กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.รุจิรา เทียบเทียม
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.รุจิรา เทียบเทียม

Endometrial Hyperplasia (เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ)

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ธ.ค. 2016 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 เม.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia) เป็นภาวะที่เยื่อบุด้านในมดลูกเกิดการหนาตัวขึ้นกว่าปกติ และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
  • สาเหตุของภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติอาจเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณมาก แต่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถกระตุ้นเยื่อบุมดลูกให้หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนได้
  • ปัจจัยที่ส่งให้ฮอร์โมนทั้งสองชนิดไม่สมดุล ได้แก่ การเข้าสู่วัยทอง มีรอบเดือนผิดปกติ มีภาวะมีบุตรยาก มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ได้รับยาที่มีการทำงานเลียนแบบฮอร์โมนเอสโตรเจน มีโรคอ้วน
  • การรักษาภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติมักทำโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ กรณีที่วินิจฉัยว่า เป็นภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบบมีเซลล์ผิดปกติร่วมด้วย และไม่ต้องการที่จะมีบุตรอีกในอนาคต แพทย์อาจแนะนำให้ตัดมดลูกออก
  • ระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงเป็นเรื่องซับซ้อน ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคนจึงควรได้รับการตรวจสุขภาพ ตรวจภายใน และหากมีปัจจัยเสี่ยงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี (ดูแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้หญิงได้ที่นี่)

ภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia) เป็นภาวะที่เยื่อบุด้านในมดลูกเกิดการหนาตัวขึ้นกว่าปกติ และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

ภาวะนี้ไม่ใช่มะเร็งแต่มีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งโพรงมดลูกในอนาคตได้

ประเภทของภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ

ภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบ่งประเภทตามลักษณะของเซลล์ที่ผิดปกติได้ดังนี้

  • เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบบไม่ซับซ้อนและไม่มีเซลล์ผิดปกติ (Simple hyperplasia) เป็นชนิดที่ไม่อันตรายที่สุด
  • เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบบซับซ้อนแต่ไม่มีเซลล์ผิดปกติ (Complex hyperplasia)
  • เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบบไม่ซับซ้อนและมีเซลล์ผิดปกติ (Simplex atypical hyperplasia)
  • เยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบบซับซ้อนและมีเซลล์ผิดปกติ (Complex atypical hyperplasia)

อาการของภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ

อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือมีเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติระหว่างรอบเดือน

หากมีรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน ควรไปพบแพทย์ และควรนับรอบเดือนจากวันแรกที่มีประจำเดือน จนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนในเดือนถัดไป หากคุณไม่มีประจำเดือนแล้วแต่มีอาการดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงความผิดปกตินี้ด้วย

สาเหตุของภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ

ภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติอาจเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณมาก แต่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่เพียงพอ

ฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ในช่วงต้นของรอบเดือน ฮอร์โมนนี้จะส่งผลให้มีการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์

เมื่อมีการตกไข่ก็จะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมาเพื่อช่วยสนับสนุนไข่ที่มีการปฏิสนธิแล้ว แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ระดับของฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดก็จะลดลง

การลดลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะกระตุ้นให้เยื่อบุมดลูกลอกตัวออกมากลายเป็นประจำเดือน

ดังนั้นการทำงานที่สัมพันธ์กันของฮอร์โมนทั้งสองนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เยื่อบุมดลูกหนาตัวขึ้นและลอกตัวออกเมื่อไม่มีการตั้งครรภ์

แต่หากมีฮอร์โมนชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป หรือน้อยเกินไปจนทำให้เกิดการไม่สมดุลกัน ก็อาจทำให้เกิดภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวกว่าปกติได้

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน 

  • เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ทำให้รังไข่ไม่มีการผลิตไข่ และร่างกายไม่ผลิตโปรเจสเตอโรนอีกต่อไป
  • อยู่ในช่วงก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ทำให้เริ่มเกิดความผิดปกติในการผลิตไข่
  • อยู่ในช่วงวัยทองและได้รับฮอรโมนเอสโตรเจนในการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด
  • มีรอบเดือนไม่ปกติ
  • มีภาวะมีบุตรยาก
  • มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
  • ได้รับยาที่มีการทำงานเลียนแบบฮอรโมนเอสโตรเจน
  • มีโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินจนจัดอยู่ในภาวะอ้วน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติได้ เช่น

  • อายุมากกว่า 35 ปี
  • เริ่มมีประจำเดือนเร็ว หรือหมดประจำเดือนช้า
  • สูบบุหรี่
  • มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งรังไข่
  • ตนเอง หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ถุงน้ำในรังไข่ โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี หรือโรคต่อมไทรอยด์

การวินิจฉัยภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ

แพทย์จะสอบถามอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้น รวมถึงประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและคนในครอบครัวผู้ป่วย ส่วนใหญ่เมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ แพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น

  • การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจและการขูดมดลูก เพื่อนำตัวอย่างไปวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการ
  • การส่องกล้องดูความผิดปกติในมดลูก
  • การให้รับประทานยาฮอร์โมน เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

การรักษาภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติ

การรักษาภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติมักทำโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์มีทั้งชนิดรับประทานและครีมทาที่ช่องคลอด การฉีด หรือใส่ห่วงคุมกำเนิด

ในกรณีที่วินิจฉัยว่า เป็นภาวะเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบบมีเซลล์ผิดปกติร่วมด้วยและไม่ต้องการที่จะมีบุตรอีกในอนาคต แพทย์อาจแนะนำให้ตัดมดลูกออก เนื่องจากภาวะนี้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งได้มาก

ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยที่เป็นเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติแบบไม่ซับซ้อนและไม่มีเซลล์ผิดปกติซึ่งเป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งค่อนข้างน้อย

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติที่มีเซลล์ผิดปกติก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งจะสูงกว่า ดังนี้

  • กลุ่มที่มีเซลล์ผิดปกติแบบไม่ซับซ้อน (Simple atypical) จะมีโอกาสในการกลายเป็นมะเร็งได้ประมาณ 8% หากไม่ได้รับการรักษา
  • กลุ่มที่มีเซลล์ผิดปกติแบบซับซ้อน (Complex atypical) สามารถกลายเป็นมะเร็งได้ถึง 29% หากไม่ได้รับการรักษา

ระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงเป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อน หากมีอาการต่อไปนี้ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ มีเลือดประจำเดือนออกมากกว่าปกติระหว่างรอบเดือน มีรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

หากเป็นไปได้ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคน ควรได้รับการตรวจสุขภาพ ตรวจภายใน และตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี

อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดออกในผู้ที่อยู่ในวัยทอง นั่นเป็นสัญญาณอันตราย ควรพบแพทย์โดยเร็ว

ดูแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งสำหรับผู้หญิง เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Patient, Endometrial Hyperplasia (https://patient.info/womens-health/endometrial-hyperplasia-leaflet), 20 March 2020.
Verywell Health, Endometrial Hyperplasia Risks, Types, and Treatments (https://www.verywellhealth.com/endometrial-hyperplasia-risk-factors-types-and-treatments-4067214), 22 March 2020.
UpToDate, Management of endometrial hyperplasia (https://www.uptodate.com/contents/management-of-endometrial-hyperplasia), 20 March 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ไปพบคุณหมอมาค่ะ ตรวจภายใน คุณหมอแจ้งว่า เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกโตผิดที่ คำถามคือ มีทางรักษา มั้ยคะ หรือมีวิธีรักษายังไงบ้าง อันตรายถึงชีวิตมั้ยคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ดิฉันเคยผ่าตัดเดอมอยซีสมาแล้วค่ะ ก่อนผ่าตัดคุณหมอเคยบอกว่ามีอาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากดิฉันอยากจะมีบุตร จะเป็นปัญหามั้ยคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)