ผักขี้หูด (French radis)

ผักขี้หูด ผักหน้าตาตะปุ่มตะป่ำรสเผ็ดฉุนคล้ายมัสตาร์ดซึ่งอุดมด้วยสรรพคุณทางยา
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ผักขี้หูด (French radis)

ผักขี้หูด มีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายหูดที่ขึ้นตามผิวหนัง มียอดและฝักสดที่มีรสเผ็ดและฉุนเล็กน้อยคล้ายมัสตาร์ด แต่ถ้าสุกแล้วจะมีรสออกหวานนิดๆ ชาวบ้านจึงนิยมนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ผักขี้หูดยังมีสรรพคุณทางยามากมายอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์    Raphanus sativus L.

ชื่อวงศ์                  CRUCIFERAE (BRASSICACEAE) 

ชื่ออังกฤษ            French radis, English radish, Chinese radish, Japanese radish, oriental radish

ชื่อท้องถิ่น           ไช่เท้า ไช่โป๊ ผักกาดจีน ผักกาดหัว ผักเปิ๊กหัว มะปึ้ก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักขี้หูด

ผักขี้หูดเป็นไม้ล้มลุกอายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง มีขนหนาแน่น สูง 20-100 เซนติเมตร รากเป็นหัวสะสมอาหาร รูปทรงกระบอกเรียวยาว สีขาวถึงแดง อาจมีสีเทาถึงดำ เนื้อสีขาวหรือแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบที่โคนต้นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมไข่ถึงรูปพิณ ขอบใบหยักแบบขนนก แยกเป็นพูรูปกลมหรือรูปไข่ยาว 5-30 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-5.5 เซนติเมตร ใบที่ปลายยอดรูปใบหอกแกมรูปช้อน ขอบใบหยักซี่ฟัน ดอกช่อจะออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยจำนวนมากสีขาวถึงม่วงอ่อน มีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปขอบขนาน แกมรูปแถบ ยาว 6-10 มิลลิเมตร กลีบดอก 4 กลีบ รูปช้อน มีก้านกลีบ ยาว 1-2 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 6 อัน ยาวสี่สั้นสอง ผลรูปกระบอก กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร ไม่แตก เมล็ดรูปไข่แกมทรงกลม สีเหลือง เส้นผ่านศูนย์ประมาณ 3 มิลลิเมตร

คุณค่าทางโภชนาการของผักขี้หูด

ผักขี้หูด 100 กรัม ให้พลังงาน 30 แคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

สรรพคุณของผักขี้หูด

ส่วนต่างๆ ของผักขี้หูดมีสรรพคุณน่าสนใจดังนี้

  • แพทย์พื้นบ้านล้านนา ใช้เมล็ดผสมกับน้ำมันงาอุ่นๆ ทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น แก้เคล็ดขัดยอก
  • แพทย์พื้นบ้านล้านนา ใช้ส่วนราก 1 หัว ผสมกับแตงกวา 2 ผล ตำรวมกันแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ดื่มเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนจากความดันโลหิตสูง
  • ตามตำรายาไทย ใช้ส่วนเมล็ด ฝักและใบรับประทานสดๆ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย สมานลำไส้ ขับลมในลำไส้ และใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ หากทนกลิ่นฉุนไม่ไหว ให้นำไปลวกให้สุกเพื่อให้กลิ่นฉุนน้อยลง
  • นิยมนำผักขี้หูดไปตำให้แหลก เพื่อให้มีกลิ่นฉุนมากขึ้น แล้วสูดดมเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูกจากไข้หวัด
  • ตามตำรายาไทย ใช้ส่วนรากปรุงเข้าตำรับยาแก้ตกเลือดในสตรีหลังคลอด และตำรับแก้อาเจียนเป็นเลือด โดยใช้ส่วนรากต้มในน้ำเดือดรวมกับผักแพวแดง รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน
  • ส่วนดอก มีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับน้ำดี และช่วยละลายนิ่ว ในถุงน้ำดี โดยใช้ส่วนดอก 10-30 กรัม ต้มในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง

การนำผักขี้หูดมาปรุงอาหาร           

ผักขี้หูดจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย แต่เมื่อทำให้สุกจะมีรสหวานมัน ชาวล้านนามักนำฝักผักขี้หูดมาทำเป็นแกงใส่เนื้อสัตว์ เช่น เกงปลา แกงกบ หรือกินสดจิ้มน้ำพริก เป็นต้น 

หากนำผักขี้หูดใส่ในแกงต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของพริกด้วย อาจทำให้ความเผ็ดของพริกลดลง ดังนั้น หากชอบรับประทานเผ็ด อาจจะต้องเพิ่มจำนวนเม็ดพริกลงไปอีก 

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานผักขี้หูด

ผักขี้หูดเป็นผักพื้นบ้านที่สามารถรับประทานได้เป็นประจำ แต่ไม่ควรรับประทานเฉพาะผักขี้หูดติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และอาจได้รับพิษตกค้างจากผัก


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
รัตนา พรหมพิชัย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ, 2548.
มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชน, 2538.
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ผักพื้นบ้าน, 2540.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)