ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เจียวกู่หลาน (Gynostemma)

รู้จักเจียวกู่หลาน สมุนไพรที่เชื่อกันว่าช่วยรักษาโรคร้าย เสริมภูมิคุ้มกัน มาดูงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ และข้อควรระวังในการดื่มชาเจียวกู่หลาน
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เจียวกู่หลาน (Gynostemma)

เจียวกู่หลาน หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ปัญจขันธ์ เป็นสมุนไพรดั้งเดิมที่ชาวจีนใช้กันมาช้านาน จนถูกขนานนามอีกชื่อว่า ซียันเช่า แปลตามภาษาจีนว่า สมุนไพรแห่งชีวิตอมตะ เนื่องด้วยสสรพคุณที่มากมายและยังถูกใช้เป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้เจียวกู่หลานมากลั่นเป็นชาในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ชาวญี่ปุ่นจึงเรียก เจียวกู่หลานว่า อมาชาซูรู ซึ่งมีความหมายว่า ชาหวานจากเถาไม้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น

ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก

ชื่อวงศ์ CUCURBITACEAE

ชื่ออังกฤษ Gynostemma, Penta Tea, Southern Ginseng

ชื่อท้องถิ่น เจียวกู่หลาน ชาสตูล เบญจขันธ์ ปัญจขันธ์ อมาชาซูรู

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเจียวกู่หลาน

เจียวกู่หลานเป็นไม้เถาล้มลุก อยู่ได้หลายปี ลำต้นหรือเถาเล็กเรียวยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร ที่ข้อมีขนบางๆ และมักมีรยางค์เป็นเส้นยาว ตอนปลายเส้นแยก 2 แฉก ลำต้นเลื้อยยาวแตกแขนง บริเวณข้อของลำต้นสามารถออกรากได้ ลำต้นมีลักษณะค่อนข้างอวบ สีขาวหรือน้ำตาลอ่อน ข้อของลำต้นส่วนที่อยู่ใต้ดินก็สามารถออกรากและแตกยอดใหม่เจริญเติบโตเป็นแขนงใต้ดินหรือแขนงโผล่เหนือดินได้ ใบของเจียวกู่หลานเป็นใบประกอบแบบฝ่ามือ ออกสลับ ส่วนมากมีใบย่อย 5 ใบ แต่บางครั้งอาจมี 3 หรือ 7 ใบ ก้านใบยาว 3-7 เซนติเมตร มักมีขนบางๆ อยู่เป็นแนวยาว ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี ใบย่อยตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยข้างๆ โดยทั่วไปกว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายและโคนแหลม ขอบหยักหรือเป็นคลื่นหรือเรียบ ด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านใต้ใบ มีขนสั้นอยู่ประปรายทั่วไป แต่จะมีขนอยู่มากตามเส้นใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 1-4 มิลลิเมตร ดอกแยกเพศและแยกต้น ออกเป็นช่อตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้ เป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โปร่ง ยาว 5-30 เซนติเมตร ช่องแขนงยาว 3-15 เซนติเมตร ดอกเล็กมาก สีเขียวอมเหลือง ก้านดอกสั้นมาก โคนก้านมีใบประดับเล็กๆ กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายรูปถ้วยปลายแยกเป็นแฉกปลายแหลม 5 แฉก เล็กมาก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร กลีบดอกโคนติดกันคล้ายหลอดสั้น ปลายแยกเป็นแฉกปลายแหลม 5 แฉก ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูติดกัน ช่อดอกเพศเมีย เป็นช่อสั้นๆ และมีดอกน้อยกว่าช่อดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายในดอกเพศผู้มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบภายในรังไข่มี 2-3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล (Ovul) 2 เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี 2-3 อัน ปลายก้านแยกแฉกสั้นๆ 2 แฉก ผลมีเนื้อ ค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมาก กว้าง 4-6 มิลลิเมตร อาจพบใหญ่ได้ถึง 9 มิลลิเมตร บริเวณใกล้ปลายผลมักมีรอยคล้ายเส้นรอบผล ผลสุกสีดำ มีเมล็ดเล็กมาก 1-3 เมล็ด ผิวเมล็ดขรุขระ

สรรพคุณของเจียวกู่หลาน

เจี่ยวกู่หลาน ส่วนที่นำมาทำยาจะใช้ทั้งต้นและราก มีรสขม เป็นยาเย็นใช้เป็นยาขับพิษ แก้พิษอักเสบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ เป็นยารักษาหลอดลมอักเสบ ตับอักเสบ กรวยไตอักเสบ กระเพาะและลำไส้อักเสบ แก้ความดันโลหิต ลดคอเรสเตอรอล เป็นอายุวัฒนะ วิธีรับประทานเจียวกู่หลานคือ นำทั้งต้นมาล้างน้ำสะอาด แล้วอบให้แห้ง จากนั้นบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 3 กรัม หรือเข้าตำรับร่วมกับตัวยาอื่นๆ ดังนี้

  • กรณีใช้เป็น ยาขับพิษ แก้พิษอักเสบ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ สามารถเข้าตำรับร่วมกับ รางจืด หญ้านาง ตะไคร้ เป็นต้น
  • กรณีใช้เป็น ยาแก้ไอ ขับเสมหะ รักษาหลอดลมอักเสบ สามารถเข้าตำรับร่วมกับ สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม เป็นต้น
  • กรณีใช้เป็น ตับอักเสบ กรวยไตอักเสบ กระเพาะและลำไส้อักเสบ แก้ความดันโลหิต ลดคอเรสเตอรอล สามารถเข้าตำรับร่วมกับ กระเจี๊ยบ เป็นต้น
  • กรณีใช้เป็น ยาอายุวัฒนะ สามารถเข้าตำรับร่วมกับ กระชาย โสมจีน พริกไทยดำ เป็นต้น

เจียวกู่หลานกับงานวิจัยที่น่าสนใจ

งานวิจัยเกี่ยวกับเจียวกู่หลานมีหลายระดับ ดังนี้

  • การศึกษาระดับหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดเข้มข้นจากเจียวกู่หลานยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งในระดับคลินิก
  • ในอาสาสมัครสุขภาพดีที่สูงอายุ รับประทานน้ำต้มจากใบเจียวกู่หลาน พบว่าทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น เช่น ความจำดี ปวดเมื่อยลดลง นอนหลับสนิทมากขึ้น สอดคล้องกับสรรพคุณที่ใช้เจียวกู่หลานเป็นสมุนไพรอายุวัฒนะ
  • ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและมีโรคหัวใจ รับประทานน้ำต้มจากใบเจียวกู่หลาน พบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อห้ามและข้อควรระวังเกี่ยวกับการบริโภคเจียวกู่หลาน

แม้จะมีข้อมูลรายงานการวิจัยว่าเจียวกู่หลานรักษาโรคความดันโลหิตได้จริง แต่การศึกษาในคนยังมีจำนวนไม่มาก จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานเจียวกู่หลานร่วมกับยาลดความดันที่แพทย์แผนปัจจุบันสั่งจ่าย ควรเฝ้าระวังไม่ให้ความดันโลหิตลดต่ำกว่า 90/60 mmHg ดังนั้นจึงควรรับประทานเจียวกู่หลานเป็นอาหารเสริม หรือน้ำชาเพื่อสุขภาพมากกว่ารับประทานเป็นยา และไม่ควรใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ทางที่ดีควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ใช้สมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ปัญจขันธ์ Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino. 2548
วิทยา บุญวรพัฒน์, หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย, 2554.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป