8 สูตรน้ำปานะเพื่อสุขภาพ

แนะนำสูตรน้ำปานะที่ไม่ขัดหลักพระวินัยและได้ประโยชน์ต่อสุขภาพพระสงฆ์
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
8 สูตรน้ำปานะเพื่อสุขภาพ

หลายคนนิยมทำบุญด้วยการถวายน้ำปานะแก่พระสงฆ์ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบน้ำดื่มเติมน้ำตาล มีรสหวาน พระสงฆ์ไม่สามารถปฏิเสธน้ำปานะที่ญาติโยมนำมาทำบุญได้ จึงทำให้อาพาธด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ดังนั้นทุกคนจึงควรทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับน้ำปานะให้มากขึ้น เพื่อจะได้ เครื่องดื่มที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

น้ำปานะคืออะไร มีข้อห้ามอะไรบ้าง?

น้ำปานะ เป็นเครื่องดื่มสำหรับพระภิกษุ สามเณร หรือผู้รักษาอุโบสถศีล ซึ่งเป็นน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ไม่มีเนื้อหรือกากปน ที่พระสงฆ์สามารถฉันได้ในช่วงหลังเที่ยงไปได้ทั้งวันทั้งคืนก่อนรุ่งเช้า เพื่อดับกระหายหรือบรรเทาความหิว โดยไม่ทำลายศีล (ไม่อาบัติ) ปัจจุบันมีข้อข้องใจอยู่หลายประการเกี่ยวกับน้ำปานะว่า กาแฟ โอวัลติน โกโก้ น้ำเต้าหู้ ที่ญาติโยมถวายเป็นน้ำปานะนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ตามที่บัญญัติในพระวินัยกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำดื่ม 8 ชนิด คือ น้ำที่ทำด้วยผลมะม่วง ผลหว้า ผลกล้วยมีเมล็ด ผลกล้วยไม่มีเมล็ด ผลมะซาง ผลจันทน์หรือผลองุ่น เหง้าบัว และผลมะปรางหรือผลลิ้นจี่ ที่คั้นและกรองเอาแต่น้ำ โดยห้ามทำให้สุกผ่านไฟ นอกจากผลไม้ 8 ชนิดที่กล่าวมาแล้ว ยังอนุญาตน้ำที่อนุโลมให้เป็นน้ำปานะ ได้แก่ น้ำผักดอง น้ำจากใบไม้ น้ำดอกไม้ น้ำอ้อยสด น้ำผลไม้ทุกชนิด เช่น มะขาม มะนาว ส้มเขียวหวาน มะปราง หวาย มะงั่ว สะคร้อ เล็บเหยี่ยว เป็นต้น ยกเว้นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่าผลมะตูม คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง รวมถึงน้ำที่ได้จากธัญพืช น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง นมสด ไม่ได้จัดเป็นน้ำปานะ

ขอแนะนำสูตรน้ำปานะที่ถูกต้องตามพระวินัย และดีต่อสุขภาพพระสงฆ์ ดังนี้

8 สูตรน้ำปานะที่ดีต่อสุขภาพ

1. น้ำมะม่วง 

มีรสหวาน ให้พลังงานสูง ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย น้ำมะม่วงมีสรรพคุณแก้กระหาย บำรุงร่างกาย มีวิตามินซีช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินเอและเบตาแคโรทีนช่วยบำรุงสายตา นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น แต่ผู้เป็นเบาหวานไม่ควรดื่มบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นได้ 

วิธีทำ นำมะม่วงสุก 1 ผล ล้างให้สะอาด ปอกเปลือก แล้วฝานเอาแต่เนื้อมาปั่นหรือบดให้ละเอียด ใส่น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะเพื่อเพิ่มรสชาติ (สามารถปรับได้ตามความชอบ) จากนั้นใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำ โดยไม่ให้มีกากปนในน้ำ จะได้น้ำมะม่วงประมาณ 1 แก้ว

2. น้ำกล้วยน้ำว้า 

จะใช้กล้วยสุกซึ่งมีรสหวานจากน้ำตาลธรรมชาติ คือ ซูโครส กลูโคส และฟรุกโทส จึงให้พลังงานแก่ร่างกาย มีกรดอะมีโน วิตามิน แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามันบี 6 วิตามินบี 12 และวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงร่างกาย และยังช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น 

วิธีทำ นำกล้วยน้ำว้าสุก  3 ผลมาปอกเปลือก แล้วปั่นหรือบดให้ละเอียด กรองด้วยผ้าขาวบาง โดยไม่ต้องบีบคั้นน้ำ สูตรนี้จะได้น้ำประมาณ 1 แก้ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3. น้ำมะขาม 

มีรสเปรี้ยว ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ดับกระหาย ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก มะขามนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมายช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ  

วิธีทำ นำมะขามเปียก 300 กรัมมาแช่น้ำสะอาดประมาณ 500 มิลลิลิตร ระยะเวลาประมาณ 15 นาที หรือจนเนื้อมะขามละลายจนเป็นน้ำมะขามเปียกเข้มข้น กรองแยกกากด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร เติมน้ำผึ้ง เกลือ และน้ำมะนาวได้ตามชอบ

4. น้ำมะนาว 

มีรสเปรี้ยว เมื่อดื่มแล้วทำให้รู้สึกสดชื่น แก้ร้อนใน ดับกระหาย ช่วยขับเสมหะ ช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ  บรรเทาอาการปวดศีรษะ และเป็นยาระบายอ่อนๆ นอกจากนี้ยังมีมีวิตามินซีสูง ช่วยรักษาเลือดออกตามไรฟัน 

วิธีทำ นำมะนาวที่ล้างสะอาดแล้วจำนวน 5 ลูกมาฝานแล้วคั้นน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอากากออก นำน้ำที่ได้ผสมกับน้ำสะอาด 250 มิลลิลิตร เติมน้ำผึ้งและเกลือเพื่อปรับรสชาติ

5. น้ำลูกหว้า 

มีรสชาติหวานฝาดอมเปรี้ยว ลูกหว้าเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารแอนโทไซยานินที่เป็นสารสี ให้สีม่วง น้ำเงิน หรือแดง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และยังมีแทนนินที่ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษาอาการท้องเสีย 

วิธีทำ นำลูกหว้าสุกประมาณ 500 กรัมไปล้างน้ำให้สะอาด ฝานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปั่นหรือขยำเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร และเติมน้ำผึ้ง เกลือ มะนาว เพื่อปรับรสชาติได้ตามชอบ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

6. น้ำส้มเขียวหวาน 

มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีวิตามินซีสูง มีแร่ธาตุและกรดจากธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยแก้กระหาย แก้ไอ ขับเสมหะ ป้องกันโรคหวัด ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น 

วิธีทำ นำส้มเขียวหวาน 5 ผลมาล้างให้สะอาด ผ่าครึ่งลูกและคั้นเอาน้ำ กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อแยกเอากากและเนื้อออก นำน้ำส้มที่ได้มาเติมน้ำผึ้งและเกลือเพื่อปรับรสชาติตามชอบ

7. น้ำองุ่น  

มีรสชาติหวาน เปรี้ยวเล็กน้อย ทำให้รู้สึกสดชื่น ช่วยดับกระหาย บำรุงร่างกาย เป็นน้ำผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินซี วิตามินบี วิตามินเอ มีสารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด  

วิธีทำ นำองุ่นประมาณ 500 กรัมมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปปั่นหรือขยำเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เติมเกลือและน้ำมะนาวเพื่อเพิ่มรสชาติ

8. น้ำมะขามป้อม 

เป็นน้ำผลไม้ที่มีสรรพคุณมาก อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ที่สำคัญคือมีวิตามินซีสูงมาก วิตามินซีที่ได้จากมะขามป้อม 1 ผล จะมีปริมาณเทียบเท่ากับส้ม 1-2 ผล ซึ่งสารประกอบในมะขามป้อมนี้จะช่วยต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันหวัด บำรุงโลหิต บำรุงร่างกาย และน้ำจากมะขามป้อมจะมีรสเปรี้ยวฝาด ที่จะช่วยให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการเจ็บคอ ไอ ช่วยละลายเสมหะ ดับกระหาย และยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยแก้อาการท้องผูก  

วิธีทำ นำมะขามป้อม 1 กิโลกรัมมาล้างให้สะอาด ฝานเอาเนื้อมาปั่น เติมน้ำ 500 มิลลิลิตร จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง เพิ่มรสชาติด้วยการเติมน้ำผึ้งและเกลือ

สูตรน้ำปานะทั้ง 8 สูตรมีวัตถุดิบจากพืชและผลไม้ที่หาได้ทั่วไป มีคุณประโยชน์มาก เหมาะแก่การนำไปถวายให้พระสงฆ์ฉันได้โดยไม่ผิดพระวินัย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้การเลือกวัตถุดิบคือการล้างให้สะอาดก่อนนำไปผ่านกระบวนการปรุง เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสารเคมีที่ตกค้าง และไม่ควรเติมสารให้ความหวาน เช่น น้ำตาล น้ำเชื่อม ปริมาณมากเกินไป หากต้องการให้มีรสหวานจริงๆ อาจเลือกใช้สารให้ความหวานทดแทน เช่น น้ำผึ้ง หญ้าหวาน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากผลไม้ โดยไม่เสี่ยงให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, anthocyanin / แอนโทไซยานิน (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1103/anthocyanin)
ภญ. ดร.นิศารัตน์, อาหารหลากสี มีประโยชน์หลากหลาย (ตอนที่ 3) สารเคมีที่มีประโยชน์จากผักผลไม้สีม่วงและน้ำเงิน (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/152)
เทคโนโลยีชาวบ้าน, ลูกหว้า น้ำปานะ ในสมัยพุทธกาล (https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_37250)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)