กินอาหารที่มีเชื้อราเข้าไป ทำอย่างไรดีนะ?

เผยแพร่ครั้งแรก 18 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
กินอาหารที่มีเชื้อราเข้าไป ทำอย่างไรดีนะ?

การเห็นขนมปังมีราขึ้นเพียบ หลังจากกัดไปแล้วครึ่งค่อนก้อน คงเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครอยากเจอ เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่าอาหารขึ้นรานั้นไม่ดีต่อสุขภาพแน่ๆ แต่ด้วยสภาพอากาศบ้านเราที่ร้อนและชื้น ปัญหาอาหารขึ้นรานั้นคงหลีกเลี่ยงได้ยาก และถ้าเราดันเผลอกินเชื้อราเข้าไปแล้วล่ะ? จะเป็นอันตรายต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน? และเราควรทำอย่างไร?

กินเชื้อราเข้าไป อันตรายหรือเปล่า?

อาหารปนเปื้อนราที่เรากินเข้าไปจะเป็นอันตรายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อรา หากเป็นราที่ไม่มีพิษก็อาจไม่เกิดอาการอะไรเลย ตัวอย่างเช่นเชื้อราสายพันธุ์ Penicillium ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์ยา penicillin คนที่มีภูมิคุ้มกันปกติทานเข้าไปจะไม่เป็นอันตราย แต่หากเป็นคนที่แพ้เชื้อราหรือแพ้ยา penicillin ก็อาจเป็นอันตรายได้

แต่ถ้าราที่เราเผลอทานเข้าไปเป็นราที่มีพิษ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยราในอาหารอาจเป็นพิษต่อตับ ไต ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้มีอาการผิดปกติ เช่น

  • หากเป็นสารพิษที่ไม่รุนแรง และมีปริมาณน้อย อาจทำให้ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และอ่อนเพลียได้
  • สารอัลฟาท็อกซินจากเชื้อรา อาจทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รักษาก็อาจกลายเป็นมะเร็งตับได้
  • เกิดการอักเสบที่ผิวหนังและเยื่อเมือกในทางเดินอาหาร ทำให้แสบร้อนในปาก คอ หลอดอาหาร ลิ้นพองโต
  • สาร Trichothecene ซึ่งเป็นพิษที่ดูดซึมได้ทั้งทางลำไส้และการหายใจ อาจทำให้เกิดจุดเลือดออกที่ผิวหนังได้
  • สาร Ergot alkaloids อาจทำให้ปวดศีรษะรุนแรง ความดันต่ำ ชีพจรเต้นช้า เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด แขนขาชา ไปจนถึงขั้นสั่นและชักกระตุกได้ ซึ่งหากอาการรุนแรง อาจทำให้หลอดเลือดแดงเล็กหดเกร็ง และเซลล์ขาดเลือดได้ แต่สารนี้ดูดซึมทางลำไส้ได้น้อย
  • เซลล์เยื่อบุไตถูกทำลาย ทำให้ไตฝ่อ และมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดหลัง ปัสสาวะเป็นเลือด จนอาจเกิดไตวายเรื้อรังได้
  • คนที่แพ้เชื้อราบางชนิด อาจมีอาการรุนแรงคือความดันต่ำ หายใจลำบาก หัวใจล้มเหลว ช็อก และเสียชีวิตได้

หากเผลอกินเชื้อราเข้าไป ควรทำอย่างไร?

อันดับแรก หากรู้ตัวว่าอาหารที่กำลังทานอยู่มีเชื้อรา ต้องหยุดทานทันที และเก็บอาหารใส่ถุงทิ้ง แน่นอนว่าคนทั่วไปมักแยกชนิดเชื้อราไม่ได้ด้วยตาเปล่า เราจึงไม่รู้ว่าราที่เผลอทานเข้าไปมีพิษหรือไม่ ทำได้เพียงสังเกตอาการเป็นระยะ หากมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ต้องทำให้อาเจียนเพื่อขับสารพิษออก และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ซึ่งแพทย์ก็จะรักษาประคับประคองตามอาการ อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อราเข้าไปเป็นประจำโดยไม่รู้ตัว เพราะจะทำให้เกิดความเจ็บป่วยเรื้อรังที่รักษาได้ลำบาก ดังนั้น จึงควรระมัดระวังและดูให้ดีก่อนว่าอาหารที่เราทานไม่มีเชื้อราปนอยู่

การหลีกเลี่ยงเชื้อราในอาหาร?

ไม่ใช่แค่อาหารหมดอายุเท่านั้นที่มีราขึ้นได้ แต่อาหารและพืชผักที่เก็บไว้ในที่อับชื้นก็สามารถพบเชื้อราได้ทั้งนั้น ราในอาหารจะมีลักษณะเป็นจุดๆ หรือเป็นเส้นๆ ซึ่งสามารถแผ่ขยายเข้าไปในเนื้ออาหารได้ วิธีการหลีกเลี่ยงเชื้อราในอาหาร ทำได้ดังนี้

  • ให้สังเกตอาหารก่อนทานทุกครั้ง หากพบว่าอาหารมีราขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการทานและการสูดดมเด็ดขาด แต่ให้เก็บใส่ถุง มัดให้มิดชิด และทิ้งทันที โดยเฉพาะในอาหารปรุงสุก อาหารสำเร็จรูป ขนมปัง เนื้อสัตว์ โยเกิร์ต ผักผลไม้เนื้ออ่อน แม้พบเชื้อราเพียงเล็กน้อยก็ให้ทิ้งทั้งหมด
  • ควรเก็บอาหารและพืชผักที่ขึ้นราได้ง่าย เช่น หอม กระเทียม ถั่วลิสงป่น กุ้งแห้ง ไว้ในที่แห้ง และมีอากาศถ่ายเท
  • ผักชนิดแข็ง เช่น หัวแครอท มันเทศ กะหล่ำปลี หากมีราขึ้น ให้ตัดส่วนที่เป็นราทิ้งไป และนำส่วนที่เหลือมาปรุงอาหารได้ เนื่องจากสายของราไม่แผ่เข้าไปในเนื้ออาหาร

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
When it's OK to eat moldy food. Health.com. (https://www.health.com/food/eating-moldy-food-when-its-ok-when-its-not)
Is Moldy Food Dangerous? Not Always. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/is-moldy-food-dangerous)
Is It Safe to Eat Moldy Bread?. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/can-you-eat-bread-mold)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป