กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

วิธีหลีกเลี่ยงสารเคมีในบ้าน ที่อาจขัดขวางการตั้งครรภ์

กำลังวางแผนจะมีลูกใช่หรือเปล่า? 7 วิธีนี้จะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงจากสารเคมีที่ใช้ทั่วไปในบ้านและในอาหาร ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์ได้
เผยแพร่ครั้งแรก 23 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
วิธีหลีกเลี่ยงสารเคมีในบ้าน ที่อาจขัดขวางการตั้งครรภ์

วิถีชีวิตในยุคนี้ทำให้เราต้องข้องเกี่ยวกับสารเคมีมากมาย ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ อาหารที่รับประทาน และอากาศที่เราหายใจ มีงานวิจัยมากมายพบว่า สารเคมีกลุ่มหนึ่งเรียกว่า สารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine Disrupting Chemicals) หรือ EDCs อาจส่งผลต่อคุณภาพของน้ำอสุจิ ไข่ และตัวอ่อนในครรภ์ได้ ซึ่งนอกจากการสัมผัสสารเคมีกลุ่มนี้จะลดโอกาสในการตั้งครรภ์แล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพลูกน้อยในระยะยาวอีกต่างหาก

ตามปกติ สารกลุ่ม EDCs เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อยู่ในสิ่งแวดล้อมและในอาหาร อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการผลิตและใช้สารประกอบทางเคมีใหม่ๆ นับพันชนิด รวมถึงสารกลุ่ม EDCs ที่สังเคราะห์ขึ้นด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฝากครรภ์ คลอดบุตรวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 79 บาท ลดสูงสุด 65%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

EDCs ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนมากมาย โดยชนิดที่เราคุ้นเคยกันดี ได้แก่ บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A หรือ BPA) พาธาเลต (Phthalates) และพาราเบน (Paraben)

มนุษย์เราเกือบทุกคนมี EDCs อยู่ในร่างกาย แต่การศึกษามากมายระบุว่า คนที่มีภาวะมีบุตรยาก มักมีระดับ EDCs ในร่างกายสูงกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า ระดับ EDCs ที่สูงขึ้นในร่างกายสัมพันธ์กับโอกาสการตั้งครรภ์ที่ลดลง ในคู่รักที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรอย่าง IVF ด้วย หากคุณวางแผนจะมีลูกและพยายามตั้งครรภ์อยู่ การลดการสัมผัสกับ EDCs จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์และเพื่อสุขภาพที่ดีของทารกในอนาคต

กลไกการทำงานของ EDCs

จากการศึกษาพบว่า EDC ไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายโดยการไปจับกับตัวรับ (receptor) ของฮอร์โมนแล้วจึงแสดงออกโดยการเลียนแบบการทำงานของฮอร์โมนนั้น หรือยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนนั้นๆ ก็ได้ โดยกลไกนั้นขึ้นอยู่กับสารแต่ละชนิด

วิธีหลีกเลี่ยงสารเคมีกลุ่ม EDCs มีดังนี้

  • ลดสารเคมีในอาหาร เราทราบกันดีว่าควรล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ซึ่งสารกลุ่ม EDCs ก็เป็นหนึ่งในสารที่พบได้บ่อย ดังนั้น การล้างผักผลไม้สดให้สะอาดจะช่วยลดการสัมผัสกับ EDCs ได้

    เรายังพบ EDCs ได้ในวัสดุที่ใช้เคลือบภายในกระป๋อง และพลาสติกบรรจุอาหารสำเร็จรูป ดังนั้นหากเป็นไปได้ ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด รวมถึงอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ดี เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นปราศจากสารเติมแต่งและสารกันบูด

    นอกจากนี้ เนื้อปลาที่มีไขมันสูง เช่น แซลมอน ทูน่า ซาดีน และเนื้อสัตว์ติดมันก็อาจมี EDCs ในปริมาณสูงเช่นกัน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นไขมันของเนื้อสัตว์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเนื้อสัตว์มาจากแหล่งไหน หรือผลิตจากที่ใด การจำกัดปริมาณการรับประทานปลาและเนื้อสัตว์เหล่านี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการรับ EDCs ได้

  • คำนึงถึงวิธีการอุ่นอาหาร บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง พลาสติกยืด และฟอยล์ห่ออาหารล้วนมี EDCs ปนอยู่ และอาจซึมเข้าสู่อาหารได้เมื่อโดนความร้อน โดยเฉพาะเมื่ออาหารนั้นมีน้ำมันมาก เราจึงไม่ควรอุ่นอาหารหรือบรรจุอาหารร้อนลงในบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบบาง หรือใช้พลาสติกยืดหรือฟอยล์เคลือบดีบุกห่ออาหาร แต่ควรใช้จานชามกระเบื้องหรือแก้วอุ่นอาหาร และใช้แผ่นกระดาษขนาดใหญ่หรือจานปิดคลุมอาหารแทน

    นอกจากนี้ แม้แต่บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่โฆษณาว่า “ปราศจาก BPA” ก็อาจมีสารกลุ่ม EDCs ชนิดอื่นปนอยู่ เช่น BPS (Bisphenol S) ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่นกัน

  • หลีกเลี่ยงการใช้ขวดพลาสติกแบบบาง พอลิเมอร์สำหรับผลิตพลาสติกที่ผสม EDCs มักใช้ในการผลิตขวดบรรจุน้ำดื่มและน้ำอัดลม เราจึงควรดื่มน้ำหรือน้ำอัดลมจากแก้ว หรือจากขวดพลาสติกแบบแข็ง แทนขวดพลาสติกแบบอ่อน เพื่อลดการสัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้

    นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งวางไว้ในอุณหภูมิสูง เนื่องจาก EDCs ในพลาสติกอาจละลายเข้ามาอยู่ในน้ำดื่มได้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบเสร็จรับเงิน พื้นผิวเรียบลื่นบนใบเสร็จรับเงินตามห้างสรรพสินค้ามักมี BPA ผสมอยู่ เราจึงควรหลีกเลี่ยงการหยิบจับใบเสร็จดังกล่าว (โดยเฉพาะกับนิ้วมือที่เปียก) และโยนกระดาษแผ่นนั้นใส่กระเป๋าสตางค์หรือเก็บไว้ในจุดที่สัมผัสได้ยาก

  • ทำอากาศในบ้านให้สดชื่น ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น ควัน สารเคมีแรงๆ สเปรย์ฉีดแมลง น้ำหอม กลิ่นพลาสติก และสารระเหย รวมถึงฝุ่นละอองจากเครื่องเรือนในบ้าน ล้วนมี EDCs ปะปนอยู่ในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ เมื่อใดที่คุณได้กลิ่นของสารต่างๆ นั่นหมายถึงคุณได้รับมันเข้าสู่ร่างกายแล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือให้เปิดบ้านให้โล่งเพื่อระบายอากาศบ่อยๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้หายใจเอาสารเคมีเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนส่วนใหญ่ที่มักผสม EDCs ได้แก่ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาล้างมือ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า รวมถึงน้ำยาทำความสะอาดพรม นอกเหนือจากนี้ EDCs ยังพบได้ในกาว สีทาบ้าน และน้ำยาเคลือบเงาด้วย ดังนั้น หากต้องการลดการสัมผัสกับ EDCs ให้ลองเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่วางจำหน่ายในร้านค้าและห้างสรรพค้าทั่วไป

    ส่วนใครที่ทำการเกษตร ก็ควรหลีกเลี่ยงยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย และหากเป็นไปได้ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทน

  • เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผิวพรรณ และเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลเส้นผมและผิว อย่างแชมพู ครีมนวดผม น้ำยาย้อมสีผม ครีมอาบน้ำ และเครื่องสำอางหลายชนิด ล้วนมี EDCs ผสมอยู่ ชนิดที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ พาราเบน (Parabens) การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากพาราเบน จะช่วยลดการรับสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกายได้

    ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ปราศจากพาราเบนวางจำหน่ายมากขึ้นในท้องตลาด ซึ่งมักระบุในฉลากชัดเจนว่า “Paraben free”

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ ตามที่กล่าวมานี้ อาจช่วยลดการสัมผัสกับสารเคมีกลุ่ม EDCs ในชีวิตประจำวันได้อย่างมหาศาล การรู้ว่าสารเคมีอันตรายพบได้ที่ไหน และจะหลีกเลี่ยงมันได้อย่างไรบ้าง นับเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวแรกที่จะนำเราไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้น และโอกาสในการมีลูกที่มากขึ้นด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WHO, State of the Science of Endocrine Disrupting Chemicals 2012: Summary for Decision-Makers (https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/78102/WHO_HSE_PHE_IHE_2013.1_eng.pdf;jsessionid=7BE438D7D74EABD675E98802947C2A9C?sequence=1)
NIEHS, Endocrine disruptors (https://www.niehs.nih.gov/health/topics/agents/endocrine/index.cfm), 10 May 2019
Dr. Mark Green, The Household Chemicals Affecting Your Fertility (https://pursuit.unimelb.edu.au/articles/the-household-chemicals-affecting-your-fertility), October 2017

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่
ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า อันตรายหรือไม่

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่ทุกคนต้องใส่ใจเพราะอัตราการเต้นของหัวใจสัมพันธ์กับความปลอดภัยของลูกน้อย

อ่านเพิ่ม
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?
อะไรคือสัญญาณการฉีกขาดในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก?

เรียนรู้สัญญาณการตั้งครรภ์นอกมดลูกก่อนที่มันจะฉีกขาด

อ่านเพิ่ม
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?
ทำความเข้าใจกับภาวะตั้งครรภ์ที่ไข่ที่ปฏิสนธิไม่ฝังตัว (Chemical Pregnancy) ใช่หรือไม่ใช่?

การตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไปที่จะยืนยันด้วยวิธีการทางชีวเคมี

อ่านเพิ่ม