กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับทารก

เผยแพร่ครั้งแรก 26 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 23 นาที
สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับทารก

เสื้อผ้าเด็ก

ทารกโตเร็วมาก สิ่งที่จำเป็นต้องเตรียมสำหรับช่วงสัปดาห์แรกๆ คือ เสื้อผ้าจำนวนประมาณหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายของทารกอบอุ่นและสะอาด

สิ่งที่คุณอาจจำเป็นต้องใช้มีดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • สเตรทช์สูท (Stretch Suits) 6 ตัวสำหรับทั้งกลางวันและกลางคืน หรือสเตรทช์สูท 4 ตัว และชุดนอน 2 ตัวสำหรับตอนกลางคืน หากอากาศหนาว คุณอาจให้ลูกใส่ถุงเท้าหรือรองเท้า
  • เสื้อคาร์ดิแกน 2 ตัว โดยทำจากผ้าวูลหรือผ้าฝ้ายแทนที่จะเป็นผ้าไนรอน และให้คุณเลือกผ้าที่เบา การใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาหลายๆ ชั้นจะช่วยให้ร่างกายของทารกอบอุ่น
  • เสื้อกั๊ก 4 ตัว
  • ผ้าคลุมไหล่หรือผ้าห่มสำหรับห่มให้ทารก
  • หมวกผ้าวูลหรือผ้าฝ้าย ถุงมือสำหรับเด็ก และถุงเท้าหรือรองเท้าสำหรับไปนอกบ้านเมื่ออากาศหนาว ทั้งนี้ให้คุณเลือกผ้าที่ถักกันแบบชิดแทนผ้าที่ถักหรือทอแบบหลวมเพื่อไม่ให้นิ้วเท้าของเด็กติดภายในช่องว่าง
  • หมวกสำหรับใส่ไปนอกบ้านในวันที่แดดแรง

การซักเสื้อผ้าของทารก

ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าการใช้ผงซักฟอกที่มีเอนไซม์ (ไบโอพาวเดอร์) หรือน้ำยาปรับผ้านุ่มจะทำให้ผิวของทารกระคายเคือง

เตียงนอน

ในช่วงเดือนแรกๆ คุณจำเป็นต้องเตรียมเตียงสำหรับเด็กชนิดที่มีแผงกั้น หรือที่เรียกว่า Cots รถเข็นเด็ก หรือตะกร้าสำหรับใส่ทารก ลูกของคุณจำเป็นต้องนอนบริเวณที่ปลอดภัย อุ่น และไม่ไกลจากคุณ อย่างไรก็ดี คุณไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนใน Baby nests เพียงลำพัง เพราะมันอาจทำให้เขาหายใจไม่ออก
หากคุณยืมหรือให้ลูกนอนบนเตียงสำหรับเด็กที่มีแผงกั้นของเด็กคนอื่น คุณควรซื้อฟูกนอนใหม่ หากคุณไม่สามารถทำเช่นนี้ ให้คุณใช้ฟูกนอนที่ติดมาพร้อมกับเตียงตราบใดที่มันแข็ง แบน เข้ากับเตียง สะอาด และกันน้ำได้

สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมี

  • ฟูกนอนแบบแข็งที่พอดีกับเตียงสำหรับเด็กชนิดที่มีแผงกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะของเด็กติดตรงช่องว่างและป้องกันไม่ให้เด็กหายใจไม่ออก
  • คุณจำเป็นต้องใช้ผ้าปูที่นอนอย่างน้อย 4 ผืน เพราะคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอนบ่อยครั้ง 
  • ผ้าห่มที่มีน้ำหนักเบาเพื่อมอบความอบอุ่น

หมอนและผ้านวม

คุณไม่ควรให้ทารกใช้หมอนหรือผ้านวม เพราะมันไม่ปลอดภัยสำหรับทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และเสี่ยงที่จะทำให้ทารกหายใจไม่ออก นอกจากนี้ผ้านวมยังทำให้ทารกรู้สึกร้อนอีกด้วย อย่างไรก็ดี การใช้ผ้าปูเตียงและผ้าห่มมากกว่าหนึ่งชั้นสอดข้างใต้ระดับของหัวไหล่อย่างแน่นหนา หรือการให้ทารกนอนในถุงนอนสำหรับทารกก็นับว่าปลอดภัย

ความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้เตียงนอนสำหรับเด็กชนิดที่มีแผงกั้น

  • ฟูกนอนต้องพอดีกับเตียงเพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะของเด็กติดอยู่ในช่องว่าง
  • ซี่ของแผงกั้นเตียงจะต้องเรียบ ติดตั้งอย่างแน่นหนา และระยะห่างระหว่างซี่ของแผงกั้นไม่ควรกว้างน้อยกว่า 25 มิลลิเมตร หรือ 1 นิ้ว และไม่มากกว่า 60 มิลลิเมตร หรือ 2.5 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะของเด็กติดอยู่ระหว่างแผงกั้นเตียง
  • เตียงควรแข็งแรง
  • ส่วนที่สามารถเลื่อนได้ควรทำงานได้อย่างราบรื่น และไม่ทำให้นิ้วหรือเสื้อติดอยู่ภายใน
  • เราไม่แนะนำให้คุณใช้ Cot Bumpers หรือกันชนสำหรับติดภายในเตียง เพราะมันสามารถทำให้ทารกตัวร้อนเกินไป หรือลำตัวติดในตัวยึด
  • อย่าวางสิ่งของใดๆ ก็ตามที่สามารถนำมาผูกได้ เช่น ผ้ากันเปื้อนของเด็กหรือเสื้อผ้าภายในเตียง เพราะมันอาจพันรอบคอของทารก
  • สถานที่ๆ ปลอดภัยที่สุดสำหรับการนอนของทารกคือ การนอนหงายหลังในเตียงสำหรับเด็กภายในห้องเดียวกับคุณในช่วง 6 เดือนแรก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การออกไปนอกบ้านกับทารก

ก่อนที่คุณจะซื้อรถเข็นเพื่อพาลูกออกไปนอกบ้าน ให้คุณคิดก่อนว่าสิ่งใดที่เหมาะกับคุณ และลองนำความคิดเห็นของคุณแม่คนอื่นๆ มาใช้ประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ก่อนที่คุณจะซื้อรถเข็นเด็กให้คุณตรวจสอบดังนี้

  • เบรกใช้งานได้
  • ด้ามจับอยู่ในตำแหน่งที่สูงเหมาะสำหรับการเข็น
  • โครงสร้างแข็งแรง

ผ้าสำหรับอุ้มเด็ก

ผ้าสำหรับอุ้มเด็ก หรือที่เรียกว่า Slings เป็นอุปกรณ์ที่โอบรัดตัวผู้ใช้ และทารกจะถูกอุ้มอยู่ทางด้านหน้าลำตัวของคุณ ซึ่งเด็กส่วนมากชอบที่จะถูกอุ้มในลักษณะนี้เพราะพวกเขาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคุณและรู้สึกอบอุ่น 
อย่างไรก็ดี ส่วนหลังของอุปกรณ์จำเป็นต้องสูงพอที่จะพยุงศีรษะของทารก นอกจากนี้ให้คุณตรวจสอบว่าส่วนที่ผูกกับลำตัวของคุณและสายรัดแข็งแรง
คุณสามารถอุ้มทารกโดยใช้ผ้าสำหรับอุ้มเด็กชนิดพาดหลังเมื่อทารกสามารถยกศีรษะและมีแผ่นหลังแข็งแรง หรือเมื่อมีอายุประมาณ 4 เดือน

รถเข็นเด็กทั่วไป (Pushchairs)

รถเข็นเด็กที่สามารถปรับที่นั่งให้เอนร่างกายจนสุดเพื่อให้เด็กนอนราบได้เหมาะสำหรับทารกที่อายุยังน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ดี ให้คุณรอจนกระทั่งทารกสามารถนั่งได้ด้วยตัวเองก่อนที่จะใช้รถเข็นเด็กชนิดอื่นๆ และให้คุณใช้รถเข็นเด็กที่มีน้ำหนักเบาหากคุณต้องยกรถเข็นขึ้นรถไฟหรือรถบัส

รถเข็นแบบนอนสำหรับทารก (Prams)

รถเข็นแบบนอนสำหรับทารกมีเนื้อที่เหลือเฟือให้เด็กนั่งและนอน แต่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากในการวาง และยากต่อการใช้บนระบบขนส่งสาธารณะ หากคุณมีรถ ให้คุณหาซื้อรถเข็นแบบนอนสำหรับทารกที่สามารถถอดแยกชิ้นส่วนได้อย่างง่ายดาย และให้คุณซื้อเข็มขัดสำหรับรัดตัวทารกพร้อมกัน 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

Carrycot

Carrycot เป็นเตียงของเด็กที่มีน้ำหนักเบาและคุณสามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงแต่เล็กกว่ารถเข็นแบบนอนสำหรับทารก (Prams) โดยทั่วไปแล้วเราสามารถนำ Carrycot มาติดกับโครงที่มีล้อได้ ลูกของคุณสามารถนอนใน Carrycot ช่วงเดือนแรกๆ 

รถเข็นเด็กแบบ 3 in 1

รถเข็นเด็กแบบ 3 in 1 เป็นทั้งเตียงนอนของเด็ก และเป็นรถเข็นแบบนอนที่สามารถเปลี่ยนเป็นรถเข็นแบบนั่งเมื่อทารกตัวโตเกินกว่าจะนอนในเตียง นอกจากนี้ยังมีชั้นสำหรับวางของที่ด้านล่างของรถเข็นหรือใต้เตียง ซึ่งมีประโยชน์มากเมื่อคุณต้องออกไปนอกบ้าน

คาร์ซีทสำหรับทารก

หากคุณมีรถยนต์ คุณต้องเตรียมคาร์ซีทสำหรับทารก เพราะการอุ้มทารกในอ้อมแขนเมื่อนั่งอยู่ในรถยนต์เป็นเรื่องที่อันตรายมาก อย่างไรก็ดี วิธีที่ช่วยให้ทารกปลอดภัยมากที่สุดก็คือ การวางคาร์ซีทให้หันหน้าเข้าหาเบาะรถยนต์ที่เบาะหลังหรือเบาะหน้าตราบใดที่มันไม่พอดีกับถุงลมนิรภัย ซึ่งคาร์ซีทจะถูกยึดโดยเข็มขัดนิรภัยของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี คำแนะนำดังนี้สามารถช่วยให้ลูกของคุณใช้คาร์ซีทได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

  • คุณควรตรวจสอบว่าคาร์ซีทพอดีกับเบาะนั่ง
  • การวางคาร์ซีทให้หันหน้าเข้าหาเบาะนั่งที่เบาะด้านหน้าเป็นเรื่องที่อันตรายมากหากรถของคุณมีถุงลมนิรภัย
  • ถ้าจะให้ดีคุณควรซื้อคาร์ซีทที่เป็นของมือหนึ่ง หากคุณวางแผนที่จะซื้อคาร์ซีทมือสอง คุณควรใช้ของที่มาจากสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวหรือเพื่อนเพื่อที่คุณจะได้มั่นใจว่ามันไม่เคยข้องเกี่ยวกับอุบัติเหตุ ทั้งนี้ให้คุณพยายามหลีกเลี่ยงการซื้อคาร์ซีทมือสอง

การล้างตัวและการอาบน้ำให้ทารก

คุณไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้ทารกทุกวัน คุณอาจล้างใบหน้า คอ แขน และก้นแทน ซึ่งการทำเช่นนี้มักเรียกว่า "Topping and Tailing" ทั้งนี้ให้คุณเลือกเวลาที่ลูกของคุณตื่นนอนและอารมณ์ดี นอกจากนี้ห้องจะต้องอบอุ่น และคุณต้องเตรียมทุุกสิ่งให้พร้อมก่อนอาบน้ำให้เขา สิ่งที่คุณจำเป็นต้องใช้คือ กะละมังที่ใส่น้ำอุ่น ผ้าขนหนู สำลี ผ้าอ้อมผืนใหม่ และเสื้อผ้าที่สะอาด

เคล็ดลับการทำความสะอาดร่างกายของเด็กเฉพาะบริเวณใบหน้าและก้น

  • อุ้มทารกไว้บนหัวเข่า หรือวางเขาบนเสื่อสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อม จากนั้นให้ถอดเสื้อผ้าและใช้ผ้าขนหนูห่อลำตัวของเด็ก
  • จุ่มสำลีลงในน้ำ และเช็ดรอบๆ ดวงตาอย่างอ่อนโยน โดยใช้ผ้าคนละผืนในการเช็ดบริเวณรอบดวงตาแต่ละข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากดวงตาข้างหนึ่งไปยังดวงตาอีกข้าง
  • ใช้สำลีอันใหม่ทำความสะอาดรอบๆ ใบหู แต่ไม่ต้องเช็ดด้านในรูหู
  • ห้ามใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาดภายในหูของทารก 
  • เช็ดใบหน้าส่วนอื่นๆ คอ และมือโดยใช้วิธีที่เรากล่าวไป และใช้ผ้าขนหนูเช็ดอย่างอ่อนโยนอีกรอบจนผิวแห้งดี
  • ถอดผ้าอ้อมและล้างก้นของทารกและจุดซ่อนเร้นโดยใช้สำลีและน้ำอุ่น จากนั้นให้คุณเช็ดตัวให้เด็กอย่างระมัดระวัง ซึ่งหมายความรวมถึงบริเวณรอยพับของผิว และใส่ผ้าอ้อมที่สะอาดให้เด็ก
  • การพูดคุยกับทารกในขณะที่คุณอาบน้ำให้เขาจะช่วยให้ทารกผ่อนคลาย ยิ่งเขาได้ยินเสียงของคุณมากเท่าไร เขาก็จะคุ้นชินกับการฟังคุณพูดมากเท่านั้น และเริ่มเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังพูด

วิธีอาบน้ำที่ปลอดภัยสำหรับทารก

  • ไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้ทารกทุกวัน แต่หากเขาชอบ คุณก็ไม่ควรปฏิเสธ
  • ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกทันทีหลังจากที่เขาทานข้าวหรือเมื่อเขาหิวหรือเหนื่อย นอกจากนี้คุณต้องมั่นใจว่าห้องที่คุณอาบน้ำให้เขามีอุณหภูมิที่อบอุ่น
  • เตรียมสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ให้พร้อม ตัวอย่างเช่น ครีมอาบน้ำเด็ก หรือกะละมังที่มีน้ำอุ่น ผ้าขนหนู 2 ผืน ผ้าอ้อมที่สะอาด เสื้อผ้า และสำลี
  • น้ำที่คุณใช้ควรจะมีอุณหภูมิที่อุ่นหรือไม่ร้อน คุณสามารถตรวจสอบโดยใช้ข้อมือหรือข้อศอก และผสมน้ำให้ทั่วเพื่อไม่ให้มีน้ำร้อนอยู่บางบริเวณของกะละมัง หลังจากนั้นให้คุณอุ้มทารกไว้บนหัวเข่าและล้างใบหน้าตามที่เรากล่าวไปข้างต้น และล้างผมของลูกด้วยน้ำเปล่า
  • เมื่อคุณเช็ดผมของลูกอย่างเบามือแล้ว คุณก็ค่อยถอดผ้าอ้อมและเช็ดสิ่งสกปรก
  • พาทารกไปนั่งในกะละมังหรืออ่างอาบน้ำโดยใช้มือข้างหนึ่งจับแขนช่วงบนและพยุงศีรษะและหัวไหล่
  • ไม่ใส่สบู่เหลวในอ่างอาบน้ำ ซึ่งน้ำเปล่าดีต่อผิวของทารกที่มีอายุ 1 เดือนมากที่สุด 
  • เช็ดน้ำบนศีรษะของทารก และใช้มืออีกข้างกวักน้ำใส่ตัวของทารกโดยไม่ให้น้ำกระเด็น
  • ห้ามปล่อยให้ทารกอยู่ในอ่างอาบน้ำเพียงลำพังเป็นอันขาด
  • อุ้มทารกและเช็ดตัวให้เขาจนแห้ง และอย่าลืมเช็ดรอยพับที่ผิว
  • ช่วงเวลาหลังอาบน้ำคือช่วงเวลาอันดีที่คุณจะได้นวดให้ทารก ซึ่งการนวดสามารถช่วยให้ทารกผ่อนคลายและนอนหลับ แต่ให้คุณหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหรือโลชั่นจนกระทั่งทารกมีอายุอย่างน้อยหนึ่งเดือน 
  • หากลูกของคุณกลัวการอาบน้ำและร้องไห้ ให้คุณพยายามอาบน้ำพร้อมกับลูก และระวังไม่ให้น้ำร้อนจนเกินไป 

การตัดเล็บให้ทารก

ทารกบางคนเกิดมามีเล็บยาว และคุณควรตัดเล็บให้ลูกหากเขาใช้เล็บเกาลำตัว คุณสามารถซื้ออุปกรณ์ตัดเล็บสำหรับทารก หรือกรรไกรตัดเล็บที่มีขนาดเล็กและปลายโค้งมน ถ้าคุณรู้สึกว่าการตัดเล็บให้ทารกทำให้คุณรู้สึกหวาดเสียว คุณสามารถลองใช้ตะไบเล็บแทน

การพาทารกเข้านอน

ทารกบางคนนอนมากกว่าคนอื่นๆ บ้างก็นอนติดต่อกันเป็นเวลานาน บ้างก็นอนเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ลูกของคุณจะมีรูปแบบการตื่นนอนและการนอนหลับเป็นของตัวเอง และมีแนวโน้มว่ามันจะไม่เหมือนกับทารกคนอื่นๆ ที่คุณรู้จัก และอาจไม่ใช่ช่วงเวลาเดียวกับเวลานอนของคุณ ทางที่ดีให้คุณพยายามนอนเมื่อลูกของคุณนอน
หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ลูกของคุณมีแนวโน้มที่จะงีบหลับไปโดยไม่รู้ตัวเป็นเวลาสั้นๆ ในระหว่างที่คุณให้ลูกกินนม ทั้งนี้ให้คุณป้อนนมจนกระทั่งคุณคิดว่าลูกกินนมแล้วเสร็จหรือจนกระทั่งเขานอนหลับสนิท ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้พักผ่อนสักครู่
ในกรณีที่คุณไม่นอนเวลาเดียวกับลูก คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการทำให้บ้านเงียบในระหว่างที่เขานอน การให้ทารกคุ้นเคยกับการนอนโดยมีเสียงรบกวนเล็กน้อยก็เป็นเรื่องที่ดี

ฉันสามารถทำให้ลูกคุ้นเคยกับกลางคืนและกลางวันได้อย่างไร?

การสอนลูกว่ากลางคืนแตกต่างจากกลางวันตั้งแต่ต้นถือเป็นความคิดที่ดี ในระหว่างวันคุณอาจเปิดผ้าม่าน และไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นเมื่อลูกนอน เมื่อถึงตอนกลางคืน คุณอาจ

  • หรี่ไฟให้มืดลง
  • ไม่พูดเยอะและพูดเบาๆ
  • วางลูกบนที่นอนทันทีที่เขากินนมหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมแล้วเสร็จ
  • ลูกของคุณจะค่อยๆ เรียนรู้ว่ากลางคืนเป็นช่วงเวลาสำหรับการนอนหลับ

ลูกของฉันควรนอนที่ใด?

สำหรับช่วง 6 เดือนแรก คุณควรให้ลูกนอนห้องเดียวกับคุณทั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกๆ คุณอาจพบว่าลูกจะนอนหลับก็ต่อเมื่อเขาอยู่ในวงแขนของคุณหรือคนรักของคุณเท่านั้น หรือเมื่อคุณยืนข้างๆ เตียงนอน
คุณสามารถฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการเข้านอนโดยที่คุณไม่ต้องมากล่อม ทั้งนี้ให้คุณวางเขาลงบนเตียงก่อนที่เขาจะนอนหลับ หรือเมื่อเขาเพิ่งกินนมเสร็จ ซึ่งเราอาจทำเช่นนี้ได้ง่ายขึ้นเมื่อทารกกระตือรือร้นบ่อยหรือนานขึ้น

การนอนของเด็กแรกเกิด

เด็กแรกเกิดจะหลับๆ ตื่นๆ ตลอดช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่งการมีรูปแบบการนอนที่แน่ชัดนับว่ามีประโยชน์ แต่คุณสามารถเปลี่ยนกิจวัตรเพื่อให้เหมาะกับความต้องการได้เสมอ ตัวอย่างเช่น คุณสามารถปลุกลูกเพื่อให้กินนมก่อนที่ตัวเองเข้านอน ซึ่งคุณจะได้นอนหลับยาวๆ ก่อนที่ลูกจะตื่นนอนอีกครั้ง

การกำหนดกิจวัตรก่อนนอนให้ทารก

คุณอาจพร้อมที่จะกำหนดกิจวัตรก่อนเข้านอนเมื่อลูกมีอายุประมาณ 3 เดือน ซึ่งการทำเช่นนี้สามารถมีประโยชน์ต่อทุกฝ่ายและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนในภายหลัง นอกจากนี้มันยังเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้มีเวลาอยู่กับลูก สำหรับกิจวัตรที่คุณสามารถทำได้ประกอบไปด้วย

  • การอาบน้ำให้ลูก
  • การเปลี่ยนชุดนอนและผ้าอ้อม
  • การแปรงฟัน
  • การพาลูกขึ้นเตียง
  • การอ่านนิทานก่อนนอน
  • การหรี่ไฟให้สลัวเพื่อให้บรรยากาศในห้องดูสงบ
  • การจูบและการกอดก่อนนอน
  • การร้องเพลง

ในขณะที่ลูกของคุณโตขึ้น การรักษากิจวัตรก่อนนอนให้คล้ายจากเดิมสามารถมีประโยชน์ แต่การทำให้ลูกตื่นเต้น และการกระตุ้นก่อนนอนสามารถทำให้ลูกของคุณตื่นอีกครั้ง ทั้งให้คุณหาเวลาผ่อนคลายและทำกิจกรรมที่สงบอย่างการอ่านหนังสือ

หลีกเลี่ยงการให้ลูกกินนมก่อนเข้านอน

คุณควรเว้นระยะเวลาระหว่างที่ลูกกินนมและเวลาเข้านอน หากคุณให้ลูกกินนมจนนอนหลับ ลูกก็จะคิดว่าการกินนมและการนอนมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเขาตื่นนอนตอนกลางคืน เขาก็จะต้องการกินนมเพื่อช่วยให้เขากลับไปนอนต่อ

ทารกจำเป็นต้องนอนมากเท่าใด?

รูปแบบการนอนของทารกและเด็กแตกต่างกัน ทารกบางคนจำเป็นต้องนอนมากหรือน้อยกว่าคนอื่นตั้งแต่เกิด สำหรับจำนวนชั่วโมงการนอนโดยเฉลี่ยของเด็กแต่ละช่วงวัยมีดังนี้

เด็กแรกเกิดจำเป็นต้องนอนกี่ชั่วโมง?

ทารกแรกเกิดส่วนมากนอนมากกว่าตื่นนอน จำนวนชั่วโมงการนอนของแต่ละวันก็จะแตกต่างกัน แต่ก็สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 8 ชั่วโมงไปจนถึง 16-18 ชั่วโมง ทารกจะตื่นนอนระหว่างคืนเพราะพวกเขาจำเป็นต้องกินนม อย่างไรก็ดี อากาศที่ร้อนหรือหนาวจนเกินไปสามารถรบกวนการนอนของทารก
ทารกที่มีอายุ 3-6 เดือนนอนกี่ชั่วโมง?
เมื่อทารกเติบโต พวกเขาจำเป็นต้องกินนมตอนกลางคืนน้อยลง และจะสามารถนอนได้นานขึ้น ทารกบางคนจะนอน 8 ชั่วโมงหรือนานกว่านี้ตอนกลางคืน เมื่อเขามีอายุ 4 เดือน เขาอาจใช้เวลานอนตอนกลางคืนเป็น 2 เท่าของเวลาที่ใช้นอนในระหว่างวัน

ทารกที่มีอายุ 6-12 เดือนนอนกี่ชั่วโมง?

สำหรับทารกที่มีอายุ 6 เดือน-1 ปี การให้ลูกกินนมตอนกลางคืนอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป และทารกบางคนจะนอนตอนกลางคืนมากถึง 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี การรู้สึกเจ็บฟันหรือหิวอาจทำให้ทารกบางคนตื่นนอนระหว่างคืน

ทารกที่มีอายุมากกว่า 12 เดือนนอนกี่ชั่วโมง?

ทารกจะนอนประมาณ 12-15 ชั่วโมงหลังจากมีอายุ 1 ปี

เด็กที่มีอายุ 2 ปีนอนกี่ชั่วโมง?

เด็กที่มีอายุ 2 ปีส่วนมากจะนอนประมาณ 11-12 ชั่วโมงต่อคืน และนอนงีบหลับระหว่างวัน 1-2 ครั้ง

เด็กที่มีอายุ 3-4 ปีนอนกี่ชั่วโมง?

เด็กที่มีอายุ 3-4 ปีส่วนมากจะนอนประมาณ 12 ชั่วโมง แต่สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 8-14 ชั่วโมง เด็กบางคนจะยังต้องการงีบระหว่างวัน

การรับมือกับทารกที่งอแงตอนกลางคืน

ทารกแรกเกิดมักจะตื่นขึ้นมาซ้ำ ๆ ในเวลากลางคืนช่วง 2-3 เดือนแรก และการรับมือกับอาการงอแงของลูกสามารถเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างไรก็ดี คุณอาจขอร้องให้คนรักช่วยเหลือ หากคุณให้ลูกกินนมผง คุณก็อาจให้คนรักช่วยป้อนนมลูก ในกรณีที่คุณให้ลูกกินนมจากเต้า คุณอาจให้คนรักช่วยเปลี่ยนผ้าอ้อมและแต่งตัวให้ลูกเพื่อที่คุณสามารถกลับไปนอนต่อ
เมื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นไปอย่างราบรื่น คนรักของคุณสามารถป้อนนมลูกในระหว่างคืนโดยใช้นมที่คุณปั๊มเก็บไว้ในขวด หากคุณอยู่เพียงลำพัง คุณอาจขอร้องให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องอยู่เป็นเพื่อน 3-4 วันเพื่อที่คุณจะได้มีเวลานอน

การรับมือกับปัญหาเกี่ยวกับการนอนของทารก

ทารกทุกคนเปลี่ยนรูปแบบการนอนของตัวเอง ตอนนี้คุณอาจคิดว่าตัวเองเข้าใจรูปแบบการนอนของทารกและนอนหลับอย่างมีความสุข แต่คืนถัดไปคุณอาจต้องตื่นนอนทุก 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี ให้คุณเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรเมื่อทารกเติบโตและเข้าสู่ระยะต่างๆ และให้คุณจำไว้ว่าช่วงที่ทารกเติบโตเร็ว การงอกของฟัน และการเจ็บป่วยล้วนส่งผลต่อการนอนของทารก
หากลูกของคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหรือคุณต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับการให้ลูกทำตามสิ่งต่างๆ เป็นกิจวัตร คุณอาจลองปรึกษาแพทย์

การปลอบทารกที่ร้องไห้

ทารกทุกคนร้องไห้ และบางคนร้องไห้มาก ทั้งนี้การร้องไห้เป็นหนทางที่ทารกใช้บอกว่าเขาต้องการให้คุณปลอบใจและดูแลเขา บางครั้งก็เป็นเรื่องง่ายที่เราสามารถรู้ว่าทารกต้องการอะไร แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนี้ สำหรับสาเหตุทั่วไปที่ทำให้ทารกร้องไห้ เช่น หิว ผ้าอ้อมเปื้อนหรือเปียก เหนื่อย ต้องการให้คนกอด ท้องอืด ร้อนหรือหนาวเกินไป เบื่อ ถูกกระตุ้นมากเกินไป ฯลฯ
อย่างไรก็ดี คุณอาจพบว่ามีบางช่วงเวลาของวันที่ทารกมีแนวโน้มที่จะร้องไห้มากเป็นพิเศษและเขาไม่หยุดร้องแม้ว่าคุณปลอบเขา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำ ซึ่งมันสามารถเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคุณ เพราะโดยทั่วไปแล้วช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่คุณรู้สึกเหนื่อยมากที่สุดและทนต่อเสียงร้องไห้ได้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ทารกมีแนวโน้มที่จะร้องไห้มากที่สุดเมื่อเขามีอายุประมาณ 7 สัปดาห์แล้วจะค่อยๆ ลดลง อย่างไรก็ดี คุณสามารถปลอบทารกโดยใช้วิธีดังนี้

  • หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณอาจปล่อยให้ทารกดูดนม
  • หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมขวด คุณอาจให้จุกนมหลอกแก่ทารก 
  • ผ้าหรือผ้าห่มเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กโตบางคนรู้สึกสบายใจ
  • อุ้มลูก หรือให้เขาอยู่ใน Sling เพื่อที่เขาจะได้ใกล้ชิดกับคุณ และเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ แกว่งทารกไปมาและเต้น พูดกับลูกและร้องเพลง
  • ไกวเปล พาลูกไปเดินเล่น หรือนั่งรถเล่น ทั้งนี้มีทารกหลายคนที่ชอบนอนในรถแม้ว่าพวกเขาตื่นอีกครั้งเมื่อคุณหยุดขับรถ แต่อย่างน้อยคุณจะได้พักในช่วงนี้
  • หาบางสิ่งให้เขาฟังหรือดู 
  • พยายามลูบหลังของทารกอย่างหนักแน่นและเป็นจังหวะ อุ้มลูกแนบกับลำตัวของคุณ หรือคุณอาจให้ลูกคว่ำหน้าที่ตักของคุณ 
  • ปลดเสื้อของลูกและนวดให้เขาอย่างอ่อนโยนและหนักแน่น แต่ให้หลีกเลี่ยงการใช้ออยล์หรือโลชั่นชนิดใดๆ ก็ตามจนกระทั่งลูกของคุณมีอายุอย่างน้อย 1 เดือน และให้คุณพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนอย่างที่คุณทำและรักษาอุณหภูมิในห้องให้อบอุ่น
  • พาลูกไปแช่น้ำอุ่น ซึ่งสามารถช่วยให้ทารกบางคนสงบได้ในทันที แต่ก็อาจทำให้เด็กบางคนร้องไห้หนักขึ้นเช่นกัน
  • ในบางครั้งการแกว่งตัวทารกและการร้องเพลงมากเกินไปสามารถทำให้ทารกตื่นนอน อย่างไรก็ดี การวางทารกบนที่นอนหลังกินนมอาจช่วยให้เขาสงบลงได้
  • ขอคำปรึกษาจากแพทย์

การร้องไห้ระหว่างที่กินนม

ทารกบางคนร้องไห้และยังไม่สงบเมื่อถึงช่วงเวลาที่กินนม หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดท่าทางและการเข้าเต้าของลูกอาจช่วยให้ลูกของคุณสงบลงได้ นอกจากนี้อาหารหรือเครื่องดื่มที่คุณดื่มบางชนิดสามารถส่งผลต่อทารกเช่นกัน หากคุณคิดว่าเกิดจากสาเหตุนี้ ให้คุณพยายามบันทึกว่าคุณทานสิ่งใดบ้างและทารกร้องไห้เมื่อใด หากคุณเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กัน ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ 
ในบางครั้งการร้องไห้ระหว่างที่กินนมสามารถบ่งบอกถึงอาการไหลย้อน ซึ่งเป็นภาวะทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อทารกขย้อนนมออกมาหลังจากกินนม ในกรณีนี้คุณอาจต้องขอคำแนะนำจากแพทย์
กรณีที่ลูกร้องไห้อย่างสม่ำเสมอ
มีหลายสาเหตุที่สามารถทำให้ทารกร้องไห้มากเกินกว่าปกติ ซึ่งคุณสามารถรู้สึกหมดแรงหากคุณลองทุกวิถีทางแต่ทว่ามันกลับไม่ได้ช่วยให้ทารกสงบลง
โคลิก
การร้องไห้มากเกินไปสามารถเป็นสัญญาณที่บอกว่าลูกของคุณมีอาการโคลิก ซึ่งทุกคนต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าอาการโคลิกมีอยู่จริง แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันเกิดจากสาเหตุใด อย่างไรก็ดี แพทย์บางคนคิดว่าการที่เด็กมีอาการที่ว่านั้นเกิดจากการปวดท้องเกร็ง ซึ่งเสียงร้องไห้ของเด็กดูน่าสังเวชและเจ็บปวด และเด็กจะหยุดร้องไห้สักครู่ แล้วจะเริ่มร้องไห้อีกครั้ง ซึ่งอาจเกิดจากการที่ทารกมีอาการปวดท้องเป็นระลอก
การร้องไห้สามารถดำเนินต่อไปเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งคุณอาจทำอะไรได้ไม่มากนอกจากการพยายามปลอบลูกให้สงบลงและรอให้เขาหยุดร้องไห้
การร้องไห้และการเจ็บป่วย
หากลูกของคุณร้องไห้อย่างสม่ำเสมอและคุณไม่สามารถปลอบหรือเบนความสนใจของลูก หรือการร้องไห้นั้นไม่ได้เป็นการร้องไห้ที่เกิดขึ้นตามปกติ มันก็สามารถเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเขากำลังป่วย หรือเขาอาจป่วยหากเขาร้องไห้และมีอาการอื่นๆ เช่น อุณหภูมิของร่างกายสูง ในกรณีนี้คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ อย่างไรก็ดี คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหากเขามีอาการดังนี้

  • ผ้าอ้อมแห้งมากกว่าปกติ
  • อุณหภูมิของร่างกายสูง แต่มือและเท้าเย็น
  • ชัก
  • มีผิวสีน้ำเงิน จุดด่างดำ สีเทา หรือสีซีดมาก
  • หายใจเร็วหรือมีเสียงออกมาจากลำคอในขณะที่หายใจ หรือดูหายใจลำบาก
  • มีผื่นสีแดงออกม่วงสักที่บนร่างกาย ซึ่งสามารถเป็นสัญญาณของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

การขอความช่วยเหลือเมื่อทารกร้องไห้
คุณสามารถปรึกษาแพทย์หรือปรึกษาเพื่อนที่เคยมีประสบการณ์ดังกล่าว หากคุณตัดสินใจที่จะไปพบแพทย์ การจดบันทึกเกี่ยวกับความถี่และเวลาที่ลูกร้องไห้ก็จะมีประโยชน์สำหรับการวินิจฉัย ตัวอย่างเช่น ลูกอาจร้องไห้ทุกครั้งหลังจากกินนมหรือในระหว่างคืน 
นอกจากนี้การจดบันทึกสามารถช่วยเจาะจงเวลาที่คุณจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ คุณสามารถคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรของคุณที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ดี คุณอาจรู้สึกเหนื่อยหรือโกรธลูกเป็นบางครั้ง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่หลายคน ดังนั้นคุณไม่ควรรู้สึกละอายใจที่จะขอความช่วยเหลือ
หากไม่มีคนอื่นที่สามารถช่วยดูแลลูกของคุณเป็นเวลาสั้นๆ และเสียงร้องไห้ของเด็กทำให้คุณเครียด ให้คุณวางทารกลงในเตียงนอนของเด็ก และตรวจสอบว่าเขาปลอดภัย จากนั้นให้คุณออกไปอยู่ห้องอื่นชั่วคราว และพยายามสงบสติอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงให้คุณกำหนดระยะเวลา เช่น เมื่อครบ 10 นาที คุณค่อยกลับไปหาลูก

อย่าเขย่าตัวลูก
ไม่ว่าคุณจะรู้สึกท้อแท้มากเพียงใด คุณไม่ควรเขย่าตัวทารก การเขย่าทำให้ศีรษะเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง และสามารถทำให้สมองได้รับความเสียหาย

วิธีเปลี่ยนผ้าอ้อม
ทารกจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยครั้ง แต่ความถี่ของการเปลี่ยนผ้าอ้อมขึ้นอยู่กับความไวของผิว ทารกบางคนมีผิวที่บอบบางมาก และจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีที่เขาขับถ่าย มิเช่นนั้นผิวของเขาจะเปื่อยและแดง ในขณะที่เด็กคนอื่นสามารถรอเปลี่ยนผ้าอ้อมจนกระทั่งก่อนหรือหลังกินนม
อย่างไรก็ดี คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารกทันทีเมื่อเขาขับอุจจาระแล้วเสร็จเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผื่นผ้าอ้อม ทั้งนี้ทารกที่อายุไม่เยอะจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนผ้าอ้อมมากถึง 10-12 ครั้งต่อวัน ในขณะที่ทารกที่โตกว่าจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนผ้าอ้อมอย่างน้อย 6-8 ครั้งต่อวัน

สิ่งที่คุณจำเป็นต้องใช้สำหรับการเปลี่ยนผ้าอ้อม
ก่อนที่คุณจะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก ให้คุณล้างมือและเตรียมสิ่งของทุกอย่างที่คุณจำเป็นต้องใช้ให้พร้อมโดยวางไว้ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วย

  • เสื่อสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าขนหนู
  • สำลีและกะละมังใส่น้ำอุ่นหรือทิชชู่เปียกแบบปลอดน้ำหอมและแอลกอฮอล์
  • ถุงพลาสติกหรือถังสำหรับใส่ผ้าอ้อม สำลี หรือทิชชู่เปียกที่สกปรก
  • Barrier Cream สำหรับป้องกันผิวของทารก
  • ผ้าอ้อมผืนใหม่ 
  • ผ้าที่สะอาด

สถานที่สำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อม

สถานที่ๆ ดีที่สุดสำหรับการเปลี่ยนผ้าอ้อมคือ เสื่อสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าขนหนูที่วางบนพื้นโดยเฉพาะหากคุณมีลูกมากกว่าหนึ่งคน เพราะถ้าคุณจำเป็นต้องให้ความสนใจลูกอีกคนสักครู่ ลูกที่รอเปลี่ยนผ้าอ้อมจะได้ไม่ตกพื้น นอกจากนี้การนั่งลงบนพื้นจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณรู้สึกปวดหลัง
ในกรณีที่คุณใช้เตียงสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อม คุณควรจับตามองลูกตลอดเวลา และคุณไม่ควรพึ่งพาสายรัดที่ช่วยให้ทารกปลอดภัยเท่านั้น รวมถึงไม่เดินไปทำอย่างอื่นหรือหันหลังให้ทารก อย่างไรก็ดี ทารกที่มีอายุมากบางคนอาจพยายามที่จะดิ้นในขณะที่คุณเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เขา คุณสามารถให้ของเล่นหรือใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากลูก

การเปลี่ยนผ้าอ้อม

1) ถึงแม้ว่าทารกขับปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระรดใส่ผ้าอ้อม คุณยังจำเป็นต้องทำความสะอาดทั่วทั้งร่างกายของทารก หากผ้าอ้อมของเขาสกปรก ให้คุณใช้ผ้าอ้อมอีกผืนเพื่อทำความสะอาดอุจจาระที่ติดที่ก้นของทารก จากนั้นให้คุณใช้สำลีและน้ำอุ่นหรือทิชชู่เปียกเพื่อเช็ดอุจจาระที่ตกค้างและทำความสะอาดร่างกายของเขา
2) ทำความสะอาดบริเวณผ้าอ้อมให้ทั่วและทำอย่างอ่อนโยน และคุณต้องแน่ใจว่าคุณทำความสะอาดภายในรอยพับของผิวเช่นกัน สำหรับเด็กผู้หญิง คุณควรทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในช่องคลอด เมื่อคุณทำความสะอาดให้เด็กผู้ชาย คุณควรทำความสะอาดรอบๆ ลูกอัณฑะและองคชาต แต่คุณไม่จำเป็นต้องร่นหนังหุ้มปลายองคชาต 
3) หากสภาพอากาศอบอุ่น ให้คุณปล่อยให้ทารกนอนบนเสื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมโดยไม่ใส่ผ้าอ้อมให้ทารกสักพัก เพราะการใส่ผ้าอ้อมตลอดเวลาทำให้มีแนวโน้มว่าจะเกิดผื่นผ้าอ้อมมากขึ้น
4) หากคุณใช้ผ้าอ้อมชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง คุณควรระวังไม่ให้น้ำหรือครีมติดบนแถบกาว หากคุณใช้ผ้าอ้อมชนิดผ้า ให้คุณใส่แผ่นรองผ้าอ้อมและผูกผ้าอ้อม จากนั้นให้ปรับผ้าอ้อมให้พอดีกับรอบเอวของเขา
5) คุยกับทารกในขณะที่คุณเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เขา นอกจากนี้การแสดงสีหน้า การยิ้ม และการหัวเราะกับทารกจะช่วยให้คุณทั้งคู่ผูกพันและช่วยให้เด็กมีพัฒนาการ
6) หลีกเลี่ยงการให้ทารกเห็นสิ่งสกปรกในผ้าอ้อม เพราะคุณคงไม่อยากให้เขาเรียนรู้ว่าการขับอุจจาระเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยงหรือเป็นเรื่องไม่ดี

การทำความสะอาดผ้าอ้อม

เราสามารถม้วนและห่อผ้าอ้อมชนิดที่ใช้แล้วทิ้งโดยใช้แถบกาว จากนั้นให้คุณใส่ผ้าอ้อมในถุงพลาสติกที่ใช้เก็บแค่ผ้าอ้อม แล้วให้คุณผูกปากถุงและนำไปทิ้งที่ถังขยะนอกบ้าน ในขณะที่ผ้าอ้อมแบบซักได้ไม่จำเป็นต้องชุ่มน้ำก่อนที่จะถูกนำไปซัก แต่คุณอาจนำไปชุบน้ำเพื่อให้สิ่งสกปรกออกไป อย่างไรก็ดี ให้คุณอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการซักผ้าอ้อมก่อน ซึ่งเราสามารถใช้เครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสซักผ้าอ้อมได้ หรือคุณจะไปใช้บริการซักรีดแถวบ้าน
อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการใช้ผงซักฟอกที่มีเอนไซม์ หรือน้ำยาปรับผ้านุ่มจะทำให้ผิวของทารกระคายเคือง ทั้งนี้ให้คุณซักผ้าอ้อมที่เปื้อนอุจจาระแยกจากเสื้อผ้าตัวอื่นๆ 
คุณสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อโดยล้างมือหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนที่คุณจะทำสิ่งต่างๆ หากลูกของคุณโตประมาณหนึ่ง เขาสามารถล้างมือของตัวเองพร้อมกับคุณซึ่งถือเป็นอุปนิสัยที่ดี

อุจจาระของทารกมีลักษณะอย่างไร?

อุจจาระแรกของทารกเรียกว่า Meconium หรือที่เรียกว่า “ขี้เทา” ซึ่งมีลักษณะเหนียวและเป็นสีดำอมเขียว ซึ่งทารกบางคนอาจถ่ายอุจจาระชนิดนี้ระหว่างหรือหลังจากคลอดลูก หรือภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
หลังจากผ่านไปไม่กี่วัน อุจจาระจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีมัสตาร์ด ทั้งนี้อุจจาระของทารกที่กินนมแม่จะเหลวและไม่มีกลิ่น ในขณะที่อุจจาระของทารกที่กินนมผงจะมีลักษณะแข็งกว่า เป็นสีน้ำตาลเข้ม และมีกลิ่นเหม็นมากกว่า นอกจากนี้นมผงบางยี่ห้อสามารถทำให้อุจจาระของทารกเป็นสีเขียวเข้ม หากคุณเปลี่ยนจากการให้ลูกกินนมแม่เป็นนมผง คุณจะพบว่าอุจจาระของลูกมีสีเข้มและเหมือนแป้งเปียกมากขึ้น
หากคุณมีลูกสาว คุณอาจเห็นว่ามีของเหลวสีขาวติดที่ผ้าอ้อมของลูกเป็นเวลา 3-4 วันหลังจากคลอดลูก ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่เข้ามาทางรก แต่ของเหลวเหล่านี้จะหายไปในเวลาไม่นาน ในบางครั้งฮอร์โมนดังกล่าวสามารถทำให้มีเลือดออกเล็กน้อย แต่คุณไม่ต้องกังวลทั้งสองกรณี

ทารกควรถ่ายอุจจาระบ่อยเพียงใด?

โดยเฉลี่ยแล้วทารกถ่ายอุจจาระ 4 ครั้งต่อวันในช่วงสัปดาห์แรกของชีวิต และจะลดลงเหลือ 2 ครั้งต่อวันเมื่อทารกมีอายุ 1 ปี ทั้งนี้ทารกแรกเกิดที่กินนมแม่อาจถ่ายอุจจาระในแต่ละครั้งที่กินนมในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน เขาอาจไม่ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาหลายวัน หากทารกแรกเกิดกินนมผง เขาอาจถ่ายอุจจาระมากถึง 5 ครั้งต่อวัน แต่หลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน จำนวนก็สามารถลดลงเหลือวันละครั้ง
อย่างไรก็ดี การที่ทารกเครียดหรือแม้แต่ร้องไห้ในขณะที่ถ่ายอุจจาระถือเป็นเรื่องปกติ ลูกของคุณจะไม่มีอาการท้องผูกตราบใดที่อุจจาระของเขานุ่ม แม้ว่าเขาไม่ได้ถ่ายอุจจาระสักครั้งเป็นเวลา 3-4 วัน

การที่อุจจาระของทารกเปลี่ยนไปถือเป็นเรื่องปกติหรือไม่?

ในแต่ละวันหรือสัปดาห์ อุจจาระของทารกจะเปลี่ยนแปลง หากคุณสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เช่น อุจจาระมีกลิ่นเหม็นมาก อุจจาระเหลวมากหรือแข็งขึ้น โดยเฉพาะหากมีเลือดปนภายในอุจจาระ คุณควรพาเขาไปพบแพทย์ หากอุจจาระของทารกดูซีดลง มันก็สามารถเป็นสัญญาณของโรคตับ ซึ่งคุณควรปรึกษาแพทย์หากคุณสังเกตว่าเขามีอาการดังกล่าว

ผ้าอ้อมชนิดใช้แล้วทิ้งและผ้าอ้อมชนิดที่ซักหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ผ้าอ้อมชนิดใช้แล้วทิ้งและผ้าอ้อมแบบผ้ามีหลายรูปแบบและขนาด คุณอาจไม่แน่ใจว่าจะให้ลูกใส่แบบใด แต่การลองผิดลองถูกจะช่วยให้คุณรู้ว่าผ้าอ้อมแบบใดที่เหมาะสำหรับลูกของคุณมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้งและผ้าอ้อมแบบผ้ามีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน คุณจะต้องพิจารณาเกี่ยวกับต้นทุน ความสะดวกสบายในการใช้ และผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อคุณเลือกซื้อ ตัวอย่างเช่น ผ้าอ้อมชนิดใช้แล้วทิ้งช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก แต่ผ้าอ้อมแบบผ้าที่สามารถนำกลับไปซักได้จะทำให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า

ชุดปฐมพยาบาลสำหรับทารก

มีเด็กมากกว่า 1 ล้านคนต่อปีที่ประสบอุบัติเหตุภายในบ้าน ซึ่งโดยมากแล้วไม่ได้เป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรง แต่มันก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าหากชุดปฐมพยาบาลที่บ้านมีสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้ให้คุณเลือกกล่องปฐมพยาบาลที่กันน้ำและแข็งแรงที่ง่ายต่อการถือ นอกจากนี้กล่องควรจะมีตัวล็อกที่ป้องกันไม่ให้เด็กเปิดเองได้ และต้องสูงมากพอที่จะใส่โลชั่นได้
อย่างไรก็ดี คุณควรเก็บกล่องให้พ้นมือเด็กแต่สะดวกต่อการหยิบสำหรับผู้ใหญ่เพื่อที่คุณจะได้รีบหยิบออกมาใช้เมื่อลูกของคุณบาดเจ็บ ซึ่งคุณสามารถซื้อชุดปฐมพยาบาลแบบสำเร็จรูปที่มีเครื่องหมายกำกับไว้หรือคุณจะทำเองก็ได้ แต่ในกรณีนี้ให้คุณทำป้ายกำกับไว้ว่ามันเป็นชุดปฐมพยาบาล เพราะหากลูกบาดเจ็บและคุณไม่ได้อยู่บ้าน คนอื่นๆ จะได้ทราบว่ากล่องดังกล่าวคือชุดปฐมพยาบาล หากคุณฝากให้คนอื่นเลี้ยงลูก คุณก็ควรแจ้งให้เขาทราบล่วงหน้าว่าคุณเก็บชุดปฐมพยาบาลไว้ที่ใด

