จะวัดองค์ประกอบของร่างกาย (body composition) ในเด็กได้อย่างไร

เผยแพร่ครั้งแรก 6 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
จะวัดองค์ประกอบของร่างกาย (body composition) ในเด็กได้อย่างไร

หากคุณกำลังติดตามน้ำหนักของลูกหรือพยายามช่วยให้เขาลดน้ำหนัก คุณอาจสงสัยว่ามีเครื่องมืออะไรบ้างที่ใช้ได้อีกนอกจากการวัดดัชนีมวลกาย (BMI)

เนื่องจาก BMI ไม่ได้คำนวณไขมันในร่างกายโดยตรง และไม่ได้วัดน้ำหนักตัวที่ปราศจากไขมันเพียงอย่างเดียว โดยเพียงแค่เทียบน้ำหนักกับความสูงของลูกเท่านั้น คุณอาจอยากพิจารณาเทคนิคอื่น ๆ เนื่องจากตระหนักว่าปริมาณไขมันในร่างกายและน้ำหนักตัวที่ปราศจากไขมันของเด็ก มีผลต่อสุขภาพของเด็กในปัจจุบัน และความเสี่ยงทางสุขภาพในอนาคตได้  แต่เทคนิคที่ใช้อยู่ในผู้ใหญ่นั้นคงไม่เหมาะสมกับเด็กเสมอไป มาดูทางเลือกเหล่านี้กัน

วิธีที่ไม่ซับซ้อน

วัดรอบเอว

เพื่อดูว่าลูกผอมลงหรือไม่ โดยเฉพาะหากเขาสูงขึ้นด้วย การวัดด้วยสายวัดสามารถช่วยได้ คุณอาจใช้วัดเส้นรอบเอวของลูก (ส่วนที่แคบที่สุดระหว่างซี่โครงซี่สุดท้ายและส่วนบนสุดของกระดูกสะโพก) จากการศึกษาในเด็ก 201 คนที่มีอายุระหว่าง 7-17 ปี นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยซินซินนาติพบว่า เส้นรอบเอวมีความสัมพันธ์มากที่สุดกับการกระจายของไขมันในร่างกาย ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่ง่ายและดีที่สุดในการวัดการกระจายของไขมัน

ความหนาของชั้้นผิวหนัง

การใช้ calipers เพื่อวัดความหนาของชั้นผิวหนังที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นเทคนิคที่ใช้ประเมินความอ้วนโดยสัมพัทธ์ เช่นเดียวกับการกระจายตัวของไขมันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  แม้เทคนิคนี้สามารถใช้ประเมินความเปลี่ยนแปลงในเด็ก แต่ยังคงต้องพัฒนาข้อมูลอ้างอิงที่ใช้ได้เพื่อเปรียบเทียบเด็กกับมาตรฐาน อีกข้อจำกัดหนึ่งคือ ไม่สามารถใช้ประเมินน้ำหนักที่ปราศจากไขมันได้

Bioelectric impedance analysis (BIA)

เทคนิคนี้ใช้ขั้วไฟฟ้า (electrode) วางที่ข้อมือและข้อเท้า และปล่อยให้กระแสไฟฟ้าจำนวนน้อย ๆ ไหลผ่านร่างกายเพื่อดูว่ามีความต้านทานมากเท่าไร  ยิ่งมีไขมันในร่างกายมาก กระแสไฟฟ้าก็ยิ่งผ่านไปได้ยาก ในอดีต ความแม่นยำของเครื่อง BIA นั้นต่ำ โดยค่าอาจเบี่ยงเบนได้จากการคั่งของน้ำ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้กำลังพัฒนาไปมากขึ้น

วิธีที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง

Dual energy x-ray absorptiometry (DXA)

แม้ว่า DXA ซึ่งใช้ x-ray ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้วัดมวลกระดูกในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน แต่ก็สามารถใช้วัดปริมาณไขมันในร่างกายและมวลร่างกายที่ปราศจากไขมันในเด็กที่อายุน้อยถึงสี่ปีได้เช่นกัน นี่อาจเป็นประโยชน์ในการวัดว่าน้ำหนักที่ลดลงมีการเปลี่ยนแปลงของมวลกายที่ปราศจากไขมันด้วยหรือไม่  การศึกษาในปี 2013 ที่อังกฤษพบว่า DXA เป็นวิธีที่มีความแม่นยำมากที่สุดในการประเมินปริมาณไขมันและมวลกายที่ปราศจากไขมันเมื่อเทียบกับเทคนิคอื่น ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้ว

Plethysmography

เทคนิคนี้ เด็กจะนั่งในห้องรูปไข่เป็นเวลา 5 นาที ในขณะที่มีอากาศเป่าอยู่เบา ๆ รอบตัว เพื่อวัดไขมันและมวลกายที่ปราศจากไขมัน ในการศึกษาเปรียบเทียบวิธีต่าง ๆ ในการวัดองค์ประกอบของร่างกายในเด็ก นักวิจัยที่สถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนาการแห่งชาติพบว่าวิธีนี้วัดความเปลี่ยนแปลงของปริมาณไขมันในร่างกายเด็กได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับ BIA หรือความหนาของชั้นผิวหนัง แต่ยังไม่ดีเท่า DXA

MRI

เทคนิคที่ใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาพของเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกาย ซึ่งดีกว่าเทคนิคอื่นในการประเมินองค์ประกอบของร่างกายเฉพาะส่วน โดยเฉพาะไขมันหน้าท้อง ข้อเสียคือราคาแพงมาก และไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็กที่ต้องทำตามชุดคำสั่งที่ใช้ในการวัด (พวกเขาต้องอยู่นิ่งมาก ๆ ในขณะที่อยู่ในเครื่องที่มีลักษณะคล้ายท่อ)

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณคืออภิปรายทางเลือกต่าง ๆ กับกุมารแพทย์ของลูก คุณจะพบว่าวิธีไหนที่เหมาะกับภาวะของลูกและความกังวลของคุณมากที่สุด และวิธีใดบ้างที่คลินิกใกล้บ้านคุณมีให้บริการ


19 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
BMI limitations: Age and sex, body composition, and health. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323543)
Defining Childhood Obesity | Overweight & Obesity. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/obesity/childhood/defining.html)
Body Composition Analysis in the Pediatric Population. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4154503/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)