กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Dextrose (เดกซ์โทรส)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

Dextrose เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharide) ชนิดเดียวกันกับกลูโคส สกัดจากข้าวโพด จัดเป็นยาในกลุ่มยาปราศจากเชื้ออื่นๆ สำหรับให้ทางหลอดเลือดดำ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานและของเหลวทดแทนในผู้ป่วยระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ กลไกการออกฤทธิ์ของยา คือ ใช้เป็นแหล่งของอิเล็กโทรไลต์ พลังงาน และน้ำในผู้ป่วย เนื่องจาก Dextrose ถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นแหล่งพลังงานที่เหมาะสมสำหรับกระบวนการเมตาบอลิซึม ลดการสูญเสียของกล้ามเนื้อ เพิ่มการสะสมของไกลโคเจน ลดการเกิดภาวะระดับคีโตนในกระแสเลือดสูง (คีโตนเป็นกรดที่เกิดจากกระบวนการสลายไขมันของร่างกาย กรณีที่ร่างกายมีระดับคาร์โบไฮเดรตต่ำ ร่างกายจะเพิ่มการสลายไขมันมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีคีโตนที่เป็นกรดสูงขึ้น เลือกจะมีความเป็นกรดมากขึ้นจนถึงระดับที่เป็นอันตราย อาการแสดงเช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้เนื่องจากกรด คลื่นไส้ อาเจียน สับสน)

Dextrose สำหรับใช้ทางหลอดเลือด จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามการจำแนกโดยคณะกรรมการอาหารและยา มีจำหน่ายเฉพาะร้านยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งควบคุมการขายยา ต้องมีการจัดทำบัญชียาอันตราย และสำหรับบุคคลทั่วไปเภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ รูปแบบยาที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ ยาฉีดสำหรับให้ทางหลอดเลือดดำ ความเข้มข้น Dextrose ตั้งแต่ 2.5-70 %

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ข้อบ่งใช้ของยา Dextrose

อาการที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่ ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (Hypoglycemia)

ขนาดและวิธีการใช้ยา Dextrose

Dextrose มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • การใช้ยาในรูปแบบให้ทางหลอดเลือดดำ เมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ใช้ขนาด 10-25 กรัมของ Dextrose (เช่น Dextrose ความเข้มข้น 50 % ใช้ขนาด 20-50 มิลลิลิตร หรือ Dextrose ความเข้มข้น 25% ใช้ขนาด 40-100 มิลลิลิตร)
    • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ควรเจือจาง Dextrose ให้เหลือความเข้มข้น 12.5-25 % ก่อนให้ยา
      • ทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ใช้ขนาด 0.25-0.5 กรัมของ Dextrose ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมต่อการให้ยา 1 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 25 กรัมต่อการให้ยา 1 ครั้ง
      • ทารกอายุมากกว่า 6 เดือนและในเด็กเล็ก ขนาด 0.5-1 กรัมของ Dextrose ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ให้ยาได้ถึง 25 กรัม ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 25 กรัมต่อการให้ยา 1 ครั้ง
      • เด็กโต อายุ 10-19 ปี ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่
  • ในกรณีใช้ Dextrose ในรูปแบบยารับประทาน
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 4-20 กรัม รับประทานครั้งเดียว ให้ยาซ้ำอีกใน 15 นาที หากตรวจวัดระดับน้ำตาลแล้วยังพบว่ามีระดับต่ำกว่าปกติ
    • ขนาดการใช้ยาในเด็กโต อายุ 10-19 ปี ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่

ข้อควรระวังในการใช้ Dextrose 

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด
  • ควรระวังการเกิดภาวะได้รับของเหลวมากเกินในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว โรคไตบกพร่องระดับรุนแรง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะบวมน้ำ เนื่องจากยาอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หรือมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะดังกล่าว ควรติดตามระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือด
  • ควระวังการใช้ยานี้ในทารก โดยเฉพาะทารกแรกเกิด และทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์

ผลข้างเคียงของการใช้ Dextrose

  • ผลข้างเคียงที่พบของการใช้ยาในรูปแบบยาฉีด ได้แก่ อาการบวมน้ำ เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หายใจเร็วกว่าปกติ มีไข้ ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงในผู้ป่วยโรคเบาหวาน น้ำในกระแสเลือดมากเกิน หลอดเลือดดำอักเสบ ถ่ายท้อง กระหายน้ำ น้ำท่วมปอด เลือดออกในสมอง หมดสติ ระดับฟอสเฟตและแมกนีเซียมในกระแสเลือดต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่อเยื่อตาย

ข้อควรทราบอื่นๆของยา Dextrose

  • ยา Dextrose ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category C ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อแพทย์มีความเห็นว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
  • การใช้ยา Dextrose อยู่ภายใต้การการควบคุมดูแลของแพทย์ เนื่องจากเป็นยาที่ต้องให้ผ่านหลอดเลือดดำ
  • ควรระวังการใช้ยาอย่างมากในกรณีใช้กับผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยที่มีภาวะทนต่อน้ำตาล (glucose intolerance คือ ร่างกายไม่สามารถจัดการกับปริมาณน้ำตาลได้) เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง และพบน้ำตาลในปัสสาวะ
  • หากหยุดให้ยาเร็วเกินไป ผู้ป่วยอาจมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถตอบสนองต่อระดับน้ำตาลที่ลดลงอย่างรวดเร็วได้ โดยเฉพาะในกรณีใช้ dextrose ความเข้มข้นสูง ก่อนหยุดใช้ยาควรปรับความเข้มข้นให้เหลือระดับต่ำก่อน (5 หรือ 10 %)
  • ควรมีการติดตามระดับของเหลว อิเล็กโทรไลต์ และระดับน้ำตาลในกระแสเลือด
  • ในกรณีพบภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง สามารถแก้ไขโดยให้อินซูลินได้
  • แนะนำให้เก็บรักษายานี้ที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง และความชื้น

19 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
D50W, DGlucose (dextrose) dosing, indications, interactions, adverse effects, and more. Medscape. (https://reference.medscape.com/drug/d50w-dglucose-dextrose-342705)
Dextrose: Side Effects, Dosage & Uses. Drugs.com. (https://www.drugs.com/dextrose.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)