อ. ทพญ. พฤษพร เกียรติ์เกริกไกร ทันตแพทย์ชำนาญการ
เขียนโดย
อ. ทพญ. พฤษพร เกียรติ์เกริกไกร ทันตแพทย์ชำนาญการ
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ความรู้เกี่ยวกับรากฟันเทียม ข้อดี - เสีย และเหตุผลที่ควรจะใส่

เผยแพร่ครั้งแรก 17 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ความรู้เกี่ยวกับรากฟันเทียม ข้อดี - เสีย และเหตุผลที่ควรจะใส่

รากฟันเทียม (Dental implant) คือ รากฟันที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใส่ติดแน่นร่วมกับครอบฟัน (Implant crown) หรือฟันเทียมชนิดฐานพลาสติก (Acrylic denture) เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป จัดเป็นฟันเทียมชนิดติดแน่นในช่องปาก โดยส่วนของตัวรากเทียม (implant fixture หรือ implant post) จะยึดอยู่กับกระดูกขากรรไกร และมีส่วนครอบฟันหรือฟันเทียมชนิดฐานพลาสติกสวมทับ ตัวรากเทียมในปัจจุบันทำจากโลหะไทเทเนียมหรือเซรามิกเซอร์โคเนีย ซึ่งสามารถเข้ากันได้ดีกับกระดูกขากรรไกร ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยมาก

รากฟันเทียมช่วยอะไร ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ทำไมต้องใส่รากฟันเทียม ใครต้องใส่บ้าง?

รากฟันเทียมจัดเป็นฟันเทียมชนิดติดแน่น ใส่เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป ช่วยเพิ่มการยึดอยู่สำหรับครอบฟันหรือฟันเทียม ให้สามารถทำหน้าที่เคี้ยวอาหาร ออกเสียงพูด ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ที่สูญเสียฟันธรรมชาติ โดยเฉพาะในฟันหน้า และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการล้มเอียงของฟันที่อยู่ข้างเคียงหรือฟันคู่สบยื่นยาวเข้ามาหาช่องว่างที่สูญเสียฟัน รวมทั้งยังสามารถช่วยชะลอการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรบริเวณที่ฝังรากฟันเทียมให้ช้าลงกว่าการไม่มีฟันอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ทำรากฟันเทียม ครอบฟัน สะพานฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 980 บาท ลดสูงสุด 66%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

รากฟันเทียมมีข้อเสียได้แก่ มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าฟันเทียมชนิดอื่นๆ ต้องมีการผ่าตัด ขั้นตอนการทำใช้เวลารวมยาวนานกว่าการทำฟันเทียมชนิดอื่น คือ ใช้รอเวลาอย่างน้อย 4 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าตัวรากเทียมยึดอยู่แน่นกับกระดูกขากรรไกร จึงค่อยทำครอบฟันหรือฟันเทียมสวมทับ นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องสามารถมารับการรักษาและติดตามผลหลายครั้ง รวมถึงทำความสะอาดทั้งส่วนของครอบฟันหรือฟันเทียมให้ดี

ความสำเร็จในผู้ที่ใส่รากฟันเทียมขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น สุขภาพร่างกายและจิตใจ ทัศนคติที่ดี เนื่องจากต้องมีการผ่าตัดจึงไม่เหมาะกับผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ผู้ที่เป็นโรคจิต สูบบุหรี่จัด มีโรคประจำตัวบางชนิดที่เป็นข้อห้ามของการผ่าตัด หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญาที่ไม่สามารถดูแลสุขภาพช่องปากและฟันเทียมให้อยู่ในสภาพที่ดีได้ ดังนั้นรากฟันเทียมจึงไม่สามารถใส่ได้ในผู้ที่สูญเสียฟันทุกราย  

ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียมมีอะไรบ้าง?

ขั้นตอนการใส่รากฟันเทียม สามารถจัดเป็น 4 ระยะ คือ

  1. การคัดเลือกผู้ป่วย ตรวจสภาพช่องปาก ถ่ายภาพรังสีเพื่อดูปริมาณกระดูกและรากฟันซี่ข้างเคียง พิมพ์ปาก วางแผนการรักษา และเตรียมช่องปากก่อนการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ได้แก่ อุดฟันผุซี่ที่ใกล้เคียง ขูดหินปูน และในรายที่มีโรคเหงือกอักเสบหรือปริทันต์อักเสบ ต้องได้รับการรักษาให้หายดีก่อน
  2. การผ่าตัดฝังตัวรากเทียม (Implant Fixture หรือ Implant Post) และติดตามผลการผ่าตัด โดยการผ่าตัดอาจทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่หรือดมยาสลบ ในผู้ที่สูญเสียฟันรายที่มีกระดูกละลายไปมากหรือมีเนื้อเยื่อเหงือกที่ไม่แข็งแรงเพียงพอต่อการรองรับรากฟันเทียม จะต้องมีการผ่าตัดเสริมกระดูกหรือเนื้อเยื่อเหงือกด้วย
  3. การทำครอบฟันหรือฟันเทียม (Implant crown หรือ Acrylic denture) จะประกอบด้วย การตรวจการยึดอยู่ของตัวรากเทียม การพิมพ์ส่วนต่อของตัวรากเทียมที่จะยึดติดอยู่กับครอบฟันหรือฟันเทียม การลองและการยึดครอบฟันหรือฟันเทียมให้ติดแน่นในช่องปาก
  4. การดูแลช่องปากหลังการติดครอบฟันหรือฟันเทียมบนรากฟันเทียม ผู้ที่มีรากฟันเทียมในช่องปากควรได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกับฟันธรรมชาติ ควรให้ทันตแพทย์ช่วยดูแลเป็นระยะตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย โดยควรกลับไปให้ทันตแพทย์ตรวจ บำรุงรักษา ทำความสะอาด และขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือตามความจำเป็น ขึ้นอยู่กับสภาพฟันเทียมและความสามารถในการทำความสะอาดช่องปากของผู้ป่วย

หากรากฟันเทียมหลุด ต้องทำอย่างไร?

ในการผ่าตัดฝังตัวรากเทียม ทันตแพทย์จะใส่ส่วนฝาปิดตัวรากเทียม (closure cap หรือ cover screw หรือ healing cap) มีลักษณะคล้ายเข็มหมุดหรือตะปูเรือใบเล็กๆ มีเกลียวเฉพาะส่วนตัวเข็ม ใส่เพื่อเป็นการปกป้องส่วนต่อของตัวรากเทียมชั่วคราวก่อนการรักษาในระยะต่อไป ฝาปิดนี้สามารถหลุดออกได้จากการเคี้ยวอาหาร หรือแปรงฟันรุนแรง บ่อยครั้งทำให้ผู้รับการรักษาเข้าใจผิดว่าตัวรากเทียมหลุด การรักษาเพียงนำฝาปิดนี้กลับไปให้ทันตแพทย์ใส่ อย่างไรก็ตามผู้รับการรักษาต้องระวังไม่เผลอกลืนกินชิ้นส่วนนี้ และเมื่อหลุดควรรีบกลับไปให้ทันตแพทย์ใส่

หากเป็นส่วนของตัวรากเทียมหลุด จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก หรือทรงกระบอกที่สอบเล็กน้อย มีเกลียวตลอดทั้งชิ้นหรือเกือบทั้งชิ้น ขนาดใกล้เคียงกับซี่ฟัน ถ้าตัวรากเทียมอาจหลุดออกจากขากรรไกรต้องรีบนำกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อประเมินการยึดติด หาสาเหตุและวางแผนการรักษาใหม่ อาจเป็นการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมใหม่ หรือเปลี่ยนแผนการรักษาเป็นใส่ฟันปลอมชนิดอื่นแทน

หากเป็นส่วนของครอบฟันหรือฟันเทียมที่ยึดติดบนตัวรากเทียมหลุด สามารถนำกลับไปให้ทันตแพทย์ตรวจหาสาเหตุ และติดกลับไปบนตัวรากเทียมได้ ทั้งนี้อาจต้องพิมพ์ปากเพื่อทำชิ้นงานส่วนนี้ใหม่ ในกรณีที่ครอบฟันหรือฟันเทียมนั้นคุณภาพไม่เหมาะสมต่อการใช้งาน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สะพานฟันถอดได้ ปีกผีเสื้อ แบบติดข้างเดียว ต่างกันยังไง?, (https://hdmall.co.th/c/dental-bridge-type).
รากฟันเทียม คืออะไร? ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร?, (https://hdmall.co.th/c/dental-implant).
คณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาการ. คู่มือรากฟันเทียมเพื่อรองรับฟันเทียมทั้งปากชิ้นล่าง ในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 HANDBOOK OF IMPLANT-RETAINED MANDIBULAR OVERDENTURE. สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. พิมพ์ แอนด์ อาร์ต. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพ 1 สิงหาคม 2556

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี

อาหารที่สามารส่งเสริมสุขภาพของช่องปากได้อย่างน่ามหัศจรรย์

อ่านเพิ่ม
การรักษารากฟัน
การรักษารากฟัน

รู้จักการรักษาที่ทำให้ฟันแท้ๆ ของคุณ "ยืนระยะ" ไปได้อีกนาน โดยไม่ต้องถอนออก และไม่ต้องใส่ฟันปลอมแทน

อ่านเพิ่ม
รวมราคารากฟันเทียม ทั้งโรงพยาบาลและคลินิก
รวมราคารากฟันเทียม ทั้งโรงพยาบาลและคลินิก

รากฟันเทียมมีราคาสูงแต่เป็นสิ่งจำเป็น หากรู้สิทธิ์ประกันสังคมก็ช่วยแบ่งเบาได้ส่วนหนึ่ง

อ่านเพิ่ม