รัก (Crown flower)

รู้จักรัก ประโยชน์ ข้อควรระวังของรัก
เผยแพร่ครั้งแรก 3 เม.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
รัก (Crown flower)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ดอกรัก สามารถออกดอกได้ตลอดปี คนไทยนิยมนำมาทำพาน ร้อยมาลัย และยังสามารถใช้เป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย
  • ต้นรักลักษณะเป็นพุ่มเล็กๆ สูงไม่เกิน 3 เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม มีใบเดี่ยวออกตรงข้าม ทรงรีปลายแหลม
  • ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งหรือซอกใบ มี 5 กลีบ อาจเป็นสีขาวหรือสีม่วง ผลของออกเป็นฝักติดกันเป็นคู่ ยาว 3-4 ซม. สามารถปลิวตามลมเพื่อขยายพันธุ์ได้
  • น้ำยางของต้นรัก สามารถใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง ขับพยาธิ ขับเลือด เปลือกต้นและรากช่วยขับเหงื่อ ขับเสมหะ ดอกรักช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร และใบสดสามารถใช้เป็นยาพอกบรรเทาอาการปวดข้อได้
  • แม้ดอกรักจะมีส่วนในช่วยระบบขับถ่าย แต่หากเกิดอาการท้องผูกมาก ควรพบแพทย์เพื่อ Detox ล้างลำไส้ (ดูแพ็กเกจ Detox ได้ที่นี่)

รัก เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง พบได้ทั่วไป มีดอกออกตลอดปี ชาวไทยนิยมนำมาใช้ร้อยมาลัย จัดพาน หรือนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ รักมีประโยชน์ทั้งสำหรับนำมาใช้ประดับตกแต่ง และใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้

ชื่อวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantea L. Dryandr ex W.T.Aiton
วงศ์ APOCYNACEAE (ASCLEPIADACEAE)
ชื่อสามัญ Milk weed, Crown flower, Giant Indian milk
ชื่ออื่นๆ ดอกรัก รักดอก ปอเถื่อน ป่านเถื่อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของรัก

รัก เป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก พุ่มสูงประมาณ 1.5-3 เมตร ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม กิ่งมีขนสีขาวปกคลุม เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้าม ลักษณะเป็นรูปรี ปลายแหลม โคนเว้ากว้าง เนื้อใบหนาอวบน้ำ หลังใบและท้องใบมีขนสีขาวปกคลุม

ดอก เป็นดอกช่อ ออกตามกิ่งหรือซอกใบ มีชนิดสีขาวและสีม่วง ดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน มีรยางค์เป็นสันคล้ายมงกุฏ มีกลีบเลี้ยงสีเทาเงิน 5 กลีบ

ผล เป็นฝักออกติดกันเป็นคู่ มีสีเขียว ขนาดกว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-8 ซม. ผิวเป็นคลื่น ผลแก่สีน้ำตาลและแตก เมล็ดแบนสีน้ำตาล มีขนสีขาวเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง เมล็ดสามารถปลิวไปตามลมเพื่อขยายพันธุ์ได้

สรรพคุณของรัก

ส่วนต่างๆ ของต้นรักมีสรรพคุณดังนี้

  • ยาง เป็นยาถ่ายอย่างแรง ขับพยาธิ ขับเลือด ใช้ภายนอกช่วยรักษากลาก เกลื้อน แก้ปวดฟัน
  • เปลือกต้นและราก แก้ไข้ ช่วยขับน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน
  • ดอก ช่วยย่อย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร แก้ไอ แก้หืดและหวัด
  • ใบสด รักษาริดสีดวงทวาร ใช้เป็นยาพอกบรรเทาอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ

ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณ สารประกอบ ในดอกรักและใบรัก พบว่าสารสกัดจากดอกและใบสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด น้ำยางสามารถต้านการอักเสบ ลดปวด ต้านจุลชีพ ต้านมะเร็ง และลดไข้ได้

แต่การศึกษาดังกล่าวยังเป็นการศึกษาในห้องทดลอง การใช้รักเพื่อเป็นยาเพื่อรักษาโรคจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ

ข้อควรระวังของรัก

แม้จะมีการศึกษาเรื่องสรรพคุณมาแล้ว แต่การนำรักไปใช้ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น

  • ยาง มีส่วนประกอบกลุ่มกรด Resin ester complex acids ซึ่งระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา ทำให้เกิดผื่น แดง คัน อักเสบ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือหากมีการสัมผัสกับยางพิษในรักแล้ว ควรรีบล้างด้วยน้ำและสบู่ เพื่อลดความเข้มข้นของพิษ ป้องกันการระคายเคืองที่รุนแรง
  • ยางและใบ มีสารกลุ่ม Cardiac glycoside ที่มีฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิต อาการพิษจะเริ่มด้วยอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และต่อมีจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ และอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากได้รับเข้าไปปริมาณมาก เมื่อได้รับพิษควรไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาทันที

ดูแพ็กเกจ Detox เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศาสตราจารย์นายแพทย์วินัย วนานุกูล, ภาวะเป็นพิษจากพืช (https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Plant).
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, รักดอก (http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=2080).
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช, พิชมีพิษต่อระบบทางเดินอาหารและโลหิต (http://www.rspg.or.th/plants_data/use/toxic_25.htm).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)