ท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่ต้องดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ถึงแม้ท่านจะดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง (หรือบางท่านอาจต้องดูแลโดยหน้าที่ก็ตาม) ท่านก็อาจได้รับผลกระทบจากการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึ่งผลกระทบนี้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัญหาของผู้ป่วยและความสามารถในการจัดการปัญหาของตัวท่านเอง โดยทั่วไปผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ดูแล มีดังต่อไปนี้
1.ผลกระทบต่อเวลาของท่าน ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอาจติดท่านมาก และท่านต้องดูแลชีวิตประจำวันของผู้ป่วยตลอดเวลาทำให้ท่านไม่มีเวลาสำหรับตนเอง
อย่ารอสุขภาพดี! คุณเริ่มได้วันนี้ แค่คลิก
เลือกดูสินค้าและบริการสุขภาพดีๆที่เราคัดมาให้ที่ Health Shop

2.ผลกระทบทางอารมณ์ ปัญหาเรื่องอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญที่มักเกิดขึ้น โดยอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยได้แก่
- อารมณ์ขุ่นเคือง โกรธ ท่านอาจรู้สึกโกรธที่ทำไมท่านต้องเป็นผู้ดูแล ทำไมไม่มีคนอื่นมาช่วย หรือโกรธเวลาที่ผู้ป่วยทำเรื่องให้ท่านไม่พอใจหรือโกรธตัวเองที่ต้องอยู่ในสถานการณ์นี้
- อับอาย ผู้ดูแลบางคนอาจรู้สึกอับอายในการกระทำบางอย่างของผู้ป่วย เช่น ตะโกนเอะอะในที่สาธารณะ รื้อของจากชั้นวางของในร้านขายของ การอธิบายให้เพื่อนบ้านหรือเพื่อนของท่านทราบว่าอาการดังกล่าวเกิดจากภาวะสมองเสื่อม อาจทำให้เขาเข้าใจท่านและรู้สึกไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าอับอาย
- รู้สึกผิด ผู้ดูแลบางท่านรู้สึกผิดต่อสิ่งที่ได้กระทำไปกับผู้ป่วย เช่น การที่โกรธผู้ป่วยและพูดไม่ดีกับผู้ป่วย หรือการที่ออกไปพักผ่อนกับเพื่อนแทนที่จะดูแลผู้ป่วย หรือการที่ต้องให้ผู้ป่วยไปอยู่ในสถานพักฟื้นคนชรา
- หดหู่ ซึมเศร้า ผู้ดูแลอาจรู้สึกหดหู่หรือซึมเศร้าจากการที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือเมื่อผู้ป่วยเจ็บป่วยหนักหรือเสียชีวิตลงการได้พูดคุยระบายความรู้สึกกับผู้อื่นที่เข้าใจท่านอาจทำให้ดีขึ้น
3.ผลกระทบต่อร่างกาย ผู้ดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีเวลาให้กับตัวเองในการดูแลสุขภาพ บางท่านมีโรคประจำตัวแต่กลับไม่มีเวลาไปพบแพทย์เนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วยตลอด ผู้ดูแลน้อยคนมากที่จะได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี จึงอาจมีโรคภัยไข้เจ็บซ่อนอยู่ ผู้ดูแลมักได้นอนหลับพักผ่อนน้อย นอกจากนี้การดูแลผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย อาจทำให้ท่านมีอาการปวดหลังปวดเข่า จากการที่ต้องยกหรือประคองผู้ป่วย การทำงานบ้านมากขึ้น หรืออาจเกิดอาการปวดท้องจากการที่กินอาหารไม่เป็นเวลา
4.ผลกระทบต่อการเข้าสังคม การคบหาเพื่อนฝูง การที่ต้องดูแลผู้ป่วยบางครั้งทำให้ผู้ดูแลเกิดปัญหากับสมาชิกคนอื่นในครอบครัว เช่น เมื่อเกิดปัญหากับผู้ป่วยอาจทำให้สมาชิกคนอื่นติเตียนผู้ดูแล หรือท่านอาจรู้สึกไม่ดีที่สมาชิกคนอื่นในบ้านไม่ช่วยเหลือท่าน หรือดูแลผู้ป่วยได้ไม่ดีเมื่อท่านฝากให้เขาดูแล นอกจากนั้นผู้ดูแลอาจไม่มีเวลาไปพูดคุย สังสรรค์กับเพื่อนฝูง หรือคนอื่น ๆ หรือแม้ได้พบปะผู้อื่น ผู้ดูแลจึงอาจเกิดความเครียด
ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ "รู้จริงและเข้าใจ สุขภาพผู้สูงวัยและภาวะสมองเสื่อม" โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ระบบประสาท และภาวะสมองเสื่อม ปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหาจากหนังสือ "สุขภาพดีสมใจ ในวัยสูงอายุ" จากสำนักพิมพ์ซีเอ็ด