ผักติ้ว (Cratoxylum formosum)

เผยแพร่ครั้งแรก 10 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ผักติ้ว (Cratoxylum formosum)

ต้นผักติ้ว เป็นไม้ป่าที่ขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณแล้งทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ดอกของต้นผักติ้วจะบานเต็มต้นสวยงามและส่งกลิ่นหอม เหมาะสำหรับปลูกเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและไม้ประดับ ส่วนต่างๆ ของผักติ้วก็สามารถรับประทานเป็นอาหารและยาได้ด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer

ชื่อวงศ์            HYPERICACEAE

ชื่อพ้อง            Cratoxylum formosum subsp. formosum

ชื่อท้องถิ่น         แต้วหิน ผักเตา ติ้วส้ม กวยโชง ตาว ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด ติ้วเหลือง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักติ้ว

ต้นผักติ้ว เป็นไม้ยืนต้น สูง 8-15 เมตร ยอดไม้เป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุมทั่วกิ่ง เปลือกไม้สีน้ำตาลไหม้ แตกเป็นสะเก็ด เปลือกด้านในสีน้ำตาลแกมเหลือง มีน้ำยางสีเหลืองปมแดงซึมออกมา ใบมนแกมรูปทรงรีและรูปขอบขนาน กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 3-13 เซนติเมตร ออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกัน โคนสอบเรียว ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบโตออก ปลายสุดสอบเข้า เนื้อใบบาง หลังใบมีขนสาก ท้องใบมีขนนุ่มหนาแน่น ดอกสีชมพูอ่อนจนถึงแดง กลิ่นหอมอ่อนๆ ผลรูปร่างรี กว้าง 1 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร หรือเล็กกว่านั้น เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 แฉก มีเมล็ดข้างในสีน้ำตาล

คุณค่าทางโภชนาการของผักติ้ว 100 กรัม 

ให้พลังงาน 58 กิโลแคลอรี

แหล่งที่มา : ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม (กองโภชนาการ กรมอนามัย)

สรรพคุณของผักติ้ว

ผักติ้วสามารถนำมาปรุงเป็นยาได้เกือบทุกส่วน โดยมีวิธีทำและสรรพคุณดังนี้

  • ส่วนยอดอ่อนและใบอ่อนของผักติ้ว มีสรรพคุณบำรุงโลหิต ฟอกโลหิต แก้ประดง (โรคที่เกิดจากพิษไข้ ทำให้ผู้ป่วยมีเม็ดผื่นขึ้นตามผิวหนังทั่วตัว มีอาการปวดแสบปวดร้อน และมีไข้สูง) โดยนำยอดและใบอ่อนของผักติ้วเข้าตำรับยา เช่น ฝาง ใบส้มเสี้ยว รกมะดัน ต้มรวมกันในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วันหรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • เปลือกต้นของผักติ้วนำมาต้มในน้ำเดือด รับประทานแก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง
  • ยางจากเปลือกต้น นำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการคัน
  • เปลือกและใบ นำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทารักษาโรคผิวหนังบางชนิด เช่น ผดผื่น เป็นต้น

การนำผักติ้วมาปรุงอาหาร

ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของผักติ้ว ใช้รับประทานเป็นผักสดแนมกับเมนูหลากหลาย เช่น ก้อย น้ำตก แจ่ว ซุปหน่อไม้ น้ำพริก น้ำพริกปลาร้า ขนมจีน หมี่กะทิ เมี่ยงญวน แหนมเนืองเวียดนาม หรือจะนำไปประกอบอาหาร เช่น ใส่ต้มหรือแกงต่างๆ เพื่อให้มีรสเปรี้ยวแทนการใช้มะนาว เช่น แกงเห็ด แกงปลา เป็นต้น

ข้อห้ามและข้อควรระวัง

ผักติ้ว เป็นผักที่สามารถรับประทานได้เป็นประจำ จากการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยของผักติ้ว ยังไม่พบรายงานความเป็นพิษ หรืออาการไม่พึงประสงค์ใดๆ


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชน, 2538.
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ผักพื้นบ้าน, 2540.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป