อันตรายของมลพิษ วิธีเลือกหน้ากากกันเชื้อหรือฝุ่นละออง และวิธีการใช้หน้ากาก

เผยแพร่ครั้งแรก 9 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
อันตรายของมลพิษ วิธีเลือกหน้ากากกันเชื้อหรือฝุ่นละออง และวิธีการใช้หน้ากาก

ชีวิตของคนที่ทำงานในเมืองใหญ่ๆ หรือใกล้แหล่งอุตสาหกรรมหนัก มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอันตรายของมลพิษ โดยเฉพาะมลพิษทางอากาศ ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้คนวัยทำงานเหล่านี้ แต่อันตรายของมลพิษทางอากาศยังเป็นสิ่งที่แก้ไขและป้องกันได้ ด้วยการใช้หน้ากากกันเชื้อและฝุ่นละอองนั่นเอง

อันตรายของมลพิษทางอากาศมีอะไรบ้าง

อากาศที่มีสารพิษเจือปนและค้างอยู่นาน เช่น ฝุ่น สารตะกั่ว แคดเมียม สารหนู การเผาไหม้ของพลังงาน ไอระเหยจากน้ำมัน หมอก ควัน สารเคมีที่ใช้ในก่อสร้าง หรือควันยาสูบ มักจะทำให้เกิดผลเสียกับมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งปลูกสร้างดังนี้

  • มนุษย์ ทางด้านจิตใจจะส่งผลให้ไม่มีความสุข รู้สึกรำคาญอันเนื่องมาจากการหายใจที่ไม่สะดวกหรือหายใจติดขัด ก่อให้เกิดความเครียด ส่วนทางด้านร่างกายเมื่อสูดดมหายใจเข้านานๆ จะเกิดการสะสมของสารพิษ ทำให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น สมองเสื่อม แขนขาอ่อนแรง ปอดเสีย เกิดการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน อย่างเช่นกรณีหายใจเอาสารพิษเข้าไปแบบเข้มข้น ก็จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้วเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่ถ้าหายใจเอาสารพิษเข้าไปสะสมเป็นระยะเวลานานๆ ก็จะเจ็บป่วยแบบเรื้อรังได้ อย่างเช่นโรคภูมิแพ้หรือผื่นคันตามร่างกาย เป็นต้น
  • สัตว์ ร่างกายจะเกิดการเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง สุดท้ายตายด้วยสารพิษโดยจะเกิดผลเสียเช่นเดียวกันมนุษย์นั่นเอง
  • พืช พืชต้องมีการหายใจเพื่อใช้ปรุงอาหาร หากมีสารพิษเข้าไปย่อมทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ต้นแคระแกรน ใบเหลือง เกิดจุดด่างและตายลงได้
  • สิ่งปลูกสร้าง ย่อมมีความเสื่อมมากกว่าในแหล่งที่ไม่มีมลพิษ เพราะสารพิษที่อยู่ในอากาศนานๆ จะไปทำปฏิกิริยาให้วัสดุเสื่อมคุณภาพ เป็นสนิม เปลี่ยนสี หลุดหรือผุกร่อนและแตกหักได้เร็วขึ้น

วิธีเลือกหน้ากากกันเชื้อและฝุ่นละออง

การใช้หน้ากากกันเชื้อและฝุ่นละอองก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการแก้ปัญหาการหายใจเอาสารพิษ ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของการเกิดโรคเข้าไป โดยการเลือกนี้ก็ควรจะต้องรู้จักชนิดของหน้ากากและนำไปใช้ให้ถูกต้องดังต่อไปนี้

1.รู้จักและนำไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์

  • หน้ากากอนามัยทำจากกระดาษหรือผ้าฝ้าย เป็นหน้ากากที่ใช้สำหรับป้องกันฝุ่นขนาดใหญ่หรือสารคัดหลั่ง อย่างเช่นน้ำลายและน้ำมูกของผู้ใส่หน้ากาก เพื่อไม่ให้ออกมาปะปนกับอากาศภายนอก แต่มีข้อเสียคือไม่แนบหรือกระชับกับใบหน้ามากพอ และยังไม่สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กได้ ส่วนแบบกระดาษจะใช้แล้วทิ้งและแบบผ้ายังสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ด้วยการซัก
  • หน้ากากกรองอากาศ N95 เป็นหน้ากากที่ใช้ป้องกันฝุ่นหรือกรองอนุภาคขนาดเล็ก โดยปัจจุบันนิยมใช้งานในเมืองใหญ่ที่มีค่ามาตรฐานฝุ่นมากเกิน อย่างเช่นมลพิษฝุ่น PM2.5 รวมทั้งป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก วัณโรค หรือเชื้ออีโบลา เพื่อไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย

 2.ต้องเลือกหน้ากากที่ได้มาตรฐานรับรอง ระดับประเทศอย่างเช่นได้มาตรฐานของอเมริกาคือ NIOSH Standard, NIOSH 42, CFR 84 ที่สามารถกรองฝุ่นหรืออนุภาคได้สูง 95 – 99.97% หรืออาจเป็นมาตรฐานยุโรปคือ European Standard, EN 149 ที่สามารถกรองฝุ่นได้ถึง 80 – 99%

วิธีการใช้หน้ากากแบบกรองอากาศ N95

  • ล้างมือให้สะอาดแล้วนำหน้ากากออกมา ดึงสายรัดเช็คความยืดหยุ่น จากนั้นให้หงายหน้ากากลงบนกลางฝ่ามือ โดยให้แถบอลูมิเนียมออกมาด้านหน้าและสายรัดทิ้งตัวลงมาด้านล่าง
  • คว่ำหน้ากากลงบนใบหน้าแล้วดึงสายด้านบนให้คล้องศีรษะบริเวณเหนือใบหู ส่วนสายที่อยู่เส้นล่างให้ดึงขึ้นไปคล้องที่บริเวณต้นคอ จัดสายทั้งสองเส้นให้เรียบร้อย ส่วนแถบอลูมิเนียมที่อยู่เหนือจมูกจัดให้พอดีกับใบหน้า
  • ตรวจสอบความกระชับด้วยการนำฝ่ามือทั้งสองข้างวางบนหน้ากาก จากนั้นหายใจออกแรงๆ ซ้ำหลายๆ ครั้ง หากพบว่าไม่มีลมออกมาจากหน้ากากนั่นคือหน้ากากกระชับกับใบหน้าดีแล้ว
  • หลังจากใช้งานเสร็จ ถ้าพบว่าหน้ากากสกปรก หายใจอึดอัด หรือมีการชำรุด จะต้องทิ้งไปโดยไม่สามารถนำมาทำความสะอาดแล้วกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

การหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมลพิษคือวิธีที่ดีที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย การสวมหน้ากากป้องกันมลพิษนับว่าเป็นทางเลือกที่ดี เป็นวิธีที่ง่ายไม่ยุ่งยากและสามารถป้องกันเชื้อโรคได้ระดับหนึ่งที่ควรต้องมีใช้เป็นประจำ


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Air pollutants: How they affect our health. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/327447)
How air pollution is destroying our health. World Health Organization. (https://www.who.int/airpollution/news-and-events/how-air-pollution-is-destroying-our-health)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)