ผลสำรวจวิธีคุมกำเนิดของคนไทย พ.ศ. 2562

ตัวเลขสถิติน่าสนใจเกี่ยววิธีคุมกำเนิด แบ่งตามอายุและเพศ จากกลุ่มตัวอย่างคนไทย 2,610 คน
เผยแพร่ครั้งแรก 15 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที
ผลสำรวจวิธีคุมกำเนิดของคนไทย พ.ศ. 2562

*บทความนี้อ้างอิงจากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างคือผู้เข้าชมเว็บไซต์ honestdocs.co จำนวน 2,610 คน ทำการสำรวจด้วยแบบสอบถามออนไลน์ ในช่วงวันที่ 29 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2562 เป็นเพศชาย 1,070 คน เพศหญิง 1,540 คน แบ่งเป็นกลุ่มอายุต่างๆ ดังนี้

  • อายุ 18-24 ปี 1,072 คน
  • อายุ 25-34 ปี 675 คน
  • อายุ 35-44 ปี 122 คน
  • อายุ 55-64 ปี 103 คน
  • ช่วงอายุอื่นๆ 284 คน

จากการสำรวจ พบว่ามี 5 ประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ (คุณสามารถดูผลสำรวจอย่างละเอียดได้ตอนท้ายบทความ) ดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1. กลุ่มตัวอย่าง 30% ไม่ได้คุมกำเนิด และ 11% หลั่งนอก

แผนภูมิแสดงร้อยละของวิธีคุมกำเนิดที่กลุ่มตัวอย่างแต่ละช่วงอายุเลือกใช้

แผนภูมิแสดงร้อยละของวิธีคุมกำเนิดที่กลุ่มตัวอย่างแต่ละช่วงอายุเลือกใช้


น่าตกใจที่มีคนจำนวนมากไม่ได้คุมกำเนิด หรือใช้วิธีหลั่งนอกเป็นการคุมกำเนิด โดยผู้หญิงที่ไม่ได้คุมกำเนิดมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย (คิดเป็นประมาณ 34% และ 24% ของผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละเพศ) และการหลั่งนอกเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้กันมากกว่า 10% ของผู้ตอบแบบสอบถามในทุกช่วงอายุ

สาเหตุที่หลายคนไม่ได้คุมกำเนิดหรือเลือกวิธีหลั่งนอก อาจเป็นเพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ช่วย ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพในภายหลัง แต่ที่จริงแล้วการไม่คุมกำเนิดและการหลั่งนอกอาจทำให้ท้องโดยไม่ตั้งใจและติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้

แม้ผู้ชายส่วนหนึ่งจะอ้างว่าตัวเอง “รู้” ว่าตอนไหนควรจะถอนอวัยวะเพศออก ความจริงกลับไม่ง่ายแบบนั้น เนื่องจาก บางทีผู้ชายอาจไม่รู้สึกตัวว่ากำลังจะถึงจุดสุดยอดแล้ว หรือแม้จะรู้ตัวก็อาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถหลั่งนอกได้ทันท่วงที เช่น ท่าทางการมีเพศสัมพันธ์ขณะนั้น นอกจากนี้ แม้จะไม่ได้ถึงจุดสุดยอด (Orgasm) ก็ตามที เชื้ออสุจิก็สามารถปะปนออกมากับน้ำคัดหลั่งตอนมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงยังมีความเสี่ยงที่อสุจิจะเข้าสู่ช่องคลอดและผสมกับไข่ในมดลูก

การเลือกวิธีหลั่งนอกเป็นการคุมกำเนิดทำให้มีโอกาสเสี่ยงตั้งครรภ์สูงถึงประมาณ 4-27% ทั้งยังไม่สามารถป้องกันการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองในเทียมได้ ถุงยางอนามัยซึ่งหาได้ง่าย ราคาไม่แพง ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งในแง่การคุมกำเนิดและป้องกันโรค

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

2. ถุงยางอนามัย (Condom) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่นิยมที่สุด

แผนภูมิแสดงร้อยละของวิธีคุมกำเนิดที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้

แผนภูมิแสดงร้อยละของวิธีคุมกำเนิดที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้

หากดูเฉพาะการคุมกำเนิดแบบมีอุปกรณ์-เครื่องมือ ประกอบ การใช้ถุงยางอนามัยจะนับเป็นประมาณ 44% ของวิธีการคุมกำเนิดทั้งหมด ตามด้วยอื่นๆ ราว 28% (ซึ่งในการสำรวจนี้ยังไม่ได้ระบุชัดเจนลงไปว่าคืออะไร ทาง HonestDocs จะทำการสำรวจต่อภายหลัง) และต่อด้วยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด 18%

จะเห็นได้ว่าถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุดในช่วงอายุ 18-24 ปีในทั้งชายและหญิง อาจจะเป็นเพราะถุงยางเข้าถึงได้ง่าย หาซื้อได้เองตามร้านค้าทั่วไปรวมถึงร้านค้าออนไลน์ ใช้ได้ทันที ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า รวมถึงเป็นวิธีที่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อและมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุน

ถุงยางอนามัยถือเป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยหากใช้อย่างถูกวิธี เช่น เลือกขนาดเหมาะสมกับอวัยวะ ไม่ทำให้เกิดการรั่วหรือแตก ถอดออกในขณะอวัยวะเพศยังแข็งตัว จะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงถึง 98%

ดูวิธีการใช้ถุงยางอย่างถูกต้องได้ ที่นี่

ข้อดีของถุงยางที่มีเหนือการคุมกำเนิดอื่นๆ คือถุงยางป้องกันเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายชนิด เช่น เชื้อ HIV เชื้อคลาไมเดีย โรคหนองใน โรคตับอักเสบชนิดบี ฯลฯ ซึ่งทุกคนควรทราบว่า โรคติดต่อเหล่านี้สามารถติดต่อได้ ไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก ดังนั้นไม่ว่ามีเพศสัมพันธ์ช่องทางใด หรือคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย ก็ควรสวมถุงยางอนามัยทั้งสิ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3. กลุ่มอายุ 18-24 ปีมีเพศสัมพันธุ์แบบป้องกันมากที่สุด

แผนภูมิแสดงร้อยละของการคุมกำเนิด ซึ่งจัดกลุ่มเป็น มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หลั่งนอก และไม่ได้คุมกำเนิด แบ่งตามช่วงอายุ

แผนภูมิแสดงร้อยละของการคุมกำเนิด ซึ่งจัดกลุ่มเป็น มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง หลั่งนอก และไม่ได้คุมกำเนิด แบ่งตามช่วงอายุ

จากแผนภูมิด้านบนจะเห็นว่ากลุ่มอายุ 18-24 ปีมีเพศสัมพันธ์แบบคุมกำเนิดที่ไม่ใช่การหลั่งนอกมากที่สุดถึงราว 61% โดยวิธีการกำเนิดที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มนี้คือถุงยาง (33%) และยาคุมกำเนิด (9%) ส่วนกลุ่มอายุ 25-34 ปีมีเพศสัมพันธ์แบบคุมกำเนิดที่ไม่ใช่การหลั่งนอกรองลงมา ประมาณ 58% โดยวิธีการกำเนิดที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มนี้คือถุงยาง (29%) และการใช้ยาคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นมาก (17%)

4. การคุมกำเนิดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออายุมากขึ้น

แผนภูมิแสดงร้อยละของกลุ่มตัวอย่างที่คุมกำเนิดด้วยวิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด แบ่งตามช่วงอายุ

กลุ่มผู้หญิงอายุ 25-34 ปีใช้ยาคุมกำเนิดมากที่สุด (ประมาณ 16.6%) และค่อยๆ ลดมาตามช่วงอายุ ต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 5% ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 55-64 ปี อาจเป็นเพราะได้รับความรู้จากเภสัชกรตอนซื้อยาว่าในวัย 35 ปีขึ้นไป การรับประทานยาคุมจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงที่ค่อนข้างสะดวกกว่าวิธีอื่น ไม่แพง และมีประสิทธิภาพการคุมกำเนิดสูงถึง 99.7% หากใช้อย่างถูกวิธี โดยหลักๆ คือให้รับประทานยาให้ตรงเวลาเป็นประจำจนยาหมดแผง แต่ก็จะมีความเสี่ยงว่ากินยาไม่ตรงเวลา หากเป็นยาคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด เมื่อยาหมดแผงให้เว้นระยะไป 7 วัน แล้ววันที่ 8 เริ่มกินยาแผงต่อไป ส่วนถ้าเป็นยาคุมกำเนิดชนิด 28 เม็ด เมื่อกินหมดแผง ให้เริ่มกินยาแผงต่อไปได้ในวันถัดไปได้เลย

ดูวิธีการกินยาคุมอย่างถูกวิธีได้ ที่นี่

แต่ถึงยาเม็ดคุมกำเนิดให้ผลในการคุมกำเนิดดี แต่ไม่ป้องกันการติดเชื้อหรือโรคทางเพศสัมพันธ์ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย

แผนภูมิแสดงร้อยละของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยวิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดและใช้ถุงยางอนามัย แบ่งตามช่วงอายุ

ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามช่วงอายุ 35-44 ปี 45-54 ปี และ 55-64 ปี พบว่า ทั้งผู้ใช้ถุงยางอนามัยและรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมีสัดส่วนลดลงจากช่วงอายุน้อยกว่านี้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี เปรียบเทียบกับกลุ่มคนอายุ 35-44 ปี จะเห็นว่ากลุ่มหลังมีผู้ไม่คุมกำเนิดเลยเป็นสัดส่วนสูงขึ้นมาก

อาจเป็นเพราะช่วงอายุ 35-44 ปี เป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่มีความพร้อมสำหรับมีบุตร มีคู่ครองเป็นหลักเป็นฐาน ไม่เปลี่ยนคู่บ่อยอีกแล้ว จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิด และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง

5. วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย

สำหรับวิธีคุมกำเนิดอื่นๆ เช่น ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ห่วงอนามัยคุมกำเนิด ยาฆ่าเชื้ออสุจิ หรือยาฝังคุมกำเนิดนั้น พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ใช้ โดยนับได้ราว 6% (อีก 16% คืออื่นๆ ซึ่งอาจรวมการทำหมัน ซึ่งทาง HonestDocs จะทำการสำรวจต่อไป)

ความจริงการคุมกำเนิดหลายวิธีที่ไม่ได้รับความนิยมก็มีประสิทธิภาพสูง ทำครั้งเดียวอยู่ได้นาน โดยอาจแลกกับการเจ็บตัวเพียงระยะเวลาสั้นๆ มีรายละเอียดดังนี้

ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant)

ยาฝังคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นก้านพลาสติกเล็กๆ ยาว 40 มิลลิเมตร กว้าง 2 มิลลิเมตร ยืดหยุ่นได้ ใช้ฝังใต้ผิวหนังของผู้หญิง มีประสิทธิภาพคุมกำเนิดสูงกว่า 99% ใช้คุมกำเนิดได้นานถึง 3 ปี ทำงานโดยการปล่อยฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเข้าสู่กระแสเลือด ออกฤทธิ์รบกวนการตกไข่ของแต่ละรอบเดือน ทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น อสุจิผ่านเข้าสู่มดลูกได้ยาก ทั้งยังส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกเปลี่ยนแปลง ไม่เหมาะกับการฝังและเจริญเติบโตของตัวอ่อน

กระบวนการฝังยาคุมกำเนิดใต้ผิวหนังนี้ต้องทำโดยแพทย์หรือพยาบาลที่เชี่ยวชาญ โดยจะมีการใช้ยาชาเฉพาะที่ก่อนกรีดผ่าผิวหนังเป็นรอยเล็กมาก ไม่ต้องเย็บแผล สามารถรับบริการได้ที่สถานพยาบาล

ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicide)

ยาฆ่าเชื้ออสุจิโดยเฉพาะ ปัจจุบันไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่จะมีอยู่ในรูปแบบสารเคลือบถุงยางอนามัย โดยสังเกตได้จากชื่อ Nonoxynol-9 จึงเป็นไปได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามอาจเข้าใจคำถามคลาดเคลื่อน

ยาฆ่าเชื้ออสุจิเดี่ยวๆ ที่มีจำหน่ายในต่างประเทศมีหลายรูปแบบ เช่น เยลลี่ โฟม แผ่นฟิล์ม ยาสอด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่หากใช้อย่างถูกวิธีจะให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดอยู่ที่ประมาณ 70-80% อย่างไรก็ตาม ไม่น่าแปลกใจที่ยาฆ่าเชื้ออสุจิจะไม่เป็นที่นิยมใช้กันนัก เนื่องจากวิธีใช้ที่ค่อนข้างยาก (ต้องสอดเข้าไปในช่องคลอดของผู้หญิงก่อนมีเพศสัมพันธ์ในระดับลึกพอ ทิ้งไว้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมให้ยาออกฤทธิ์ คุมกำเนิดได้ในเวลาจำกัด) อีกทั้งยังอาจก่อความระคายเคืองแก่อวัยวะเพศ รวมถึงสร้างรอยถลอกที่ทำให้ติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

