วิธีเลือกของเล่นให้เหมาะกับลูกน้อย

มาดูของเล่น 3 หมวดหมู่ และวิธีพิจารณาเลือกให้เหมาะแก่ลูกของคุณ
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 12 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
วิธีเลือกของเล่นให้เหมาะกับลูกน้อย

ของเล่นกับเด็กเป็นของคู่กัน เด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงเด็กโต (บางคนถึงวัยผู้ใหญ่) ก็มักจะสนใจของเล่นอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากมันจะสร้างความเพลิดเพลินใจให้แก่ลูกแล้ว ยังสามารถช่วยเสริมสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้อีกด้วย การได้เล่น ของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของลูกจะช่วยเพิ่มทักษะและพัฒนาการต่างๆ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ควรจะทำความเข้าใจของดังกล่าวให้มาก จะได้เลือกที่เหมาะสมกับลูกได้อย่างถูกต้อง

ของเล่นมีกี่แบบ?

ของเล่นในปัจจุบันมีมากมายหลายแบบ อาจแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ ได้ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1. ของเล่นจากธรรมชาติ

การปล่อยให้ลูกได้เล่นหิน ดิน ทราย น้ำ หรือวัสดุอื่นๆ ที่มาจากธรรมชาติ จะช่วยให้พัฒนาการทางร่างกายและสมองของลูกเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะวัสดุตามธรรมชาติจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกได้ดีกว่าวัตถุสังเคราะห์ (พวกพลาสติก) ยกตัวอย่างเช่น การให้ลูกได้เล่นปั้นทรายจะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านมือ นิ้ว ฯลฯ นอกจากนั้นลูกจะเรียนรู้และรู้จักแยกแยะพื้นผิววัตถุ ว่าความหยาบ ความละเอียด เป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ พ่อแม่สามารถสอนและสนุกกับลูกได้ด้วย (พ่อแม่ช่วยลูกปั้นทรายเป็นรูปต่างๆ เสริมสร้างความผูกพันในครอบครัวได้) และยังเป็นการพักผ่อน (กรณีไปเที่ยวทะเล) ของพ่อและแม่อีกด้วย

นอกจากนี้ข้อดีของของเล่นที่มาจากธรรมชาติคือ ราคาไม่แพง และตัวมันเองแทบจะไม่เป็นอันตรายต่อลูก เพราะมีสารปนเปื้อนที่เป็นพิษน้อย

2. ของเล่นจากวัตถุสังเคราะห์

พวกของเล่นพลาสติกทั้งหลาย เช่น ตุ๊กตาชนิดต่างๆ รถยนต์ย่อส่วน และอีกสารพัดชนิดที่เป็นแบบน่ารักๆ (แต่สร้างจากวัตถุสังเคราะห์ ไม่ได้มาจากวัตถุทางธรรมชาติ) โดยมากต้องตรวจดูคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้

  • ของเล่นที่สีสดจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาว่าสีที่ใช้ทานั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ เพราะของเล่นสีสันฉูดฉาดในปัจจุบัน โดยมากสีนั้นจะมีส่วนผสมของโลหะหนัก  ซึ่งหากผลิตไม่ได้คุณภาพ ก็อาจก่อให้เกิดสารตกค้างบนผิวของเล่น และเมื่อลูกสัมผัสแตะต้อง สารดังกล่าวก็จะปนเปื้อนติดกับมือลูกด้วย ตัวอย่างโลหะหนักบนของเล่นที่อาจเป็นอันตราย ได้แก่
    • ตะกั่ว มีพิษต่อผิวหนัง สมอง ระบบประสาท และกล้ามเนื้อ
    • สารกึ่งโลหะเช่นสารหนู เป็นสารก่อมะเร็งผิวหนัง
    • แคดเมียม ทำลายตับ ไต ระบบประสาท กระดูก และส่งผลให้เป็นมะเร็งได้ในหลายอวัยวะ
    • ปรอท สะสมในสมองและระบบประสาท ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว การพูด การได้ยิน การมองเห็น ฯลฯ
  • ควรหลีกเลี่ยงของเล่นขนาดเล็ก ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี เนื่องจากวัยนี้ชอบหยิบของเข้าปาก และสามารถอุดตันรูหู ปาก รูจมูก นำไปสู่การอุดกั้นทางเดินหายใจ อุดกั้นหลอดอาหาร ในทางกลับกัน ของเล่นที่มีขนาดใหญ่เกินไปก็อาจโค่นล้มทับเด็กได้
  • ควรหลีกเลี่ยงของเล่นที่มีขอบคม เพราะอาจบาดผิวหนังลูกได้
  • ไม่ควรให้เด็กเล็กๆ เล่นของเล่นที่ทำด้วยแก้ว เพราะเด็กเล็กยังจับของไม่ถนัดมือ อาจทำแตกและเกิดการบาดเจ็บได้

3. ของเล่นที่เน้นการเสริมทักษะความรู้

พวกตัวต่อ ตัวอักษรภาษาต่างๆ รูปภาพ ของที่มีเสียง ฯลฯ ของเหล่านี้จะดึงดูดความสนใจของลูกได้ดี เพราะได้ทั้งการมองเห็น การสัมผัส และการได้ยิน พ่อแม่ควรจะเลือกของเล่นที่เหมาะสมกับฐานะทางครอบครัว เพราะไม่จำเป็นว่าลูกต้องเล่นของราคาแพงๆ เสมอไปถึงจะมีพัฒนาการที่ดี ผลลัพท์จากการเล่นของเล่นราคาแพงๆ หลายอย่างก็ไม่ได้แตกต่างจากการเล่นของจากธรรมชาติ ที่สำคัญคือควรเลือกให้เหมาะกับวัยของลูก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการตามวัยดังนี้

  • เด็กแรกเกิดถึง 1 ปีควรเลือกของเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัส มองเห็น ได้ยิน การจับด้วยมือ เช่น ของที่มีรูปทรง (ทรงกลม เหลี่ยม) พื้นผิวเรียบ หรือ ขรุขระ ของที่ใช้เขย่ามือ ตุ๊กตานุ่มๆ 
  • วัย 1-3 ปี ของเล่นควรซับซ้อนมากขึ้น เพราะเด็กวัยนี้ซุกซน ควรเลือกของที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ลูกบอล ของหมุนได้ รถล้อเล็กๆ 
  • วัย 3-5 ปี เริ่มเล่นจำลองบทบาทสมมติ เล่นเกมปริศนาง่ายๆ เป็นการพัฒนาสมอง
  • วัย 5-9 ปี เริ่มคิด เริ่มมีสังคม ควรส่งเสริมความคิด ตัวอย่างของที่เหมาะสม คือ หมากรุก อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์

การจะเลือกซื้อของเล่นสักชิ้นให้ลูกขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่หลายคนมักจะหลงลืมไปก็คือ พ่อแม่คือของเล่นชิ้นที่ดีที่สุดของลูก โดยเฉพาะในช่วงวัย 0-3 ปี พ่อแม่หลายคนอาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นใดๆ ให้ลูกเลย แค่เล่นกับลูก มีกิจกรรมต่างๆ เช่น พาลูก (จูงหรืออุ้ม) ไปดูดอกไม้ที่ปลูกไว้หน้าบ้าน รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง พูดคุย กอด หอมลูก เล่านิทานเรื่องต่างๆ ให้ลูกฟัง และที่สำคัญคือให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกให้มากๆ เพราะลูกต้องการสิ่งเหล่านี้มากกว่าของราคาแพงที่ไร้ชีวิตจิตใจต่างๆ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
พิษและอันตรายต่อสุขภาพในของเล่นเด็ก (http://e-lib.ddc.moph.go.th/pd...)
จิราภรณ์ อ่ำพันธ์, อันตรายจากปรอท (http://webdb.dmsc.moph.go.th/i... )
คู่มือส่งเสริมพัฒนาเด็กแรกเกิด - 5 ปี สำหรับ ผู้ปกครอง, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (http://www.thaichilddevelopmen...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป