กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ส้นเท้าแตก สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน และวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

ส้นเท้าแตก อาการแบบไหนถึงเรียกว่า ระยะอันตราย รักษาด้วยตัวเองอย่างไร จำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือเปล่า
เผยแพร่ครั้งแรก 27 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 25 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ส้นเท้าแตก สาเหตุ อาการ การรักษา การป้องกัน และวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ส้นเท้าแตก เป็นอาการที่พบได้จากความเสื่อมของผิวหนังบริเวณส้นเท้า สามารถพบได้กับคนทุกวัย เพราะเท้าเป็นอวัยวะที่ทุกคนต้องใช้งานอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดความเสื่อมได้ตามระยะเวลา
  • สาเหตุที่ทำให้ส้นเท้าแตกเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น น้ำหนักตัวมากเกินไป ชอบเดินเท้าเปล่า อาบน้ำอุ่น หรือน้ำร้อนบ่อยเกินไป กรรมพันธุ์ การดื่มน้ำไม่เพียงพอ โรคเบาหวาน อากาศเย็น และแห้ง
  • วิธีดูแลส้นเท้าแตกทำได้ไม่ยาก เพียงดื่มน้ำให้เพียงพอ ทาครีมบริเวณผิวส้นเท้า ใช้สบู่บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ผิวหนังส้นเท้าก็จะกลับมาสุขภาพดีขึ้น
  • อาการส้นเท้าแตกสามารถลุกลามได้หากไม่รีบทำการรักษา และอาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อเอาเนื้อตายออก จึงจะทำให้อาการดีขึ้นได้
  • อาการส้นเท้าแตกจะทำให้คุณเสียความมั่นใจในรูปลักษณ์ และทำให้ดูเป็นคนไม่รักษาความสะอาด หากคุณไม่มีเวลาดูแลผิวตนเอง คุณอาจเข้ารับการทำทรีตเมนต์เท้า หรือทำสปาผิวหนังเพื่อบำรุงผิวเท้า (ดูแพ็กเกจนวด ทำสปาเท้าได้ที่นี่)

"เท้า" เป็นอวัยวะที่มีบทบาทความสำคัญไม่น้อย เพราะแทบทุกการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ว่าจะยืน เดิน วิ่ง ล้วนต้องมีเท้าเป็นองค์ประกอบด้วยทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี เท้าก็เหมือนเครื่องจักรที่ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสื่อมตามมามากขึ้นเท่านั้น 

ซึ่งหนึ่งในปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมของเท้า ก็คือ  "ส้นเท้าแตก" ซึ่งหากมองเผินๆ อาจดูไม่สำคัญ แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะทำให้ฝ่าเท้าหนาขึ้น และแตกเป็นร่องลึก หรือมีเลือดออกจนทำให้รู้สึกเจ็บได้ ร้ายไปกว่านั้นส้นเท้าแตกยังอาจนำไปสูการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ความหมายส้นเท้าแตก

ส้นเท้าแตก (Cracked heels) หมายถึง ผิวหนังบริเวณส้นเท้าที่มีความแห้ง หยาบกระด้าง ลักษณะเป็นแผ่นแข็ง อาการส้นเท้าแตกที่พบบ่อย ได้แก่ ส้นเท้าบวมแดง มีรอยแตกตื้นๆ กระจายในส่วนที่รับน้ำหนัก 

หากส้นเท้าของคุณแตกแล้วปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รักษา ร่องผิวบริเวณที่แตกก็อาจจะลึกมากขึ้น และมีเลือดไหลซึมออกมาได้ อาการดังกล่าวมักสร้างความเจ็บปวด แสบ จนเดินไม่ไหว อีกทั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สูญเสียความรู้สึกบริเวณส้นเท้า ติดเชื้อในเนื้อเยื่อข้างเคียง มีหนอง

สาเหตุของส้นเท้าแตก

  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุ่นเป็นประจำ หรือแช่น้ำร้อนเป็นเวลานาน 
  • ใช้สบู่ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำให้ผิวแห้งจัด 
  • อยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็นเป็นประจำ โดยไม่ทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะทำให้ส้นเท้ารับภาระแบกน้ำหนักมากตามไปด้วย
  • ชอบเดินเท้าเปล่าโดยไม่ใส่รองเท้า 
  • การสวมรองเท้าไม่พอดีกับขนาดเท้า
  • การสวมรองเท้าแบบเปิดผิวเท้า หรือพื้นรองเท้าแข็งเกินไป 
  • เกิดจากการเจ็บป่วยบางโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง
  • เกิดจากการแพ้สารบางชนิด เช่น สารเคมี ปูนซีเมนต์
  • เกิดจากกรรมพันธุ์
  • สัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังขาดความชุ่นชื้น

การดูแลตนเองเพื่อรักษาส้นเท้าแตก

  • ใช้สบู่บำรุงผิว เลือกใช้สบู่ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงและอ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง หรือก่อให้เกิดอาการระคายเคือง

  • ทายาและครีมบำรุงสำหรับส้นเท้า ครีม หรือยาที่มีส่วนประกอบของ “ไดเมทิโคน (Dimethicone)” สามารถช่วยกักเก็บน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ช่วยลดการเกิดหนังที่หนาหรือด้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของส้นเท้าแตก

    จากนั้นทาครีมบำรุงผิวประเภทมอยซเจอร์ไรเซอร์เข้มข้น หรือปิโตรเลียมเจลลี่ที่เท้าเป็นประจำ จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวแห้งแตกได้ แล้วสวมถุงเท้าทับก่อนนอนอีกชั้นหนึ่ง

  • เลือกใช้สบู่และครีมอาบน้ำที่ถนอมผิว

  • แช่เท้าในน้ำอุ่น 10-15 นาที แล้วใช้สครับ หินขัดเท้า หรือที่ขูดส้นเท้า สำหรับขัดถูเท้าตอนอาบน้ำ เพื่อให้เซลล์ผิวหนังเก่าหลุดลอกออก

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และฟื้นฟูผิวบริเวณที่แห้งแตกให้กลับมาสภาพปกติ

การรักษาส้นเท้าแตก

หากรักษาส้นเท้าแตกในระยะแรกด้วยตัวเองแล้ว อาการยังไม่ทุเลาลงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และปลอดภัย รวมทั้งอาจต้องตรวจหาการติดเชื้อร่วมด้วย โดยวิธีการรักษาที่พบบ่อยได้แก่ 

  • การผ่าตัดเนื้อตายออก แพทย์จะตัดผิวหนังแตกส่วนที่แข็งและหนาออก (ขั้นตอนนี้ไม่ควรทำเองที่บ้าน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย)
  • การปิดบาดแผล แพทย์จะใช้ผ้าพันเพื่อปิดบาดแผลที่ส้นเท้าแตก เป็นการช่วยลดแรงกระเทือน หรือการฉีกขาดของผิวหนังจากการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • การจ่ายยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อระงับอาการปวด และอักเสบ หรืออาจจะมียาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือยูเรีย (Urea) ซึ่งมีสรรพคุณทำให้ส้นเท้านุ่มลง และเรียบขึ้น
  • การเสริมพื้นรองเท้า แพทย์จะแนะนำในการใช้แผ่นยางเสริมพื้นรองเท้า เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ลดความรุนแรง และลดแรงกดของน้ำหนักที่ส้นเท้า 

การป้องกันส้นเท้าแตก

  • การอาบน้ำ ควรอาบน้ำที่มีอุณหภูมิปกติ ไม่อาบน้ำอุ่น หรือแช่น้ำร้อนนานเกินไป และควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง พร้อมกับทาครีมบำรุงผิวที่เท้า และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น

  • รองเท้า พยายามหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะเป็นประจำ หรือรองเท้าที่มีลักษณะเปิดเท้า โดยเลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับ หรือหลวมเกินไป พื้นรองเท้ามีความนุ่มและคุณภาพดี เมื่ออยู่ในบ้านอาจจะเลือกสวมรองเท้าขนนุ่มๆ จะช่วยลดแรงกระแทกได้พอสมควร

  • ก่อนสวมรองเท้าควรสวมถุงเท้านุ่มๆ ด้วยทุกครั้ง เพื่อลดแรงกระแทกที่มีต่อฝ่าเท้า และส้นเท้า

  • หากมีปัญหาผิวหนังแห้ง ขาดความชุ่มชื้น ควรทาครีมบำรุงเท้าก่อนนอนพร้อมกับสวมถุงเท้าทับด้วย

  • หลีกเลี่ยงการเดิน ยืน วิ่งด้วยเท้าเปล่าเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนพื้นผิวแข็ง และมีความร้อน

  • เช็คสุขภาพเท้า ควรสังเกต หรือตรวจอาการบวม และรอยแตกของส้นเท้า จากนั้นบำรุงรักษาผิวหนังบริเวณเท้าอย่างถูกวิธี หรืออาจจะไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง

อาการส้นเท้าแตกเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อจิตใจไม่น้อยจนอาจสูญเสียความมั่นใจได้ เพราะคนภายนอกที่เห็นอาจคิดว่า คุณไม่ดูแลตนเองได้ 

นอกจากนี้หากดูแล หรือรักษาส้นเท้าแตกไม่ถูกวิธี นอกจากจะเป็นอาการเรื้อรังแล้ว รอยแตกอาจเพิ่มมากขึ้น ลึกขึ้น ยังอาจนำไปสู่ความเจ็บปวด หรือการติดเชื้อจนเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลังได้นั่นเอง

ดูแพ็กเกจนวด ทำสปาเท้า เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Simple screening tests for peripheral neuropathy in the diabetes clinic. Perkins BA, Olaleye D, Zinman B, Bril V Diabetes Care. 2001;24(2):250.
Emollients and moisturisers for eczema. Vvan Zuuren EJ, Fedorowicz Z, Christensen R, Lavrijsen A, Arents BWM Cochrane Database Syst Rev. 2017;2:CD012119. Epub 2017 Feb 6.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)