จะป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างไร ?

เผยแพร่ครั้งแรก 29 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
จะป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างไร ?

เชื้อ HIV ติดต่อผ่านน้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด เลือด และน้ำนม  เราสามารถป้องกันการติดเชื้อนี้โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น  ปัจจุบันมียา PrEP สำหรับรับประทานทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV (ปรึกษาแพทย์ก่อนรับยานี้)

ฉันจะป้องกันการติดเชื้อ HIV ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างไร

เชื้อ HIV จะติดต่อผ่านการสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งที่เกิดขึ้นระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย วิธีที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ก็คือการไม่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนัก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

แต่ผู้คนจำนวนมากเคยมีเพศสัมพันธ์ในช่วงชีวิตนี้ ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ  การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV  ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ HIV  ปัจจุบันมียาที่เรียกว่า PrEP สำหรับรับประทานทุกวันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV  แพทย์จะเป็นผู้แนะนำหากคุณจำเป็นต้องได้รับยา PrEP

กิจกรรมทางเพศที่ปลอดภัย หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV  ได้แก่:

  • การช่วยตัวเอง
  • การสัมผัสกับอวัยวะเพศของอีกฝ่าย
  • การเล้าโลม นัวเนีย ถูไถภายนอกร่างกาย (ใส่เสื้อผ้าอยู่)
  • การจูบ
  • มีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัย
  • ใช้อุปกรณ์เซ็กซ์ทอยที่สะอาด

กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อ HIV- มีรายงานการติดเชื้อด้วยวิธีนี้น้อยมาก (พบไม่กี่คนจาก 1 ล้านคน)

  • การจูบแบบดูดดื่ม (ถ้าผู้ติดเชื้อ HIV มีแผลในช่องปาก หรือมีเลือดออกในปาก)
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย และ/หรือ การรับประทานยา PrEP ร่วมด้วย
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย และ/หรือ การรับประทานยา PrEP ร่วมด้วย
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัยร่วมด้วย

กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HIV – คนนับล้านคนติดเชื้อ HIV จากวิธีนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือไม่รับประทานยา PrEP ร่วมด้วย
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย หรือไม่รับประทานยา PrEP ร่วมด้วย

หากร่างกายมีบาดแผลเปิด แผลสด มีเลือดออก ถือเป็นช่องทางในการรับเชื้อ HIV ได้ง่าย หากบาดแผลนั้นสัมผัสโดนน้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด หรือเลือด  นอกจากนี้ต้องงดการมีเพศสัมพันธ์หากกำลังเป็นเริมหรือติดเชื้ออื่นๆ อยู่  หากกำลังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสสูงที่ติด HIV ด้วย ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ

ปัจจุบันไม่มีวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ HIV โดยนักวิจัยจำนวนมากกำลังพัฒนาวัคซีนนี้อยู่ แต่มียาที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ (มีสองชนิดคือยา PEP และยา PrEP)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ยา PrEP คืออะไร และป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างไร

PrEP ย่อมาจาก pre-exposure prophylaxis เป็นยาที่ต้องรับประทานทุกวัน วันละครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV (รับประทานก่อนสัมผัสเชื้อ) แพทย์จะเป็นผู้แนะนำยาที่เหมาะสม หากคุณจำเป็นต้องรับประทานยานี้

ยา PEP คืออะไร และป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างไร

PEP ย่อมาจาก post-exposure prophylaxis (รับประทานหลังสัมผัสเชื้อ) เป็นสูตรยาหลายเม็ด ที่ต้องรับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV  โดยจะต้องรีบรับประทานยา PEP ให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV หรือหลังจากที่มีกิจกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV  ยาถึงจะมีประสิทธิภาพ ยิ่งรับประทานยานี้เร็วเท่าไร ยายิ่งมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น  หากคุณกำลังกังวลว่าคุณได้สัมผัสเชื้อ HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ให้รีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรับยา PEP เพราะยา PEP เป็นยาฉุกเฉิน ในกรณีที่คุณไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์

จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่ได้แพร่เชื้อ HIV ไปยังผู้อื่นขณะมีเพศสัมพันธ์

หากคุณได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ HIV สิ่งแรกที่ต้องทำคือตั้งสติ  ผู้คนจำนวนมากที่ติดเชื้อ HIV มีชีวิตเป็นปกติ มีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข และมีเพศสัมพันธ์ได้ (แต่ต้องป้องกัน) ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือการป้องกันไม่ให้คู่ของคุณติดเชื้อ HIV ไปด้วย

วิธีในการป้องกันการแพร่เชื้อ HIV ไปยังผู้อื่น คือ:

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนัก
  • เริ่มยาต้าน HIV ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยให้รับประทานยานี้ต่อเนื่องทุกวันในเวลาเดิม เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อ HIV ไปยังผู้อื่น (และยังช่วยให้คุณมีสุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วย)
  • คู่ของคุณที่ยังไม่ติดเชื้อ จะต้องเข้ารับยา PrEP เพื่อรับประทานสำหรับป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่อาจติดจากคุณขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ไม่ใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก เข็มเจาะร่างกายร่วมกับผู้อื่น
  • เข้ารับการตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อ HIV ไปยังผู้อื่นได้โดยง่าย

หากคุณมีผลการตรวจ HIV เป็นบวก สิ่งสำคัญที่สุดคือการบอกคู่ของคุณให้ทราบ เพื่อให้คู่ของคุณรีบเข้ารับการตรวจด้วย  แม้ว่าคุณจะป้องกันการแพร่เชื้อ HIV ไปยังผู้อื่นแล้ว แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณจะมีคู่ใหม่ จะต้องแจ้งให้คู่ใหม่ของคุณทราบเสมอเกี่ยวกับผลเลือดของคุณ เพื่อที่ทั้งสองคนจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันและป้องกันการติดต่อของเชื้อ HIV ได้


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
8 Simple Steps to Prevent HIV. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/hiv-prevention-plan-to-reduce-risk-49177)
Prevention | HIV Basics | HIV/AIDS. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/hiv/basics/prevention.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)