กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ควรเตรียมตัวไปพบแพทย์อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คุณควรเตรียมวิธีการอธิบายอาการจองตัวเองให้พร้อม เพื่อให้การไปพบแพทย์ได้ประโยชน์สูงสุด (โดยเฉพาะ รพ. รัฐ) เนื่องจากแพทย์เวลาน้อย
เผยแพร่ครั้งแรก 13 ก.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ควรเตรียมตัวไปพบแพทย์อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หลายคนคงมีประสบการณ์ไปพบคุณหมอเวลาไม่สบายแตกต่างกัน สำหรับคนที่ไปรักษาที่มีผู้ป่วยไม่มากนัก อาจไม่มีปัญหาเรื่องความรีบเร่งของเวลา แต่ถ้าไปตรวจตามสถานพยาบาลของรัฐ คงต้องทำใจกับการรอคอยและเวลาที่ได้พบคุณหมออาจไม่มากนัก การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยคุณหมอให้การดูแลเราได้ดีขึ้น

หลักการถามประวัติแตกต่างกันในแพทย์แต่ละคน บางคนถามคำถามนำ บางคนให้เล่าอาการเองแล้วค่อยถามเพิ่มเติมแต่โดยใจความสำคัญจะประกอบด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • อาการที่ทำให้ต้องมาโรงพยาบาล
  • ระยะเวลาที่มีอาการ หากระบุได้ละเอียดเท่าไหร่ยิ่งดี เช่นเป็นวันที่ เวลา
  • รายละเอียดของอาการ อาการร่วม ความเปลี่ยนแปลง
  • การรักษาที่ได้รับมาก่อนหน้า
  • ความกังวลเกี่ยวกับความไม่สบาย
  • โรคประจำตัว
  • ยาที่ใช้ประจำ
  • การแพ้ยาหรืออาหาร
  • ประวัติบุคคลในครอบครัว

ตัวอย่างโรคหรืออาการที่พบบ่อยและควรทราบ

1. อาการไข้

  • มีอาการตั้งแต่วันไหน ช่วงไหนของวัน
  • ไข้สูงหนาวสั่นหรือไข้ตัวรุมๆ
  • อาการร่วม
    • ระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูกเจ็บคอ ปวดไซนัส หายใจหอบเหนื่อย
    • ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว ตัวตาเหลือง
    • ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปวดท้องน้อยหรือบั้นเอว ปวดเวลาปัสสาวะใกล้สุด สีปัสสาวะขุ่น
    • ระบบผิวหนัง เช่น มีผื่น แผล ต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ก้อนตามร่างกาย
    • ระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ตึงต้นคอ ซึม สับสน อ่อนแรงครึ่งซีก
  • การเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ลุยน้ำ เข้าป่า ใกล้ชิดผู้ป่วย ถูกสัตว์กัดหรือข่วน
  • รับประทานยามาก่อนหน้านี้หรือไม่ ยาอะไร  ถ้ารับประทานยาลดไข้แล้วไข้ลดไหม
  • โรคประจำตัว การได้รับวัคซีน

2. อาการไอ

  • มีอาการมานานเท่าไหร่
  • ไอมีเสมหะหรือไอแห้งๆ
  • สีเสมหะ ขาว เหลือง เขียว มีเลือดปนหรือไม่
  • อาการร่วม เจ็บคอ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ เจ็บหน้าอกเวลาไอหรือหายใจเข้าลึกๆ ไอสัมพันธ์กับท่านั่งหรือนอนหรือออกกำลังกาย อาการหอบเหนื่อย ตัวบวม ได้ยินเสียงวี๊ดๆเวลาหายใจ
  • ประวัติไปเที่ยว หรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคปอด
  • ประวัติการสูบบุหรี่ การทำงานเกี่ยวกับฝุ่น ควัน โรงงาน
  • โรคประจำตัว ยาใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

3. อาการเจ็บหน้าอก

  • ปวดตอนกำลังทำอะไร เคยปวดแบบนี้มาก่อนหรือไม่
  • ตำแหน่งที่ปวดและอาการปวดร้าวไปตำแหน่งอื่นเช่น ต้นคอ ไหล่ แขน ท้อง หลัง มีจุดกดเจ็บชัดเจนหรือไม่
  • ลักษณะที่ปวด แน่นๆหนักๆ จี๊ด แปล๊บ
  • เจ็บตอนออกแรง พัก เจ็บเวลาหายใจเข้าลึก ตอนขยับตัว เอี้ยวตัว
  • สิ่งที่ทำให้อาการปวดดีขึ้น
  • อาการร่วมเช่น ไข้ เหงื่อแตกตัวเย็น หน้าซีด ใจสั่น ผื่นที่ลำตัว
  • โรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจเดิม โรคหัวใจในครอบครัว

4. อาการปวดศีรษะ

  • ปวดตั้งแต่เมื่อไหร่ ค่อยๆปวดหรือปวดทันทีทันใด ปวดมากแบบไม่เคยมาก่อนหรือไม่
  • ปวดตำแหน่งไหน ปวดร้าวไปบริเวณไหนบ้าง เช่น ท้ายทอย กระบอกตา ต้นคอ ขากรรไกร
  • อาการปวดเป็นตลอดเวลา หรือเป็นๆหายๆ เป็นครั้งละกี่ชั่วโมง
  • อะไรทำให้ปวดมากขึ้น อะไรทำให้ปวดลดลง กลางวันกลางคืน ปวดแตกต่างกันหรือไม่
  • ลักษณะที่ปวด ตื้อ มึน ตุ๊บ แปล๊บ
  • อาการร่วม ไข้ ไซนัสอักเสบ ฟันผุ อ้าปากลำบาก กลืนเจ็บ ปวดหู น้ำตาไหล ตุ่มน้ำใสหรือผื่นเริมบริเวณใบหน้าและลำตัว
  • อาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น แขนขาอ่อนแรง มองเห็นภาพซ้อน ตามัว ชา กระตุก ชัก
  • โรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การใช้ยาคุมกำเนิด

5. อาการปวดท้อง

  • เริ่มปวดตั้งแต่เมื่อไหร่ ค่อยๆปวดหรือปวดทันทีทันใด
  • ปวดตำแหน่งไหนมากที่สุด เช่น ลิ้นปี่ ชายโครงขวา ชายโครงซ้าย กลางสะดือ ท้องน้อยด้านขวา ท้องน้อยตรงกลาง อาการปวดร้าวไปไหนบ้าง เช่น ทะลุไปด้านหลัง ร้าวลงขาหนีบหรือหน้าขา
  • ลักษณะที่ปวด เช่น ปวดบีบเป็นพักๆ แน่นๆ แสบๆ
  • อาการร่วม ไข้ ตัวตาเหลือง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว สีอุจจาระ ท้องผูก การผายลม
  • อาหารที่เพิ่งรับประทาน การดื่มสุรา การรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ
  • ประวัติ นิ่วในถุงน้ำดี แผลในกระเพาะอาหาร การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ประวัติรับเลือด รอยสักตามร่างกาย
  • ประวัติประจำเดือน การตั้งครรภ์
  • การใช้ยาสมุนไพร ยาต้มยาหม้อ ยาแก้ปวด

6. อาการเวียนศีรษะ

  • อาการสัมพันธ์กับท่าทางหรือไม่ เช่น เป็นตอนลุกนั่ง เดิน ยืนหรือล้มตัวลงนอน
  • อาการเวียนศีรษะ มีบ้านหมุนหรือแค่มึนๆตื้อๆ
  • อาการร่วม คลื่นไส้อาเจียน เดินเซ ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะ แขนขาอ่อนแรง การได้ยินลดลง ซึม
  • อาการเป็นทันทีทันใดหรือค่อยๆเป็น
  • เคยมีอาการมาก่อนหรือไม่
  • ความเครียดและพักผ่อนน้อย
  • ยาที่รับประทานเช่น ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ
  • โรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน หัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ
  • ประวัติประจำเดือนและการตั้งครรภ์

7. อาการปวดหลัง

  • ตำแหน่งที่ปวด ตรงกลางหรือข้างๆกระดูกสันหลัง
  • ระยะเวลาที่ปวด
  • ปวดมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรมหรือขณะพัก
  • ความแตกต่างของอาการปวดระหว่างกลางวันกับกลางคืน
  • เวลาขยับตัว เอี้ยวตัว เงยหรือก้ม ปวดมากขึ้นหรือไม่
  • อาการร่วม แปล๊บเหมือนไฟช๊อตไปที่ขา อาการชา กลั้นปัสสาวะลำบาก เบ่งปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก ขมิบก้นลำบาก  อวัยวะเพศไม่แข็งตัวในตอนเช้า ขากระตุก
  • อุบัติเหตุหกล้ม การผ่าตัดบริเวณหลัง การยกของหนักผิดท่า
  • โรคประจำตัว มะเร็ง  กระดูกพรุน

8. อาการมือชา

  • มือข้างไหน บริเวณที่ชา
  • ชาแบบปวดยิบๆเหมือนเข็มตำหรือหนาๆแบบไม่รู้สึก
  • สิ่งที่ทำให้แย่ลงเช่น การใช้งาน การงอแขน
  • อาการร่วม ปวดต้นคอ มือลีบกำสิ่งของไม่ถนัด อ่อนแรง
  • กลางคืนมีอาการปวดมากจนตื่นหรือไม่
  • ลักษณะงานที่ทำหรืออาชีพ ต้องใช้มือจับสิ่งของ หรือกระแทกมือกับสิ่งของ
  • โรคประจำตัว เบาหวาน ไทรอย์ การตั้งครรภ์

9. อาการใจสั่น

  • เป็นขณะทำอะไรอยู่
  • รู้สึกใจสั่นนานกี่นาที เป็นตลอดเวลาหรือเป็นๆหายๆ
  • อะไรกระตุ้นให้มีอาการ เช่น ออกแรง เครียด โกรธ ตกใจ ดื่มกาแฟหรือเป็นเอง ไม่สัมพันธ์กับอะไร
  • อาการร่วม เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย เหงื่อแตกตัวเย็น วูบหรือคล้ายเป็นลม หมดสติ เกร็งกระตุก ขนลุก
  • ยาที่รับประทาน เช่น ยาลดน้ำหนัก ยาขับปัสสาวะ สารกระตุ้น สารเสพติด
  • โรคประจำตัว ไทรอยด์ เบาหวาน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

10. อาการบวม

  • อาการเป็นมากี่วัน
  • บวมบริเวณไหน เช่น ทั่วตัว แขน ขา ท้อง หนังตาบวมตอนเช้าหลังตื่นนอน อัณฑะและอวัยวะเพศ
  • บวมเป็นตลอดเวลาหรือเป็นเวลาห้อยขา
  • สังเกตว่าเริ่มบวมจากตำแหน่งไหนก่อน
  • อาการร่วม หายใจหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ไอ ปัสสาวะออกน้อย ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อเป็นฟอง ตัวตาเหลือง ไข้ ผื่นบนผิวหนัง
  • ก่อนจะบวมมีอาการไข้เจ็บคอ หรือมีแผลติดเชื้อที่ผิวหนังหรือไม่
  • โรคประจำตัว ตับแข็ง ตับอักเสบ หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปวด ไตอักเสบมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ มะเร็ง
  • ยาที่รับประทาน เช่น ยาคุมกำเนิด

ทุกคนควรเอาใจใส่และจดจำอาการเจ็บป่วยของตนเองรวมถึงรายละเอียดของอาการนั้นๆ เพราะอาการหนึ่งๆสามารถเป็นอาการนำของโรคได้หลายชนิด นอกจากนี้หากมีประวัติการใช้ยาควรเก็บหรือถ่ายรูปตัวยาชื่อยาไว้เสมอ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรมีบันทึกชื่อโรคและยาที่ตนเองรับประทาน เพราะกรณีไปโรงพยาบาลที่ไม่เคยมีประวัติการรักษาอยู่ก่อน จะช่วยให้ง่ายต่อการรักษาอย่างต่อเนื่องและข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคและการให้ยารักษาต่อไป


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Insider tips to maximize your doctor visit. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/insider-tips-to-maximize-your-doctor-visit)
How to Prepare for a Doctor's Appointment. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/how-to-prepare-for-a-doctor-appointment-2614996)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป