นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป
เขียนโดย
นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เกิดอะไร ทำไมเราถึงปวดหูเวลาขึ้นเครื่องบิน?

ไขคำตอบที่ค้างคามานาน ทำไมขึ้นเครื่องบินถึงปวดหู มีวิธีไหนช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง เพื่อให้หายปวดหูอย่างปลอดภัย
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เกิดอะไร ทำไมเราถึงปวดหูเวลาขึ้นเครื่องบิน?

ปัจจุบันการโดยสารโดยเครื่องบินเป็นที่นิยม เพราะสะดวก รวดเร็ว และราคาไม่สูงนัก หลายคนคงสังเกตว่าตอนเครื่องบินขึ้น หรือลงจอด มักจะมีอาการหูอื้อบ้าง ปวดหูบ้าง จากการศึกษาพบว่าผู้โดยสารในสายการบินพาณิชย์ที่มีอาการปวดหูหลังโดยสารเครื่องบินตรวจร่างกายพบความผิดปกติของหู 10% ในผู้ใหญ่ และ 22% ในเด็ก คงเกิดคำถามขึ้นมาแล้วว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร ต้องไปพบแพทย์เมื่อไร มีวิธีแก้อย่างไร สามารถหาคำตอบได้จากบทความดังต่อไปนี้

ปวดหูบนเครื่องบินโดยเฉพาะตอนเครื่องขึ้น-ลง เป็นเพราะอะไร?

ในร่างกายคนเรามีท่อที่เชื่อมระหว่างคอหอยกับหูชั้นกลาง มีชื่อเรียกว่าท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร ทำหน้าที่คอยควบคุมสมดุลความดันระหว่างหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอก สังเกตได้จากเวลาเรากลืนน้ำลายจะได้ยินเสียงคลิกในหู เนื่องจากมีอากาศผ่านเข้าไปในหู เกิดแรงสั่นสะเทือนที่เยื่อแก้วหูนั่นเอง เวลาที่เครื่องบินขึ้นหรือลงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศอย่างรวดเร็ว หากท่อยูสเตเชียนปรับสมดุลความดันไม่ทัน หรืออาจอุดตันจากการเป็นหวัด บวมจากการแพ้ บวมจากการอักเสบติดเชื้อ ทำให้เกิดความต่างระหว่างอากาศภายในหูชั้นกลางกับภายนอก เยื่อแก้วหูจึงถูกดึงจากความกดอากาศ ทำให้มีอาการปวดหูและหูอื้อได้ ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากท่อยูสเตเชียนในเด็กมีขนาดเล็กกว่าจึงอุดตันได้ง่ายกว่านั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ปวดหูอันตรายหรือไม่ แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ?

อาการปกติที่พบได้จากการที่ท่อยูสเตเชียนปรับสมดุลไม่ทัน ได้แก่ อาการปวดหู อาการหูตึงได้ยินเสียงลดลง อาการหูอื้อ และอาการรู้สึกไม่สบายในหู อาการเหล่านี้มักจะหายไปได้เองทันทีที่คุณกลืนน้ำลายหรือหาว แต่ถ้ามีอาการรุนแรงผิดปกติ ได้แก่ มีอาการปวดหูมาก มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน สูญเสียการได้ยิน หรือมีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาจากหู อาการเหล่านี้ถือว่าผิดปกติและเป็นอันตราย รวมถึงหากมีอาการปกติ แต่เป็นนานไม่หายไปหลังจากลงจากเครื่องบินแล้ว สมควรไปรับการตรวจหูโดยที่ส่องหู (Otoscope) และพิจารณารักษาโดยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist) การรักษาโดยแพทย์มีตั้งแต่การให้ยาลดอาการบวมของท่อยูสเตเชียน (Decongestant) ไปจนถึงการเจาะเยื่อแก้วหูเพื่อปรับสมดุลความดันอากาศและระบายของเหลวที่อยู่ภายในหูชั้นกลาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

การที่มีเลือดหรือของเหลวสะสมภายในหูชั้นกลางเกิดจากการอุดตันของท่อยูสเตเชียนซึ่งเป็นทางเดียวที่จะสามารถระบายของเหลวออกมาจากหูชั้นกลางได้ ซึ่งถ้าสะสมมากๆ จนดันเยื่อแก้วหูขาด หรือเยื่อแก้วหูฉีกขาดจากแรงดันบรรยากาศก็จะออกมาทางรูหูนั่นเอง

จะรับมืออาการปวดหูบนเครื่องบินอย่างไรได้บ้าง?

การเตรียมพร้อมรับมือกับอาการปวดหูบนเครื่องบินก็คือการทำให้ท่อยูสเตเชียนที่หูทั้งสองข้างเปิดโล่ง หากในช่วงนั้นมีอาการเป็นหวัด มีการอักเสบติดเชื้อของหู มีอาการแพ้ อาจเลื่อนตารางการบินให้ออกไปก่อนจนกว่าอาการเหล่านี้จะดีขึ้น แต่ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องเดินทางโดยเครื่องบินในช่วงที่มีอาการจริงๆ แนะนำให้หายาช่วยลดอาการคัดแน่นภายในโพรงเยื่อจมูกมารับประทานก่อนขึ้นเครื่องบินประมาณหนึ่งชั่วโมง และใช้ต่อเนื่องในขณะบินตามขนาดยาที่ระบุในฉลาก

ยาจำพวกนี้ เช่น ยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) อาจมีผลข้างเคียงได้ และในปัจจุบันอาจหาซื้อตามร้ายขายยาไม่ได้ เนื่องจากมีผู้นำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด อาจเลือกใช้ยาแก้แพ้ หรือใช้สเปรย์ลดอาการบวมฉีดพ่นจมูกแทน หรือในปัจจุบันมีที่อุดหูชนิดพิเศษ (Ear plug) ก็สามารถช่วยชะลอการเปลี่ยนความดันบรรยากาศบรรเทาอาการปวดหูได้

ในคนที่เกิดอาการปวดหูบ่อยๆ ควรจะตื่นในระหว่างที่เครื่องขึ้นและลงเพื่อแก้อาการปวดหู และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างที่ไม่รู้สึกตัว และในเด็กทารกควรให้ดูดนมหรือดูดจุกนมในระหว่างนี้เช่นกัน เพื่อรักษาให้ท่อยูสเตเชียนทำงานปรับสมดุลความดันบรรยากาศได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

ทำอย่างไรอาการหูอื้อระหว่างขึ้นเครื่องบินถึงจะดีขึ้น?

หากมีอาการปวดหูขณะอยู่ในเครื่องบิน ให้อมลูกอมหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง แต่ถ้าไม่มีให้กลืนน้ำลายบ่อยๆ หรือพยายามหาวเพื่อช่วยกำจัดสิ่งอุดตันและเปิดท่อยูสเตเชียนให้ปรับความดันได้ดังเดิม ถ้าวิธีที่กล่าวใช้ไม่ได้ผล อาจลองใช้นิ้วมือบีบจมูก หายใจเข้าผ่านปาก แล้วพยายามหายใจออกผ่านจมูกในขณะที่บีบจมูกอยู่นั้น จนกว่าจะได้ยินเสียงคลิกออกที่หูทั้งสองข้าง วิธีนี้ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ทำแรงเกินไป และหยุดทำทันทีที่ได้ยินเสียงคลิกที่หูทั้งสองข้างแล้ว เนื่องจากหากยังทำต่อไปอาจส่งผลทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
American Academy of Otolaryngology–Head and Neck Surgery Foundation, Ears and Altitude (Barotrauma) (https://www.enthealth.org/conditions/ears-and-altitude-barotrauma/?fbclid=IwAR3dY-JMNztKohjeFtfopVvK-wq2QgmZd077cCcJI_NFNNABjN_ChA0fIdQ), August 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป