กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ปวดหู รู้ไหมว่าเกิดจากอะไรบ้าง?

เผยแพร่ครั้งแรก 18 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปวดหู รู้ไหมว่าเกิดจากอะไรบ้าง?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการปวดหู เป็นอาการเจ็บปวดบริเวณหู อาจเป็นบริเวณหูข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดหูทั้ง 2ข้าง โดยสามารถรักษาด้วยตนเองโดยการประคบร้อน หรือประคบเย็น
  • แต่หากอาการปวดหูมีร่วมกับปวดหัว มีไข้ การได้ยินลดลง มีหนอง หรือเลือดไหลออกมา ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ เพราะอาจเป็นความผิดปกติร้ายแรงบางอย่างได้
  • อาการปวดหูอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู ติดเชื้อในทางเดินหายใจ ทอนซิลอักเสบ หูเกิดอุบัติเหตุ หูชั้นนอก หรือหูชั้นกลางอักเสบ
  • สิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการรักษาอาการปวดหู คือ ไม่ใช้ของแข็ง หรือแหลมคมแคะหูเอง อย่าใช้ยาหยอดหูเอง และให้ไปพบแพทย์เพื่อเป็นคนวินิจฉัยอาการเอง
  • เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหู ในเบื้องต้นให้ระมัดระวังอย่าให้หูได้รับการกระทบเทือน อย่าให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ทำความสะอาดหูบ่อยๆ หลีกเลี่ยงอย่าให้เกิดโรคที่ทำให้ปวดหู เช่น อาการปวดฟัน ฟันผุ เป็นหวัด ทอนซิลอักเสบ (ดูแพ็กเกจอุดฟัน ผ่าฟันคุดได้ที่นี่)

หลายคนคงเคยมีอาการปวดหู (Earache) กันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นปวดตื้อๆ หรือปวดจี๊ดในรูหู ซึ่งอาจมีอาการปวดแค่ข้างเดียว หรือปวดหูทั้ง 2 ข้างพร้อมกันก็ได้ 

อาการปวดหูนั้นสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หากมองเผินๆ ก็อาจดูเหมือนเป็นอาการปวดเพียงเล็กน้อยที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ซึ่งความจริงแล้ว หากใครมีอาการปวดหูก็อย่าได้วางใจ และควรรีบหาสาเหตุของอาการปวดหูตั้งแต่เนิ่นๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา หู คอ จมูก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 854 บาท ลดสูงสุด 54%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการที่มักมาพร้อมกับอาการปวดหู

อาการปวดหูอาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆ หรืออาจมีอาการอื่นเกิดร่วมด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยอาการที่มักพบร่วมกับอาการปวดหู ได้แก่

  • มีของเหลวไหลออกมาจากหู ซึ่งอาจเป็นน้ำใสๆ หรือมีหนอง และเลือดปนก็ได้
  • ขี้หูมีลักษณะผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น
  • มีไข้ ปวดศีรษะ
  • การได้ยินลดลง
  • ในเด็กเล็ก อาจพบอาการร้องไห้บ่อย และชอบจับ หรือดึงหูตัวเอง

ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหูเราแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ และรักษาโดยด่วน

สาเหตุของอาการปวดหู

อาการปวดหูนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับหูโดยตรง และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะข้างเคียง ตัวอย่างเช่น

  • หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis externa) มักเกิดจากการติดเชื้อ เช่น แคะหูรุนแรงจนเกิดแผล หรือน้ำสกปรกเข้าหู โดยอาการที่พบคือ ปวดหู ใบหูบวมแดง มีของเหลวไหลออกมาจากหู หูอื้อ และประสิทธิภาพการได้ยินอาจลดลงด้วย
  • หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) มักเกิดจากการติดเชื้อลุกลามมาจากทางเดินหายใจ หรือหูชั้นนอก ทำให้เกิดของเหลวคั่งอยู่หลังแก้วหูจนทำให้รูหูมีแรงดันมาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหูอย่างรุนแรง สูญเสียการได้ยินชั่วคราว และอาจถึงขั้นแก้วหูทะลุได้
  • เกิดการบาดเจ็บที่หู โดยอาจเกิดจากอุบัติเหตุ หรือได้ยินเสียงดังมาก ทำให้เยื่อแก้วหูถูกทำลาย จนมีอาการปวดหู หูอื้อ และอาจพบมีเลือดออกจากหู
  • ขี้หูอุดตัน บางครั้งรูหูอาจระคายเคืองจนเกิดการสร้างขี้หูมากกว่าปกติ และมีขี้หูสะสมจนอุดตันในรูหู อาการที่พบคือช่องหูแคบลง หูอื้อเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ ขี้หูแข็งกว่าปกติ
  • มีสิ่งแปลกปลอมในหู เช่น แมลง เมล็ดพืช หรือน้ำเข้าหู ทำให้หูสูญเสียการได้ยินชั่วคราว พร้อมกับปวดหู และอาจมีของเหลวไหลออกมาจากรูหูได้
  • มีสิวในหู เกิดจากมีสิ่งสกปรกเข้าไปสะสมอยู่ในหูจนผิวหนังข้างในหูสกปรก และทำให้เกิดสิวในที่สุด ปกติสิวในหูมักมองเห็นได้ยาก ทำให้มีอาการปวดหูชั่วคราวโดยทั่วไปมักหายเองได้ และไม่ส่งผลต่อการได้ยิน
  • ปวดฟัน ฟันผุ ซึ่งหากการอักเสบลุกลามไปยังเหงือก ก็อาจทำให้มีอาการปวดหูได้ด้วย
  • ติดเชื้อในทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ หลายครั้งผู้ป่วยจะมีอาการปวดหูได้เช่นกัน

การรักษาอาการปวดหู

แพทย์จะรักษาอาการปวดหูตามสาเหตุของอาการ เช่น

  • หากปวดบริเวณหูชั้นนอก และหูชั้นกลางอักเสบ แพทย์จะแนะนำให้ทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล หรือ Ibuprofen เพื่อบรรเทาอาการ ร่วมกับให้ยาหยอดหูเพื่อบรรเทาการอักเสบ
  • หากมีสิ่งแปลกปลอมในหู หรือน้ำเข้าหู แพทย์จะใช้เครื่องมือเพื่อคีบ หรือดูดสิ่งที่อยู่ภายในรูหูออก
  • หากมีของเหลว หรือหนอง คั่งค้างที่หลังแก้วหู แพทย์จะใช้เครื่องมือดูด หรือใช้วิธีผ่าเจาะแก้วหู และสอดท่อเพื่อให้ของเหลวในหูไหลออกมา
  • หากมีขี้หูอุดตัน แพทย์จะทำการล้างหู (Ear Lavage) โดยใช้ยาหยอดหูเพื่อทำให้ขี้หูอ่อนลง และใช้เครื่องมือขนาดเล็กดูดออก
  • หากอาการปวดหูเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เหงือกอักเสบ ปวดฟัน เป็นหวัด เจ็บคอ แพทย์จะรักษาไปตามอาการของโรคนั้นๆ

การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการปวดหู

  • หลีกเลี่ยงการแหย่ หรือแคะหูด้วยของแข็ง
  • ไม่ซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง ยกเว้นยาที่แพทย์สั่ง 
  • หากมีอาการปวดมาก ให้ประคบเย็น และประคบร้อนที่หูด้านนอกประมาณ 20 นาที เพื่อบรรเทาอาการ 

การป้องกันอาการปวดหู

  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่แข็ง และแหลมคมแคะหู เวลาทำความสะอาดควรใช้ก้านพันสำลีเช็ดเบาๆ เท่านั้น
  • หากว่ายน้ำ ดำน้ำเป็นประจำ ควรใส่อุปกรณ์สำหรับอุดหู เพื่อป้องกันน้ำเข้าหู
  • ระวังอย่าให้สิ่งแปลกปลอมเข้าหู
  • หากมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ควรรีบรักษาให้หาย เพื่อไม่ให้เชื้อลุกลามมายังหูชั้นกลาง

อาการปวดหูนั้นสามารถลุกลามไปถึงสูญเสียการได้ยินหากไม่รีบหาสาเหตุของอาการ และรีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นหากคุณมีอาการปวด หรือเจ็บหู แล้วลองรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองก็ยังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อจะได้วินิจฉัยอาการ และจะได้หาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ หูเป็นอวัยวะที่ยากต่อการมองเห็นโดยตรงได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และอ่อนโยนต่อผิวในการสำรวจว่า มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ อยู่ข้างใน คุณต้องจำไว้ให้ดีว่า อย่าใช้อุปกรณ์ใดๆ ที่ทำให้หูได้รับบาดเจ็บเด็ดขาด และให้แพทย์เป็นผู้รักษาอาการผิดปกติของหูเท่านั้น

ดูแพ็กเกจอุดฟัน ผ่าฟันคุด เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What Causes an Earache?. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/what-causes-an-earache-1191885)
Earache. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/earache/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป