ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง …จริงหรือ?!?

เผยแพร่ครั้งแรก 19 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง …จริงหรือ?!?

คุณผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินมาว่า “ห้ามใช้ยาคุมฉุกเฉินมากกว่าเดือนละ 2 กล่อง” ใช่มั้ยคะ หรือในบางครั้งก็มีการส่งต่อข้อมูลแบบผิดเพี้ยนจนกลายเป็น “ในชั่วชีวิตของเรา ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 ครั้ง” 

แล้วจะเป็นความจริงหรือไม่... เรามาไขข้อข้องใจนี้ไปพร้อม ๆ กันค่ะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ในอดีต บริษัทผู้ผลิตจะมีการระบุคำเตือนไว้ที่ข้างกล่องยาคุมฉุกเฉินว่า “ใช้ได้ไม่เกิน 2 กล่องต่อเดือน” เพราะเคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากขึ้น 
แต่ปัจจุบัน จะไม่เห็นคำเตือนนี้แล้วนะคะ 

อย่างไรก็ตาม ยังมีการส่งต่อข้อมูลดังกล่าวอยู่เรื่อยมา รวมถึงเพิ่มเติมข้อกังวลที่ว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีขนาดสูง อาจทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยากในอนาคต หรือทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่าง ๆ ตามมาอีกด้วย
ไม่ว่าจะด้วยความไม่รู้ หรือด้วยความปรารถนาดีที่ต้องการป้องกันการใช้ยาคุมฉุกเฉินอย่างพร่ำเพรื่อ แต่ก็ส่งผลให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ เกิดความหวั่นวิตกในผลที่ตามมาจนไม่กล้าจะใช้ยา และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้ค่ะ

ในปี ค.ศ. 2010 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จึงได้เผยแพร่เอกสารวิชาการ โดยชี้แจงถึงประเด็นที่เป็นข้อสงสัยหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนี้

  • การใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel emergency contraceptive pill: LNG-ECP) ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูก เนื่องจากมีข้อมูลจากการศึกษาที่เชื่อถือได้จำนวนมากที่ชี้ว่า อุบัติการณ์การตั้งครรภ์นอกมดลูกในผู้ที่ใช้ LNG-ECP ไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่เคยใช้ 
  • เนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ จึงไม่พบว่าการใช้ LNG-ECP จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism: VTE)
  • ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่ยืนยันได้ว่าการใช้ LNG-ECP เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่าง ๆ
  • การใช้ LNG-ECP ไม่มีผลต่อการมีบุตรหรือโอกาสตั้งครรภ์ในอนาคต
  • แม้มีการใช้ LNG-ECP เกินขนาด หรือใช้ซ้ำมากกว่า 1 ครั้งในรอบเดือนเดียวกัน ก็ไม่พบความเสี่ยงที่ร้ายแรง
  • มีไม่ถึง 1 ใน 5 ของผู้ใช้ LNG-ECP ที่เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากยา และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือถาวร แต่พบเพียงอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ และเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ประจำเดือนไม่ปกติ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง หรือไม่สบายท้อง
  • หากการคุมกำเนิดล้มเหลวและเกิดการตั้งครรภ์ ก็ไม่พบว่า LNG-ECP จะมีความเสี่ยงใด ๆ ต่อทารกในครรภ์ รวมถึงไม่มีผลให้เกิดการแท้งบุตรด้วยค่ะ
  • หญิงให้นมบุตรสามารถใช้ LNG-ECP ได้เช่นเดียวกับสตรีทั่วไป

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการใช้ยาคุมฉุกเฉินที่มีตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล หรือ LNG-ECP ถือเป็นทางเลือกที่มีความปลอดภัยสูงนะคะ อย่างไรก็ตาม ควรใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นฉุกเฉินเท่านั้น เช่น ถูกข่มขืน หรือใช้เป็นวิธีเสริมในกรณีที่วิธีหลักล้มเหลว เช่น ถุงยางฉีกขาด เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดปกติ
โดยในอดีต เชื่อว่า LNG-ECP ออกฤทธิ์ที่มดลูกเป็นหลัก โดยขัดขวางการเคลื่อนที่ของอสุจิ และป้องกันไม่ให้เกิดการฝังตัวที่เยื่อบุมดลูกของไข่ที่ผสมกับอสุจิ และอาจมีผลยับยั้งการตกไข่ร่วมด้วย จึงน่าจะใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้แม้จะเป็นช่วงก่อนหรือหลังไข่ตกก็ตาม
แต่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สันนิษฐานว่ากลไกหลักของ LNG-ECP คือขัดขวางการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteinizing Hormone: LH) จึงป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการชะลอหรือยับยั้งไม่ให้ไข่ตกนั่นเอง ดังนั้น ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของ LNG-ECP จึงขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ใช้ นั่นคือ หากรับประทานหลังจากที่ไข่ตกไปแล้ว หรือโดยเฉพาะเมื่อไข่ผสมกับอสุจิไปแล้ว การใช้ LNG-ECP ก็จะไม่ได้ผล

จากที่กล่าวมาทั้งหมด หวังเพียงว่าหากมีความจำเป็น คุณผู้อ่านจะไม่หวาดกลัวเกินเหตุเสียจนไม่กล้าใช้ แต่ก็จะไม่ประมาทจนเกินไป โดยนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อแทนวิธีคุมกำเนิดปกติ เพราะเมื่อใช้ยาคุมฉุกเฉินอย่างเข้าใจและเหมาะสม ก็จะลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ค่ะ


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Emergency Use of an Investigational Drug or Biologic. U.S. Food and Drug Administration (FDA). (https://www.fda.gov/regulatory-information/search-fda-guidance-documents/emergency-use-investigational-drug-or-biologic)
When to use the emergency room - adult. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000593.htm)
Strategies for reducing medication errors in the emergency department. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4753984/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
โรคเซลิแอค (Celiac disease) อาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์
โรคเซลิแอค (Celiac disease) อาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์

ภาวะแท้งคุกคามและภาวะซีดอย่างรุนแรงสามารถพบได้บ่อยในผู้หญิงที่เป็นโรคเซลิแอค

อ่านเพิ่ม
สามารถตั้งครรภ์หลังจากการผ่าตัดมดลูกหรือไม่?
สามารถตั้งครรภ์หลังจากการผ่าตัดมดลูกหรือไม่?

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หลังจากผ่าตัดมดลูกว่าเป็นไปได้อย่างไร

อ่านเพิ่ม