คุณเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่?

เผยแพร่ครั้งแรก 19 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
คุณเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่?

เบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 ต่างก็มีปัจจัยเสี่ยงเนื่องมาจากพันธุกรรม แต่ความเสี่ยงในรุ่นลูกจะมีมากน้อยเพียงใดเป็นสิ่งที่พ่อแม่อยากรู้ สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาให้แนวทางไว้ดังนี้

  • ถ้าพ่อเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีโอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวาน 6 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 17
  • ถ้าแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และมีลูกก่อนอายุ 25 ปี มีโอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวาน 4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 25
  • ถ้าแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และมีลูกหลังอายุ 25 ปี มีโอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวาน 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 100
  • ถ้าแม่เป็นเบาหวานก่อนอายุ 11 ปี มีโอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวาน 2 เปอร์เซ็นต์
  • ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีโอกาสี่ลูกจะเป็นเบาหวาน 10-25 เปอร์เซ็นต์
  • ความเสี่ยงของพี่หรือน้องของคนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เหมือนกับผู้ที่มีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน

อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ในประชากรทั่วไป เบาหวานชนิดที่ 2 มีโอกาสเกิดมากกว่าความเสี่ยงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจเบาหวานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • นักวิจัยเชื่อว่าความเสี่ยงของลูกจะสูงขึ้นถ้าแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  • ถ้าพ่อหรือแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีโอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สูงถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์
  • ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีโอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สูงถึง 50-100 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นว่าพันธุกรรมเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นรุนแรงกว่าชนิดที่ 1 และเมื่อรวมเอาปัจจัยอ้วนเข้าไปด้วย ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นอีก ที่น่าเป็นห่วงคือเบาหวานชนิดที่ 2 ระบาดเข้าสู่เด็กมากขึ้น คนที่มีเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป อาจจะยังไม่เกิดโรคแทรกซ้อน ต้องรอจนกว่าจะอายุ 70 ปี แต่ถ้าเด็กเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ปัญหาโรคแทรกซ้อนจะเกิดเร็วขึ้นเมื่อเด็กเหล่านั้นเริ่มเข้าสู่อายุ 20 ปี

ป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2

แม้เบาหวานชนิดที่ 2 จะวนเวียนอยู่ในตระกูล หากพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน โอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สูงถึง 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะมียีนเบาหวานเหมือนกัน แต่ปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และนิสัยการบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง

ข่าวดีก็คือ เรามีวิธีลดความเสี่ยงการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไลฟ์สไตล์แบบตะวันตกที่เข้ามาทำให้ตัวเลขการเกิดเบาหวานสูงขึ้น ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปในทางลบกระตุ้นให้เกิดเบาหวานในผู้ที่มียีนเบาหวานอยู่แล้วให้เป็นเบาหวานเร็วขึ้น

ในทางตรงข้าม ถ้าคนนั้นหันมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีขึ้นก็สามารถหันหลังให้กับเบาหวานได้

ยีนป้องกันเบาหวาน

ยีนสำคัญอีกตัวหนึ่งที่อาจจะป้องกันเบาหวานได้คือ ยีนพีพาร์แกมมา (PPAR-gamma Gene) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมเก็บสะสมพลังงานและเกี่ยวข้องกับความไวของอินซูลิน หากส่วนของยีนนี้กลายพันธุ์ไป ยีนพีพาร์แกมมาก็จะไม่สามารถป้องกันเบาหวานได้

นักวิจัยพบว่า ยีนชนิดนี้จะทำงานเกี่ยวข้องกับอาหารไขมัน ปกติจะช่วยลดน้ำหนักเมื่ออาหารมีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่าไขมันอิ่มตัว ส่วนของยีนพีพาร์แกมมาจะออกฤทธิ์ในการป้องกันไม่ให้อ้วนแต่เมื่อใดที่กินไขมันอิ่มตัวมากกว่า ยีนส่วนนี้ก็จะสิ้นฤทธิ์ ที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มียีนชนิดนี้ สิ่งสำคัญในการกินไขมันคือชนิดของไขมันซึ่งสำคัญกว่าปริมาณของไขมัน เราจะเห็นว่าในยุคนี้ข้อแนะนำการกินเน้นการเลือกกินไขมันที่ดี ฉะนั้นผู้ที่รู้ว่ามียีนพีพาร์แกมมาที่ปกติการเลือกชนิดของไขมันเพื่อเสริมการทำงานของยีนชนิดนี้จะช่วยป้องกันเบาหวานได้ แต่สำหรับคนที่ไม่รู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น ควรยึดหลักการเลือกกินไขมันชนิดดีในปริมาณที่เหมาะสมไว้ก่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจเบาหวานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สัญญาณเตือนก่อนจะเป็นเบาหวาน

