ทีมแพทย์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ลูกน้อยหน้าเป็นผื่น อาการเบื้องต้นของหลายโรคที่ไม่ควรมองข้าม

รู้จัก 7 โรคที่อาการแสดงเริ่มต้นคือ หน้าเป็นผื่น ซึ่งมีระดับความอันตรายตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 31 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ลูกน้อยหน้าเป็นผื่น อาการเบื้องต้นของหลายโรคที่ไม่ควรมองข้าม

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยประสบกับปัญหาลูกมีผื่นขึ้น โดยเฉพาะผื่นสากที่มีสีเดียวกับผิวหนัง หรือเป็นผื่นแดง ยิ่งไปกว่านั้นหากผื่นดังกล่าวขึ้นบริเวณแก้ม อาจยิ่งทำให้กังวลมากขึ้น มาดูกันว่าผื่นที่ว่าสามารถเกิดจากอะไรได้บ้าง มีความอันตรายร้ายแรงแค่ไหน อย่างไร

ผื่นสากบนใบหน้าของเด็กเล็กอาจเป็นได้ทั้งผื่นสีเดียวกับผิวหนังและผื่นแดง ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น โดยโรคที่สามารถพบได้มีตั้งแต่ผื่นแพ้ต่างๆ ผื่นที่เกิดจากการระคายเคือง การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ผดร้อน ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้ต่อมไขมัน ภาวะผิวแห้ง ภาวะแพ้นมวัวหรือแพ้อาหาร หรือแม้แต่สิวในเด็กเล็ก และโรคอื่นๆ อีกมากมาย โดยลักษณะของผื่นในแต่ละโรคมีทั้งส่วนที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน บางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบถึงการวินิจฉัยที่ถูกต้อง บางครั้งต้องอาศัยการติดตามอาการเนื่องจากอาการของโรคยังไม่ชัดเจน ดังนั้นหากมีผื่นขึ้นจึงไม่ควรซื้อยาทาเอง ควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่ชัดและได้รับการรักษาที่เหมาะสม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงภาวะหรือโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กเท่านั้น ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1. ผื่นแพ้ที่เกิดจากการระคายเคือง

ผื่นแพ้ที่เกิดจากการระคายเคือง หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Irritant contact dermatitis เป็นผื่นที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในทารก ส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นน้ำลายในเด็กเล็ก และมีการป้ายน้ำลายบริเวณแก้มทั้งสองข้างโดยไม่มีการเช็ดออก เนื่องจากน้ำลายมีส่วนประกอบของน้ำย่อย (Enzymes) และสารก่อความระคายเคือง (Irritants) ต่อผิวหนัง สามารถทำให้สารให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (Natural moisturizing factors) และเกราะป้องกันผิวหนัง (Skin barrier) เสื่อมสลายไปจนเกิดการทำลายผิวหนังในส่วนที่อยู่ลึกลงไป

ในระยะแรกของผื่นแพ้ที่เกิดจากการระคายเคือง มักมีลักษณะเป็นผื่นตุ่มแดง และรวมกันเป็นผืนใหญ่ขึ้น อาจมีน้ำเหลืองแฉะบริเวณผื่น มีอาการคัน หากผิวหนังยังได้รับการระคายเคืองต่อไปเรื่อยๆ ผื่นจะเริ่มมีขุยและลุกลามมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผิวหนังบริเวณที่ระคายเคืองจะพยายามปรับตัวป้องกันตนเองจากสารก่อความระคายเคืองโดยสร้างผิวหนังบริเวณดังกล่าวให้หนาขึ้น แต่ก็ยังสามารถเห็นแผลถลอกและแผลเลือดออกจากการเกาและการระคายเคืองที่ยังคงมีต่อเนื่องอยู่

วิธีการรักษาผื่นแพ้ที่เกิดจากการระคายเคืองเบื้องต้น สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อความระคายเคือง เช่น การทำความสะอาดน้ำลายด้วยวิธีการซับ โดยต้องซับด้วยผ้าแห้งสะอาด ตามด้วยผ้าเปียกที่ชุบน้ำสะอาดเพื่อทำความสะอาดคราบน้ำลายที่หลงเหลืออยู่ และซับตามด้วยผ้าแห้งอีกครั้ง ไม่ควรใช้การถูหรือใช้สบู่เพราะจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีการระคายเคืองถลอกมากยิ่งขึ้น ไม่ควรใช้กระดาษชำระแบบเปียกในการทำความสะอาดเนื่องจากมีส่วนผสมของสารทำความสะอาดทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย หลังจากทำความสะอาดคราบน้ำลายแล้วควรลงสารเคลือบผิวทันทีเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวที่ถูกทำลายและเป็นเกราะป้องกันสารระคายเคืองจากน้ำลายหากมีการเปื้อนในครั้งใหม่

2. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือที่รู้จักกันดีในชื่ออะโทปิก เดอร์มาไททิส (Atopic dermatitis) ผื่นชนิดนี้มักพบบริเวณแก้มในเด็กเล็ก บางครั้งแยกค่อนข้างยากจากผื่นแพ้ที่เกิดจากการระคายเคือง ผื่นมักเริ่มต้นด้วยตุ่มแดง ขยายขนาดขึ้น มีน้ำเหลืองไหลได้ ระยะต่อมาผื่นแห้งลงและกลายเป็นขุย เมื่อผิวหนังเริ่มปรับตัวจะเริ่มหนาขึ้นและอาจมีรอยถลอกจากการเกา ในเด็กเล็กอาจพบผื่นลักษณะเดียวกันตามข้อศอกและข้อเข่า โดยจะพบมากในวัยที่เด็กเริ่มคลาน ผู้ป่วยอาจมีประวัติผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในครอบครัวร่วมด้วย

ผื่นชนิดนี้มักเป็นๆ หายๆ มักเป็นมากในช่วงอากาศหนาว มีการติดเชื้อ หรือได้รับการระคายเคือง เป็นต้น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอาจเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับการแพ้โปรตีนจากนมวัวหรือการแพ้อาหารก็ได้ การวินิจฉัยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และสามารถหายจากโรคได้

3. ผื่นแพ้ต่อมไขมันในเด็กเล็ก

ผื่นแพ้ต่อมไขม้น หรือที่เรียกว่า Seborrheic dermatitis หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าเซบเดิร์ม (Seb derm) ภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นในเด็กได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากองค์ประกอบของไขมันบริเวณผิวหนังที่ถูกสร้างจากต่อมไขมันยังสร้างได้ไม่เหมาะสม ทำให้มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดบริเวณผิวหนังได้ไม่ดีเท่าที่ควร จากความไม่สมดุลดังกล่าวทำให้ร่างกายตอบสนองและแสดงอาการออกมาเป็นผื่น โดยผื่นมักอยู่บริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันกระจายตัวอยู่มาก เช่น แก้ม หน้าผาก คิ้ว ลามลงมาที่แก้มสองข้าง หน้าอก หลัง และขาหนีบ เป็นต้น

ลักษณะของผื่นมักเป็นขุยหรือสะเก็ดหนาสีเหลืองๆ บางครั้งอาจพบตุ่มแดงร่วมด้วยได้ ภาวะดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น การรักษาเบื้องต้นสามารถใช้น้ำมันมะกอกเพื่อขจัดขุย และการดูแลผิวอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิวหนัง

4. ผื่นเชื้อราที่ผิวหนัง

ผื่นเชื้อราผิวหนังที่พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า เกิดจากเชื้อได้ 2 ชนิด คือ เชื้อ Candida เรียกโรคดังกล่าวว่า Cutaneous candidiasis และเชื้อกลาก ซึ่งเรียกว่าโรค Tinea faciei

โรค Cutaneous candidiasis นั้นมักมีลักษณะเป็นผื่นแดง มักเริ่มตามซอกต่างๆ ของร่างกาย หากเป็นบริเวณซอกคอ สามารถลามมายังใบหน้าได้ โดยมีลักษณะเป็นผื่นตุ่มแดงรวมตัวกันเป็นปื้น ดูค่อนข้างแฉะ มีผื่นลูกเล็กๆ ลักษณะเดียวกันที่ขอบของปื้นใหญ่

โรค Tinea faciei มีลักษณะของผื่นที่แตกต่างจาก Cutaneous candidiasis ผื่นมีลักษณะเป็นวง ที่ขอบของวงผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มแดงและมีขุย

ผื่นเชื้อราทั้งสองชนิดนี้ ในบางครั้งอาจต้องได้รับการตรวจย้อมยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการณ์เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ การรักษาสามารถทำได้โดยการใช้ยาทาฆ่าเชื้อราและการดูแลผิวที่ถูกวิธีเพื่อป้องกันความชื้น ไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์แม้ในช่วงต้นของการใช้ยาอาจทำให้ผื่นดูเหมือนดีขึ้น แต่ในที่สุดแล้วจะทำให้เชื้อลุกลามมากขึ้น ยากต่อการรักษามากขึ้น และหากยาซึมเข้าสู่กระแสเลือดในปริมาณที่มากเกินไปจะส่งผลต่อกระบวนการการทำงานของร่างกายในหลายระบบ

5. ผื่นผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

ผื่นผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมีหลายชนิด แต่ที่จะกล่าวถึงในที่คือโรค Impetigo ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลักๆ อยู่ 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus และ Group A streptococcus ผื่นของโรคในระยะแรกมักเริ่มเป็นจากตุ่มแดงรวมตัวใหญ่ขึ้นเป็นปื้นแดงหลายๆ ตำแหน่ง มักพบสะเก็ดน้ำเหลืองที่แห้งแล้วลักษณะสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้งอยู่บนผื่นแดง เชื้อบางชนิดสามารถทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำได้ที่เรียกว่าแผลพุพอง หากรักษาล่าช้าอาจทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่เนื้อเยื่ออ่อนในชั้นผิวหนังที่ลึกขึ้น หากรุนแรงมากอาจทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจนเกิดภาวะช็อกจากสารพิษที่เชื้อผลิตได้ การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากเป็นเพียงเล็กน้อยอาจใช้เพียงแค่ยาปฎิชีวนะชนิดทา แต่ถ้าการติดเชื้อลุกลามมีหลายตำแหน่ง หรือกินพื้นที่กว้างอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน

6. ผดร้อน

ผดร้อนหรือผื่นแพ้เหงื่อ (Miliaria) มีผื่นได้หลายลักษณะ ตั้งแต่ตุ่มน้ำใสตื้นขนาดเล็ก ตุ่มแดง และตุ่มหนอง มักพบในผิวหนังบริเวณที่มีต่อมเหงื่อกระจายตัวมาก เช่น หน้าผาก ศีรษะ คอ ข้อพับ บางครั้งสามารถพบที่ข้างหูได้ ผื่นดังกล่าวจะปรากฎมากขึ้นเมื่ออยู่ในอากาศร้อนหรือมีไข้ และจะยุบลงเมื่ออากาศเย็นหรืออาบน้ำ

7. ผื่นแพ้จากภาวะผิวแห้ง

ผื่นแพ้จากภาวะผิวแห้ง (Xerotic eczema) เป็นผื่นที่เกิดจากผิวที่แห้งเกินไปจนเกิดการอักเสบของผิวหนัง มักพบในเด็กที่อาบน้ำบ่อยเกินไป นานเกินไป หรือฟอกสบู่ไม่ถูกต้อง ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มสีเดียวกับผิวหนังหรือเป็นตุ่มแดง มีอาการคัน มักกระจายอยู่ทั่วตัว การอาบน้ำและการดูแลผิวที่ถูกวิธี รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวที่เหมาะสมสามารถลดอาการดังกล่าวได้

โดยสรุป ผื่นสากบนใบหน้าของเด็กเล็กสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและเป็นได้หลายโรค ขึ้นอยู่กับลักษณะและตำแหน่งของผื่น รวมถึงผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ ดังนั้นหากพบผื่นสากบนใบหน้าของเด็กเล็ก ควรพบแพทย์เพื่อความถูกต้องในการวินิจฉัยและการได้รับการรักษาที่ความเหมาะสมต่อไป


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Rayala BZ, Morrell DS. Common Skin Conditions in Children: Neonatal Skin Lesions. FP Essent. 2017;453:11-17.
Strathie Page S, Weston S, Loh R. Atopic dermatitis in children. Aust Fam Physician. 2016;45:293-296.
Chadha A, Jahnke M. Common Neonatal Rashes. Pediatr Ann. 2019;48:e16-e22.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)