คู่มือปฐมพยาบาล

คู่มือการปฐมพยาบาลสามารถช่วยทบทวนความจำเมื่อคุณตื่นตระหนก เสียงร้องไห้ของเด็กอาจทำให้คุณลืมว่าต้องทำสิ่งใดบ้างเมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถพิมพ์คู่มือออกมาและเก็บไว้ในกล่องเดียวกับกล่องปฐมพยาบาล

ยาแก้ปวดและทารก

คุณควรเตรียมยาแก้ปวดที่เหมาะสำหรับวัยต่างๆ ไว้ที่บ้าน เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน ซึ่งสามารถใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะและลดไข้  นอกจากนี้คุณจำเป็นต้องมีช้อนตวง หรือหากลูกยังเด็กเกินไป คุณอาจต้องใช้ไซริงค์ แต่ทั้งนี้ให้คุณทำตามคำแนะนำการใช้ยาเสมอ

การทำแผลให้ทารก

  • พลาสเตอร์ปิดแผล: ให้คุณซื้อพลาสเตอร์หลายขนาดเพื่อใช้ติดแผลเล็กๆ แผลพุพอง และจุดที่ทำให้รู้สึกเจ็บ
  • ผ้ายางยืด: ช่วยยึดให้ผ้าพันแผลเข้าที่ และสามารถนำมาใช้กับแผลตัดเล็กๆ ได้
  • ผ้าพันแผล: ผ้าพันแผลแบบ Crepe ช่วยพยุงหรือยึดผ้าพันแผลให้เข้าที่ ในขณะที่ผ้าพันแผลแบบ Tubular มีประโยชน์เมื่อเด็กปวดข้อและจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริมช่วยพยุงร่างกาย นอกจากนี้คุณสามารถซื้อผ้าพันแผลแบบสามเหลี่ยมมาเพื่อใช้ทำผ้าคล้องคอสำหรับแขวนมือหรือแขนที่บาดเจ็บ
  • ผ้าก๊อซสเตอไรส์: ช่วยปิดบริเวณที่เจ็บหรือรอยแผลตัดขนาดใหญ่

ครีมฆ่าเชื้อหรือสเปรย์

เราสามารถนำครีมฆ่าเชื้อหรือสเปรย์มาใช้กับแผลตัด แผลถลอก หรือแผลไหม้ระดับเบาหลังจากทำความสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจมียาชาอ่อนๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกชาบริเวณที่เจ็บ

ครีมต้านฮีสตามีน

ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้สามารถช่วยลดอาการบวมและปลอบปะโลมผิวที่เกิดจากแมลงกัดและต่อย

เทอร์โมมิเตอร์

เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทอล: เราสามารถนำเทอร์โมมิเตอร์ชนิดนี้มาใช้ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีความแม่นยำ และสามารถนำมาหนีบใต้รักแร้ ทั้งนี้คุณควรนำเทอร์โมมิเตอร์ไปสอดใต้รักแร้ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีเสมอ โดยให้เด็กวางแขนแนบกับลำตัว และหนีบเทอร์โมมิเตอร์ที่รักแร้จนครบเวลาตามที่ระบุในคู่มือการใช้งาน

เทอร์โมมิเตอร์แบบวัดไข้ทางหู:  เราจะต้องนำเทอร์โมมิเตอร์ประเภทนี้ใส่เข้าไปในหูของเด็ก ซึ่งมันจะวัดอุณหภูมิของร่างกายภายใน 1 วินาทีและไม่รบกวนเด็กแต่กลับมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ค่าที่แสดงอาจต่ำหากคุณใส่ในหูไม่ถูกต้อง ดังนั้นคุณควรอ่านคู่มือการใช้งานอย่างระมัดระวัง และคุณต้องเข้าใจการทำงานของเทอร์โมมิเตอร์
เทอร์โมมิเตอร์แบบแถบ: เราใช้เทอร์โมมิเตอร์ประเภทนี้แปะที่หน้าผากของเด็กเพื่อวัดอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งผลที่ได้กลับไม่แม่นยำ เพราะมันวัดอุณหภูมิของผิวแทนที่จะเป็นอุณหภูมิของร่างกาย

เทอร์โมมิเตอร์แบบปรอท: ในปัจจุบันเราอาจไม่ได้พบเทอร์โมมิเตอร์ชนิดนี้ในท้องตลาด เพราะมันสามารถแตกหักง่าย ซึ่งเศษแก้วเล็กๆ และสารปรอทภายในสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ หากลูกของคุณสัมผัสสาร ปรอท คุณควรรีบพาเขาไปพบแพทย์ทันที 

โลชั่นคาราไมน์

โลชั่นคาราไมน์สามารถช่วยบรรเทาอาการคัน ผื่น และผิวไหม้ นอกจากนี้เรายังพบคาราไมน์ได้ในรูปแบบของเจลและมูส ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาผื่นที่เกิดจากอีสุกอีใสเช่นกัน
อุปกรณ์ปฐมพยาบาลสำหรับทารก

กรรไกร: ใช้สำหรับตัดผ้า พลาสเตอร์ และเทปต่างๆ ที่ใช้สำหรับทำแผล
แหนบ: ใช้สำหรับดึงหนามหรือเสี้ยน
ไอซ์แพคหรือเจคแพค: เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปแช่ตู้เย็น และนำมาใช้กับตุ่มและรอยช้ำเพื่อบรรเทาอาการบวม นอกจากนี้เรายังสามารถนำถุงถั่วลันเตาแบบแช่แข็งมาประคบผิวเช่นกัน แต่ให้คุณใช้ผ้าขนหนูที่สะอาดห่อก่อนที่จะนำมาประคบที่ผิว เพราะหากผิวสัมผัสกับน้ำแข็งโดยตรง มันก็จะทำให้เกิดแผลไหม้ที่เกิดจากความเย็น
สารละลายน้ำเกลือและน้ำยาล้างตา: ใช้สำหรับล้างฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในดวงตา

ทิชชู่เปียกชนิดฆ่าเชื้อ

เราสามารถใช้ทิชชู่ชนิดนี้ทำความสะอาดแผลตัดและแผลถลอก รวมถึงช่วยป้องกันการติดเชื้อ โดยให้คุณใช้ทิชชู่เปียกทำความสะอาดรอบๆ แผลอย่างเบามือเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรค 
อย่างไรก็ดี คุณควรตรวจสอบว่าชุดปฐมพยาบาลยังไม่หมดอายุ ซื้อยาใหม่มาเติมเมื่อใช้ของเก่าหมด และทิ้งยาหรืออุปกรณ์ที่หมดอายุ

คาร์ซีทของทารกและความปลอดภัยในการใช้รถ

คุณจำเป็นต้องซื้อคาร์ซีทให้ทารกก่อนที่เขาจะเกิด ซึ่งคาร์ซีทที่คุณซื้อนั้นจำเป็นต้องพอดีกับรถยนต์และเหมาะสำหรับทารก นอกจากนี้การนำคาร์ซีทมาลองใส่กับที่นั่งก่อนที่ทารกจะเกิดก็เป็นความคิดที่ดี

คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อคาร์ซีท

ให้ลูกทดลองนั่งคาร์ซีทก่อนซื้อ

ตรวจสอบว่าที่รถมี Isofix Cnnectors หรือไม่ ซึ่งมันถูกออกแบบมาเพื่อช่วยยึดคาร์ซีท ทั้งนี้รถสำหรับครอบครัวในปัจจุบันของบางประเทศมักมีอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งมันอาจหลบอยู่ในรอยแยกระหว่างเบาะรถยนต์

เลือกคาร์ซีทที่เหมาะกับความสูงและน้ำหนักของลูก

หลีกเลี่ยงการซื้อคาร์ซีทมือสอง เพราะมันอาจเคยเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และอาจมีชิ้นส่วนไม่ครบ อีกทั้งอาจใส่กับรถของคุณได้ไม่พอดี

ใช้คาร์ซีทที่ได้มาจากเพื่อนหรือคนในครอบครัวที่ไม่มีประวัติว่าเคยเกิดอุบัติเหตุ คาร์ซีทไม่เก่าเกินไป และมีบอกวิธีการใช้

คำนึงถึงการใช้คาร์ซีทหากคุณต้องยกลูกเข้าออกรถบ่อยครั้ง คุณอาจต้องซื้อคาร์ซีทที่มีน้ำหนักเบาที่มีฐานอยู่ในรถ

คาร์ซีทมีกี่ขนาด?

คาร์ซีทถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก โดยขึ้นอยู่กับอายุของทารกหรือเด็กและน้ำหนักตัว

group 0+: คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะเหมาะสำหรับทารกที่มีอายุมากถึงประมาณ 15 เดือน หรือมีน้ำหนักมากถึง 13 กิโลกรัม

group 1: คาร์ซีทแบบหันหน้าออกจากเบาะเหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 9-18 กิโลกรัม หรือมีอายุตั้งแต่ประมาณ 9 เดือนถึง 4.5 ปี

group 2/3: คาร์ซีทแบบ High-Backed Booster หรือคาร์ซีทแบบเบาะที่ช่วยยกตัวเด็กให้สูงขึ้นเหมาะสำหรับเด็กที่หนัก 15-36 กิโลกรัม หรือมีอายุประมาณ 3-12 ปี

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถซื้อ Combination Seats ซึ่งครอบคลุมคาร์ซีทประเภทดังกล่าว เช่น group 0+/1 ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดไปจนถึงเด็กที่มีน้ำหนักประมาณ 18 กิโลกรัม หรือมีอายุประมาณ 4.5 ปี แม้ว่าจะช่วยคุณประหยัดได้มากกว่า แต่มันอาจไม่ปลอดภัยเท่ากับคาร์ซีทแบบที่เรากล่าวไป

ตำแหน่งการวางคาร์ซีทที่เหมาะสม

การวางคาร์ซีทที่เบาะหน้าซึ่งมีถุงลมนิรภัยและให้เด็กหันหน้าเข้าหาเบาะเป็นเรื่องที่อันตราย อย่างไรก็ตาม การให้เด็กนั่งเบาะหลังจะปลอดภัยมากกว่า นอกจากนี้คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคาร์ซีทพอดีกับเบาะรถยนต์ และทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต

การใช้คาร์ซีทของทารกหรือเด็ก

ให้ทารกนั่งในคาร์ซีทที่วางอยู่ตรงเบาะหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตรงกับคนขับหรือเบาะด้านข้างคนขับ
ใช้สายรัดๆ ตัวทารกตามคำแนะนำของผู้ผลิต เมื่อคุณซื้อคาร์ซีท คุณอาจบอกให้พนักงานสาธิตการใช้สายรัดตัวทารก
ให้ลูกนั่งบนคาร์ซีทโดยหันหน้าเข้าหาเบาะหากเขายังไม่โต เพราะการนั่งแบบนี้จะช่วยปกป้องทารกได้ดีกว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ 

ผื่นผ้าอ้อม

ทารกและเด็กวัยเตาะแตะมากถึง 1 ใน 3 ที่เผชิญปัญหาผื่นผ้าอ้อมสักช่วงใดช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวมักไม่เกิดขึ้นกับทารกแรกเกิด แต่ทารกทุกคนสามารถเป็นผื่นผ้าอ้อม สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมมีดังนี้

ผิวของทารกสัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน

ผ้าอ้อมเสียดสีกับผิวของทารก

ไม่ทำความสะอาดบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมหรือไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยมากพอ

สบู่ ผงซักฟอก หรือสบู่อาบน้ำ

ทิชชู่เปียกมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหลัก

ลูกของคุณเพิ่งทานยาปฏิชีวนะเมื่อไม่นานมานี้

อย่างไรก็ตาม คุณอาจพบรอยปื้นแดงๆ บนก้นของทารก หรือทั้งบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมอาจเปลี่ยนเป็นสีแดง ผิวของทารกอาจดูเปื่อย และร้อนเมื่อสัมผัส รวมถึงอาจมีแต้ม ตุ่ม หรือแผลพุพอง
ทารกส่วนมากที่มีผื่นผ้าอ้อมระดับเบาไม่รู้สึกเจ็บ แต่ถ้าเป็นผื่นถึงขั้นร้ายแรง ลูกของคุณอาจรู้สึกไม่สบายตัว และเจ็บปวด

วิธีป้องกันผื่นผ้าอ้อม

วิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยรับมือกับผื่นผ้าอ้อมคือ การพยายามป้องกันไม่ให้ลูกของคุณเป็นผื่นผ้าอ้อมตั้งแต่ต้น วิธีง่ายๆ ที่เรากำลังจะกล่าวหลังจากนี้จะช่วยป้องกันผื่นผ้าอ้อมและช่วยให้คุณกำจัดมันออกไปจากผิวของลูกน้อย

วิธีรักษาผื่นผ้าอ้อมที่เกิดในทารก

  • หากลูกของคุณเป็นผื่นผ้าอ้อม โดยทั่วไปแล้วคุณสามารถรักษาผิวให้เขาด้วยตัวเองดังนี้
  • หากผื่นไม่ได้ทำให้ทารกอารมณ์เสีย ในแต่ละครั้งที่คุณเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ให้คุณทา Barrier Cream เป็นชั้นบางๆ เพื่อปกป้องผิวของเขา
  • เปลี่ยนผ้าอ้อมที่เปียกและสกปรกให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ นอกจากนี้ให้คุณทำความสะอาดบริเวณผ้าอ้อมทั้งหมดอย่างอ่อนโยนและถ้วนทั่ว ทั้งนี้ให้คุณใช้น้ำทำความสะอาด หรือจะใช้ทิชชู่เปียกที่ปลอดน้ำหอมและแอลกอฮอล์เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
  • อาบน้ำให้ทารกทุกวัน แต่ให้หลีกเลี่ยงการอาบน้ำมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน เพราะมันอาจทำให้ผิวแห้ง
  • เช็ดตัวของทารกอย่างอ่อนโยนหลังอาบน้ำ
  • วางทารกบนผ้าขนหนู และพักการใส่ผ้าอ้อมเพื่อให้อากาศผ่านเข้าไปในผิว
  • ไม่ใช้สบู่ก้อน สบู่เหลว หรือโลชั่น
  • ไม่ใช้แป้งทัลคัม เพราะมันอาจมีส่วนผสมที่สามารถทำให้ผิวของเด็กระคายเคือง

อย่างไรก็ดี ผื่นผ้าอ้อมมักหายไปเองหลังจากประมาณ 3 วันหากคุณทำตามคำแนะนำที่เรากล่าวไป หากผื่นทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายตัว แพทย์ก็อาจจ่ายยาที่ช่วยรักษาผื่นผ้าอ้อม ทั้งนี้คุณควรทายาที่แพทย์จ่ายให้ก่อนและรอสัก 2-3 นาทีก่อนที่คุณจะทา Barrier Cream

ผื่นชนิดอื่นๆ ที่เกิดตรงตำแหน่งที่ใส่ผ้าอ้อม

หากผื่นไม่หายไป หรือทารกมีผื่นสีแดงสด ชื้น และมีตุ่มสีขาวหรือสีแดงเกิดขึ้นเรื้อรังที่กระจายไปยังรอยพับของผิว ทารกก็อาจติดเชื้อ ในกรณีนี้ให้คุณขอคำปรึกษาจากเภสัชกรหรือแพทย์ เขาสามารถแนะนำครีมที่ช่วยรักษาได้ หากผื่นมีความรุนแรง คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ซึ่งเขาอาจจ่ายครีมหรือยาให้ และคุณควรใช้ยาตามคำแนะนำ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Baby must-haves: A list for first-time parents. BabyCenter. (https://www.babycenter.com/0_baby-products-must-haves-for-the-first-year_59.bc)
Newborn Essentials for Baby's First 6 Weeks. Parents. (https://www.parents.com/baby/gear/registries-buying-guides/essential-baby-gear/)
Pregnancy: Learn 17 Things to Buy for Your Newborn. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/pregnancy_things_to_buy_for_your_newborn/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป