กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา

11 แนวทางจากองค์การอนามัยโลก ป้องกันภาวะ "สมองเสื่อม"

แนวทางการป้องกันโรคสมองเสื่อมจากองค์การอนามัยโลก
เผยแพร่ครั้งแรก 23 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 9 ธ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
11 แนวทางจากองค์การอนามัยโลก ป้องกันภาวะ "สมองเสื่อม"

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) หมายถึง กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ตามมา เช่น ความผิดปกติด้านสติปัญญา ความคิด การตัดสินใจผิดพลาด ความจำบกพร่อง หลงลืม ทั้งความจำระยะสั้นและระยะยาว มีปัญหาในการพูด
  • ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ พบได้หลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมสลายของเนื้อสมอง หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน แข็งตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ลดลง การติดเชื้อในสมอง ทําให้เกิดการอักเสบในสมอง และทำลายเนื้อสมอง การขาดสารอาหารบางชนิด
  • โรคสมองเสื่อมมีทั้งที่รักษาแล้วได้ผลดีและรักษาไม่หาย โดยสาเหตุที่เกิดจากการเสื่อมของเนื้อสมองจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีที่ช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้
  • แนวทางป้องกันโรคสมองเสื่อม เช่น อกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เลิกสูบบุหรี่ หากเป็นโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดี รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิงและผู้ชาย

"สมองเสื่อม" นับเป็นภาวะที่มักเกิดจากความเสื่อมของสมองตามวัย จึงพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ภาวะสมองเสื่อมอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายได้ เช่น หลงลืม เดินออกจากบ้านแล้วกลับไม่ถูก จำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร ฯลฯ 

ดังนั้นหากมีคนใกล้ชิดอยู่ในภาวะสมองเสื่อมจะต้องดูแล เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ออกแนวทางป้องกันโรคสมองเสื่อม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมาแล้ว ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สมองเสื่อม คืออะไร?

ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) หมายถึง กลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติดังต่อไปนี้ตามมา

  • มีความผิดปกติด้านสติปัญญา ความคิด 
  • การตัดสินใจผิดพลาด
  • บกพร่องเรื่องตรรกะ และเหตุผล
  • ความจำบกพร่อง หลงลืม ทั้งความจำระยะสั้นและระยะยาว 
  • มีปัญหาในการพูด พูดซ้ำๆ 
  • ไม่เข้าใจคำพูดไม่สามารถปฏิบัติงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ 
  • สับสนเรื่องเวลา สถานที่ บุคคล 
  • มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน 

อาการเหล่านี้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถทำงาน หรืออยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

ทั้งนี้จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข โดยการตรวจร่างกายในพ.ศ. 2557 พบผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปว่า มีภาวะสมองเสื่อมมากถึง 8.1% และคาดว่ามีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วประเทศประมาณ 8 แสนกว่าคน โดยผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย

สาเหตุของสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ พบได้หลายสาเหตุดังนี้

  • เกิดจากการเสื่อมสลายของเนื้อสมอง ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
  • เกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน แข็งตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ลดลง จนไม่เพียงพอกับการใช้งาน ส่งผลให้เนื้อสมองตาย มักพบในผู้ป่วยกลุ่มที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีระดับไขมันคอเลสเตอรอลสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน
  • เกิดจากการติดเชื้อในสมอง ทําให้เกิดการอักเสบในสมอง และทำลายเนื้อสมอง เช่น ไวรัสสมองอักเสบญี่ปุ่น (Japanese encephalitis) หรือเชื้อไวรัสจากวัว หรือโรควัวบ้า 
  • เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามิน เช่น วิตามินบี 1 ซึ่งมักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หนัก เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือขาดวิตามินบี 12 ซึ่งพบในผู้ที่รับประทานมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด หรือผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งทำหน้าที่ดูดซึมวิตามินบี 12
  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการเผาผลาญของร่างกาย เช่น การทํางานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ การทํางานผิดปกติของตับ หรือไต ทำให้ของเสียคั่งในร่างกาย ส่งผลให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ ถ้าเป็นนานเข้าอาจจะทําให้ผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมได้
  • เกิดจากการถูกกระแทกที่ศีรษะ ทำให้เนื้อสมองเกิดความเสียหาย อาจพบในกลุ่มนักกีฬา เช่น นักมวย
  • เกิดจากเนื้องอกในสมอง

สมองเสื่อมรักษาได้ไหม?

โรคสมองเสื่อมมีทั้งที่รักษาแล้วได้ผลดีและรักษาไม่หาย โดยสาเหตุที่เกิดจากการเสื่อมของเนื้อสมองจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีที่ช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ โดยมีวิธีรักษา 2 รูปแบบหลักๆ คือ

  • การใช้ยา ยาในกลุ่มที่ไปยับยั้งการทำลายสารสื่อประสาทอะซิทิลโคลีน (Acetylcholine) เช่น โดเนเพซิล (Donepezil) ไรวาสติกมีน (Rivastigmine)
  • การรักษาทางด้านจิตใจ เช่น การบำบัดด้วยการกระตุ้นการรู้คิด การเข้าร่วมกิจกรรมฝึกทักษะ ฝึกสมอง เช่น เล่มเกม เล่นดนตรี อ่านหนังสือ พบปะเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันเพื่อให้ได้สังสรรค์ พูดคุย 

แนวทางป้องกันสมองเสื่อมจากองค์การอนามัยโลก

  1. ออกกำลังกาย ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ จัดสวน 
  2. เลิกสูบบุหรี่
  3. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นรับประทานผักสด ผลไม้สด ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วและธัญพืช  
  4. ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเสริม เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันว่า วิตามินเสริมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดสมองเสื่อมได้
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  6. ฝึกสมอง มีการศึกษาบางชิ้นชี้ว่า การเล่นอักษรไขว้ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ อาจเป็นประโยชน์ต่อการฝึกสมองโดยเฉพาะการวางแผน การตัดสินใจ ความจำ 
  7. เข้าสังคม แม้จะไม่มีหลักฐานว่าจะหยุดยั้งหรือชะลอการเกิดสมองเสื่อมได้ แต่การได้พบปะเพื่อนฝูง ก็ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจดีขึ้น
  8. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  9. ควบคุมความดันโลหิต เพราะการเกิดสมองเสื่อมนั้นเกี่ยวพันกับอาการความดันโลหิตสูงด้วย
  10. หากเป็นโรคเบาหวาน ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
  11. ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล เพราะหากสูงเกินไปจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้

แม้ว่าโรคสมองเสื่อม จะไม่ได้เป็นภาวะที่ร้ายแรง หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตและลดทอนคุณภาพชีวิตอย่างมาก ผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะนี้จึงจำเป็นต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ และความอดทนอย่างมากในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ 

แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยแนวทางการปฏิบัติตัวที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมานี้ น่าจะมีส่วนช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมลงได้มาก หรือชะลอให้เกิดอาการสมองเสื่อมช้าลง

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิงและผู้ชาย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
บีบีซีไทย, องค์การอนามัยโลกออกแนวทางลดความเสี่ยงสมองเสื่อมเป็นครั้งแรก (https://www.bbc.com/thai/international-48285192), 24 มิถุนายน 2563.
จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง, ภาวะสมองเสื่อม (https://med.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/files/public/pdf/Dementia.PDF), 24 มิถุนายน 2563.
ศินาท แขนอก, ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ (https://www.dmh.go.th/downloadportal/morbidity/dementia.pdf), 24 มิถุนายน 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป