โควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ภูมิแพ้ ความแตกต่างของอาการและวิธีการรักษา

โควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ภูมิแพ้ มีสาเหตุ อาการและวิธีรักษาแตกต่างกัน การทำความเข้าใจโรคในเบื้องต้น จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
เผยแพร่ครั้งแรก 7 พ.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
โควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ภูมิแพ้ ความแตกต่างของอาการและวิธีการรักษา

จากสถานการณ์การของโรคโควิด-19 ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดครั้งนี้เป็น "การระบาดใหญ่" หรือ Pandemic หลังจากเชื้อลุกลามไปอย่างรวดเร็วในทุกภูมิภาคของโลก ทำให้หลายคนที่เริ่มมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ เริ่มวิตกกังวลว่าตนเองกำลังป่วยเป็นโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือมีอาการของโรคภูมิแพ้ เนื่องจากอาการของโรคที่กล่าวมามีความคล้ายคลึงกัน

ทั้งนี้เพื่อให้คุณสามารถแยกแยะความต่างของโรคได้ HD จะมาอธิบายความแตกต่างของสาเหตุ อาการ รวมทั้งยารักษาโรคโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่และภูมิแพ้ให้ทราบ

สาเหตุของโรคโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้

โรคโควิด-19 ไข้หวัดและภูมิแพ้ มีสาเหตุการเกิดโรคที่แตกต่างกัน ดังนี้

โรคโควิด-19 (COVID-19)

โรคโควิด-19 มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (Severe acute respiratory syndrome coronavirus 2) หรือไวรัสโคโรนาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงชนิดที่สอง

สาเหตุที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิดกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส ซึ่งเคยมีการแพร่ระบาดครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2002

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน และมีโอกาสที่เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ปอด จนทำให้เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงได้

โรคไข้หวัด (Common cold)

โรคไข้หวัดหรือไข้หวัดทั่วไป ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไรโนไวรัส (Rhinovirus) นับเป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ ส่วนไวรัสอื่นๆ ที่พบรองลงมา ได้แก่ โคโรนาไวรัส (Coronavirus) พาราอินฟลูเอนซาไวรัส (Parainfluenza virus)

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส จะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณโพรงจมูก และอาจลามมาถึงช่องปาก แต่มีอาการไม่รุนแรงนัก มักหายได้เองภายใน 3-4 วัน

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งไวรัสชนิดนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่การติดเชื้อที่พบในมนุษย์คือ สายพันธุ์ A B และ C

เมื่อร่างการติดเชื้อไวรัส จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจตั้งแต่จมูก ลำคอ และปอด มักเกิดการระบาดในช่วงเปลี่ยนฤดู โดยเฉพาะช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนและฤดูหนาว

โรคภูมิแพ้ (Allergy)

โรคภูมิแพ้ คือโรคที่เกิดจากร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้จะหลั่งฮีสตามีน (Histamines) ออกมา

ฮีสตามีนนี้จะส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการผิดปกติ เช่น มีน้ำมูก คันตามร่างกาย มีผื่นแดง อาจมีหลอดลมตีบ หายใจลำบาก หากออกฤทธิ์ที่ทางเดินอาหารจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งแต่ละคนจะตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่ต่างกัน แสดงอาการแตกต่างกัน และความรุนแรงของอาการก็ไม่เท่ากันด้วย

อาการของโรคโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้

อาการของโรคโควิด-19 ไข้หวัดและภูมิแพ้นั้น มีทั้งอาการที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ดังนี้

อาการของโรคโควิด-19

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะมีอาการเบื้องต้น ได้แก่

  • มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไอแห้งๆ เจ็บคอ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอแบบมีเสมหะ
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
  • ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยหอบ
  • บางรายอาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
  • หายใจถี่ หายใจลำบาก ในบางรายรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบหรือปอดบวม
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย

อาการของโรคไข้หวัด

อาการของโรคไข้หวัดนับเป็นอาการที่หลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในวัยเด็กที่โดยเฉลี่ยจะมีโอกาสป่วย 6-8 ครั้งต่อปี และความถี่จะลดลงเมื่ออายุเริ่มเพิ่มขึ้น โดยมีอาการดังนี้

  • มีไข้ต่ำๆ
  • ไอ เจ็บคอ คอแดง อาจมีเสมหะ
  • ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง
  • จาม คัดจมูก
  • มีน้ำมูกใสหรือขุ่น
  • ทอนซิลอาจบวมแดง แต่ไม่มีหนอง

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ในเบื้องต้นจะคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป แต่อาการจะรุนแรงกว่า รวมทั้งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า โดยอาการที่มักพบในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ได้แก่

  • มีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานหลายวัน
  • ไอ เจ็บคอ
  • คัดจมูก มีน้ำมูก
  • อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ ปวกเมื่อยตามเนื้อตัว

อาการของโรคภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้นั้นเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย ซึ่งแต่ละระบบจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไป และผู้ป่วยแต่ละคนอาจแสดงอาการไม่เหมือนกันด้วย แต่อาการเบื้องต้นที่มักพบในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีดังนี้

  • จามบ่อย
  • คันบริเวณตา ใบหน้า หรือลำคอ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • เจ็บคอ อาจมีเสมหะ
  • หายใจไม่ออก หอบ หืด
  • หูอื้อ ตาแดง

จะเห็นได้ว่าทั้งสี่โรคมีกลุ่มอาการบางอย่างร่วมกัน เช่น ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ซึ่งอาจทำให้หลายคนสับสนได้ แต่จะสามารถแยกแยะความต่างได้คือ

หากเป็นโรคโควิด-19 ผู้ป่วยจะมีไข้สูง และไอแห้งๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เริ่มหายใจถี่หายใจลำบาก และอาการจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่โรคไข้หวัดธรรมดาจะมีไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก เจ็บคอ คัดจมูก แต่มักจะไม่มีอาการหายใจลำบาก หากรับประทานยาลดไข้อาการก็จะเริ่มดีขึ้นภายใน 3-4 วัน

ส่วนอาการภูมิแพ้นั้นส่วนใหญ่มักไม่มีไข้ แต่จะมีน้ำมูกไหลและคันตามร่างกาย เช่น บริเวณตา ใบหน้า โดยอาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ และเป็นติดต่อกันเป็นเวลานาน หากร่างกายสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ติดต่อกันอาจแสดงอาการนานนับเดือน

แนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้

เนื่องจากโรคโควิด-19 ไข้หวัดและภูมิแพ้ มีสาเหตุการเกิด แนวทางการรักษา รวมทั้งตัวยาแตกต่างกันออกไป โดยแต่ละโรคมีขั้นตอนการรักษาต่างกันดังนี้

โรคโควิด-19

ปัจจุบันยังไม่มียาป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 ที่ชัดเจน แต่ทางการแพทย์ก็ได้มีการวางหลักเกณฑ์การรักษาไว้ โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ผู้ป่วยไม่มีอาการ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพียงแต่ให้ยาประคับประคองตามอาการ
  2. ผู้ป่วยภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ ให้ยา 2 ชนิดคือ ยาต้านมาลาเรีย ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี
  3. ผู้ป่วยภาพถ่ายรังสีปอดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ โรคไตเรื้อรัง ให้ใช้ยาต้านมาลาเรีย ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี และอาจพิจารณาให้ยาฟาร์วิพาราเวียร์ (Favipiravir) เพิ่มเติม
  4. ผู้ป่วยปอดอักเสบ แนะนำให้ใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิด คือ ฟาวิพิราเวียร์ ร่วมกับยาต้านมาลาเรียและยาต้านไวรัสเอชไอวี รวมทั้งพิจารณาใช้อุปกรณ์อื่นๆ ตามความจำเป็น

โรคไข้หวัด

เป็นโรคที่ร่างกายสามารถฟื้นตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส โดยส่วนใหญ่มักรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ จะให้ยาลดไข้ แก้ปวดในกลุ่มพาราเซตามอน

หากผู้ป่วยไอ ก็จะให้ยาบรรเทาอาการไอ หากมีน้ำมูก จะให้ยาลดน้ำมูก โรคไข้หวัดนับเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์

โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ หากผู้ป่วยแสดงอาการไม่มากนัก แพทย์จะจ่ายยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด แก้ไข้ กลุ่มพาราเซตามอน และแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส

แต่หากผู้ป่วยแสดงอาการรุนแรง แพทย์จะจ่ายยาต้านไวรัส ซึ่งยาที่แพทย์นิยมใช้มี 3 ชนิด ได้แก่ โอเซลทามิเวียร์(Oseltamivir) ซานามิเวียร์ (Zanamivir) และบาลอกซาเวียร์ (Baloxavir) เพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรค ควบคู่ไปกับการจ่ายยาอื่นๆ รักษาตามอาการ

โรคภูมิแพ้

กลุ่มอาการภูมิแพ้นับเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ วิธีที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แต่หากหลีกเลี่ยงได้ยากและมีอาการของโรคที่รบกวนการดำเนินชีวิต ก็สามารถใช้ยาบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้

ยาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้คือ ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงซึม (Conventional Antihistamines)

มีฤทธิ์บรรเทาโรคภูมิแพ้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้ำมูกไหล คันบริเวณใบหน้าและลำคอ คัดจมูก จามบ่อย รวมไปถึงผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง และยังบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้ด้วย

ตัวยาในกลุ่มนี้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) คีโตติเฟน (Ketotifen) ออกซาโทไมด์ (Oxatomide) ซึ่งตัวอย่างยี่ห้อยาที่ซื้อได้ตามท้องตลาด ได้แก่ เซทริซิน (Cetirizine) อะเลอแร็กซ์ (Allerax) หรือ คลอเฟน (Chlorphen)

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยาชนิดนี้คือ ตัวยาจะเข้าไปกดระบบประสาท ทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการง่วงซึม ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า จึงต้องระมัดระวังในการใช้เป็นพิเศษ

2. ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึม (Non-sedating antihistamines)

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับกลุ่มแรกคือ สามารถบรรเทาอาการน้ำมูกไหล จาม คันจมูก คันตา คัดจมูก อาการแพ้ทางผิวหนัง

ตัวอย่างตัวยาต้านฮีสตามีนที่ไม่ทำให้ง่วงซึม เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิริซีน (Cetirizine) เลโวเซทิริซีน (Levocetirizine) ซึ่งตัวอย่างยี่ห้อยาที่ซื้อได้ตามท้องตลาด เช่น คลาริทิน (Clarityne) หรือ บอสนัม (Bosnum)

ยาแก้แพ้กลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงซึมนี้มีข้อดีคือ ผลข้างเคียง เช่น อาการง่วงซึม จมูกแห้ง ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า จะน้อยกว่ายาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม โดยส่วนใหญ่ผู้ที่รับประทานยาแล้วสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

โรคโควิด-19 ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่และภูมิแพ้ แม้ว่าจะมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่สาเหตุของโรครวมทั้งแนวทางการรักษานั้นแตกต่างกัน ดังนั้นหากมีอาการป่วยที่ไม่มั่นใจว่าเกิดจากสาเหตุใด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการให้แน่ชัด รวมทั้งวางแนวทางการรักษาให้เหมาะสมที่สุด


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง รักษาอาการแพ้ได้เหมือนกันจริงหรือ? (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=27).
โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์,โรคภูมิแพ้ คืออะไร? (Allergy) (http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/608).
โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์, โรคไข้หวัดใหญ่ (http://www.siphhospital.com/th/news/article/share/622).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)