กายภาพบำบัด หนึ่งตัวช่วยสำหรับคุณแม่ท่อน้ำนมตัน

คุณแม่หลังคลอดบางคนมีปัญหาเรื่องเต้านมคัดตึง ท่อน้ำนมอุดตัน กายภาพบำบัดสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
เผยแพร่ครั้งแรก 4 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
กายภาพบำบัด หนึ่งตัวช่วยสำหรับคุณแม่ท่อน้ำนมตัน

บทความนี้เขียนโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด

ภาวะเต้านมคัดตึง และท่อน้ำนมอุดตัน เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในคุณแม่ให้นมบุตร นอกจากจะทำให้คุณแม่มีอาการปวดตึงเต้านมแล้ว ยังอาจทำให้ทารกไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอด้วยเพราะปริมาณน้ำนมที่ไหลออกมามีน้อยกว่าปริมาณที่ทารกต้องการเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังอาจจะนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ภาวะเต้านมคัดตึงหรือท่อน้ำนมอุดตันในคุณแม่ให้นมบุตรคืออะไร?

ภาวะเต้านมคัดตึง หรือท่อน้ำนมอุดตัน (Block duct หรือ Clogged milk duct) เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในคุณแม่หลังคลอดบุตร ไปจนถึงคุณแม่ในระยะให้นมบุตร เกิดจากการแข็งตัวเป็นก้อนของน้ำนมในท่อน้ำนม สามารถคลำพบก้อนแข็ง ไต หรือลักษณะเป็นแผ่น

โดยมากพบว่าเป็นแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านม ไม่เป็นทั้งเต้า สามารถพบได้ว่ามีปัญหากับเต้านมเพียงข้างเดียว หรือพบปัญหาพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้ เนื่องจากน้ำนมที่แข็งตัวเป็นก้อนทำให้การไหลของน้ำนมเป็นไปได้ไม่ดี เมื่อทารกดูดน้ำนมจึงไหลน้อย หรือไม่ไหลออกมาเลย คุณแม่มีอาการปวด หรือเจ็บเมื่อสัมผัส และอาจจะนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบได้หากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน

อาการของภาวะเต้านมคัดตึงและท่อน้ำนมอุดตัน

นอกจากอาการที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้วอาการสำคัญของเต้านมคัดตึง หรือท่อน้ำนมอุดตันอื่นๆ ยังมีดังนี้

  1. คลำพบก้อนแข็งบริเวณใดบริเวณหนึ่งของเต้านม เมื่อกดรู้สึกเจ็บ อาจจะพบอาการบวมหรือตึง ที่สำคัญคือคุณแม่จะไม่มีไข้
  2. ลักษณะของหัวนมและลานนมผิดปกติ อาจจะผิดรูปไปไม่เหมือนกับก่อนมีอาการ
  3. เมื่อให้ทารกดูดนม น้ำนมจะไหลน้อยกว่าปกติ หรืออาจจะไม่ไหลออกมาเลย โดยทั่วไปเชื่อว่าเต้านมข้างที่มีปัญหาจะมีน้ำนมไหลออกมาไม่เกิน 20% เท่านั้น

สาเหตุของภาวะเต้านมคัดตึงและท่อน้ำนมอุดตัน

สาเหตุที่สำคัญของของภาวะเต้านมคัดตึงหรือท่อน้ำนมอุดตัน มีดังนี้

  1. คุณแม่หลังคลอดหรือคุณแม่ในระยะให้นมบุตรที่มีเต้านมขนาดใหญ่ มีน้ำนมมาก และไม่สามารถระบายน้ำนมออกจากเต้านมได้ทันเวลา ทำให้น้ำนมที่ตกค้างเป็นเวลานานมีการจับตัวกันเป็นก้อนภายในเต้านม
  2. มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันมากเกินไป ทำให้น้ำนมข้นขึ้น และไหลออกมาตามท่อนมได้ยากขึ้นนั้นเอง
  3. สวมใส่ชุดชั้นในที่ไม่เหมาะสม เช่น คับเกินไป ทำให้บางส่วนของของเต้านมถูกกดทับ น้ำนมคั่งค้างในเต้านมไหลเวียนไม่สะดวกจนเกิดเป็นก้อนแข็งขึ้น หรือหลวมเกินไป ทำให้เต้านมหย่อนคล้อย ท่อน้ำนมด้านหลังเต้านมถูกกดทับ จนเกิดเป็นก้อนแข็งขึ้น
  4. ท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น การนอนตะแคงทับข้างใดข้างหนึ่งเป็นเวลานานๆ มีผลทำให้ท่อน้ำนมในเต้านมข้างในถูกกดทับ มีน้ำนมคั่งค้าง และเกิดการรวมตัวเป็นก้อนขึ้น
  5. ความเครียด มีความสัมพันธ์กับการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้น้ำนมไหลลดลง

วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับคุณแม่ให้นมบุตรที่มีอาการเต้านมคัดตึงและท่อน้ำนมอุดตัน

วิธีการรักษาและฟื้นฟูคุณแม่ที่มีภาวะเต้านมคัดและท่อน้ำนมอุดตันมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นกับความรุนแรงของอาการของผู้ป่วย วิธีการรักษาที่เป็นที่นิยมและสามารถพบได้บ่อยๆ มีดังนี้

  1. คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อใช้ลดความปวด และสร้างความร้อนระดับลึกเพื่อให้กระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนโลหิตของโครงสร้างที่อยู่ในระดับลึกลงไปจากผิวหนังประมาณ 2-5 เซนติเมตร ในกรณีของคุณแม่ที่มีอาการเต้านมคัดตึง หรือท่อน้ำนมอุดตันนั้น

    นักกายภาพบำบัดจะตั้งค่าของเครื่องอัลตราซาวนด์เพื่อหวังผลของความร้อนระดับลึกให้ช่วยสลายการจับตัวเป็นก้อนขวางท่อน้ำนม ขณะทำผู้ป่วยจะรู้สึกอุ่นสบายเท่านั้น มักใช้เวลา 7-15 นาทีต่อเต้านมหนึ่งข้าง
  2. การประคบร้อน (Heat therapy) นักกายภาพบำบัดใช้แผ่นประคบร้อนห่อด้วยผ้าขนหนูประคบบริเวณหน้าอกข้างที่ที่มีเต้านมคัดตึง หรือท่อน้ำนมอุดตัน โดยผลของการประคบร้อนจะกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด และลดการจับกลุ่มเป็นก้อนของน้ำนมในท่อน้ำนมระดับผิว ลึกลงไปประมาณ 1 เซนติเมตร และยังช่วยให้ท่อนมที่อุดตันและแข็งตัวอ่อนนุ่มลงด้วย โดยทั่วไปใช้เวลา 15- 20 นาที
  3. การนวด (Massage) เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของก้อนน้ำนมที่แข็งตัว และเพิ่มการไหลเวียนของน้ำนมที่ถุกอุดกั้นไว้ นักกายภาพบำบัดอาจจะใช้แป้งหรือเบบี้ออยล์ทาที่บริเวณเต้านมข้างที่มีปัญหา ก่อนจะใช้มือคลำและนวดกระตุ้น เพื่อไล่ให้น้ำนมและท่อน้ำนมที่อุดตันให้เคลื่อนไหว ในขั้นตอนนี้อาจจะมีน้ำนมปริมาณมากไหลออกมา
  4. การให้ความรู้ เรื่องการหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ เช่น แนะนำไม่ให้นอนตะแคงท่าทางท่าหนึ่งเป็นเวลานานๆ เปลี่ยนท่านอนทุก 2 ชั่วโมง ให้ทารกดูดนมเป็นเวลาเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตและหลั่งน้ำนมเป็นเวลา หรืออาจจะต้องอาศัยเครื่องปั๊มนมช่วย เป็นต้น

การรักษาภาวะเต้านมคัดตึงหรือท่อน้ำนมอุดตันนั้น นักกายภาพเพศชายและเพศหญิงสามารถทำได้อย่างมืออาชีพ คุณแม่ที่เข้ารับการรักษาไม่จำเป็นต้องกังวลใจ แต่หากรู้สึกไม่สบายใจอาจจะเลือกขอรับบริการกับนักกายภาพบำบัดหญิง หรือขอให้คุณพ่อและทารกเข้ามารอในห้องรักษาด้วยก็ได้ ส่วนมากเพียงครั้งเดียวก็จะได้ผลดีคุณแม่ควรจะให้ลูกดูดนมทันทีหรือปั๊มนมเพื่อระบายน้ำนมออกทันที ในบางกรณีนักกายภาพบำบัดอาจจะนัดผู้ป่วยเพื่อทำการรักษากันต่อเนื่อง 2-3 วัน เพื่อให้ผลการรักษาที่ดีและติดตามไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

5 วิธีฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านสำหรับคุณแม่ให้นมบุตรที่มีอาการเต้านมคัดตึงและท่อน้ำนมอุดตัน

  1. ประคบร้อน เมื่อมีอาการปวดตึงเต้านมควรจะประคบร้อนทันที ไม่ควรรอให้คลำพบเป็นก้อนแข็ง หรืออย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด เมื่อมีความเสี่ยงต่อท่อน้ำนมอุดตัน
  2. การนวดเต้านมด้วยตนเอง เริ่มจากใช้มือลูบเบาๆ บนเนินอกไปในทิศทางเข้าหาหัวนมหรือรักแร้ 5-10 ครั้ง จากนั้นนวดวนเป็นวงกลมเบาๆ รอบๆ เนินอก แต่เพิ่มน้ำหนักมือให้มากกว่าขั้นตอนแรก 5-10 ครั้ง ท่าต่อไปยกมือข้างที่เต้านมคัดตึงวางไว้หลังท้ายทอย ใช้มืออีกข้างวางบนเนินอก ออกแรงกดเบาๆ ลูบลงไปทางรักแร้และใต้ราวนม 5-10 ครั้ง ท่าสุดท้ายคือใช้มือข้างหนึ่งข้างหนึ่งรองใต้ราวนม อีกข้างวางบนเนินอก ออกแรงกด คลึงเบาๆ เข้าหากัน 5- 10 ครั้ง ในท่าสุดท้ายนี้คุณแม่อาจจะก้มตัวลงขณะนวด เพื่อให้แรงโน้มถ่วงของโลกช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นด้วยก็ได้
  3. ระบายน้ำนมออกไม่ให้มีน้ำนมคั่งค้าง ทำได้โดยการให้นมแก่ทารกเป็นเวลา ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ครั้งละ 15-20 นาที หากคุณแม่มีหน้าอกใหญ่ หรือทารกไม่สามารถกินนมได้เยอะ สามารถใช้เครื่องปั๊มนมปั๊มนมส่วนเกินออกแช่ตู้เย็นแช่นมไว้ใช้ต่อไปได้ หรืออีกทางเลือกคือให้คุณพ่อช่วยดูดนมส่วนเกินออกเพื่อป้องกันการคั่งค้างของน้ำนม ซึ่งจะนำไปสู่ท่อน้ำนมอุดตันได้ นอกจากนี้ควรให้นมลูกแบบสลับเต้า เพื่อให้เต้านมทั้งสองข้างไม่มีน้ำนมคั่งค้าง
  4. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เต้านมถูกกดทับ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าคุณแม่ควรเปลี่ยนท่านอนทุกสองชั่วโมง เพื่อไม่ให้เต้านมถูกกดทับหรือน้ำนมไหลไปกองรวมกันและเกิดเป็นก้อนแข็งขึ้น
  5. เลือกชุดชั้นในที่เหมาะสม ไม่ใส่ชุดชั้นในที่คับหรือหลวมเกินไป เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้

เต้านมคัดตึงหรือท่อน้ำนมอุดตันเป็นปัญหาที่ถูกพบได้บ่อย แต่ก็มีวิธีแก้ไขและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ เพียงแค่ทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการแก้ไขที่เหมาะ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดทันที เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะนอกจากอาการปวดที่คุณแม่จะต้องเผชิญแล้ว ทารกอาจจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Fetherston, C.M., Lai, C.T., Hartmann, P.E. (2008). Recurrent blocked duct(s) in a mother with immunoglobulin A deficiency. Breastfeeding Medicine, 3(4), 261–265
Campbell, S.H. (2006). Recurrent plugged ducts. Journal of Human Lactation, 22(4), 340–3.
Jacobs A, Abou-Dakn M, Becker K, et al. S3-Guidelines for the Treatment of Inflammatory Breast Disease during the Lactation Period: AWMF Guidelines, Registry No. 015/071 (short version) AWMF Leitlinien-Register Nr. 015/071 (Kurzfassung). Geburtshilfe Frauenheilkd. 2013;73(12):1202–1208. doi:10.1055/s-0033-1360115

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กายภาพบำบัด หนึ่งตัวช่วยสำหรับคุณแม่ท่อน้ำนมตัน
กายภาพบำบัด หนึ่งตัวช่วยสำหรับคุณแม่ท่อน้ำนมตัน

คุณแม่หลังคลอดบางคนมีปัญหาเรื่องเต้านมคัดตึง ท่อน้ำนมอุดตัน กายภาพบำบัดสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

อ่านเพิ่ม