ลูกชอบต่อรอง เป็นผลเสียไหม ควรรับมืออย่างไร?

ลูกชอบต่อรอง มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจและแยกแยะสถานการณ์ว่าสิ่งใดจะให้ลูกต่อรองได้ อะไรที่ต้องยึดกฎเกณฑ์ พร้อมแนะนำวิธีปฏิบัติ
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลูกชอบต่อรอง เป็นผลเสียไหม ควรรับมืออย่างไร?

พ่อแม่มือใหม่อาจรู้สึกปวดหัวกับการที่ ลูกชอบต่อรอง แต่การต่อรองของเด็ก เป็นทักษะหนึ่งที่แสดงถึงพัฒนาการทางด้านภาษา ซึ่งทักษะนี้จะเริ่มพัฒนาเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 3-4 ปี โดยเด็กใช้การสื่อสารเพื่อบอกความต้องการ แสดงความรู้สึก และบอกมุมมองความเข้าใจของตนเอง ซึ่งต้องมีฝ่ายที่เป็นผู้ต่อรอง และมีฝ่ายที่จะเลือกปฏิบัติ

เมื่อเกิดการต่อรองขึ้น บางครั้งนำมาซึ่งความโต้แย้งและโต้เถียงกันในครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม การต่อรองจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนเด็กโตขึ้น และในแต่ละวัยการต่อรองก็จะแตกต่างกัน

การต่อรองในวัยต่างๆ ต่างกันอย่างไร

เด็กจะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางในวัยเด็กเล็ก หลังจากนั้นเมื่อโตขึ้น เด็กจะเริ่มมีศักยภาพในตัวเองเพิ่มมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น กล้าคิดกล้าแสดงออก เป็นอิสระ ไม่ต้องการการบังคับ ออกมาเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่เห็นว่า ลูกชอบต่อรอง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพและทางสติปัญญาของเด็กที่ว่านี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง

คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรเข้าใจลูกในวัยต่างๆ เพื่อรับมือและเตรียมปรับตัวกับวัยต่างๆ ได้ทัน การต่อรองก็เช่นเดียวกัน เมื่อเด็กโตขึ้น การต่อรองก็มักจะมาในรูปแบบแตกต่างกันออกไป เช่น

  • ในวัยเด็กเล็ก ลูกอาจต่อรองไม่อยากเข้านอน ไม่อยากอาบน้ำ ไม่อยากกิน
  • ในวัยประถมศึกษา ลูกอาจต่อรองไม่อยากไปโรงเรียน กลับมาเล่าว่าเพื่อนเกลียด เพื่อนผลัก อยากขอเล่นไอแพดก่อนไปทำการบ้าน
  • ในช่วงวัยรุ่น ลูกอาจไม่อยากกลับบ้านเร็ว มีข้ออ้างว่าเพื่อนๆ ยังไปเที่ยวกันได้เลย อยากจะเอาโทรศัพท์มือถือไปโรงเรียนด้วย ในเมื่อเพื่อนๆ ยังเอาไปโรงเรียนกัน

การต่อรองของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันตามประสบการณ์ การแก้ปัญหาหรือตอบสนองของคุณพ่อคุณแม่แต่ละคนก็แตกต่างกัน

ผู้ใหญ่บางคน เมื่อโตขึ้นยังมีวิธีการรับมือหรือแก้ปัญหาที่ยากลำบาก สำหรับเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะแก้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันให้ผ่านไปได้โดยปราศจากการช่วยเหลือของผู้ใหญ่

ต้องอาศัยทักษะและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง แต่บางครั้งการต่อรองของลูกก็สามารถทำให้ผู้ใหญ่อารมณ์เสีย รำคาญ รู้สึกไม่เข้าใจว่าลูกชอบต่อรองนั้นเป็นเพราะอะไร จนรู้สึกเสียเวลาเมื่อลูกไม่ยอมทำตามที่อยากให้ทำ เกิดการดุด่า ขึ้นเสียง จนอาจลงท้ายด้วยการลงโทษและตีได้

เมื่อลูกต่อรอง ควรทำอย่างไร?

หลักสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรจดจำ เพื่อให้รับมือลูกชอบต่อรองได้ดี มีดังนี้

  1. คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ควรคิดว่าใครจะต้องเป็นฝ่ายชนะ หรือลูกต้องทำตามเราเท่านั้น ไม่ควรตำหนิหรือดุด่าลูก ควรมีท่าทีสงบเมื่อลูกต่อรองกับเรา
  2. หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มอารมณ์เสีย หงุดหงิด ให้ควบคุมอารมณ์ตนเอง ไม่ขึ้นเสียง ตะโกนหรือโต้เถียงกับลูก
  3. เมื่อสงบ ให้ร่วมกันหาทางออกร่วมกัน
  4. ควรร่วมกันตั้งข้อกำหนด หรือกฎของบ้านที่ต้องปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาครั้งต่อไป

การรับมือลูกชอบต่อรอง ในสถานการณ์ต่างๆ

คุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูอาจจะจัดกลุ่มเหตุการณ์หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่ลูกชอบต่อรองเพื่อวางแผนรับมือเมื่อลูกต่อรอง โดยมีหลักในการแก้ปัญหาดังต่อไปนี้

  1. เหตุการณ์ที่เป็นอันตราย ต่อรองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องยึดมั่นในข้อกำหนดของตนเอง แต่เลือกใช้คำพูดที่อ่อนโยน ไม่ดุดัน หรือใช้น้ำเสียงที่แข็งกร้าวเกินไป

    ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเรื่องเหล่านี้ต่อรองไม่ได้ และจะค่อยๆ ปรับตัวยอมรับและทำตาม เช่น “ถ้าหนูจะขึ้นรถยนต์กับแม่ หนูต้องคาดเข็มขัดนิรภัยจ้ะ ถ้าไม่ทำ หนูก็จะไม่ได้ไปกับแม่ นี่เป็นกฎของบ้านเราจ้ะ”
  2. เหตุการณ์ที่ไม่เป็นอันตราย เป็นสิ่งที่เกิดในชีวิตประจำตัว แต่ลูกยังไม่อยากทำ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ทางเลือก ให้เวลา และบอกก่อนล่วงหน้า เพื่อให้ลูกเตรียมตัว เช่น “หนูจะไปอาบน้ำหลังการ์ตูนเรื่องนี้จบ หรืออีก 5 นาทีจ๊ะ” “หนูคิดว่าจะทำการบ้านตอนไหนดี ลองบอกแม่หน่อยสิจ๊ะ”
  3. เหตุการณ์ที่ลูกต่อรอง แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไร ให้ช่วยกันหาทางออก เลือกวิธีที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เช่น “หนูอยากไปเล่นของเล่น แต่เราต้องออกไปซื้อของนอกบ้านแล้ว หนูคิดว่าจะทำอย่างไรดีจ๊ะ...ลูกอาจตอบ “งั้นหนูไปเล่นของเล่นที่ที่คุณแม่ซื้อของได้มั๊ยค่ะ” (แม่ได้ออกไปซื้อของ ลูกได้เล่นของเล่น)

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปิดใจยอมรับฟังข้อต่อรองของลูก จะทำให้มองเห็นพัฒนาการในด้านภาษา การแสดงออกของความต้องการและอารมณ์ รับรู้ถึงสิ่งที่ลูกเลือกและสิ่งที่ลูกชอบ

บางครั้งสิ่งที่ลูกต่อรองอาจจะไม่มีเหตุผล ดูเหมือนขาดความรับผิดชอบ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ทางเลือก และฝึกฝนทักษะการจัดการ การแก้ปัญหาให้ลูกได้ ฝึกการยอมรับเหตุและผลที่จะเกิดขึ้น เมื่อลูกได้เรียนรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่รับฟังความต้องการของเขา สุดท้ายลูกก็จะเรียนรู้และเข้าใจความต้องการของคุณพ่อคุณแม่เช่นเดียวกัน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The Future of children, The development of children ages 6 to 14 (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10646256), February 1999.
Parentsone, วิธีรับมือกับลูกชอบต่อรองอย่างไรได้ผล (https://www.parentsone.com/how-to-kids-negotiate/), 11 มิถุนายน 2562.
Psychology Today, Can children learn to negotiation? (https://www.psychologytoday.com/us/blog/listen-the-kids/201402/can-children-learn-negotiate), 26 February 2014.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)