ก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลจะสูงขึ้นจากระดับปกติก่อน แต่ยังไม่สูงมากถึงขั้นเป็นเบาหวาน เรียกว่า  พรีไดอะบีทิส (Prediabetes)  หรือ เบาหวานแฝง  ระดับนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานเต็มตัวภายในระยะเวลา 10 ปี ในระหว่างนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ นอกเสียจากว่าคนคนนั้นจะปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีขึ้น เช่น ลดน้ำหนักหากอ้วน ปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร ออกกำลังกาย

หากคุณตรวจสอบสุขภาพแล้วพบว่าระดับน้ำตาลหลังจากอดอาหารข้ามคืนมีปริมาณไม่เกิน 99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจจะโล่งใจว่าผลปกติ แต่ก็ไม่ควรวางใจ เพราะระดับ 99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเป็นจุดตัดสูงสุดของค่าปกติ จึงควรระวังตัวและเริ่มค้นหาพฤติกรรมที่ต้องปรับปรุงในการป้องกันเบาหวาน แต่ถ้าผลระดับน้ำตาลอยู่ที่ 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร คุณหมอจะยืนยันโดยการให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมและตรวจระดับน้ำตาล 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น

ถ้าพบว่าระดับน้ำตาลออกมา 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่ามีเบาหวานแฝง แต่ถ้าระดับน้ำตาลอยู่ที่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป แสดงว่าเป็นเบาหวานเต็มตัวแล้ว

นอกจากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ปัจจุบันมีการตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ย (A1C) ซึ่งแต่เดิมใช้เป็นค่าตรวจการควบคุมเบาหวานในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาว่ามีการควบคุมเบาหวานดีเพียงใดหากระดับน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5.7-6.4 เปอร์เซ็นต์แสดงว่ามีเบาหวานแฝงอยู่

ผู้ที่มีเบาหวานหรือเบาหวานแฝงเท่ากับเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจหรือเลือดสมองตีบถึง 50 เปอร์เซ็นต์ การที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เสมอจะทำลายเส้นประสาทและหลอดเลือด วิธีลดความเสี่ยงคือ การลดน้ำหนักลง 5-10 เปอร์เซ็นต์ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและหันมาออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ถ้าหากลดน้ำหนักได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่แนะนำ ทำได้เพียงแค่ 5-7 เปอร์เซ็นต์ ก็ช่วยให้ระดับน้ำตาลเข้าสู่ภาวะปกติและสุขภาพดีขึ้นมาก

นอกจากนี้ควรดูแลติดตามระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และ ระดับคอเลสเตอรอลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ควรงดบุหรี่เพราะสิ่งเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ใครบ้างที่ควรตรวจหาเบาหวานแฝง

ชายและหญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าน้ำหนักเกินพิกัด (ดัชนีมวลกาย 23 กก./ม.2 ขึ้นไป)  ถ้าน้ำหนักปกติและอายุ 45 ปีขึ้นไป ปรึกษาแพทย์ว่าจะต้องตรวจหรือไม่

ผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี แต่อ้วนและมีปัจจัยเสี่ยงของเบาหวาน 1 ข้อขึ้นไป กรณีที่พบว่ามีเบาหวานแฝงควรได้รับการตรวจเพื่อให้แน่ชัดอีกครั้ง และควรตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อป้องกันเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ที่มีผลการตรวจปกติควรตรวจซ้ำทุก 3 ปี

คุณเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานแฝงและเบาหวานชนิดที่ 2 หรือไม่

มีคนจำนวนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน ฉะนั้นถ้าเราสามารถค้นพบเบาหวานได้เร็วเท่าไร โอกาสที่จะลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนก็มีมากขึ้นเท่านั้น  

ลองมาประเมินง่ายๆ ตามเกณฑ์ของสมาคมเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) 

  • น้ำหนักตัว คุณเริ่มอ้วนหรือไม่ (ดัชนีมวลกายไม่เกิน 23 กก./ม.2) เพราะพบว่าคนอ้วนมักจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีข้อมูลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มขึ้น 20 เท่าในผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป
  • อายุ 45 ปีขึ้นไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือไม่ ชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวน้อยจะเพิ่มความเสี่ยงเบาหวาน
  • มีญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ พี่หรือน้องเป็นเบาหวานไหม ถ้ามี คุณมีความเสี่ยงสูง
  • มีเมแทบอลิกซินโดรม คือกลุ่มอาการของอ้วนลงพุงและดื้อต่ออินซูลิน เช่น
  • ระดับเอชดีแอลคอเลสเตอรอลน้อยกว่า 35 มิลลิรัมต่อเดซิลิตร หรือไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ไขมันแอลดีแอลหรือคอเลสเตอรอลไม่ดีสูงคือ 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
  • ความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือ ได้รับการรักษาอยู่
  • สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าเบาหวานตัวจริงกำลังจะมาเยือนในอนาคต
  • มีประวัติโรคระบบหลอดเลือด (Vascular Disease)
  • มีถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovarian Syndrome)
  • เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือมีลูกที่น้ำหนักแรกคลอดหนัก 4 กิโลกรัมขึ้นไป หากมีความเสี่ยงก็สูงขึ้นมีเชื้อสายเอเชียอเมริกัน ชาวหมู่เกาะแปซิฟิก แอฟริกัน อเมริกัน อินเดียนแดง และละติน

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ใช้ประเมินได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง หากคุณจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยวก็ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่า มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดแล้วจำไว้ว่าเบาหวานแฝงหรือเบาหวานชนิดที่ 2 จะตอบสนองต่อการปรับเปลี่ยนอาหารการกินให้ดีขึ้นและออกกำลังกาย การวิจัยในโครงการป้องกันเบาหวานศึกษาในคนจำนวนมากพบว่า เราสามารถป้องกันหรือชะลอเบาหวานได้ถึง 58 เปอร์เซ็นต์ เพียงลดน้ำหนักลงมา 5-7 เปอร์เซ็นต์ โดยควบคุมการกินและออกกำลังกาย

หากคุณคิดว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงเบาหวานทางด้านพันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ควบคุมได้ เช่น อ้วน ก็ควรเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการกินนับแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยเรียนรู้วิธีการกินอาหารอย่างสมดุลซึ่งไม่ได้หมายความว่าห้ามกินอาหารบางชนิดหรือต้องกินอาหารชนิดเดียวเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงภาพรวมของอาหารที่กิน คุณอาจปรึกษานักกำหนดอาหารให้ช่วยวางแผนการกินอย่างง่ายๆ

อาหารที่ดีที่สุดคืออาหารที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนนิสัยการกินไปจากเดิมเพื่อให้ร่างกายได้รับอาหารที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพ การปรับเปลี่ยนในที่นี้คือการเปลี่ยนแปลงการกินโดยการเพิ่มธัญพืชไม่ขัดสีลดอาหารแปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิต เพิ่มการกินผักผลไม้ให้ได้วิตามินและใยอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต หลีกเลี่ยงอาหารทอด ลดอาหารที่มีไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และออกกำลังกาย

การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องไปฟิตเนสหรือวิ่งมาราธอน แต่พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เช่น การเดิน เต้นรำ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำ ทำงานบ้าน ทั้งหมดล้วนเป็นวิธีที่จะทำให้ร่างกายได้นำอาหารที่ย่อยเป็นน้ำตาลไปให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Understand Your Risk for Diabetes. American Heart Association. (https://www.heart.org/en/health-topics/diabetes/understand-your-risk-for-diabetes)
Risk Factors for Type 2 Diabetes. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases (NIDDK). (https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/risk-factors-type-2-diabetes)
Diabetes Risk Factors: Genetics, Obesity, and More. WebMD. (https://www.webmd.com/diabetes/guide/risk-factors-for-diabetes)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)