรือการออกกำลังกายในน้ำ สามารถช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยหลากหลายอาการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
วารีบำบัด เวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับทุกวัย

ในปัจจุบัน วารีบำบัดได้รับการพัฒนาและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการกายภาพบำบัด โดยเฉพาะในประเทศไทย แผนกกายภาพบำบัดของทั้งโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนได้หันมาสนใจและใช้วารีบำบัดเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยในหลายๆ ภาวะ การทำความเข้าใจถึงหลักการ ข้อห้าม ข้อควรระวัง และประโยชน์จากวารีบำบัด จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกช่วงอายุ ในหลากหลายอาการ

วารีบำบัดคืออะไร?

วารีบำบัด หรือธาราบำบัด (Hydrotherapy หรือ Aquatic therapy) หมายถึง ศาสตร์การรักษาที่ใช้คุณสมบัติต่างๆ ของน้ำเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยของร่างกาย รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีสุขภาพดีอยู่แล้วแข็งแรงยิ่งขึ้น นักกายภาพบำบัดจะออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยใช้คุณสมบัติพิเศษของน้ำทำให้ผู้รับบริการเคลื่อนไหวร่างกายได้ง่ายขึ้น ช่วยพยุงน้ำหนักตัวเพื่อลดแรงกระทำต่อข้อต่อ หรือแม้กระทั่งใช้เป็นแรงต้านในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง มีทั้งแบบที่ต้องลงไปทำการรักษาในน้ำทั้งร่างกาย หรือจุ่มเฉพาะส่วนที่ต้องการทำการรักษาลงไปในอ่างชนิดพิเศษที่ตั้งอุณหภูมิและทิศทางการไหลวนของน้ำได้ ในปัจจุบันวารีบำบัดได้ถูกประยุกต์ใช้ทั้งเพื่อการรักษาและการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายในน้ำสำหรับผู้สูงอายุ สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเด็กโรคสมองพิการ และผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรงจนมีข้อจำกัดไม่สามารถออกกำลังกายบนบกได้ เป็นต้น จะเห็นได้ชัดว่าวารีบำบัดเป็นการออกกำลังกายแบบพิเศษที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถออกกำลังกายบนบกได้กลับมาออกกำลังกายได้อีกครั้ง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คุณสมบัติของน้ำและหลักการรักษาด้วยวารีบำบัด โดยนักกายภาพบำบัด

นักกายภาพบำบัดจะทำการรักษา โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ของน้ำเหล่านี้

  1. แรงลอยตัว (Buoyancy) ขณะวัตถุลอยอยู่ในน้ำจะมีแรงต้านแรงโน้มถ่วงของโลก วัตถุที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำจะสามารถลอยน้ำได้ ร่างกายของคนเรามีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำเล็กน้อย ทำให้เมื่อลงไปแช่ในน้ำจะสามารถลอยปริ่มน้ำได้ คุณสมบัตินี้เอง ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถลงน้ำหนักได้เต็มที่สามารถกลับมาออกกำลังกายได้อีกครั้ง เช่น ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากเมื่อยืนจะมีอาการปวดเข่า สะโพก หรือหลัง แต่เมื่อยืนในน้ำ ความปวดนั้นจะบรรเทาลง หรือผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อเข่าเสื่อม การออกกำลังกายในน้ำจะทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักของร่างกายน้อยลง สามารถออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายได้โดยที่ไม่เพิ่มการเสื่อมของข้อเข่า นอกจากนี้ในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งการออกกำลังกายบนบกทำได้ยากเพราะต้องระวังไม่ให้มีการกระทบกระเทือน การออกกำลังกายในน้ำจะช่วยลดปัญหาส่วนนี้ได้ เป็นต้น นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดยังมีอุปกรณ์หลากหลายที่ช่วยใช้ผู้ป่วยสามารถลอยตัวได้มากขึ้น เพื่อลดแรงกระทำที่ส่งเสริมให้เกิดอาการปวด หรือช่วยให้ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากๆ สามารถออกกำลังกายได้อีกครั้ง
  2. แรงต้านของน้ำ (Resistance) นักกายภาพบำบัดใช้ประโยชน์จากความหนืดของน้ำ โดยนำมาใช้เป็นแรงต้านในการออกกำลังกายหรือช่วยเพิ่มความสามารถในการออกกำลังกาย ในผู้ป่วยที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น การใช้อุปกรณ์ช่วยลอยตัวและให้ว่ายตามกระแสน้ำ พร้อมกับใช้มือของนักกายภาพบำบัดกำกับทิศทางการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง การทำเช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผู้ที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงมาก ในทางกลับกัน สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความแข็งแรง นักกายภาพบำบัดอาจจะขอให้ออกกำลังกายในทิศทวนการไหลของน้ำ ก็จะทำให้เคลื่อนไหวได้ลำบากขึ้น จึงเพิ่มความแข็งแรงได้
  3. แรงดัน (Hydrostatic pressure) ที่ผิวน้ำจะมีแรงดันเท่ากับแรงดันของบรรยากาศปกติ แต่ใต้ผิวน้ำจะมีแรงดันมากกว่าบรรยากาศ และแรงดันนี้ยังเพิ่มขึ้นตามระดับความลึกอีกด้วย การออกกำลังกายที่ระดับความลึกต่างๆ ของน้ำ จึงมีผลลดแรงกระทำต่อข้อต่อได้มากน้อยต่างกัน นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการบวมของอวัยวะต่างๆ แรงดันที่มีอยู่ทุกทิศทางของน้ำยังช่วยบีบให้ของเหลวภายนอกเซลล์นั้นกลับสู่ระบบไหลเวียนเลือด ส่งผลให้อาการบวมลดลง มีรายงานหลายฉบับยืนยันว่ามีผลใกล้เคียงกับการพันผ้ายืด (Bandage) เพื่อลดบวม
  4. การนำความร้อน (Heat conduction) น้ำมีคุณสมบัตินำความร้อนได้ดี เมื่อออกกำลังกายในน้ำจึงไม่ค่อยรู้สึกร้อน เพราะน้ำช่วยระบายความร้อนและทำให้เหงื่อระเหยได้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายในสระที่มีระบบน้ำวนยังช่วยให้การถ่ายเทความร้อนจากร่างกายเป็นไปได้ได้ดียิ่งขึ้นด้วย บางสถานพยาบาลเลือกใช้อ่างน้ำให้จุ่มร่างกายลงไปเฉพาะส่วน หรือลงไปทั้งตัว และปรับอุณหภูมิของน้ำให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยด้วย เช่น ในผู้ป่วยที่มีข้อต่อติดแข็ง นักกายภาพบำบัดอาจจะเลือกใช้อุณหภูมิใกล้เคียงกับการประคบร้อน เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว โครงสร้างรอบๆ ข้อต่ออ่อนนุ่มลง ง่ายต่อการรักษา และผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดจากการรักษาลดลง

ข้อห้ามและข้อควรระวังของการออกำลังกายในน้ำ

ถึงแม้การออกกำลังกายในน้ำจะมีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็มีข้อห้ามและข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ตัวอย่างกลุ่มผู้ไม่ควรออกกำลังกายในน้ำ มีดังนี้

  1. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะและอุจจาระได้
  2. ผู้ป่วยที่มีแผลเปิด หรือมีสายให้อาหารทางจมูก เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  3. ผู้ป่วยที่มีไข้ เพราะการเปลี่ยนอุณหภูมิขิงร่างกายอย่างกระทันหันอาจจะทำให้ไข้สูงขึ้น
  4. ผู้ป่วยความดันสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าน้ำมีแรงดันทำให้ของเหลวกลับไปสู่ระบบไหลเวียนเลือดมากขึ้น ดังนั้นจึงอาจจะมีผลเสียกับผู้ป่วยโรคความดันสูงที่อาการยังไม่คงที่
  5. ผู้ที่กลัวน้ำ

นอกจากข้อควรระวังและข้อห้ามดังกล่าว ยังมีบางอาการที่หากใครเป็นแล้วห้ามออกกำลังกายในน้ำ หรือหากจะทำ จะต้องได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษจากนักกายภาพบำบัดขณะทำการรักษา ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาเป็นรายๆ ไป หากมีข้อสงสัยควรปรึกษานักกายภาพบำบัดจะดีที่สุด

กลุ่มอาการที่สามารถรักษาได้ด้วยด้วยการออกกำลังกายในน้ำ

ในปัจจุบันการ ออกกำลังกายในน้ำได้รับการพัฒนาไปมาก จนเกือบจะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับผู้ป่วยเกือบจะทุกกลุ่มอาการ ในที่นี้จะขอยกถึงตัวอย่างการนำไปใช้ในผู้ป่วยหลัก 5 กลุ่ม ดังนี้

  1. ผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่ต้องรับการรักษาด้วยการออกกำลังกาย นอกจากจะลดแรงกระทำต่อข้อต่อที่มีปัญหา ทำให้อาการปวดน้อยลงแล้ว ยังสามารถทำให้เริ่มการออกกำลังกายได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้อาการปวดลดลงมากเพื่อออกกำลังกายบนบก
  2. ผู้ป่วยระบบประสาท นอกจากจะสามารถใช้คุณสมบัติของน้ำเป็นแรงต้านในการออกกำลังกายแล้ว ยังสามารถใช้การเคลื่อนไหวในน้ำเพื่อฝึกการทรงตัว กระตุ้นการรับรู้ของของข้อต่อ กระตุ้นการทำงานของระบบหายใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย ให้ผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อล้าเร็วกว่าปกติและมีปัญหาเรื่องการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายอีกด้วย เช่น ในผู้ป่วยป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muitiple Sclerosis) ที่ร่างกายจะอ่อนล้าอย่างรวดเร็ว เพราะอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการออกกำลังกาย เมื่อเปลี่ยนมาออกกำลังกายในน้ำ อุณหภูมิของร่างกายจะถ่ายเทไปสู่น้ำอยู่ตลอดเวลา ทำให้อุณหภูมิร่างกายไม่สูงขึ้น ผลที่ตามมาคือร่างกายล้าช้าลง และออกกำลังกายได้นานขึ้น
  3. สตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากสตรีตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวมากขึ้นและหลังแอ่นกว่าปกติ ทำให้ปวดหลังได้ง่าย นอกจากนี้ยังพบว่าปลายรยางค์ของสตรีตั้งครรภ์มักมีภาวะบวม การออกกำลังกายในน้ำจะช่วยลดปัญาเหล่านี้ได้
  4. ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุกลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุที่สุขภาพดี การออกกำลังกายในน้ำก็นับเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากผู้สูงอายุมีข้อห้ามและข้อควรระวังในการออกกำลังกายมากกว่าคนวัยทำงาน การเคลื่อนไหวในน้ำจะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับการบาดเจ็บ เนื่องจากมีแรงกระทำน้อยกว่าการออกกำลังกายบนบก สามารถช่วยลดปัญหาการเสื่อมของข้อต่อ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมไปถึงการปวดเข่าหรือสะโพก
  5. เด็กสมองพิการ ในปัจจุบันนักกายภาพบำบัดในกลุ่มผู้ป่วยเด็กได้หันมาสนใจวิธีนี้กันมาก เพราะนอกจากจะให้ผลการรักษาที่น่าพอใจแล้ว ยังสามารถดึงความสนใจของเด็กให้จดจ่ออยู่กับการรักษาได้นานขึ้นอีกด้วย

นอกจากผลทางสรีระวิทยาแล้ว น้ำยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการผ่อนคลาย และมีผลทางจิตวิทยาด้วย จึงมีการนำวิธีบำบัดนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในกลุ่มนักกีฬา ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีต้อต่อติดแข็งเรื้อรัง เป็นต้น

สามารถรับบริการวารีบำบัดหรือการออกกำลังกายในน้ำได้ที่ใดบ้าง และราคาประมาณเท่าไหร่?

ขณะนี้วารีบำบัดในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนเปิดให้บริการวารีบำบัด ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากสถานพยาบาลขนาดใหญ่แล้วยังมีคลีนิกขนากลางและขนาดเล็กมากมายที่เปิดให้บริการ มีทั้งแบบเป็นสระสำหรับลงไปออกกำลังกายทั้งตัว หรือแช่เฉพาะส่วนที่ต้องการทำการรักษาเท่านั้นลงไปในอ่างน้ำวนชนิดพิเศษ (Whirl pool) สำหรับทำกายภาพบำบัด ค่าบริการมักจะคิดตามเวลาที่ทำการรักษา อาการของโรค จำนวนผู้ช่วยนักกายภาพบำบัดและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการรักษา มีตั้งแต่ราคาหลักร้อยจนถึงหลายพันบาทต่อชั่วโมง การรักษาเป็นกลุ่มค่ารักษามักจะถูกลง อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้ารับบริการควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ทำการรักษาเป็นนักกายภาพบำบัดที่มีใบประกอบโรคศิลปะทางกายภาพบำบัด

วารีบำบัดเป็นหนึ่งในวิธีการรักษษที่สำคัญทางกายภาพบำบัด และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย เนื่องจากราคาไม่สูงมาก และเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยหลายประเภท การเลือกเข้ารับการรักษาด้วยวารีบำบัดควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย และป้องกันผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Symons SL, Tabachnick MM. Aquatic and hydrotherapy in rehabilitation. In: Shanker K, Randall KD, eds. Therapeutic physical modalities. Philadelphia: Hanley & Belfus, 2002:55-76.
Skinner AT, Thomson AM. Introduction: Duffield's exercise in water, 3rd edition. London: Bailliere Tindall, 1983: 1-2.
Dajpratham P. Aquatic Exercise. Siriraj Med J 2006;58: 630-634.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
6 วิธีเดินเผาผลาญพลังงาน
6 วิธีเดินเผาผลาญพลังงาน

ใช้เทคนิคต่อไปนี้มาช่วยเผาผลาญพลังงานระหว่างการเดินกันเถอะ

อ่านเพิ่ม
อุปกรณ์ออกกำลังกายพกพาสำหรับนักกีฬาที่ต้องเดินทาง
อุปกรณ์ออกกำลังกายพกพาสำหรับนักกีฬาที่ต้องเดินทาง

ไอเดียอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับนักเดินทาง

อ่านเพิ่ม
ค่าเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจ
ค่าเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจ

อัตราการเต้นของหัวใจคืออะไร สำคัญอย่างไร ค่าอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสมในช่วงปกติและขณะออกกำลังกายของแต่ละช่วงวัยคือเท่าไร

อ่านเพิ่ม