กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรคที่เกิดกับหู

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคที่เกิดกับหู

เราแบ่งโรคที่เกิดกับหูออกเป็น 3 กลุ่ม ตามตำแหน่งที่เกิดกับหูแต่ละส่วน ดังนี้

1. โรคที่เกิดกับหูส่วนนอก

ปวดหู

สาเหตุ อาการปวดหูอาจมาจากโรคหูโดยตรงหรือมาจากการเป็นโรคอื่นในบริเวณใกล้เคียงแล้วทำให้มีอาการปวดหู โดยทั่วไปอาการปวดที่มาจากโรคหูโดยตรงมักมีอาการหูอื้อ ฟังไม่ค่อยได้ยิน หรือได้ยินไม่ชัด และมักมีความผิดปกติของหูร่วมด้วย เช่น ใบหูบวมอักเสบ ช่องหูอักเสบ มีสิ่งแปลกปลอมในรูหู ขี้หูอุดตัน เยื่อแก้วหูอักเสบ เยื่อแก้วหูทะลุ หรือหูส่วนกลางอักเสบ เป็นต้น
ถ้าปวดหูจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคของหูมักจะไม่มีความผิดปกติดังกล่าวข้างต้น อาการปวดหูที่เกิดขึ้นอาจมาจากการปวดร้าวของอวัยวะอื่นๆ ที่ลามมาที่หู เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ปวดฟัน

อาการปวดฟันมักร้าวไปถึงหูได้โดยเฉพาะการปวดฟันกรามร่าง สาเหตุมักจะเกิดจากฟันผุ โพรงรากฟันอักเสบ หรือเหงือกอักเสบ เป็นต้น

ข้อขากรรไกรอักเสบ

ข้อต่อบริเวณขากรรไกรอาจสึกหรอหรือหลวมแล้วเกิดการอักเสบปวดไปถึงหูได้เช่นกัน นอกจากนั้นอาจเกิดจากการเคี้ยวที่ผิดปกติ เช่น ชอบเคี้ยวน้ำแข็งเล่น เคี้ยวอาหารข้างเดียว หรือนอนกัดฟัน

แผลในช่องปาก แผลที่ลิ้น โดยเฉพาะโคนลิ้น เพดานปาก หรือบริเวณหลังฟันกราม

ทอนซิลอักเสบ คอหอยอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือมีสิ่งแปลกปลอมติดคอ ทำให้เกิดอาการปวดร้าวจากคอลงมาถึงหู

อาการปวดหูที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากโรคของหูจะหายไป ถ้ารักษาโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดหูนั้นให้หาย

สาเหตุ โรคเชื้อราในช่องหูจะเกิดบริเวณผนังช่องหูส่วนนอก มักพบหลังเล่นน้ำหรือใช้ไม้แคะหูร่วมกันคนที่เป็นโรคนี้
อาการแสดง ผู้ป่วยจะมีอาการคันมาก อาจมีอาการปวดหูหรือหูอื้อร่วมด้วย บริเวณผนังช่องหูส่วนนอกจะมีลักษณะเป็นขุยๆ สีขาว
การรักษา ใช้สำลีชุบเจนเชี่ยลไวโอเลต หรือเบตาดีน เช็ดผนังช่องหู หรือใช้ครีมรักษาเชื้อราโดยตรงทาตามผนังช่องหู วันละ 3-4 ครั้ง ประมาณ 5-7 วัน

ขี้หูอุดตัน หรือ มด แมลงเข้าหู

ขี้หูเป็นของกึ่งแข็งกึ่งเหลวที่ขับออกมาจากผนังด้านในช่องหูและเป็นภาวะปกติของร่างกาย ไม่จำเป็นต้องแคะออกหากไม่ได้รบกวนการได้ยินหรือทำให้หูอื้อหรืออุดตันเยื่อแก้วหู แต่หากเกิดการอุดตันและเกิดภาวะดังกล่าว เราจึงต้องกำจัดออก วิธีการเอาขี้หูออก ทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้

  1. ใช้โฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ผสมน้ำเพื่อให้เจือจางในอัตราส่วน ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน หยอดหูทิ้งไว้ 5-10 นาที เมื่อขี้หูนิ่มแล้วจึงเขี่ยออก
  2. ใช้กลีเซอรีน บอแรกซ์ หรือน้ำมันมะกอก หยอดหูครั้งละ 1-2 หยอด ทิ้งไว้ 5-10 นาที เพื่อให้ขี้หูนิ่มแล้วเขี่ยออก ทำวันละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลา 2-3 วัน หรือจนกว่าขี้หูจะออกหมด
    กรณีมด แมลงเข้าหู หยอดหูด้วยกลีเซอรีน บอแรกซ์หรือน้ำมันมะกอกเช่นกันซึ่งจะทำให้มด แมลงตาย โดยหลังจากหยอดแล้วให้เอียงหูข้างที่หยอดค้างไว้ประมาณ 5-10 นาที จึงค่อยกลับสู่สภาพเดิม แล้วเช็ดน้ำยาที่อาจไหลออกมาจากหูออก
  3. ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ขี้หูนิ่มและละลายขี้หู ชื่อ Dewax หยอดหู

2. โรคที่เกิดกับหูส่วนกลาง

หูน้ำหนวก

หูน้ำหนวกเป็นการอักเสบของหูส่วนกลางแบบเฉียบพลัน มักพบในเด็ก ส่วนใหญ่มาจากภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน
สาเหตุ สาเหตุหลักมาจากมีการอักเสบติดเชื้อบริเวณโพรงจมูกกับคอหอย เช่น ทอนซิลอักเสบ คอหอยอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือหลอดลมอักเสบ ทำให้เชื้อแบคทีเรียผ่านเข้าสู่ท่อยูสเตเชี่ยนไปที่หูส่วนกลาง และทำให้หูส่วนกลางอักเสบ
อาการแสดง มีของเหลวและน้ำมูกคั่งในหูส่วนกลาง ทำให้รู้สึกปวดหูและหูอื้อ ยิ่งมีของเหลวและน้ำมูกจำนวนมากก็จะทำให้มีอาการปวดหูและหูอื้อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีอาการรุนแรงจนของเหลวกลายเป็นหนอง ดันเยื่อแก้วหูทะลุเป็นรูอาการปวดหูจะรุนแรงขึ้น เมื่อของเหลวและน้ำหนองไหลออกมาที่หูส่วนนอก อาการปวดหูจะลดลง อย่างไรก็ตาม แก้วหูทะลุอาจมาจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น ใช้ไม้แคะหูแล้วไปโดนเยื่อแก้วหูโดยตรง หรือาจกระทบทางอ้อมจากแรงกดของอากาศหรือน้ำ เช่น ถูกฝ่ามือตบบ้องหู กระโดดน้ำจากที่สูง เป็นต้น
การรักษา ให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ร่วมกับยาหยอดหูที่มีส่วนผสมเป็นยาปฏิชีวนะ ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น อะม็อกซิซิลลินหรือ คลอกซาซิลลิน รับประทานครั้งละ 500 มก. วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ชม. และก่อนนอน ถ้ามีอาการปวดให้พาราเซตามอล ครั้งละ 500 - 1000 มก. ทุก 4 ชั่วโมง ถ้ามีอาการหูอื้อให้ยากลุ่มบรรเทาการคัดแน่นจมูก เช่น เฟนิลเอฟรีน เพื่อลดการบวมของท่อยูสเตเชี่ยน ทำให้อาการหูอื้อลดลงหรือหายไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

3. โรคที่เกิดกับหูส่วนใน

หูส่วนในเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว อาการผิดปกติที่เกิดกับหูส่วนนี้ จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุน เป็นอาการมึนงง โคลงเคลง รู้สึกยืนไม่มั่นคง ที่สำคัญคือรู้สึกว่ารอบๆ ตัวหมุนหมด กรณีที่รู้สึกมึนงง โคลงเคลง แต่ไม่ถึงกับรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวหมุน มักไม่ได้มาจากความผิดปกติของหูส่วนใน แต่มาจากโรคหรือภาวะอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ หินปูนพอกที่กระดูกต้นคอ เป็นต้น

โรคมีเนียร์ (Meniere’s disease)

โรคมีเนียร์รู้จักกันทั่วไปว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

สาเหตุ เกิดจากมีปริมาณของเหลวในหูส่วนในมากกว่าปกติเป็นระยะๆ ซึ่งในคนปกติจะมีปริมาณของเหลวในหูส่วนในประมาณ 0.3 ลูกบาศก์เซนติเมตรคงที่การมีปริมาณของเหลวในหูส่วนในมากกว่าปกติจากที่กล่าว ทำให้หูส่วนในบวมโป่งพองออกมา และเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา
อาการแสดง เวียนศีรษะ โดยมักมีอาการรุนแรง และมีความรู้สึกหมุนร่วมด้วย บางครั้งขณะเคลื่อนไหวจะทรงตัวไม่อยู่ เซล้มได้ง่าย บางคนมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย การได้ยินเสียงจะลดลง ผู้ป่วยจะรู้สึกหูอื้อ มีเสียงรบกวน และรู้สึกแน่นตื้ออยู่ในหูข้างที่เป็น อาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นอยู่ไม่กี่นาทีหรืออาจนานเป็นชั่วโมง
การรักษา กรณีสงสัยควรแนะนำให้ไปพบแพทย์

เวอร์ทิโก (Vertigo)

เวอร์ทิโกเป็นอาการเวียนศีรษะแบบหมุนขณะเปลี่ยนท่าทาง
สาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากก้อนหินปูนในหลอดครึ่งวงกลมที่อยู่หลังสุดในหูส่วนในเลื่อนหลุดจากตำแหน่งของมัน เมื่อผู้ป่วยหันตะแคงศีรษะไปข้างที่เป็น จะทำให้เกิดสัญญาณประสาทที่ผิดปกติไปกระตุ้นสมองให้รู้สึกบ้านหมุนเวียนศีรษะ แต่เมื่อก้อนหินปูนหยุดเคลื่อนที่ สัญญาณประสาทที่ผิดปกติก็จะหมดไป การเวียนศีรษะบ้านหมุนจากสาเหตุนี้จึงเกิดขึ้นชั่วขณะที่มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนท่าเท่านั้นและจะเกิดขึ้นใหม่ เมื่อผู้ป่วยตะแคงศีรษะไปข้างนั้นหรือมีการเปลี่ยนท่าทางขณะเคลื่อนไหว
อาการแสดง ผู้ป่วยจะรู้สึกเวียนศีรษะรอบตัวจะหมุนไปหมดโดยเฉพาะขณะเปลี่ยนท่าทาง อาการจะเกิดขึ้นเพียง 2-3 นาที ก็จะหายเป็นปกติ และจะมีอาการเกิดขึ้นอีกเมื่อเปลี่ยนท่าทาง
การรักษา หลีกเลี่ยงการตะแคงศีรษะไปข้างที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนในระยะแรก

  1. นอนหลับตาพักผ่อน เมื่อต้องการเปลี่ยนท่าทางให้ค่อยๆ เปลี่ยน
  2. รับประทานยาแก้แพ้ชื่อไตเมนไฮดริเนต หรือ มิไคลซิน ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
  3. หากไม่หายภายใน 2 - 3 วัน ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์

18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Ear Infections: All About Ear Conditions. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/all_about_ear_infections_conditions/article.htm)
Picture of the Ear: Ear Conditions and Treatments. WebMD. (https://www.webmd.com/cold-and-flu/ear-infection/picture-of-the-ear#1)
Inner ear disorders. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/23648600)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป