กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ผลสำรวจความคิดเห็นและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า พ.ศ. 2562 จากผู้ตอบแบบสอบถาม 16,533 คน

4 ประเด็นและสถิติน่าสนใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า พร้อมรวบรวมคำแนะนำ วิธีปฏิบัติตัว และหน่วยงานที่ให้บริการช่วยเหลือผู้เป็นโรคซึมเศร้า
เผยแพร่ครั้งแรก 24 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 24 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
ผลสำรวจความคิดเห็นและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า พ.ศ. 2562 จากผู้ตอบแบบสอบถาม 16,533 คน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • HD ได้ทำการสำรวจคนกว่า 16,533 ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ ปี 2562 พบสิ่งที่น่าสนใจหลายประเด็นดังนี้
  • คน 18% จากผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ช่วงอายุที่มากที่สุดคือ 25-34 ปี แต่สิ่งที่น่าตกใจคือคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าของตัวเอง
  • นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า จำนวน 2,092 คน 44% คิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือคนรอบข้างไม่เข้าใจ อาจทำให้รู้สึกเศร้ากว่าเดิม เพราะไม่มีใครให้ปรึกษา
  • หากมีอาการเบื่อหน่ายหน่าย ท้อแท้ เศร้า กินได้น้อย สิ้นหวัง อยากฆ่าตัวตาย เกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะอาจเกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ
  • ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต

HonestDocs ทำการสำรวจเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” โดยเก็บข้อมูลด้วยวิธีแสดงแบบสอบถามออนไลน์ทางเว็บไซต์ ระยะเวลาสำรวจ 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 มีผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 16,533 คน พบประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

1. จากผู้ตอบคำถาม 16,533 คน 18% คิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้า

จากคำถามว่า “คุณคิดว่าตัวเองอาจเป็นซึมเศร้าหรือไม่?” ผู้ตอบคำถามข้อนี้จำนวน 16,555 คน มี 18% คิดว่าตัวเองอาจจะเป็น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

รูปที่ 1 ร้อยละของผู้ตอบคำถาม “คิดว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?”

เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอายุ (ซึ่งด้วยข้อจำกัดของแบบสอบถามออนไลน์ที่ไม่สามารถควบคุมกลุ่มตัวอย่างให้ตอบคำถามครบถ้วน ทำให้มีผู้ตอบคำถามข้อนี้แล้วให้รายละเอียดเรื่องเพศและอายุของตัวเองเหลือเพียง 4,811 คน) 

พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นหรืออายุ 12-17 ปี และ 18-23 ปี นั้น ทั้งสองกลุ่มมีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 32% เท่ากัน แต่ในวัยที่อายุมากขึ้นคือตั้งแต่ 25-34 ปี มีผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเป็นสัดส่วนน้อยลง ดังนี้

  • ช่วงอายุ 25-34 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 29%
  • ช่วงอายุ 35-44 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 22%
  • ช่วงอายุ 45-54 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 17%
  • ช่วงอายุ 55-64 ปี มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 16%
  • ช่วงอายุ 65 ขึ้นไป มีผู้คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า 11%

ส่วนปัจจัยเรื่องเพศไม่ได้มีผล โดยพบว่าทั้งสองเพศมีสัดส่วนผู้คิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้าต่อผู้ไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าพอๆ กัน คือประมาณ 30:70 ทั้งนี้ เพศหญิงคิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพศชายเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่แบบสอบถามนี้เป็นเพียงการสำรวจความเห็นจากผู้คนทั่วไป จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าประชากรกลุ่มวัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มสูงอายุ เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามบางคนอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้า และในทางกลับกัน บางคนที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าก็อาจไม่ได้เป็นก็ได้

ทำความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าอย่างละเอียด และดูวิธีประเมินตัวเองเบื้องต้นได้ที่ รู้จักกับ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมากที่สุด

มีข้อมูลน่าสนใจอีกทางหนึ่ง คือรายงานผู้ป่วยมารับบริการด้านจิตเวชทั่วประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2560 ของกรมสุขภาพจิต (ดูรายงานฉบับเต็มที่นี่) พบสถิติที่น่าสนใจ คือ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในบรรดาผู้รับบริการด้านจิตเวชจำนวน 2,669,821 คน มีผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าคิดเป็น 11% และหากรวมผู้เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และพยายามฆ่าตัวตายไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน จะพบว่าประชากรกลุ่มนี้คิดเป็น 26% ของผู้ป่วยทางจิตเวชทั้งหมดทีเดียว 

ที่เหลือ 74% เป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆได้แก่ โรคสมองเสื่อม ติดสารเสพติด ติดแอลกอฮอล์ โรคจิตเภท โรคลมชัก ผู้พิการทางสติปัญญา สมาธิสั้น ความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรม  

จะเห็นได้ว่า โรคทางจิตเวชมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลากหลาย ดังนั้นหากมีความรู้สึกเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร ขาดสมาธิ มีปัญหาการนอน ฯลฯ จนเริ่มสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่ควรทำคือไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยให้ถูกต้อง เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

อ่านต่อ รวมโรงพยาบาลทั่วประเทศที่มีจิตแพทย์ให้การรักษาโรคซึมเศร้า

2. คนเกือบครึ่ง “ไม่ได้ทำอะไร” แม้จะคิดว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า

เมื่อถามว่า “คุณใช้วิธีใดรักษาอาการซึมเศร้า” ในจำนวนผู้ตอบคำถาม 2,491 คน มีผู้ที่เลือกตอบว่า “ไม่ได้ทำอะไร” เป็นสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับคำตอบอื่นๆ โดยคิดเป็นจำนวนถึง 46% รองลงมาเป็นการหาข้อมูลออนไลน์ 25% พบคุณหมอ 11% ปรึกษาเพื่อนและครอบครัว 8% และอื่นๆ 7%

รูปที่ 2 ร้อยละของผู้ตอบคำถาม “คุณใช้วิธีใดรักษาอาการซึมเศร้า?” (ผู้ตอบข้อนี้ทั้งหมดเป็นผู้ที่คิดว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า)

สำหรับคำตอบ “อื่นๆ” นั้น HonestDocs ได้ให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุคำตอบของตัวเองมาเป็นข้อความสั้นๆ พบว่ามีผู้เลือกรักษาอาการซึมเศร้าของตนเองด้วยวิธีออกไปทำกิจกรรมสันทนาการและออกกำลังกายคลายเครียด นอนพักผ่อน นั่งสมาธิ เจริญสติ ศึกษาธรรมะ รักษาด้วยยาหรือสมุนไพร ช่วยตัวเอง ไปจนถึงใช้ยาเสพติด 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มคนอายุน้อยมักเลือกคลายความเครียด ความอ่อนล้า และทำให้ตัวเองอารมณ์ดีขึ้น ด้วยการหาสิ่งที่สนุกสนานทำ เช่น เล่นเกม ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ส่วนกลุ่มวัยทำงานหรืออายุ 25 ปีขึ้นไปมักเลือกที่จะค้นหาสาเหตุของความเครียด ใช้วิธีออกกำลังกาย ใช้เวลากับผู้คน กินยา และทำสมาธิ

ส่วนผู้ที่ใช้วิธีปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิตมีน้อยที่สุด คือคิดเป็นเพียง 3% เท่านั้น

รูปที่ 3 ตารางแสดงร้อยละของผู้ตอบคำถาม “คุณใช้วิธีใดรักษาอาการซึมเศร้า?” (ผู้ตอบข้อนี้ทั้งหมดเป็นผู้ที่คิดว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า) แยกตามช่วงอายุ

อย่างไรก็ตาม การ “คิดว่า” ตัวเองเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้หมายความว่า “เป็น” โรคซึมเศร้าแล้วจริงๆ หากเพียงแค่เครียดหรือเหนื่อยล้าชั่วครั้งชั่วคราว การทำกิจกรรม เข้าสังคม หาเวลาพักผ่อน หรือสงบใจ ก็อาจเป็นวิธีแก้ปัญหา 

แต่ถ้าหากเป็นโรคซึมเศร้า วิธีเหล่านั้นอาจไม่ได้ผล ซึ่งคำแนะนำจากนักจิตวิทยาคลีนิกที่ให้คำปรึกษาในส่วน “ถามหมอ” ของ HonestDocs แนะนำว่า หากมีอาการดังนี้ต่อเนื่องนานเกินกว่า 2 สัปดาห์

  • เบื่อหน่าย 
  • ท้อแท้ 
  • หงุดหงิด 
  • เศร้า 
  • หลับยากหรือหลับไม่สนิท 
  • เบื่ออาหารหรือกินได้มากผิดปกติ 
  • รู้สึกไร้ค่า 
  • ผิดหวัง 
  • ขาดสมาธิหรือกระสับกระส่าย 
  • คิดช้าลง 
  • มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรืออยากตาย 

ควรพบจิตแพทย์ เพราะโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาและการทำจิตบำบัด นอกจากนี้ยังมีการรักษาโรคซึมเศร้าแบบทางเลือก เช่น ฝึกสติบำบัด ปรับเปลี่ยนแนวทางการรับประทานอาหาร เป็นต้น

อ่านต่อ อาหารต้านโรคซึมเศร้า กินแล้วช่วยคลายเครียด

3. “คนรอบข้างไม่เข้าใจ” เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของผู้เป็นโรคซึมเศร้า

ในกลุ่มผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า จำนวน 2,092 คน 44% คิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือคนรอบข้างไม่เข้าใจ รองลงมาตอบว่าปัญหาคือไม่ทราบว่าจะรับความช่วยเหลือได้อย่างไร (23%) ไม่มีเงินรักษา (13%) และอื่นๆ (13%)

รูปที่ 6 ร้อยละของผู้ตอบคำถาม “สิ่งที่คุณคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด?” (ผู้ตอบข้อนี้ทั้งหมดเป็นผู้ที่คิดว่าตัวเองอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้า)

สำหรับคำตอบ “อื่นๆ” นั้น HonestDocs ได้ให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุคำตอบของตัวเองมาเป็นข้อความสั้นๆ พบว่า มีผู้ตอบคำถามว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ ไม่กล้าไปรักษาเพราะกลัวเสียประวัติ กลัวคนอื่นมองไม่ดี ไม่มีเวลา เป็นต้น ส่วนข้อที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกตอบน้อยที่สุดคือ ไม่สามารถกินยาและบำบัดได้อย่างต่อเนื่อง (7%)

4. ผู้หญิงรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้เป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย และกลุ่มวัยรุ่นรู้วิธีสื่อสารฯ มากกว่าผู้สูงอายุ

จากคำถาม “คุณรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้องหรือไม่?” ในผู้ตอบคำถามจำนวน 1,053 คน ผลสำรวจแบบแยกเพศพบว่า เกินครึ่ง (54%) ของเพศหญิงคิดว่าตัวเองรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง ส่วนเพศชาย ผู้ที่คิดว่าตัวเองรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง คิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าครึ่ง คือราวๆ 48%

รูปที่ 4 ร้อยละของผู้ตอบคำถาม “คุณรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้องหรือไม่?” แยกตามเพศ

เมื่อแยกตามกลุ่มอายุพบว่า ผู้ตอบคำถามกลุ่มอายุ 35-44 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนของผู้ที่รู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง น้อยกว่าผู้ที่ไม่รู้ ส่วนผู้ตอบคำถามในกลุ่มวัยรุ่นหรืออยู่ในช่วงอายุ 12-17 ปี และ 18-24 ปีนั้น จะมีสัดส่วนของผู้ที่รู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง มากกว่าผู้ที่ไม่รู้ ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้คนหันมาให้ความสำคัญเรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ 

จากกรณีที่มีบุคคลมีชื่อเสียง รวมถึงดารา-นักร้องวัยรุ่น ฆ่าตัวตายโดยมีสาเหตุจากโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสัดส่วนผู้รู้ต่อผู้ไม่รู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง ของทุกช่วงอายุไม่ได้แตกต่างกันมากนัก คืออยู่ที่ประมาณ 5:5 หรือ 4:6 หรือ 6:4 เท่านั้น

รูปที่ 5 ร้อยละของผู้ตอบคำถาม “คุณรู้วิธีสื่อสารและดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้องหรือไม่?” แยกตามกลุ่มอายุ

สำหรับผู้ที่คิดว่าตัวเองไม่ทราบวิธีดูแลหรือปฏิบัติกับผู้เป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างถูกต้อง ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าขั้นแรกควรทำความเข้าใจว่าอาการที่ผู้ป่วยเป็นนั้นไม่ใช่การแกล้งทำ หรือเพียงมีอารมณ์อ่อนไหวธรรมดาๆ 

แต่พวกเขามีสารเคมีในสมองผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ ร่างกาย และพฤติกรรม หลังจากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ได้กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วน ก็จะสามารถดีขึ้นได้ แต่ต้องใช้เวลาจึงจะค่อยๆ เห็นผล ส่วนใหญ่เป็นสัปดาห์ ผู้ดูแลจึงไม่ควรคาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป 

นอกจากนี้คนใกล้ชิดควรรับฟังผู้เป็นโรคซึมเศร้าด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ ไม่ตัดสิน ควรฟังด้วยความรู้สึกเปิดใจ พยายามเข้าใจอย่างแท้จริง จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้

ดูเหมือนว่าคนใกล้ชิดจะมีส่วนสำคัญมากในการช่วยให้ผู้เป็นโรคซึมเศร้าดีขึ้น แต่ผู้เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว ในกรณีนี้มีองค์กรซึ่งอาจเข้ามาช่วยได้ ได้แก่

  • สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 มีนักจิตวิทยาคอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
  • สมาคมสะมาริตันส์ โทร. 02 713 6793 ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุย มีอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพซึ่งผ่านการอบรมทักษะการรับฟังมาแล้วผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่ โดยเน้นหลักการ “ฟังด้วยใจ” ให้บริการเวลา 12.00-22.00 น.

ในแง่หนึ่ง การบำบัดรักษาโรคซึมเศร้านั้นก็เหมือนกับโรคอื่นๆ คือเมื่อแพทย์ได้จ่ายยาหรือแนะนำวิธีปฏิบัติตัวแล้ว ผู้รับการรักษาควรปฏิบัติตามให้ได้ครบถ้วน ในข้อนี้บุคคลใกล้ชิดกับผู้เป็นโรคซึมเศร้าอาจเข้ามามีบทบาทในการดูแลและช่วยเหลือ 

สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ที่คิดว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้าไม่ควรหาข้อมูลแล้ววินิจฉัยโรคด้วยตนเอง หรือหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากยากลุ่มรักษาอาการซึมเศร้าอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางจิตประสาทได้ 

อ่านเพิ่มเติม: 8 ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาต้านเศร้า 

นอกจากนี้บุคคลใกล้ชิดหรือผู้ดูแลควรพยายามใจเย็น ค่อยๆ ทำความเข้าใจ และเตรียมตัวเผื่อใจไว้ว่าอาจต้องใช้เวลารักษายาวนาน อย่างไรก็ตาม ควรระลึกเสมอว่าโรคซึมเศร้าสามารถดีขึ้นได้หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Laura Goldman, Depression (https://www.medicalnewstoday.com/articles/8933.php), November 22, 2019
Valencia Higuera and Kimberly Holland, Depression (https://www.healthline.com/health/depression), December 3, 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)