กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ว นวัตกรรมเสริมความมั่นใจให้ผู้ชาย

ใครกำลังประสบปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน คิ้วบาง หนวดเคราน้อย นวัตกรรมการปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้วช่วยได้
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 7 ธ.ค. 2022 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ว นวัตกรรมเสริมความมั่นใจให้ผู้ชาย

ปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน คิ้วบาง หนวดเครามีน้อย นับเป็นปัญหาหนักอกหนักใจที่ทำให้ผู้ชายหลายๆ คนสูญเสียความมั่นใจ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ ด้วยนวัตกรรมการปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ว ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เสริมความมั่นใจและบุคลิกภาพที่ดีให้คุณ

ปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน เกิดจากอะไร?

ปัญหาผมบาง ศีรษะล้านนับเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งผู้ชายและผู้หญิงหลายๆ คน แต่ผู้ชายนั้นจะมีรูปแบบศีรษะล้านที่ชัดเจนกว่าผู้หญิง เช่น ศีรษะล้านเว้าเข้าไปบริเวณมุมทั้งสองข้างด้านหน้า ขณะที่ผู้หญิงจะมีลักษณะผมบางด้านบนมากกว่าทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนนัก โดยปัญหานี้ไม่ได้เกิดแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เกิดได้กับทุกวัย บางรายอายุเพียง 20 ต้นๆ ก็เริ่มประสบปัญหานี้แล้ว ทั้งนี้สาเหตุสำคัญของปัญหาศีรษะล้านพบว่า 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปลูกผม รักษาผมร่วงวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 484 บาท ลดสูงสุด 89%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • กว่า 90% เกิดจากกรรมพันธุ์ หากพ่อหรือแม่มีปัญหาศีรษะล้าน ลูกก็มีแนวโน้มจะประสบปัญหาศีรษะล้านเช่นกัน
  • เกิดจากฮอร์โมน ตามปกติร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย แต่เมื่อฮอร์โมนดังกล่าวไปจับกับเอนไซม์ 5-Alpha reductase ซึ่งพบตามผิวหนังบริเวณศีรษะ ฮอร์โมนจะแปรเปลี่ยนเป็น ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone หรือ DHT) ซึ่ง DHT จะเข้าไปยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นผมที่ต่อมรากผม ส่งผลให้เส้นผมที่เกิดขึ้นใหม่มีขนาดเล็ก ไม่แข็งแรง หลุดร่วงได้ง่าย และทำให้ต่อมรากผมหยุดสร้างเส้นผมด้วย 
  • เกิดจากโรคหรือภาวะต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรค SLE ไทรอยด์เป็นพิษ ขาดสารอาหาร บาดแผลจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือการติดเชื้อราบริเวณรากผม

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเร่งที่ทำให้ผมบางหรือศีรษะล้านเร็วขึ้นอีกด้วย นั่นคือการสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่หนังศีรษะด้วย

ปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ว คืออะไร มีกี่รูปแบบ?

ปัญหาผมบาง ศีรษะล้านนั้นเป็นปัญหาหลักที่คนส่วนใหญ่นิยมมาปรึกษาแพทย์ (ส่วนปัญหาหนวดเคราบาง คิ้วบางนั้นเป็นปัญหาที่พบค่อนข้างน้อย แต่กระบวนการรักษาก็คล้ายคลึงกัน) โดยแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติผู้ที่เข้ามารับการรักษาทุกราย เพื่อประเมินก่อนว่าปัญหาศีรษะล้านเกิดจากอะไร ถ้าประเมินแล้วพบว่าศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์ แพทย์จะไม่ทำการรักษาด้วยการปลูกผมในทันที แต่จะเริ่มจากการใช้ยาลดระดับฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ แต่พบเพียง 0.7-1.0% เท่านั้น

ทั้งนี้ ในผู้ที่มีแนวโน้มศีรษะล้าน สามารถรับประทานยาป้องกันไว้ก่อนได้ ยิ่งถ้าเริ่มรักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดี แต่ต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต เพราะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมาพบแพทย์ในช่วงที่ผมบางลงมากจนศีรษะเริ่มล้านแล้ว แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยวิธีการปลูกผม

การปลูกผม เป็นหนึ่งในการศัลยกรรมผิวหนังที่ช่วยแก้ปัญหาศีรษะล้านได้อย่างตรงจุดและเห็นผลชัดเจน โดยการปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ว มี 2 รูปแบบหลักๆ 

