คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนแห่งความเครียด

ความเครียดส่งผลต่อฮอร์โมนคอร์ติซอลอย่างไร หากร่างกายหลั่งคอร์ติซอลมากเกินไปจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 14 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนแห่งความเครียด

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเวลาเครียด ถึงรู้สึกสมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา กดดัน วิตกกังวล ไม่ผ่อนคลาย รู้ตัวอีกทีก็เผลอกินอาหารไม่หยุด จนน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว จริงๆ แล้วสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึก และพฤติกรรมเหล่านี้ ก็คือ "ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol)" นั่นเอง 

ฮอร์โมนคอร์ติซอล คืออะไร

ฮอร์โมนคอร์ติซอล เป็นฮอร์โมนในกลุ่มสเตียรอยด์ ที่สร้างและหลั่งจากต่อมหมวกไต ฮอร์โมนคอร์ติซอลมีหน้าที่สำคัญในการตอบสนองต่อการอักเสบในร่างกาย และการตอบสนองต่อความเครียด โดยคอร์ติซอลจะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการสูบฉีดเลือด ทำให้เลือดและสารอาหารไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น สมองและร่างกายเราจึงอยู่ในภาวะตื่นตัว มีกำลังวังชา พร้อมสู้กับปัญหาและความเครียดต่างๆ คอร์ติซอลจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮอร์โมนแห่งความเครียด”

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ฮอร์โมนคอร์ติซอล จะหลั่งมากขึ้นตอนไหนบ้าง

  • ตอนเช้า การหลั่งคอร์ติซอลจะมีระดับต่างกันไปตามช่วงเวลา โดยตอนเช้าจะหลั่งมากที่สุด เพื่อให้ร่างกายเกิดการตื่นตัว พร้อมกับการทำงานและกิจวัตรประจำวัน จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนถึงตอนเย็น และก่อนนอน แต่ถ้าใครมีวิถีชีวิตที่ไม่ได้นอนกลางคืน ตื่นกลางวัน การหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลก็จะต่างออกไป
  • เมื่อเกิดความเครียด เนื่องจากฮอร์โมนคอร์ติซอลตอบสนองต่อความเครียด เมื่อมีเรื่องกวนใจหรือกังวล ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอลเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายอยู่ในสภาพตื่นตัวตลอดเวลา
  • เมื่ออดนอน พักผ่อนไม่เพียงพอ เนื่องจากการอดนอนบ่อยๆ จะสัมพันธ์กับความเครียด ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ร่างกายจึงตอบสนองโดยการหลั่งคอร์ติซอลมากขึ้น

ถ้าฮอร์โมนคอร์ติซอลไม่สมดุล จะเกิดอะไรขึ้น

แม้คอร์ติซอลจะเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อร่างกาย แต่หากเกิดความเครียดบ่อยๆ จนหลั่งคอร์ติซอลออกมามากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นจากการมีฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ได้แก่

  • อ้วนและน้ำหนักขึ้น เนื่องจากคอร์ติซอลจะกระตุ้นความหิวโหย เพื่อให้เรากินอาหารมากๆ เข้าไปชดเชยพลังงาน ปลุกให้สมองตื่นตัว และเพิ่มเรี่ยวแรงให้ร่างกาย โดยเฉพาะอาหารพลังงานสูง สังเกตว่าเวลารู้สึกเครียด มักอยากกินอาหารประเภท ของหวาน น้ำหวาน หรือฟาสต์ฟู้ด หากเกิดความเครียดบ่อยครั้งก็อาจทำให้มีไขมันสะสมตามใบหน้า แขน ขา และอ้วนขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวได้
    ดังนั้น หากอยากมีรูปร่างที่ดีการรักษาสมดุลฮอร์โมนคอร์ติซอลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อฮอร์โมนคอร์ติซอลไม่สมดุล ร่างกายมีความเครียดมากเกินไป นอกจากจะทำให้อยากอาหารแล้ว ยังส่งผลต่อระบบเผาผลาญอีกด้วย
  • น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ปัจจัยหนึ่งก็เป็นเพราะคอร์ติซอลมีบทบาทช่วยเพิ่มน้ำตาลในเลือด เพื่อให้ร่างกายนำมาใช้เป็นพลังงาน อีกปัจจัยหนึ่งก็เป็นผลมาจากการกินไม่หยุดเวลาเครียด ซึ่งทั้งน้ำตาล และไขมันในเลือด หากสูงเกินไปก็เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น
  • ความดันสูง คอร์ติซอลมีบทบาทช่วยกระตุ้นการสูบฉีดเลือดและเพิ่มความดันโลหิต หากร่างกายอยู่ในภาวะความดันสูงเรื้อรัง ก็อาจเกิดโรคต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจร้ายแรงถึงขั้นเกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้
  • การเรียนรู้และความจำแย่ลง เนื่องจากคอร์ติซอลจะส่งผลให้ประสิทธิภาพของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แย่ลง รวมถึงขัดขวางการสร้างเซลล์ประสาทใหม่ด้วย
  • ระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวน เนื่องจากคอร์ติซอลส่งผลต่อร่างกายในหลายๆ ส่วน จึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ระบบต่างๆ ได้ เช่น เกิดโรคกระเพาะอาหาร ผู้ชายมีสมรรถภาพทางเพศเสื่อมลง ผู้หญิงมีประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดภาวะซึมเศร้า ผมร่วง เป็นต้น

ค่าฮอร์โมนคอร์ติซอลต่ำส่งสัญญาณอะไรบ้าง

ฮอร์โมนคอร์ติซอลมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของต่อมหมวกไต หากค่าคอร์ติซอลต่ำลง อาจหมายถึงต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ เกิดภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องชนิดทุติยภูมิ (Scondary  adrenal  insufficiency) ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคแอดดิสัน (Addison's Disease) ทำให้ร่างกายอ่อนแรง วิงเวียนศีรษะ ซึมเศร้า หรือหงุดหงิดง่าย หากคุณพบว่า มีค่าฮอร์โมนคอร์ติซอลต่ำกว่าปกติ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป

จะทำอย่างไร ให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลสมดุล

วิธีการรักษาความสมดุลของฮอร์โมนคอร์ติซอล คือการจัดการความเครียดของตนเอง ไม่ให้มีมากเกินไป หลายคนไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ จนทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มสูงจนส่งผลกระทบกับร่างกาย แนะนำวิธีจัดการความเครียดเบื้องต้น ดังนี้

  • จัดสรรเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม เพราะการอดหลับอดนอนจะส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียด 
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส เช่น นั่งสมาธิ ไปทำบุญ ทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ อ่านหนังสือ ดูหนัง หรือท่องเที่ยว เป็นต้น
  • พบปะกับเพื่อนฝูง หรือคนที่เรารัก เพื่อปรึกษาปัญหา หรือระบายเรื่องที่ไม่สบายใจ
  • ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนแห่งความสุข
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง 
  • ไม่เก็บปัญหาไว้คนเดียว
  • ปล่อยวางจากปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ 

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
Adrenocorticotropic Hormone (ACTH)
Adrenocorticotropic Hormone (ACTH)

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการตรวจ Adrenocorticotropic Hormone (ACTH) เพื่อวินิจฉัยและติดตามฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย พร้อมวิธีปฏิบัติเพื่อให้ผลการตรวจแม่นยำมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่ม
คอร์ติซอล (Cortisol)
คอร์ติซอล (Cortisol)

คอร์ติซอล (Cortisol) คืออะไร? สำคัญต่อร่างกายอย่างไร?

อ่านเพิ่ม