แผ่นแปะคุมกำเนิด (Contraceptive patch)

แผ่นแปะคุมกำเนิดมีลักษณะเป็นแผ่นกาวรูปสี่เหลี่ยมบางๆ ใช้แปะตามร่างกายผู้หญิง หลักการทำงานคือมันจะปล่อยฮอร์โมนผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ใช้ เป็นฮอร์โมนตัวเดี่ยวกับที่อยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม สำหรับประเทศไทยมีวางจำหน่ายตามร้านขายยา ยี่ห้อที่พบบ่อย ได้แก่ Evra

แผ่นแปะคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพคุมกำเนิดได้ถึง 99% หากใช้อย่างถูกวิธี โดยหลักๆ ได้แก่ เปลี่ยนแผ่นแปะคุมกำเนิดแผ่นใหม่ทุก 1 สัปดาห์ (สามารถย้ายที่ได้ ไม่จำเป็นต้องแปะซ้ำจุดเดิม) จนเมื่อครบ 3 สัปดาห์ ให้เว้นระยะ ไม่ต้องแปะแผ่นคุมกำเนิด 7 วัน ช่วงนั้นประจำเดือนจะมา ข้อดีคือ แผ่นแปะคุมกำเนิดค่อนข้างติดทน สามารถใช้แผ่นแปะนี้แล้วทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ รวมถึงออกกำลังกาย อาบน้ำ ว่ายน้ำ ฯลฯ และไม่ว่าช่วงที่ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดคุณจะอาเจียนหรือท้องเสียก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดแผ่นใหม่ ต่างจากการคุมกำเนิดแบบกินยาที่หากมีอาการดังกล่าวจะต้องกินยาซ้ำ

ยาฉีดคุมกำเนิด (Contraceptive injection)

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นอีกวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ในเพศหญิง ชนิดที่ใช้อยู่ในประเทศไทยคือชนิดฉีดทุก 3 เดือน ยาจะออกฤทธิ์ป้องกันการตกไข่ ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือคลีนิก หากใช้ยาฉีดคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี คือ ฉีดซ้ำตรงเวลา ไม่คลึง ขยี้ หรือประคบบริเวณที่ฉีดยา (เพราะจะทำให้ยากระจายตัวเร็วและหมดฤทธิ์เร็วกว่าที่ควร) จะเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า 99% ทีเดียว

ยาฉีดคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดซึ่งค่อนข้างปลอดภัย แม้ในแม่ให้นมก็ใช้ได้ แต่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ และอาจใช้เวลาเป็นปีหลังจากเลิกฉีดยานี้ กว่าประจำเดือนจะกลับมาสม่ำเสมอดังเดิม

ข้อเสียอื่นๆ ของการใช้ยาฉีดคุมกำเนิดคือ วิธีนี้ไม่ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมีผลทำให้กระดูกบางลงได้

ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Intrauterine device)

ห่วงอนามัยคุมกำเนิดเป็นอุปกรณ์ที่มีรูปร่างคล้ายตัว T ขนาดประมาณ 3 x 3 เซนติเมตร วิธีใช้คือใส่ค้างไว้ในมดลูกของเพศหญิงตลอดอายุการใช้งาน ทั้งการใส่และถอดจะต้องทำโดยแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ โดยรับบริการได้ที่สถานพยาบาลที่ให้บริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ สามารถคุมกำเนิดได้นานหลายปี แล้วแต่ชนิดของห่วง โดยหลักๆ แล้วจะมีชนิดที่ทำจากทองแดง กับชนิดพลาสติกเคลือบฮอร์โมนโปรเจสโตเจน

หลักการทำงานของห่วงอนามัยคุมกำเนิดโดยรวมคือ อุปกรณ์ตัวนี้จะไปขวางให้อสุจิและไข่ผสมกันได้ยากขึ้น รวมถึงการมีลักษณะเป็นวัสดุแปลกปลอมที่เข้าไปในมดลูกจะทำให้มดลูกเกิดการอักเสบและเป็นพิษต่ออสุจิและไข่ จึงลดการผสมกันระหว่างอสุจิกับไข่ นอกจากนี้อุปกรณ์ยังรบกวนไม่ให้ไข่ที่ผสมแล้วฝังตัวในมดลูกอีกด้วย โดยชนิดที่เคลือบทองแดงจะสนับสนุนให้มดลูกเกิดภาวะการอักเสบเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะเป็นพิษต่ออสุจิและไข่ แต่ภาวะอักเสบนี้ไม่ได้รุนแรงจนเกิดอันตรายต่อร่างกาย ส่วนชนิดเคลือบฮอร์โมนจะมีผลให้มูกที่ช่องคลอดข้นหนืดทำให้อสุจิเคลื่อนผ่านได้ยาก รวมถึงทำให้เยื่อบุผนังมดลูกบางตัวลงจนไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน

แม้ว่าจะห่วงอนามัยคุมกำเนิดจะทำเพียงครั้งเดียวก็คุมกำเนิดได้นาน และมีประสิทธิภาพสูง แต่เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก นอกจากเรื่องที่อาจมองได้ว่าเป็นการฝังสิ่งแปลกปลอมเข้าในร่างกายแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสมัยก่อนมีการเผยแพร่ว่าการใช้ห่วงอนามัยจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก การติดเชื้อในโพรงมดลูก และมีบุตรยาก   

ผลการสำรวจอย่างละเอียด

ผลสำรวจวิธีคุมกำเนิดของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด พบว่าคนจำนวนถึง 30% ไม่ได้คุมกำเนิดเลย รองลงมาคุมกำเนิดด้วยวิธีใช้ถุงยางอนามัย 25.7% อื่นๆ 16.4% และหลั่งนอก 11% โดยหากแยกเพศชายและหญิงออกจากกัน จะพบผลสำรวจดังแผนภูมิด้านล่าง

แผนภูมิแสดงร้อยละของวิธีคุมกำเนิดที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้ รวมทุกกลุ่มอายุ แยกเพศชายกับเพศหญิง

แผนภูมิแสดงร้อยละของวิธีคุมกำเนิดที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้ รวมทุกกลุ่มอายุ แยกเพศชายกับเพศหญิง

จากแผนภูมิ ผู้หญิงจำนวนถึง 34.4% ไม่ได้คุมกำเนิด ส่วนในกลุ่มที่คุมกำเนิด วิธีที่สามารถระบุได้ว่าคืออะไรซึ่งใช้กันมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ใช้ถุงยางอนามัย (19.4%) รองลงมาคือใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด (15.1%) อันดับที่ 3 คือการหลั่งนอก (14.0%)

ส่วนในผู้ชาย ผู้ที่ไม่ได้คุมกำเนิดมีจำนวนถึง 23.9% ส่วนในกลุ่มที่คุมกำเนิด วิธีที่สามารถระบุได้ว่าคืออะไรซึ่งใช้กันมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ใช้ถุงยางอนามัย (35.0%) รองลงมาคือหลั่งนอก (12.8%) อันดับ 3 คือการใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (3.2%)

หากพิจารณาวิธีคุมกำเนิดโดยแบ่งตามกลุ่มอายุ จะสามารถแสดงออกมาในรูปแผนภูมิได้ดังนี้

แผนภูมิแสดงร้อยละของการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆ ของกลุ่มตัวอย่าง แบ่งตามช่วงอายุ

แผนภูมิแสดงร้อยละของการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบต่างๆ ของกลุ่มตัวอย่าง แบ่งตามช่วงอายุ

จากแผนภูมิข้างต้นจะพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามทุกช่วงอายุมีกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่คุมกำเนิดทั้งสิ้น เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้วพบว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ ส่วนในผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มที่คุมกำเนิด สิ่งที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุอายุได้นั้น กลุ่มอายุ 18-24 ปีเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนผู้มีเพศสัมพันธุ์โดยไม่ป้องกันน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ วิธีคุมกำเนิดที่ใช้มากที่สุดในช่วงอายุนี้คือ ถุงยางอนามัย คิดเป็นจำนวน 32.9% อาจเพราะเป็นวิธีคุมกำเนิดที่เข้าถึงได้ง่าย หาซื้ออุปกรณ์ได้เองตามร้านค้าทั่วไป รวมถึงเป็นวิธีที่ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อและมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุน ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่อายุมากขึ้นถัดมาอีกช่วงหนึ่ง คืออายุ 25-34 ปี พบว่าสัดส่วนผู้คุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางยังค่อนข้างสูง คือ 29.2% และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ แล้ว คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนผู้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ นับเป็น 16.6% สาเหตุอาจมาจากคนช่วงอายุนี้มักจะอยู่ในวัยเริ่มต้นทำงานหรือสร้างครอบครัวใหม่ๆ จึงยังไม่ต้องการมีบุตร

ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามช่วงอายุ 35-44 ปี 45-54 ปี และ 55-64 ปี พบว่า ทั้งผู้ใช้ถุงยางอนามัยและรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมีสัดส่วนลดลงจากช่วงอายุน้อยกว่านี้อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี เปรียบเทียบกับกลุ่มคนอายุ 35-44 ปี จะเห็นว่ากลุ่มหลังมีผู้ไม่คุมกำเนิดเลยเป็นสัดส่วนสูงขึ้นมาก ในทางกลับกัน ผู้ใช้ถุงยางอนามัยกับรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดก็มีสัดส่วนลดลงมาก อาจเป็นเพราะช่วงอายุ 35-44 ปี เป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่มีความพร้อมสำหรับมีบุตร มีคู่ครองเป็นหลักเป็นฐาน ไม่ปลี่ยนคู่บ่อยอีกแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิด ในกรณีใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง อาจเพราะเห็นว่าความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง ส่วนกรณีใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดน้อยลงอาจเป็นเพราะได้รับความรู้ว่าในวัย 35 ปีขึ้นไป การรับประทานยาคุมจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันได้

วิธีคุมกำเนิดที่มีผู้ใช้มากอีกวิธีหนึ่งและมีในทุกกลุ่มอายุคือ การหลั่งนอก โดยในแต่ละกลุ่มอายุมีผู้คุมกำเนิดด้วยวิธีหลั่งนอกคิดเป็นสัดส่วนพอๆ กัน ส่วนวิธีคุมกำเนิดอื่นๆ เช่น ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด ห่วงอนามัยคุมกำเนิด ยาฆ่าเชื้ออสุจิ หรือยาฝังคุมกำเนิดนั้น มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ใช้ สาเหตุที่หลายคนเลือกวิธีหลั่งนอก อาจเป็นเพราะวิธีนี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ช่วย ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพในภายหลัง (แต่ที่จริงเป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์และติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) ส่วนวิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ที่คนใช้กันน้อย อาจเนื่องจากวิธีเหล่านั้นต้องทำการฝังวัสดุแปลกปลอมเข้าในร่างกายต้อง และผู้ต้องการคุมกำเนิด ต้องเข้ารับบริการจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาล จึงไม่ค่อยสะดวกและอาจทำให้เกิดความกังวลถึงผลข้างเคียงที่จะตามมาได้

จะเห็นได้ว่า วิธีคุมกำเนิดส่วนใหญ่ทำในเพศหญิง โดยมักเป็นการใช้ฮอร์โมนออกฤทธิ์รบกวนกระบวนการตกไข่ หรือการฝังตัวของไข่ที่ผนังมดลูก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ควรมีเรื่องการป้องกันโรคติดต่อร่วมด้วย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่จะป้องกันโรคติดต่อได้ 100% การป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดหากทำอย่างถูกต้องคือ การสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ส่วนวิธีลดความเสี่ยงที่จะติดโรคที่สามารถทำได้เอง ได้แก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก หรือไม่รู้แน่ว่าเขาปลอดจากโรค และควรมีการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นระยะ หากมีการติดเชื้อจะได้ดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ จะพบเมื่อตรวจคัดกรองเท่านั้น


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผศ. ดร. นพ. ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, หลอดเดียว...ก็คุมอยู่ (http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=329), 11 ตุลาคม 2553.
นพ. ธรรมพจน์ จีรากรภาสวัฒน์ และ อ. พญ. ทวิวัน พันธศรี, Intrauterine devices: ห่วงอนามัย (http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=1135:intrauterine-devices&catid=45&Itemid=561), 8 กรกฎาคม 2558.
Web MD, Birth Control and IUD (Intrauterine Device) (https://www.webmd.com/sex/birth-control/iud-intrauterine-device#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)