7 โรคและอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ ที่มักเกิดในผู้สูงอายุ

การเสื่อมตามอายุของ กระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คำแนะนำวิธีรักษา ชะลอความเสื่อม และการป้องกันตามวิธีทางกายภาพบำบัด
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
7 โรคและอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ ที่มักเกิดในผู้สูงอายุ

ความเสื่อมถอย (Degeneration) ของการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายแปรผันตามอายุที่มากขึ้น หนึ่งในระบบของร่างกายที่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประวันของผู้สูงอายุมากที่สุด ก็คือระบบ กระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งมีองค์ประกอบ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อลาย (Skeleton muscle) หมอนรองกระดูก เอ็นยึดกระดูก (Ligament) นอกจากนี้เมื่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเสื่อมถอย ยังอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง จนส่งผลให้ข้อต่อผิดรูป เกิดการสูญเสียความสามารถในการดูและตนเอง และอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นนำไปสู่การเสียชีวิตได้ทีเดียว การสังเกตอาการตั้งแต่เนิ่นๆ หรือศึกษาวิธีชะลอความเสื่อมไว้จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

7 ความเสื่อมถอยของระบบ กระดูกและกล้าม เนื้อที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

ความเสื่อมถอยของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่พบได้ในผู้สูงอายุมีมากมาย และทุกส่วนมีความเกี่ยวข้องกันอย่างซับซ้อน ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 7 ความเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วย-ผู้สูงอายุวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

1. ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis knee)

เป็นการเสื่อมของร่างกายที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าข้อเข่าจะเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย แต่เสื่อมได้เพราะต้องรับน้ำหนักของร่างกายขณะทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดเวลา

อาการข้อเข่าเสื่อมมักเป็นไปอย่างช้าๆ เมื่อผิวข้อเสื่อมมากจะทำให้มีอาการปวดในข้อเข่า เคลื่อนไหวลำบาก รู้สึกฝืดในข้อ หากอาการรุนแรงมากอาจจะทำให้ข้อเข่าผิดรูปไป เช่น แอ่นหรือโก่ง นอกจากนี้อาจจะมีช่วงการเคลื่อนไหวที่ลดลง ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในการดำรงชีวิตประจำวัน

อ่านเพิ่มเติม: การตรวจประเมินข้อเข่า

2. กระดูกพรุน (Osteoporosis)

เกิดจากการลดลงของมวลกระดูก ซึ่งโดยปกติแล้วกระดูกพรุนไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม หรือได้รับการกระแทก ก็จะส่งผลให้กระดูกที่เปราะบางหักได้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลให้กระดูกผิดรูป

การผิดรูปที่พบบ่อยเกิดจากการหกล้มแล้วใช้มือยันที่พื้น ทำให้กระดูกข้อมือหักและต่อกันได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ข้อมือมีรูปร่างคล้ายช้อน (Silver fork deformity) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจำนวนมากว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีภาวะกระดูกพรุนและหกล้มไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และเสียชีวิตภายในระยะเวลา 1 ปี รวมถึงมีการศึกษาอีกหลายฉบับยังชี้ให้เห็นถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การติดเชื้อซึ่งเกิดจากภาวะติดเตียง ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

3. กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical osteoporosis)

เป็นภาวะที่เริ่มพบได้ในวัยกลางคนและพบมากในผู้สูงอายุ เกิดจากการเสื่อมของกระดูกสันหลัง คอประกอบด้วยข้อต่อชิ้นเล็กๆ และมีรูปร่างเป็นแง่ง และมีส่วนที่เสียดสีกันมากอยู่แล้ว เมื่อมีการเสียดสีมากจึงเกิดการเสื่อมซึ่งลักษณะการเสื่อมของกระดูกสันหลังจะมีลักษณะพิเศษคือ เกิดการรวมตัวของแคลเซียมที่ร่างกายพยายามจะนำมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเกิดเป็นก้อนหินปูนขึ้น (Osteophyte) ซึ่งก้อนหินปูนี้ก็จะขัดขวางการเคลื่อนไหวของกระดูกคอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วย-ผู้สูงอายุวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากนี้กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมยังอาจจะไปกดทับรากประสาท (Nerve root) ส่งผลให้เกิดอาการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน หรือหากอาการรุนแรงมาก หินปูนกดทับสันสันหลัง ก็จะทำให้เกิดการอ่อนแรงตั้งแต่ระดับคอลงไป ผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถเดินหรือควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสาวะและอุจาระได้ จนอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุ

4. กระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม

เนื่องจากเป็นกระดูกสันหลังเช่นเดียวกับกระดูกสันหลังส่วนคอ จึงมีกลไกการเกิดอาการและอาการแสดงคล้ายกัน แต่เกิดขึ้นที่ระดับเอว ได้แก่ อาการปวดหลัง อาจจะมีอาการชาร้าวลงขาหรือขาอ่อนแรงร่วมด้วย

5. กล้ามเนื้ออ่อนแรง

เมื่ออายุมากขึ้น จำนวนและการขยายของเส้นใยกล้ามเนื้อจะลดลง รวมถึงประเภทของกล้ามเนื้อยังเปลี่ยนไป มีการสะสมไขมันมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อมีประสิทธิการทำงานลดลง ทั้งในด้านความแข็งแรง ความทนทาน และความยืดหยุ่น ส่งผลให้ผู้สูงอายุปวดเมื่อยง่ายและเคลื่อนไหวน้อยลง สิ่งเหล่านี้ยิ่งสนับสนุนให้กล้ามเนื้อยิ่งฝ่อลีบไปอีก

สุดท้ายกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะส่งผลต่อกิจกรรมที่ผู้สูงอายุทำได้ในชีวิต ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และต้องเผชิญกับโรคแทรกซ้อนจำนวนมาก

6. การเสื่อมของผิวข้อต่อ

อาการนี้นำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการทรงตัว เนื่องจากการทรงตัวประกอบไปด้วยการทำงานร่วมกันของสามระบบใหญ่ๆ ได้แก่ การมองเห็น การทรงตัวในหูชั้นใน และการรับรู้การเคลื่อนไหวของข้อต่อ

เมื่อผิวของข้อต่อเสื่อมสภาพหรือสึกหรือจากการใช้งาน ก็จะทำให้การรับรู้ตำแหน่งของข้อต่อเปลี่ยนไปและส่งผลต่อการทรงตัว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วย-ผู้สูงอายุวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากนี้ การเสื่อมของข้อต่อซึ่งมีการอักเสบรอบๆ ข้อ ยังส่งผลให้เกิดการบวมและเจ็บปวด เมื่อเป็นร่วมกับการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ก็จะยิ่งสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการส่งตัวลงอีก

7. ความทนทานและความสามารถในการเดินลดลง

การลดลงของความทนทานของกล้ามเนื้อและความสามารถในการทรงตัวที่ลดลง ส่งผลให้ผู้สูงอายุก้าวเดินได้ช้าลง มีความมั่นใจในการเดินน้อยลง เป็นเหตุให้การเคลื่อนไหวลดลงและส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมในที่สุด

หัวใจหลักของการลดความรุนแรงของความเสื่องของระบบ กระดูกและกล้ามเนื้อ

ถึงแม้ว่ากระบวนการเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ รวมถึงสมรรถภาพของร่างกายจะเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามามีบทบาทในการป้องกันและชะลอความเสื่อมเหล่านี้มาก

หัวใจหลักของการการความรุนแรงและชะลอความเสื่อมของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ มีด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้

  1. การป้องกันความเสื่อมถอย ความเสื่อมหลายชนิดของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อสามารถป้องกันได้ เช่น การวางแผนการเสริมแคลเซียมเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุน โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน รวมทั้งการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยร่างกายเสื่อมถอย
  2. การชะลอความเสื่อม เมื่อความเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว การชะลอให้กระบวนการเสื่อมเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เช่น ในกรณีของกระดูกสันหลังส่วนคอหรือข้อเข่าเสื่อม การหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม เช่น งดยกของหนัก ลดการทำงานที่ต้องก้มๆ เงย รวมถึงการเดินขึ้น-ลง บันได จะมีผลอย่างมากต่อการลดความจำเป็นในการผ่าตัดเพื่อรักษาลง
  3. การฟื้นฟูและรักษาแบบประคับประคองอาการ การรับการรักษาและฟื้นฟูที่ถูกต้องและเหมาะสมกับอาการ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันในระดับที่ใกล้เคียงกับที่เคยทำแต่เดิม และเหมาะสมกับความสามารถของตัวเองได้ ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เช่น ผู้สูงอายุที่ภาวะเสื่อมของข้อเข่าอย่างมาก แต่ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ การเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนก่อนมีอาการข้อเข่าเสื่อมก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละรายไป
  4. การให้ความรู้แก่คนใกล้ชิดและการปรับสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวได้เองมากที่สุดตามความสามารถ ความเข้าใจของญาติต่อการผู้ป่วย รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ มีส่วนอย่างมากต่อการฟื้นฟูและสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ผู้ป่วยที่มีข้อเข่าเสื่อม นอกจากให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลและบรรเทาอาการเบื้องต้นด้วยการออกกำลังกายและวิธีทางกายภาพบำบัดแล้ว นักกายภาพบำบัดอาจจะเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะสมให้ หรือแนะนำให้ทำทางลาดเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเดินเข้า-ออกบ้านได้สะดวก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ตามเดิม

บทบาทของกายภาพบำบัดต่อการเสื่อมของ กระดูกและกล้ามเนื้อ ในผู้สูงอายุ

บทบาทของนักกาภาพบำบัดต่อการป้องกัน ชะลอ และฟื้นฟูความเสื่อมของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ จะเน้นไปที่การออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ การลดความเจ็บปวดที่เกิดด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด เช่น การประคบร้อน-เย็น การใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ เลเซอร์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่าทางที่ถูกต้องในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ให้ความรู้แก่ญาติและผู้ป่วยในการดูแลและฟื้นฟูตนเองที่บ้าน ช่วยเลือกอุปกรณ์พยุงส่วนที่มีปัญหาและเครื่องช่วยเดินให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย

นอกจากนี้ การให้ความรู้เรื่องกายศาตร์และการปรับสภาพแวดล้อม (Ergonomics) แก่ผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องได้รับการออกแบบสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสมเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นเรื่องที่สามารถเตรียมรับมือได้ นอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองแล้ว ยังมีผลทางอ้อมด้านจิตใจและอารมณ์ของผู้งอายุด้วย

ความเสื่อมของร่างกายเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกับความเสื่อมได้อย่างมีความสุข


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
World Health Organization. WHO Guidelines on Integrated Care for Older People (ICOPE). 2017.
Thoomes, E J. “Effectiveness of manual therapy for cervical radiculopathy, a review.” Chiropractic & manual therapies vol. 24 45. 9 Dec. 2016.
Leyland S, Clark E, Gray A. The role of exercise after osteoporotic vertebral fracture. Injury. 2019 Apr;50(4):825-826.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)