  • การปลูกผมแบบตัดหนังศีรษะ FUT (Follicular unit transplantation) เป็นวิธีการปลูกผมโดยการตัดหนังศีรษะบริเวณที่มีผมดกหนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณท้ายทอยออกมา จากนั้นจะตัดหนังศีรษะที่ได้เป็นกอเล็กๆ เรียกว่า “กราฟต์ (Graft)” ในหนึ่งกราฟต์จะมีเส้นผมประมาณ 1-3 เส้น แล้วนำกราฟต์เส้นผมไปปลูกบริเวณที่ต้องการ โดยใช้เข็มขนาดเล็กพิเศษเปิดหนังศีรษะแล้วใส่กราฟต์เส้นผมลงไปทีละจุดจนทั่วบริเวณที่ต้องการปลูกผม ข้อเสียของวิธีนี้คือจะมีแผลเป็นบริเวณจุดที่ถูกตัดหนังศีรษะออก
  • การปลูกผมแบบไม่ผ่าตัด FUE (Follicular unit extraction) เป็นวิธีการปลูกผมโดยตัดรากขนบริเวณที่มีผมดกหนาทีละกราฟต์ และใส่กราฟต์บริเวณที่ต้องการปลูกผมโดยตรง ทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดหนังศีรษะออกไปด้วย จึงไม่เกิดแผลผ่าตัด โดยวิธีนี้แบ่งออกเป็น 2 วิธีย่อยๆ คือ 
    • การปลูกผมโดยใช้รากผมปริมาณมาก (Slit grafts) โดยจะใช้รากผมประมาณ 4- 10 รากในแต่ละหลุม
    • การปลูกโดยใช้ปริมาณผมน้อย (Micro-Grafts) ใช้รากผมเพียง 1-2 รากต่อหลุมผมในแต่ละหลุม

ทั้งนี้วิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือการปลูกผมแบบ FUE เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้ผลดี ทั้งยังไม่มีแผลจากการผ่าตัดอีกด้วย โดยทั้งสองวิธีที่กล่าวมา นอกจากใช้ปลูกผมแล้ว ยังนำมาใช้ในการปลูกหนวด เครา และคิ้วได้ด้วย

ก่อนการปลูกผม ปลูกหนวดเครา ปลูกคิ้ว ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

ก่อนจะเข้ารับการปลูกผม ปลูกหนวดเครา ปลูกคิ้ว จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทำการรักษา โดยต้องเตรียมตัวดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยแพทย์จะซักประวัติ สอบถามเกี่ยวกับตรวจโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โดยจะต้องควบคุมโรคนั้นให้ได้ก่อน รวมทั้งตรวจว่าบริเวณที่จะทำหัตถการหรือบริเวณข้างเคียงต้องไม่มีสิว ฝี หนอง บาดแผลใดๆ เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อ
  • สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกผม ก่อนผ่าตัดแพทย์จะให้แชมพูสระผมสูตรเฉพาะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 1-2 วันเพื่อทำความสะอาดหนังศีรษะ ป้องกันการติดเชื้อ
  • งดอาหารหรือรับประทานอาหารอ่นๆ 4-6 ชั่วโมงก่อนการทำหัตถการ

หลังการปลูกผม ปลูกหนวดเครา ปลูกคิ้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร?

หลังจากปลูกผม ปลูกหนวดเครา ปลูกคิ้ว ควรปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญการรักษามีการกรีดผิวหนัง หากปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้ จึงควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • หลังปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ววันแรก ต้องนอนให้ศีรษะสูงเล็กน้อย เพื่อให้เลือดหรือน้ำเหลืองซึมน้อยลง
  • 1 วันหลังจากการปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ว ไม่ควรสระผมหรือให้แผลบริเวณที่ปลูกคิ้ว ปลูกหนวดสัมผัสน้ำ แต่ควรปล่อยให้เลือดแห้งไปเองโดยไม่ต้องทำแผล ที่สำคัญห้ามแกะและเกาเด็ดขาด สำหรับผู้ที่ปลูกผมแพทย์จะอนุญาตให้สระผมได้ในวันที่ 3 หลังการปลูกผม
  • ในระยะเริ่มแรกกราฟต์ที่ปลูกลงบนผิวหนังค่อนข้างบอบบางจึงควรหลีกเลี่ยงความร้อน สารเคมี การกระแทกหรือสัมผัสแรงๆ เพราะอาจทำให้กราฟต์หลุดได้ ควรรอให้กราฟต์ติดแน่นก่อนจึงจะสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์
  • หลังจากการปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้วอาจมีอาการบวมบริเวณใบหน้า หน้าผากหรือตาแต่จะหายเป็นปกติใน 1 สัปดาห์

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการปลูกผม ปลูกหนวดเครา ปลูกคิ้ว

ปลูกผม ปลูกหนวดเครา ปลูกคิ้ว ควรมีการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อจะได้ทราบว่าขั้นตอนการรักษาหรือผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ก่อนตัดสินใจทำ โดยสิ่งที่ควรรู้มีดังนี้

  • โดยทั่วไปการปลูกผมจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไปต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต้องการปลูกผมว่ามากน้อยแค่ไหน โดยเฉลี่ยจะต้องปลูกผมทั้งหมด 2-4 ครั้งจึงจะครอบคลุมเต็มพื้นที่
  • ประมาณ 2-3 สัปดาห์แรกหลังการปลูกผม ปลูกหนวดเครา ปลูกคิ้ว จะเริ่มสังเกตเห็นว่าเส้นผมหรือเส้นขนร่วง นับเป็นอาการปกติ โดยเส้นผมหรือเส้นขนใหม่ จะงอกขึ้นเองในภายหลัง ซึ่งประมาณ 60% ของผู้ที่เข้ารับการปลูกผมพบว่า เส้นผมใหม่จะใช้เวลางอกประมาณ 3 เดือน
  • หลังการปลูกผม บางคนอาจมีอาการชาบริเวณหนังศีรษะที่ได้รับการปลูกเส้นผมบ้าง ซึ่งเป็นอาการปกติ ที่จะหายเองในภายหลัง
  • สำหรับผู้ที่ปลูกหนวดเคราหรือปลูกคิ้ว เมื่อเส้นขนขึ้นจนเป็นปกติแล้วต้องหมั่นดูแลรักษา ตัดแต่งหนวดเคราและคิ้วมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคิ้ว เนื่องจากเป็นการปลูกถ่ายเส้นผมแทนที่ตำแหน่งขนคิ้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าเส้นผมก็จะยาวขึ้นเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ต่างจากขนคิ้วที่จะมีระยะการเจริญเติบโตจำกัด ดังนั้นจึงต้องหมั่นตัดแต่งขนคิ้วอย่างสม่ำเสมอด้วย

ค่าใช้จ่ายในการปลูกผม ปลูกหนวด ปลูกคิ้ว

โดยส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายในการปลูกผมจะคิดเป็นกราฟต์ กราฟต์ละ 80-100 บาท ขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิก แต่บางแห่งอาจคิดราคาเหมาจ่ายด้วย สำหรับการปลูกผมเริ่มต้นตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับปริมาณตำแหน่งที่ต้องการปลูกผม ขณะที่การปลูกหนวดเครา อยู่ที่ 80,000 บาทขึ้นไป  ส่วนการปลูกคิ้วอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป โดยสามารถสอบถามราคาที่แน่นอนได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีบริการปลูกผม ปลูกหนวดเครา หรือปลูกหนวด

เส้นผม หนวดเครา คิ้ว เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้ผู้ชายหลายๆ คน แต่ก่อนจะตัดสินใจใช้บริการที่ใดควรศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ ที่สำคัญควรเลือกใช้บริการจากโรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีความน่าเชื่อถือ และได้รับการรับรองมาตรฐานที่ชัดเจน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดรวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของร่างกายเรา

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปลูกผม เจาะลึกทุกขั้นตอน ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลูกผม
ปลูกผม FUE คืออะไร เจ็บมั้ย น่ากลัวรึเปล่า ตอบทุกคำถามโดยแพทย์เฉพาะทาง | HDmall
รีวิว ปลูกผมแบบ Hair stem micro transplant ที่ APEX Medical Center | HDmall
รีวิวปลูกผมด้วยเทคนิค FUE ที่ Grow & Glow Clinic | HDmall


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
American Society of Plastic Surgeons. Hair Transplant Surgical Hair Replacement. PlasticSurgery.org. Last updated in 2019 (https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/hair-transplant/recovery)
American Society of Plastic Surgeons. Hair Transplant Surgical Hair Replacement. PlasticSurgery.org. Last updated in 2019. (https://www.plasticsurgery.org/cosmetic-procedures/hair-transplant/recovery)
Kerure AS, Patwardhan N. Complications in Hair Transplantation. J Cutan Aesthet Surg. 2018;11(4):182-189. DOI;10.4103/JCAS.JCAS_125_18 (https://www.doi.org/10.4103/JCAS.JCAS_125_18)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)