การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

เผยแพร่ครั้งแรก 1 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการสแกนร่างกายอีกหนึ่งประเภท โดยใช้คลื่นแม่เหล็กและคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาพภายในร่างกายออกมา

เครื่องจักร MRI มีลักษณะเป็นท่อขนาดใหญ่ที่ใช้แม่เหล็กกำลังสูง โดยผู้เข้ารับการตรวจต้องนอนอยู่ภายในท่อดังกล่าวตลอดการทดสอบ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การสแกน MRI นั้นสามารถมองทะลุเข้าไปยังแทบทุกส่วนของร่างกายของคุณ รวมไปถึง:

  • สมองและไขสันหลัง
  • กระดูกและข้อต่อ
  • เต้านม
  • หัวใจและหลอดเลือด
  • อวัยวะภายในต่าง ๆ อย่างตับ มดลูก หรือต่อมลูกหมาก เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่ได้จากการสแกน MRI มักใช้ประกอบกับการวินิจฉัยโรค วางแผนการรักษา และประเมินผลจากการรักษาที่ผ่านมา

เกิดอะไรขึ้นระหว่างการทดสอบ MRI ?

ระหว่างการสแกนร่างกายด้วย MRI คุณจะอยู่ในท่านอนราบบนเตียงที่ค่อย ๆ ขยับเข้าไปสู่ท่อสแกน แพทย์จะให้ช่วงบนหรือช่วงล่างเข้าไปในท่อก่อนนั้นขึ้นอยู่กับว่าแพทย์ต้องการภาพจากส่วนใดของร่างกายคุณ

เครื่องสแกน MRI ดำเนินการโดยนักรังสีวิทยาที่ผ่านการฝึกฝนด้านการถ่ายภาพแบบพิเศษเช่นนี้มาอย่างดี โดยพวกเขาจะเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักรที่อยู่ห้องข้างเคียงห้องทดสอบจริง เพื่อป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องสแกน

โดยคุณสามารถสื่อสารกับผู้ควบคุมได้ตลอดเวลาผ่านอินเตอร์คอม ซึ่งพวกเขาสามารถมองเห็นคุณได้ตลอดการทดสอบผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ในบางช่วงที่เครื่องจักรกำลังทำงานจะมีเสียงเคาะดังออกมา ซึ่งเป็นเสียงการไหลของกระแสไฟฟ้าภายในคอยล์ของเครื่องที่มาจากการเปิดปิดสวิตช์เอง โดยคุณจะได้รับที่อุดหูหรือหูฟังไว้ล่วงหน้า  ระหว่างการทดสอบ คุณต้องนอนให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการสแกนแต่ละครั้งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 15 นาที ไปจนถึง 90 นาที

MRI ทำงานได้อย่างไร?

พื้นที่ส่วนมากของร่างกายของมนุษย์คือโมเลกุลน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วยอะตอมไฮโดรเจนและออกซิเจน ที่ศูนย์กลางของอะตอมไฮโดรเจนเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าที่เรียกว่าโปรตอน ซึ่งโปรตอนนี้เองที่เป็นเหมือนกับแม่เหล็กขนาดจิ๋วที่อ่อนไหวต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างมาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เมื่อคุณนอนอยาภายใต้เครื่องสแกนที่มีกำลังแม่เหล็กสูง โปรตอนในร่างกายคุณจะเรียงตัวกันในทิศทางเดียวกันเหมือนกับที่แม่เหล็กโลกทำปฏิกิริยากับหน้าปัดเข็มทิศ

คลื่นวิทยุความถี่สั้นจะถูกส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดีดให้โปรตอนที่เรียงตัวกันอยู่กระจายออก เมื่อปิดคลื่นวิทยุแล้ว โปรตอนจะกลับมาเรียงกันใหม่อีกที ทำให้เกิดการปล่อยสัญญาณวิทยุออกมา โดยเครื่อง MRI จะมีตัวรับสัญญาณดังกล่าวเก็บไปเป็นข้อมูล

สัญญาณเหล่านี้จะเป็นข้อมูลของตำแหน่งโปรตอนในร่างกาย โดยยังใช้เพื่อจำแนกเนื้อเยื่อประเภทต่าง ๆ ในร่างกายเพราะโปรตอนในเนื้อเยื่อแต่ละส่วนต่างก็มีความเร็วในการจัดเรียงตัวใหม่ที่ต่างกัน ซึ่งแปลว่าสัญญาณที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน

สัญญาณจากโปรตอนหลายสิบล้านแห่งจะรวมเข้าเป็นข้อมูลภาพภายในร่างกายของมนุษย์ คล้ายกับที่พิกเซลหลายล้าน ๆ ชิ้นในจอคอมพิวเตอร์ต่อเข้าหากันจนกลายเป็นรูปภาพนั่นเอง

ความปลอดภัย

กระบวนการของการสแกน MRI นั้นปลอดภัยและไม่ก่อความเจ็บปวดใด ๆ โดยสำหรับผู้ที่มีภาวะกลัวที่แคบนั้นจะรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวเท่านั้น ซึ่งหากต้องการจริง ๆ คุณก็สามารถขอให้นักรังสีวิทยาหาวิธีช่วยผ่อนคลายตัวคุณก็ได้

การสแกน MRI ไม่มีการแผ่รังสีเอกซเรย์ออกมา ซึ่งทำให้ผู้ที่อ่อนไหวต่อผลกระทบของรังสีนั้นก็สามารถใช้วิธีการนี้ได้เมื่อจำเป็น อย่างเช่นสตรีมีครรภ์ หรือเด็กทารก เป็นต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อย่างไรก็ตาม MRI ก็ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ยกตัวอย่างเช่นผู้ที่ฝังอุปกรณ์ต่าง ๆ ในร่างกาย (อย่างเช่นเครื่องกำหนดการกระตุ้นหัวใจ)

มีงานวิจัยมากมายที่ดำเนินการหาผลสรุปว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์อย่างไรบ้าง ซึ่งยังไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่กล่าวว่าคลื่นแม่เหล็กมีความเสี่ยงต่อร่างกาย ทำให้ ณ ปัจจุบัน การสแกน MRI ก็ยังคงเป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่มีความปลอดภัยสูงอยู่

การสแกน MRI ดำเนินการเป็นอย่างไร?

การถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด โดยแต่ละครั้งของการทดสอบใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 15 ถึง 90 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ที่ทำการสแกน และจำนวนของภาพที่ถ่าย

ก่อนการสแกน

  • ในวันที่แพทย์นัดคุณมาทำ MRI คุณไม่จำเป็นต้องอดอาหารล่วงหน้าแต่อย่างใด อีกทั้งยังสามารถรับประทานยาที่ต้องทานได้อย่างปกติ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์อีกที
  • ในบางกรณี แพทย์อาจจะขอให้คุณงดรับประทานหรือดื่ม 4 ชั่วโมงก่อน เข้ารับการทดสอบ และบางครั้งแพทย์อาจให้คุณดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ ก่อน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ต้องทำการสแกน
  • เมื่อคุณมาถึงโรงพยาบาล คุณจะถูกขอให้กรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพและประวัติการใช้ยาของคุณ ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้ดูแลมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในการทดสอบ MRI ครั้งนี้
  • เมื่อคุณกรอกแบบสอบถามเสร็จสิ้นแล้ว คุณต้องทำการเซ็นใบยินยอมรับการสแกนก่อนเข้าทดสอบจริง
  • เนื่องจากเครื่องสแกน MRI มีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังสูงออกมา ทำให้คุณต้องถอดสิ่งของที่เป็นเหล็กออกจากร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น:
  • เครื่องประดับทั้งหลาย อย่างเช่นสร้อยคอ ต่างหู
  • ฟันปลอม
  • อุปกรณ์ช่วยฟัง
  • วิกผม (วิกบางประเภทมีส่วนประกอบของเหล็กอยู่)
  • สิ่งของมีค่าสามารถถูกจัดเก็บในล็อกเกอร์ที่ทางโรงพยาบาลจัดให้

คุณอาจต้องสวมใส่เสื้อคลุมยาวของทางโรงพยาบาลระหว่างการทดสอบ ขึ้นอยู่กับว่าต้องทำ MRI ที่ส่วนใดของร่างกาย หากคุณไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อคลุมยาว ก็ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่มีซิบ ไม่มีกระดุม ชุดชั้นในที่มีตะขอ หรือชิ้นส่วนที่เป็นเหล็กใด ๆ บนเสื้อ

สารทึบแสง

การสแกน MRI บางครั้งมีการฉีดสารทึบแสงที่ช่วยให้เนื้อเยื่อและหลอดเลือดที่ต้องการเด่นชัดขึ้นบนภาพ เพื่อความละเอียดของข้อมูลที่ได้

ในบางกรณี สารทึบแสงก็ทำความเสียหายแก่เนื้อเยื่อและอวัยวะได้อย่างโรคไตรุนแรง หากคุณมีประวัติเป็นโรคไตมาก่อน คุณอาจต้องผ่านการทดสอบเลือดก่อน เพื่อตรวจความพร้อมและการทำงานของไตคุณเพื่อความปลอดภัยทั้งระหว่างและหลังการสแกนด้วย MRI

หากคุณมีประวัติการแพ้รุนแรง หรือมีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการฉีดสารทึบแสง

ยาชาและยาระงับประสาท

การตรวจแบบ MRI ไม่สร้างความเจ็บปวดใด ๆ ขณะดำเนินการ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาชา ยกเว้นหากคุณมีภาวะกลัวที่แคบ คุณสามารถขอให้แพทย์ใช้ยาระงับประสาทแบบอ่อนเพื่อความผ่อนคลายได้ ซึ่งคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาดังกล่าว

หากคุณตัดสินใจใช้ยาระงับประสาท คุณต้องมีผู้คอยรับส่งคุณหลังการทดสอบด้วยเนื่องจากฤทธิ์ของยาระงับประสาทจะทำให้คุณไม่สามารถขับขี่ได้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

สำหรับการใช้ยาสลบนั้น มักใช้กับเด็กเล็กและเด็กทารกที่ต้องเข้าตรวจ MRI เนื่องจากการตรวจนี้ต้องให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนนิ่ง ๆ บนเตียงตลอดการสแกน

ระหว่างการสแกน

เครื่องจักร MRI มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสั้น ๆ ที่มีปลายเปิดทั้งสองด้าน ผู้รับการตรวจต้องนอนบนเตียงที่จะค่อย ๆ เลื่อนอยู่ช่องว่างตรงกลางเข้าไปในตัวเครื่อง ซึ่งจะเป็นการนอนเอาศีรษะเข้าหรือเท้าเข้าก่อนนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ต้องการภาพ

ในบางกรณีอาจมีการวางเฟรมบนส่วนของร่างกายที่ต้องการสแกนอย่างบนหน้าอกหรือศีรษะ โดยเฟรมดังกล่าวจะมีตัวรับสัญญาณที่ออกมาจากร่างกายของคุณ ช่วยให้ภาพออกมามีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น

เครื่อง MRI จะทำงานโดยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในห้องอื่นเพื่อป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มาจากตัวเครื่อง MRI เอง

ช่างรังสีวิทยาจะเริ่มการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ทำให้พวกเขาไม่ได้อยู่ในห้องตรวจเดียวกับผู้เข้ารับการตรวจ แต่ก็สามารถสื่อสารกับพวกเขาได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์อินเตอร์คอม และพวกเขาก็สามารถสอดส่องคุณได้ตลอดเวลาผ่านหน้าจอโทรทัศน์

ระหว่างการสแกน สมาชิกในครอบครัวหรือผู้ที่มาเป็นเพื่อนผู้เข้ารับการตรวจสามารถอยู่ในห้องเดียวกับคุณได้ ซึ่งบุคคลที่สามเองก็ต้องไม่มีอุปกรณ์ในร่างกายอย่างเครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ หรือสิ่งของที่เป็นเหล็กอื่น ๆ ในร่างกาย หรือแปลได้ว่าแขกเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเดียวกับผู้เข้ารับการตรวจเช่นกัน

เพื่อไม่ให้ภาพเบลอ ผู้เข้ารับการตรวจต้องนอนให้นิ่งที่สุดตลอดการสแกน หรือจนกว่าช่างจะบอกให้คุณผ่อนคลายได้

การสแกนเดี่ยว ๆ จะกินเวลาตั้งแต่ไม่กี่วินาทีไปจนถึง 3 หรือ 4 นาที คุณอาจต้องกลั้นลมหายใจบางช่วงของการสแกน ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ที่ทำการสแกนและจำนวนภาพที่ถ่าย โดยขั้นตอนโดยรวมจะกินเวลาประมาณ 15 ถึง 90 นาที

เครื่องสแกน MRI จะมีเสียงเคาะดังเป็นบางช่วง ซึ่งเป็นเสียงจองกระแสไฟฟ้าในคอยล์เครื่องที่ถูกเปิดและปิด ซึ่งระหว่างการสแกน ผู้รับการตรวจจะได้สวมใส่ที่อุดหูหรือหูฟังไว้

หากคุณต้องการก็สามารถนำเพลงเข้าไปฟังระหว่างการสแกนได้

คุณจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากเครื่องสแกนทันทีที่เสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว

หลังจากสแกนเสร็จสิ้น

การตรวจ MRI นับเป็นกระบวนการสำหรับผู้ป่วยนอก คุณจึงสามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องค้างที่โรงพยาบาล ซึ่งคุณก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปรกติ

อย่างไรก็ตาม หากคุณได้รับยากล่อมประสาท ต้องมีบุคคลที่สามหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นคนพาคุณกลับบ้านเนื่องจากคุณห้ามไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะหรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ผลการสแกน MRI จะถูกวิเคราะห์โดยนักรังสีวิทยา (แพทย์ที่ฝึกฝนทักษะตีความผลเอกซเรย์และผลสแกน) ซึ่งอาจต้องมีการติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ อีก ทำให้ส่วนใหญ่คุณไม่อาจฟังผลการสแกนทันทีที่เสร็จสิ้นกระบวนการ

นักรังสีวิทยาจะส่งรายงานไปยังแพทย์เจ้าของไข้ที่จัดการสแกนให้คุณ และจะเป็นคนชี้แจงผลการสแกนกับคุณ โดยมักจะใช้เวลาประมาณสัปดาห์สองสัปดาห์ก่อนที่ผลจะส่งไปยังแพทย์ นอกเสียจากว่าเป็นกรณีเร่งด่วน

ใครสามารถทำการสแกน MRI ได้บ้าง?

  • การตรวจ MRI มีความปลอดภัยสูง ทำให้แม้แต่สตรีตั้งครรภ์หรือเด็กทารกก็สามารถรับการตรวจนี้ได้
  • อย่างไรก็ตามก็มีบางกรณีที่ไม่แนะนำให้ใช้ MRI เนื่องจากการสัมผัสกับแม่เหล็กกำลังสูง อย่างผู้ที่ปลูกฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในร่างกาย เป็นต้น
  • ก่อนการทำ MRI คุณต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแลคุณหากว่า:
  • คุณคิดว่ามีเหล็กฝังอยู่ในร่างกายของคุณ
  • คุณกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร

ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการทำ MRI นั้นส่งผลต่อการตั้งครรภ์ แต่เพื่อการป้องกันทำให้การสแกน MRI มักไม่แนะนำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์เข้าตรวจ โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ได้เพียง 3 เดือน

การฝังโลหะหรือมีชิ้นส่วนโลหะในร่างกาย

การที่มีเหล็กภายในร่างกายไม่ได้หมายความว่าคุณห้ามเข้ารับการตรวจ MRI มันเป็นเพียงประเด็นที่ทีมแพทย์ต้องทราบก่อนดำเนินการ MRI

หากมีความเสี่ยงข้อนี้ พวกเขาจะทำการตัดสินใจดำเนินการไปตามกรณี หรือหาแนวทางรับมือเพื่อให้การสแกนเป็นไปด้วยความปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น การหาวิธีที่ทำให้ผู้ที่ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าที่ปลอดภัยต่อกรรมวิธี MRI หรือวิธีการสอดส่องอัตราการเต้นของหัวใจผู้รับการตรวจขณะดำเนินการ เป็นต้น

หากคุณไม่แน่ใจว่ามีเศษโลหะในร่างกายหรือไม่ อาจต้องทำการเอกซเรย์ก่อน

ตัวอย่างของการฝังโลหะหรือเศษโลหะในร่างกายมีดังต่อไปนี้:

เครื่องกระตุ้นหัวใจ: อุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

เครื่องกระตุกหัวใจ: คล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจข้างต้น เพียงแต่อุปกรณ์ชิ้นนี้จะใช้ไฟฟ้าในการทำการกระตุ้นหัวใจ แผ่นโลหะ สายโลหะ หรือท่อโลหะ: ซึ่งเป็นอุปกรณ์ศัลยกรรมดามกระดูกที่หัก

เครื่องกระตุ้นประสาท: เป็นอุปกรณ์แบบฝังที่ช่วยในเรื่องอาการเจ็บปลายประสาทระยะยาว

ประสาทหูเทียม: อุปกรณ์ที่คล้ายกับอุปกรณ์ช่วยฟังที่ฝังเข้าไปในหู

อุปกรณ์ปั้มยา: เป็นอุปกรณ์สำหรับรักษาอาการเจ็บปวดระยะยาวโดยการฉีดยาระงับความเจ็บปวดเข้าไปในส่วนของร่างกายโดยตรง อย่างหลังส่วนล่าง

คลิปสำหรับโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง: เป็นคลิปโลหะที่ใช้ติดหลอดเลือดภายในสมองที่มีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดการฉีกขาดขึ้น

เศษโลหะภายในหรือใกล้ดวงตา หรือหลอดเลือด: มักพบกรณีเช่นนี้ได้กับผู้ที่ประกอบอาชีพเชื่อมเหล็ก ลิ้นหัวใจเทียม

แกนองคชาตเทียม: ซึ่งช่วยเรื่องการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

อุปกรณ์ที่ฝังในดวงตา: อย่างคลิปเหล็กที่ช่วยติดคงสภาพเรตินา

ห่วงอนามัย: อุปกรณ์คุมกำเนิดที่ผลิตจากพลาสติกและทองแดงที่สวมเข้าช่องคลอด

ข้อต่อเทียม: อย่างที่ใช้กันในการผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกสะโพก เป็นต้น

ที่อุดฟัน และสะพานฟัน

คลิปที่ใช้ผูกท่อนำไข่: ที่ใช้ในการทำหมันให้สตรี

ลวดเย็บแผลผ่าตัด

รอยสัก

หมึกที่ใช้สักบางประเภทมีส่วนผสมของเหล็กอยู่ ซึ่งรอยสักส่วนมากจะปลอดภัยต่อการทำ MRI กระนั้น ระหว่างการสแกน หากคุณรู้สึกแสบร้อนหรือไม่สบายที่รอยสักของคุณต้องรีบแจ้งนักรังสีวิทยาในทันที


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Benefits and Risks. U.S. Food and Drug Administration (FDA). (https://www.fda.gov/radiation-emitting-products/mri-magnetic-resonance-imaging/benefits-and-risks)
Biological Effects and Safety in Magnetic Resonance Imaging: A Review. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2705217/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)