รู้ก่อนกิน! สีสันของอาหาร ส่งผลต่อความอยากอาหาร

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
รู้ก่อนกิน! สีสันของอาหาร ส่งผลต่อความอยากอาหาร

เรื่องกฎของสีที่เราเรียนตั้งแต่ชั้นประถมนั้น ไม่ได้มีไว้ใช้แค่กับการงานศิลปะหรือการออกแบบเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้โดยผู้ประกอบการทั้งหลายในการใช้สีเพื่อให้มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งความอยากอาหารของเราในชีวิตประจำวันด้วย

สีที่กระตุ้นความอยากอาหาร

หากคุณรู้สึกว่าบ่อยครั้งที่อาหารตรงหน้านั้น กระตุ้นต่อมน้ำลายเสียเหลือเกิน มองทีไรก็รู้สึกว่าน่ากินมาก ทั้งๆที่ไม่ได้รู้สึกหิวเลย นั่นแสดงว่าสมองของคุณอาจกำลังถูกครอบงำและดึงดูดให้มีความอยากอาหารโดยสีสันรอบๆตัวเหล่านี้

สีแดง

บางทฤษฎีกล่าวว่าสีแดงนั้นแสดงถึงความอันตราย ป้ายเตือนต่างๆก็มักใช้สีแดงเป็นสีหลัก ทำให้สมองเข้าใจว่าอาหารที่อยู่ตรงหน้านั้นไม่ปลอดภัยและไม่น่ารับประทาน

อย่างไรก็ตาม ผลการสรุปจากงานวิจัยหลายๆชิ้นเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสีและความอยากอาหารชี้ให้เห็นว่าสีแดงนั้นกระตุ้นความอยากอาหารได้จริงๆ เพราะทำให้สมองเข้าใจว่าอาหารมีรสชาติที่แน่นลิ้น เช่น ไก่ทอดที่มีผงปาปริก้าสีแดงส้มโรยอยู่นั้นดูน่ากินกว่าไก่ทอดสีซีด อีกทั้งยังสังเกตโลโก้ของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายที่มีสีแดง รวมไปถึงสีของเฟอร์นิเจอร์ แผ่นเมนูอาหาร แพ็คเกจอาหาร และของตกแต่งร้านอื่นๆก็มีสีแดงเป็นสีหลักด้วย

สีเหลือง

สีเหลืองนั้นมักใช้ในการสื่อถึงความสุขและความสดใส ลองเปรียบเทียบชีสชนิดที่มีสีเหลืองเข้มกับชีสชนิดที่มีสีอ่อนกว่าหรือสีขาว ไข่แดงกับไข่ขาว หรือแผ่นมันฝรั่งทอดกรอบสีเหลืองเข้มกับสีแผ่นสีซีด อาหารที่มีสีเหลืองเข้มนั้นน่ารับประทานกว่ามาก นี่จึงเป็นที่มาของดอกไม้สีเหลืองบนโต๊ะของร้านอาหารนั่นเอง

สีเขียว

อาหารที่มีสีเขียวทำให้เรารู้สึกว่าได้มาจากธรรมชาติ อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น และปลอดสารพิษ สีเขียวจึงเป็นอีกหนึ่งสีที่ทำให้เราคิดว่าอาหารน่ารับประทาน

สีที่ลดความอยากอาหาร

หากคุณกำลังควบคุมพฤติกรรมตามใจปากอยู่ ลองมองหาวัตถุที่มีสีสันเหล่านี้ไว้ใกล้ๆตัวเพื่อเป็นตัวช่วยในการลดความอยากอาหาร

สีน้ำเงิน สีม่วง

ทั้งสีน้ำเงินและสีม่วงที่มีความเข้มมากสามารถลดความอยากอาหารได้ เพราะอาหารที่มีสีน้ำเงินหรือม่วงโดยธรรมชาตินั้นพบได้น้อยมาก นอกเสียจากผักและผลไม้บางชนิดเท่านั้น เช่น ผลไม้ในตระกูลเบอรี่บางชนิด มะเขือม่วง เผือก และดอกอัญชัญ เมื่อเรามองดูอาหารที่มีสีสันเหล่านี้จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าไม่สมจริงเสียเท่าไหร่ ลองนึกถึงครั้งแรกที่คุณเห็นเส้นพาสต้าสีดำ เชื่อว่าหลายคนถึงกับต้องอุทานว่า “กินได้หรอ?” ซึ่งอิทธิพลของสีกลุ่มนี้นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อบรรพบุรุษของเราเข้าไปหาอาหารในป่าและพบพืชผักที่มีสีคล้ำแล้วก็มักจะไม่เข้าใกล้เลยทีเดียว เพราะเข้าใจว่าสกปรกหรือมีพิษ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ช่วยอธิบายพฤติกรรมตามธรรมชาติของเราในทุกวันนี้ได้

สีชมพู

สีชมพูนั้นเป็นสีที่สดใสก็จริง แต่อาหารที่มีสีชมพูโดยธรรมชาตินั้นแทบจะไม่มีเลย นอกเสียจากเนื้อสัตว์ดิบ สีชมพูจึงลดความอยากอาหารได้ในระดับหนึ่ง หลายคนถึงกับมีอาการเวียนหัวหรือคลื่นไส้เมื่อต้องรับประทานอาหารในสถานที่ที่มีสีชมพูเต็มไปหมด การเพิ่มแสงสีชมพูในบริเวณห้องรับประทานจะสามารถลดความรู้สึกอยากอาหารได้

สีเทา

สีที่ช่วยลดความอยากอาหารได้ดีที่สุดคือสีเทา ซึ่งมีผลทำให้ความรู้สึกของเราหม่นหมองลงได้ไม่มากก็น้อยและทำให้ไม่รู้สึกอยากอาหารนัก สำหรับผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก การใช้จานใส่อาหารสีเทาสามารถช่วยเตือนพฤติกรรมการทานอาหารได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How Color Affects Appetite in Marketing - Color Psychology. Color Psychology. (https://www.colorpsychology.org/color-appetite/)
Colour and Your Appetite. Food Services at University of Toronto. (https://ueat.utoronto.ca/colour-and-your-appetite/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป